playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิวหนังอินเดีย Choked: Paisa Bolta Hai เงินผุดในท่อ ก่อปัญหาครอบครัว…

Choked: Paisa Bolta Hai

สรุป

ตัวหนังออกแนวดูเรื่อยๆ สไตล์หนังดราม่า มีตลกปนมานิดๆ กับเรื่องเข้าใจผิดทั้งหลายที่เกิดกับนางเอก รวมถึงสังคมอินเดียที่เพื่อนบ้านมักสอดรู้สอดเห็นมโนไปไกลเกินจริง จนทำร้ายครอบครัวอื่นอย่างไม่รู้ตัว ตัวดราม่าของเรื่องไม่ถึงกับว่าน่าเบื่อนัก แต่ปัญหาคือ ประเด็นดีแต่นำเสนอได้เบาไป แถมตัวหนังค่อนข้างยาวเกือบสองชั่วโมงเต็ม แล้วก็มีฉากวนเวียนอยู่ในเรื่องแค่ไม่กี่ที่ กับฉากจบที่โลกสวยไปจนไม่น่าจดจำ

Overall
5/10
5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • อ้างอิงจากเรื่องจริงของการยกเลิกธนบัตร 500/1,000 รูปี ในปี 2016 เพื่อตัดทางธุรกิจผิดกฎหมาย
  • ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่พาไปสู่ปัญหาครอบครัวแตกแยก
  • ปัญหาภรรยากลายเป็นผู้นำครอบครัวทำให้สามีอับอาย

 

Cons

  • ประเด็นของเรื่องดี แต่นำเสนอได้เบาไป ไม่มีจุดพีค
  • เรื่องวนเวียนอยู่กับฉากเดิมไม่กี่ที่
  • ใส่ปมทางจิตนางเอกมีปัญหากับเรื่องร้องเพลงมาเยอะเกิน
  • ฉากจบที่สวยงามเกินไปหน่อยเมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้น

 

Choked: Paisa Bolta Hai (ชื่อไทย กระอัก) หนังอินเดีย Netflix แนวดราม่าปนตลกเสียดสีเมื่อมีเงินก้อนโตผุดขึ้นมาจากท่อน้ำทิ้งในบ้าน ลาภลอยก้อนโตนี้กลับสร้างรอยร้าวขึ้นในครอบครัวแทน

รวมรีวิวหนังอินเดีย Original Netflix คลิกที่นี่

 Choked: Paisa Bolta Hai (2020) on IMDb

ตัวอย่าง Choked: Paisa Bolta Hai (กระอัก)

บทความมีสปอยล์เนื้อหาบางส่วนของเรื่อง แต่ไม่ได้เปิดเผยปมสำคัญของเรื่อง

หนังอินเดีย Original Netflix จากผู้กำกับและเขียนบท Sacred Games เกมล่า ศาสนาคลั่ง ซีรีส์แอ็กชั่นทริเลอร์ยอดนิยมอันดับต้นๆ ของ Netflix เช่นกัน ซึ่งจากเครดิตงานสร้างนี้แหละทำให้เรื่องนี้ถูกคาดหวังว่าต้องดีแน่นอน แต่กลายเป็นความผิดหวัง เมื่อบทของเรื่องนี้ไม่ได้เข้มข้นหรือมีอะไรน่าสนใจแบบที่ Sacred Games เคยทำไว้อย่างสวยงาม (อาจจะเพราะสร้างจากนิยายขายดีมาก่อน) 

