playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิวโปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง การก้าวไม่พ้นจุดบอดของบทหนังไทย

สรุป

หนังอิงชีวประวัติที่ขาดที่มาที่ไปแรงจูงใจใดๆ ทั้งสิ้น

Overall
5.5/10
5.5/10
Sending
User Review
0 (0 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • นักแสดงเล่นแทนโปรเมถ่ายทอดอินเนอร์ออกมาได้ดี
  • ได้เห็นความสนุกของการแข่งขันกอล์ฟขึ้นมาบ้าง

Cons

  • บทพ่อผู้เกรี้ยวกราดเกินจริง (หรือเปล่า?)
  • หลายตัวละครขาดแบ็คกราวด์ที่มาที่ไป
  • รายละเอียดเนื้อหาเบื้องลึกน้อย น้ำเยอะ

โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง (รับชมได้ผ่าน Netflix แล้ว) ผลงานจากค่าย Transformation Films ผู้สร้างหนังไทยคุณภาพจากผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ จากผลงานล่าสุด แสงกระสือ ได้นำชีวประวัติของโปรกอล์ฟหญิงชาวไทยที่ประสบความสำเร็จถึงระดับโลกอย่างโปรเม เอรียา จุฑานุกาล มาสร้างหนังพร้อมชูปมดรามาพ่อลูกเป็นส่วนสำคัญ

รีวิวโ ปรเม Netflix
โปรเมช่วงวัยเด็ก

แม้ว่านักกีฬาไทยมีไประดับโลกหลายคน แต่หนังแนวชีวประวัตินักกีฬาอาชีพของไทยที่ประสบความสำเร็จไม่ได้มีให้เห็นง่ายๆ นัก หนังโปรเมเองก็ถูกตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นหนังที่ฉีกแนวออกไปได้อย่าง “แสงกระสือ” และมีโอกาสประสบความเร็จได้ ถ้าทำบทดีๆ มีเบื้องลึกมุมลับที่น่าสนใจให้คนได้เห็นกัน แต่สิ่งที่เห็นในหนังนี่เปล่าเลย หนังกลับตั้งอยู่บนพื้นฐานเรื่องจริงแค่ส่วนที่เป็นข่าวรายงานการแข่งปกติ แถมเบื้องลึกในหนังกลายเป็นเรื่องสมมุติให้ดูโอเว่อร์เกินจริงไปอีก จนกลายเป็นเหมือนงานนี้ขายความเป็นโปรเมแค่ฉาบฉวย บทหนังไม่ใส่ใจที่จะมีแบ็คกราวด์รายละเอียดใดๆ แทบทั้งสิ้น

เริ่มตั้งแต่บทพ่อผู้เกี้ยวกราดตั้งแต่เปิดเรื่องไปยันตอนจบ โดยที่ไม่ได้ให้เห็นว่าทำอาชีพอะไร? มีความสามารถตีกอล์ฟแค่ไหน? ทำไมจู่ๆ จับลูกมาฝึกพร้อมกันแบบนี้? มีการวางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มมีลูกหรือเปล่า? แล้วนิสัยถ่อยๆ ในเรื่องนี้มาจากไหน? ซึ่งหลังจากรับชมแล้วพบว่าเป็นเรื่องสมมุติขึ้นมา หนังใส่ความถ่อยให้พ่อโปรเมเกินพอดีไปมากๆ เหมือนคนเป็นโรคจิตมากกว่าจะเป็นอย่างอื่นไปได้ (หนังใช้คำหยาบคายขึ้นมรึงกรูและสารพัดคำด่าตลอดเวลา)  ซึ่งหนังก็ไม่ได้บอกหรือให้รายละเอียดที่มาของเรื่องจริงเลยว่าเป็นยังไงทั้งสิ้น แต่กลับเดินเรื่องไปแบบว่า ดูๆ ไปเถอะแค่รู้พ่อของโปรเมถ่อยแค่นั้นก็พอ ซึ่งขอตำหนิเลยว่าเป็นการเขียนบทหนังที่ละเลยพื้นฐานที่มาที่ไป ขาดแรงจูงใจหรือปูมหลังของตัวละครหลักอย่างชุ่ยมากๆ

