playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Mudbound (Netflix) หนังเหยียดผิวที่เข้าชิง 4 รางวัลออสการ์ 2018

Mudbound

สรุป

เป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึงการใช้อำนาจที่มองไม่เห็นได้ชวนหดหู่ ทั้งอำนาจของคนผิวขาว หรืออำนาจและอภิสิทธิ์ของความเป็นสามี โดยเรื่องเล่าไปได้เรื่อยๆ ค่อยๆ ให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับตัวละครต่างๆ จนนำไปถึงจุดไคลแม็กซ์ได้ค่อนข้างรุนแรงทีเดียว

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
5 (1 vote)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • งานด้านภาพสวยงาม และออกแบบงานสร้างได้ดี
  • นักแสดงแต่ละคนแสดงได้ดี ชวนให้รู้สึกร่วมไปด้วย
  • ฉากไคลแม็กซ์มีความรุนแรงและน่าจดจำ

Cons

  • ประเด็นในเรื่องอาจไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่ชวนให้สนใจ

หนึ่งในประเด็นทางสังคมที่มักถูกหยิบมาทำเป็นภาพยนตร์บ่อยๆ ก็คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่อง ‘การเหยียดสีผิว’ ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Mudbound เองก็เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่หยิบประเด็นนี้มาเล่าได้อย่างน่าหดหู่ เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือในชื่อเดียวกัน (ผู้เขียนคือ Hillary Jordan ตีพิมพ์ในปี 2008) และได้ผู้กำกับหญิงผิวสี Dee Rees พาตัวภาพยนตร์เข้าชิงออสการ์ถึง 4 รางวัลด้วยกัน ได้แก่ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม กำกับภาพยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ตัวภาพยนตร์จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1941 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี โดยเล่าผ่านสองครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเมืองมิสซิสสิปปี คือ ครอบครัวคนผิวขาวที่เป็นเจ้าของฟาร์ม และครอบครัวคนผิวสีที่เป็นผู้อาศัย

 Mudbound (2017) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่าง Mudbound (Netflix)

เรื่องเริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้เกณฑ์คนเพื่อไปร่วมรบในสงคราม เฮนรี่ พี่ชายคนโตของบ้าน ได้พา แพปปี้ กับลอร่า พ่อและภรรยาของเขา และลูกๆ ย้ายไปอยู่ในชนบทเพื่อทำนาตามที่ได้ฝันไว้ โดยมีครอบครัวของ แฮป กับ ฟลอเรนซ์ และลูกๆ เป็นผู้เช่าที่ในสวนของเขา หลังสงครามจบลง ทางการก็ได้ส่ง รอนเซล ลูกชายของแฮป และ เจมี น้องชายของเฮนรี่กลับบ้าน หลังจากทั้งสองกลับมา รอนเซลและเจมีก็ได้พบกันและสนิทกันได้ไวเนื่องจากมีประสบการณ์จากสงครามคล้ายๆ กัน แต่คนรอบข้างดูจะไม่เห็นด้วยกับมิตรภาพนี้เนื่องจากรอนเซลเป็นคนผิวสีและเจมีเป็นคนผิวขาว ซึ่งในยุคนั้นการเหยียดผิวค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะแพปปี้ พ่อของเจมีที่มีแนวความคิดการเหยียดสีผิวที่ค่อนข้างรุนแรง

Garrett Hedlund, Mary J. Blige and Rob Morgan appear in Mudbound by Dee Rees, an official selection of the Premieres program at the 2017 Sundance Film Festival. Courtesy of Sundance Institute |photo by Steve Dietl.