ตัวเรื่องเริ่มต้นขึ้นในอพาร์ทเมนท์ 5 ชั้นแห่งหนึ่ง เมื่อชั้นบนสุดมีคนพยายามซ่อนเงินจำนวนมากในท่อน้ำทิ้งของห้องน้ำ แต่แล้วเงินพวกนี้กลับลอยไปผุดขึ้นที่ท่อน้ำในบ้านของ “สาริตา” นางเอกของเรื่องที่อาศัยอยู่ที่นี่กับสามีไม่เอาไหน ไม่ทำงานทำการ กับลูกชายอีกหนึ่งคน ซึ่งเธอก็อยู่ในช่วงมีปัญหาชีวิตครอบครัวเพราะเงินเดือนไม่พอใช้แม้จะรับราชการทำงานแบงค์ เงินที่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ จากท่อน้ำนี้จึงเป็นเหมือนสวรรค์ประทานโชคมาให้เธอ แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่จะตามมาหลังจากนี้ เมื่อเธอเริ่มใช้จ่ายแบบมือเติบ แต่กลับปกปิดความลับนี้ไว้จนกลายเป็นความเข้าใจผิดจากเพื่อนบ้านลามไปจนถึงสามีของเธอเอง

ตัวเรื่องนี้คือหนังแนวดราม่าตลกเสียดสีอะไรหลายๆ อย่าง โดยมีเรื่องการฟอกเงินเข้ามาเป็นปมปัญหาของเรื่อง และเกี่ยวพันกับเรื่องจริงในปี 2016 เมื่อรัฐบาลอินเดียสมัยนั้นประกาศยกเลิกเงินแบงค์ 500 กับ 1,000 รูปี เพื่อตัดทางธุรกิจผิดกฎหมายที่มักเก็บเงินสดก้อนใหญ่ไว้ ซึ่งเรื่องนี้คือปมหลักของเรื่องนี้ ถ้าใครดูเรื่องนี้ควรอ่านบทความหรือข่าวเรื่องนี้ประกอบไปก่อนจะทำให้ไม่งงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะในเรื่องนี้จำลองกับใช้ฟุตเทจจริงของเหตุการณ์โกลาหลในตอนนั้นมาเป็นแบ็คกราวด์ประกอบเรื่อง (แนะนำอ่านบทความ เงินรูปีที่หายไปกับสังคมใหม่ของอินเดีย) ซึ่งตัวประกาศนี้ทำให้เงินที่เหมือนโชคลาภในเรื่องนี้กลายเป็นเงินร้อนขึ้นมาทันที

ตัวหนังหยิบเรื่องปัญหาครอบครัวกับภาวะผู้นำครอบครัวที่ล้มเหลว ผู้ชายในฐานะช้างเท้าหน้าอินเดียก็ไม่ต่างจากไทยที่รู้สึกเป็นปมด้อยเสียหน้าเมื่อต้องให้เมียเลี้ยงครอบครัว อย่างในเรื่องแม้ว่าสามีของสาริตาจะไม่ใช่คนเลวร้าย ซ้ำยังพยายามประคับประคองชีวิตคู่ให้ดีที่สุด แต่เรื่องเงินทองคือเรื่องใหญ่ทำให้อะไรๆ ก็ต้องใช้เงินมาแก้ปัญหา แต่กลายเป็นว่าเงินที่มาแก้ปัญหาให้ครอบครัวของเขากลับไม่มีที่มาที่ไป ยิ่งภรรยาโกหกแปลกๆ แบบจับไม่ได้ไล่ไม่ทันสักที เขายิ่งคิดว่าเธออาจจะได้เงินมาแบบใช้ตัวเข้าแลกก็ได้ กลายเป็นเรื่องเข้าใจผิดใหญ่โตเข้าไปใหญ่ ซึ่งหนังก็เปิดประเด็นชวนทะเลาะของทั้งคู่โดยมีลูกอยู่ตรงกลางแบบหัวสุดๆ กับพ่อแม่ที่เป็นแบบนี้ อีกทั้งเขายังเกลียดพวกนักการเมืองโกงกินเข้าไส้ แต่กลับไม่รู้ว่าเมียมาใช้เงินสกปรกของพวกนี้หล่อเลี้ยงครอบครัว