โปรเม ฉากทะเลาะในร้านอาหาร
ฉากทะเลาะในร้านอาหาร ที่เป็นจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์พ่อลูกคู่นี้ แต่หนังกลับฉายให้เห็นแต่โปรเม เลือกตัดส่วนของพ่อออกไปจนเกือบหมด

และก็ไม่ใช่แค่บทของพ่อโปรเมเท่านั้น แต่รวมถึงบทของตัวละครอื่นที่มาเกี่ยวข้องในเรื่อง หนังก็ไม่ได้ใส่รายละเอียดเล่าให้รู้ที่มาที่ไป หรือแม้แต่จุดมุ่งหมายสำคัญของการมีตัวละครเหล่านี้เลย เริ่มตั้งแต่บทแม่ของโปรเม ที่ก็ไม่รู้ว่าทนอยู่ได้ยังไง และตัวแม่เองมีความสามารถอะไรแค่ไหนถึงมาร่วมผลักดันลูกสาวตัวเองเป็นนักกีฬาอาชีพในแบบนี้ได้ ทั้งที่ตัวเธอก็คัดค้านการฝึกหนักจนลูกไม่มีชีวิตวัยเด็กเหลือเลย หนังให้บทแม่ที่ดูเหมือนต้องแบกรับความกดดันอะไรมากมาย แต่กลับกลายเป็นว่าฉากดีที่สุดคือแค่ทำกับข้าวโดยไม่มีพ่อของโปรเมอยู่ด้วย ให้ลูกสาวได้กินของอร่อยๆ แค่นั้น นอกนั้นคือบทของเธอจืดจางเหลือเกิน นอกจากการก้มหน้าตายอมรับคำด่าของสามี ที่เหลือก็มีแต่ช่วยเชียร์อยู่ริมขอบสนามเท่านั้น

รีวิว โปรเม
รีวิว โปรเม

ตัวละครนักข่าวที่ติดตามทำข่าวโปรเมก็เหมือนใส่มาแค่ช่วยยืดเวลาเพิ่มอย่างไร้ประโยชน์ หนังไม่ได้ทำให้เห็นว่าตัวละครนี้สลักสำคัญอะไรเลยแต่ก็ยังใส่มา พร้อมกับสกู๊ปฉากท้ายๆ ว่าทำเรื่องโปรเมเก็บฝาขวดน้ำมาเป็นเรื่องเด่นลงนิตยสาร จนกระทั่งเจ้าของนิตยสารถึงกับหัวเสียด่ายับว่างานนี้ไม่ผ่าน ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ผ่านตั้งแต่การมีตัวตนของตัวละครในเรื่องนี้แล้ว ไม่แน่ใจว่าหนังต้องการใส่มาเพื่อขยายปูมหลังอะไรกันแน่ หรือแค่เป็นคนพาโปรเมกินก๋วยเตี๋ยวข้างออฟฟิสแล้วอร่อย อันนี้คือเบื้องลึกสุดลับของชีวิตโปรเมแล้วงั้นหรือ?

หนังขาดการอธิบายหลายๆ สิ่งให้คนดูรู้สึกถึงเหตุและผล จนเหลือแค่ชีวประวัติน้ำๆ ตามรอยเส้นทางการแข่งขันของโปรเมแบบผิวเผินเท่านั้น  ซึ่งถ้าอยากรู้จักชีวิตโปรเมและพี่สาว แค่ค้นหากูเกิลหาอ่านบทสัมภาษณ์ทั่วไปยังมีเรื่องราวด้านต่างๆ มากกว่าในหนังอีกด้วยซ้ำ (เปิดใจโปรกอล์ฟ 2 พี่น้องหนึ่งของโลก ‘โปรโม-โปรเม จุฑานุกาล’ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้มันไม่ได้ง่าย!!!) แต่ยังดีที่นักแสดงที่เล่นเป็นโปรเมมีความเป็นธรรมชาติ ดูแล้วรู้สึกได้ถึงอินเนอร์ความมุ่งมั่นได้อยู่ ทำให้หนังยังมีความลื่นไหลจากการแสดงไม่ขัดตาของตัวละครหลัก ทำให้เอาใจช่วยได้อยู่บ้าง แต่ในส่วนของโม พี่สาวของโปรเมที่เป็นนักกอล์ฟกลับไม่มีบทที่ช่วยส่งเสริมเรื่องราวของน้องสาวเท่าใดนัก กลายเป็นเหมือนแค่ตัวประกอบในเรื่องราวที่โมอยู่ฝ่ายแม่ ตรงข้ามกับเม หลังถูกพ่อยึดตัวไป ซึ่งหนังเน้นแต่ชีวิตของโปรเมเป็นหลักเพียงเท่านั้น