การเล่าเรื่องของภาพยนตร์จะเล่าสลับกันในแต่ละตัวละคร ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ในแต่ละตัวละคร หรือคู่ตัวละคร จะสะท้อนถึงประเด็นต่างๆ ออกมาไม่เหมือนกัน ซึ่งจุดนี้ทำให้ภาพยนตร์ดูมีลูกเล่นและน่าสนใจ และทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมด้วยดีทีเดียว อย่างแฮปและเฮนรี่จะเป็นเส้นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นชายหรือความเป็นผู้นำครอบครัวที่ล้มเหลว เช่นการที่เฮนรี่พาครอบครัวไปลำบากในทุ่งนาขณะที่เมียก็มีลูกเล็กและตั้งท้องอยู่ หรือแฮปที่เจ็บขาจนทำงานไม่ได้ต้องให้เมียรับภาระแทน ในระหว่างดูจะให้ความรู้สึกที่ตัวละครหัวหน้าครอบครัวสองคนนี้เอาตัวเองเป็นใหญ่เสียเหลือเกินแต่สุดท้ายแล้วก็ต้องพึ่งภรรยาอยู่ดี และบทภรรยาทั้งสองอย่าง ลอร่า และฟลอเรนซ์ ก็เหมือนเป็นตัวละครคู่เช่นเดียวกัน คือความเป็นแม่ของทั้งสอง ซึ่งตัวภาพยนตร์เล่าประเด็นนี้ออกมาให้คนดูรู้สึกสงสารตัวละครเพศหญิงทั้งสอง ที่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของสามี และมีหน้าที่เพียงแค่ดูแลลูก และงานบ้านเท่านั้น ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงอะไร แต่ทั้งสองตัวละครนี้ก็ยังมีอะไรที่ทำให้ตัวละครยิ้มได้ ก็คือ รอนเซลลูกของฟลอเรนซ์ และเจมี่น้องเขยของลอร่า ซึ่งตัวละครชายทั้งสองจะแตกต่างจากหัวหน้าครอบครัวก็ตรงความใส่ใจที่มีต่อคนในบ้าน แต่ประเด็นที่เกี่ยวกับทั้งสองนั้นโหดร้ายเช่นกัน ซึ่งก็คือผลกระทบจากสงครามซึ่งตัวเรื่องอาจจะไม่ได้เน้นเรื่องนี้มากนักแต่ก็พอเห็นได้ว่าความโหดร้ายของสงครามได้ส่งผลกระทบอะไรกับวีถีชีวิตของตัวละครบ้าง ทั้งอาการตื่นตระหนก มือสั่น เริ่มหวาดกลัว

แต่ด้วยทั้งหมดแล้ว ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดก็คงเป็นการเหยียดผิวสี ซึ่งในเรื่องได้นำคนดูไปถึงฉากไคลแม็กซ์ในตอนท้ายเรื่องที่ค่อนข้างรุนแรงและโหดร้ายมาก ซึ่งสิ่งที่ย้ำความโหดร้ายนี้ก็ถูกเล่าผ่านรอนเซลในฉากหนึ่งที่แม้ตัวเขาจะได้กลับมาบ้านแต่ก็ยังมีการนึกถึงช่วงที่เขาอยู่สงครามในบางครั้ง ที่นั่นเขาเป็นวีรบุรุษ มีเกียรติ แต่กลับมาก็เป็นเพียงคนดำที่ถูกเหยียด ซึ่งมันชวนให้ตั้งคำถามว่าระหว่างสงครามกับการเหยียดสีผิวนั้นอะไรมันกระทบต่อจิตใจเขามากกว่ากัน

ในส่วนของการแสดงถือว่าทำได้ดี ตัวละครแต่ละตัวแสดงอารมณ์ออกมาให้คนดูรู้สึกชอบ เกลียด หรือสงสารได้ดี ซึ่งนักแสดงหลายๆ คนอาจมีหลายคนที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่ เช่น Carey Mulligan (จาก Never Let Me Go, The Great Gatsby) Garrett Hedlund (จาก Tron Legacy) Jason Clarke (จาก Zero Dark Thirty) Jonathan Banks (จาซีรีส์ Breaking Bad) และแม้ว่านักแสดงคนอื่นๆ ที่อาจไม่คุ้นหน้าแต่เมื่อแสดงคู่กับนักแสดงที่กล่าวมาก็ได้แสดงฝีมือออกมาได้ดีทีเดียว

โดยรวมแล้วแม้ตัวภาพยนตร์จะนำประเด็นการเหยียดสีผิวซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกนำมาเล่าบ่อยครั้งมาเป็นวัตถุดิบ แต่ความน่าสนใจก็ไม่ได้น้อยลงไป ตัวเนื้อเรื่องยังคงทำให้ผู้ชมรู้สึกสะเทือนใจไปกับประเด็นนี้ได้อยู่ หรือเราอาจจะกำลังถูกตั้งคำถามว่าที่ประเด็นการเหยียดสีผิวนั้นถูกนำมาใช้หลายๆ ครั้งมันแปลว่าประเด็นนี้มันไม่เคยและจะไม่มีวันหายไปหรือเปล่า

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!