ตัวนางเอกเองแทนที่จะรู้สึกว่าได้เงินมาแบบผิดปกติ แต่หนังโบ้ยไปให้เธอเชื่อว่าได้เงินมาจากหิ้งบูชาพระพิฆเณศในบ้าน สะท้อนให้เห็นความงมงายของชาวอินเดียไม่น้อย และไปๆ มาๆ จากคนดีที่ทำงานสุจริตก็กลายเป็นเริ่มใช้ตำแหน่งหน้าที่ของเธอในแบงค์แอบฟอกเงินเหล่านี้แทน หนังยังใส่เรื่องปมความฝันของนางเอกที่อยากเป็นนักร้อง แต่กลับตื่นผู้คนร้องไม่ออกกลางรายการประกวดร้องเพลงทั้งๆ ที่เธอมีความสามารถ ซึ่งการที่เธอดุด่าสามีว่าไม่ทำตามความฝันทั้งๆ ที่เธอเสียสละออกมาทำงานส่งให้เขาอยู่บ้านแต่งเพลง กลับกันช่วงนี้ที่มีเงินพร้อมแล้วเธอกลับยิ่งไม่เคยคิดจะทำตามความฝัน ตรงข้ามกับสามีของเธอที่หมั่นไปทำงานในเส้นทางวงการเพลงที่รักอยู่เงียบๆ แม้จะตกงานอยู่ก็ตาม หนังพยายามสะท้อนให้เห็นว่าเงินกับความฝันไม่ได้ไปด้วยกันได้เสมอไปแบบที่หลายๆ คนชอบอ้างว่าทำไม่ได้เพราะขาดเงิน และคนดีที่แท้จริงก็ไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จมีเงินเยอะเสมอไป ซึ่งตัวเรื่องผูกโยงเรื่องวุ่นๆ ของนางเอกเข้ากับปัญหาทุจริตของนักการเมืองอินเดียเข้ามาในตอนจบของเรื่อง

ตัวหนังออกแนวดูเรื่อยๆ สไตล์หนังดราม่า มีตลกปนมานิดๆ กับเรื่องเข้าใจผิดทั้งหลายที่เกิดกับนางเอก รวมถึงสังคมอินเดียที่เพื่อนบ้านมักสอดรู้สอดเห็นมโนไปไกลเกินจริง จนทำร้ายครอบครัวอื่นอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งตัวดราม่าของเรื่องก็ไม่ถึงกับว่าน่าเบื่อนัก แต่ปัญหาคือตัวหนังค่อนข้างยาวเกือบสองชั่วโมงเต็ม แล้วก็มีฉากวนเวียนอยู่แค่บ้าน ห้องน้ำ ธนาคาร ทำให้รู้สึกว่าหนังไม่ค่อยมีประเด็นใหม่พีคๆ ฉีกออกไปจากที่รู้อยู่แล้ว แถมพยายามเล่าเรื่องปมร้องเพลงไม่ได้ของนางเอกทั้งแฟลชแบ็คในอดีต ในฝัน ชีวิตจริง ใส่มาเยอะจนไม่รู้ว่าผู้กำกับต้องการสื่ออะไรมากมายขนาดนั้น (ขนาดเปิดตู้เย็นยังหลอนกลายเป็นเวทีรายการร้องเพลง) ทั้งๆ ที่ปมของเรื่องมีนิดเดียวคือปัญหาครอบครัวกับการฟอกเงินของนางเอกว่าจะจบลงแบบไหน ซึ่งตอนจบก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์ แถมจบแบบดูดีเกินจริงไปด้วยซ้ำ ทำให้หนังจบแบบไม่มีอะไรให้น่าจดจำนัก ผิดกับ Sacred Games ที่จบได้ยิ่งใหญ่แหวกแนวมาก จนทำให้ทั้งผู้กำกับและเขียนบทเรื่องนี้คงเสียเครดิตไปเลยแน่นอนครับ

 

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!