รีวิว โปรเม

นี่เป็นหนังที่ขาดจิตวิญญาณของเรื่องราวชีวประวัติคนจริงที่ดี เป็นงานรีเสิร์ชและนำมาสร้างแบบหยาบๆ ถ้าให้เทียบกับหนังแนวเดียวกันอย่าง Dangal (ชื่อไทยปล้ำฝันสนั่นโลก (รับชมได้ทาง Netflix คลิกที่นี่) หนังอินเดียที่พล็อตแทบจะเหมือนโปรเมและสร้างจากเรื่องจริงของพ่อที่ปั้นลูกสาว 2 คน ให้เป็นนักกีฬามวยปล้ำมืออาชีพตั้งแต่เด็ก หนังอย่าง Dangal ใส่เรื่องราวแบ็คกราวด์ที่มาที่ไป แรงจูงใจทุกอย่างมาครบถ้วน และยังเป็นหนังที่สร้างฝันแรงบันดาลใจในการให้เด็กได้ค้นพบเส้นทางของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ ผ่านบทพ่อที่ทั้งเข้มงวด เป็นทั้งครูฝึกทั้งพ่อในคราวเดียวกันไม่ต่างกับการปั้นโปรเมของไทย เอาแค่คำตอบในเรื่องฉากแนวเดียวกันคือ เมื่อลูกไปจนถึงจุดเกือบสูงสุดได้ แล้วพ่อจะมีความสำคัญอะไร? ใน Dangal มีคำตอบตรงนั้นได้อย่างลงตัว แต่ในโปรเมกลับกลายเป็นแค่ฉากสบถก่นด่าเชี่ยๆ อย่างไม่มีเหตุผลสู้ลูกไม่ได้ จากนั้นก็หายตัวไปจากหนังแทบทั้งเรื่อง แล้วจู่ๆ ก็วกกลับไปจบด้วยการให้อภัยง่ายๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย เป็นสูตรสำเร็จที่เรียกว่าน้ำเน่าเอามากๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จอีกต่างหาก? เพราะหนังก็ขึ้นต้นด้วยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แค่อ้างอิงชีวิตโปรเมมาแล้วแต่งเติมให้มีสีสัน ถึงขั้นเขียนขอโทษไว้ล่วงหน้าถ้าทำให้ใครเข้าใจผิดไป ซึ่งก็ไม่รู้เลยว่าเราจะได้อะไรที่เป็นเรื่องจริงบ้างจากหนังเรื่องนี้ เพราะตอนจบก็มีเฉลยว่าอะไรจริงบ้าง ก็เป็นเพียงแค่ตัวละครน้ำจิ้มไม่ได้มีบทบาทอะไรกับเรื่องราวหลักเลย

ส่วนตัวถือเป็นความน่าผิดหวังของหนังไทยอีกเรื่องหนึ่งที่มีปัญหากับบทมาตลอด และถ้าติดตามพัฒนาการของค่าย Transformation Films ที่เน้นทำหนังไทยแตกต่างจากตลาดอย่าง ตุ๊กแกรักแป้งมาก มาจนถึง แสงกระสือ ที่แม้อาจจะไม่ได้ดีเลิศสมบูรณ์แบบ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจกับบทมากกว่า โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง เรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งเครดิตที่พึ่งสะสมมาก็คงจะค่อยๆ หมดไปถ้ายังทำหนังไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่บทแบบนี้ครับ อยากให้เรียนรู้แล้วปรับปรุง ดีกว่าดันทุรังชื่นชมว่าบทดี ทั้งๆ ที่มันเป็นช่องโหว่ใหญ่ของเรื่องที่ควรจะเห็นได้ตั้งแต่ตอนเริ่มงานสร้างแล้วครับ

Dangal ปล้ำฝันสนั่นโลก (หนังแนะนำเทียบโปรเม) อ่านรีวิวคลิกที่นี่

ตัวอย่างเทรลเลอร์ โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!