รีวิว อย่ากลับบ้าน ซีรีส์ Netflix ไทยที่ต้องชมความตั้งใจทะเยอทะยานไปไกล แต่ก็ตกม้าตายจากบทแบบเดิมๆ
อย่ากลับบ้าน
Summary
ซีรีส์จากผู้กำกับหน้าใหม่ที่นำเสนอเรื่องราวแนวผีหลอกบังหน้าไว้ ก่อนจะทะเยอทะยานไปสู่แนวอื่นที่ไกลโพ้นออกไปจากแนวทางคอนเทนต์ไทยตามปกติมาก ซึ่งในมุมนี้ก็น่าชื่นชมอยู่ แต่ด้วยบทที่ถูกเขียนออกมาทื่อๆ ทำให้ทั้งบทพูด ตัวละคร การดำเนินเรื่องกลับดูแย่ เรื่องเต็มไปด้วยจุดเอ๊ะ อิหยังวะ กับแผลเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด แม้ตอนหลังจะมีความพยายามอธิบายเรื่องทั้งหมดให้ดูเนียน แต่กลับเป็นการเฉลยเรื่องแบบทื่อๆ ขาดการพลิกแพลงที่สุดท้ายแนวนี้ควรมีบ้าง รวมถึงประเด็นการกดขี่ผู้หญิงที่เรื่องวางไว้ก็มีปัญหาด้วยบทตั้งใจด่าทหารตำรวจแบบทื่อๆ เหมือนกัน ซึ่งมันไม่เวิร์คเลยจริงๆ ถ้าจะทำออกมาแบบนี้ครับ แต่ด้วยความที่เรื่องสั้นแค่ 6 ตอนจบ ก็ทดลองดูได้ถ้าใครต้องการคอนเทนต์ไทยที่แตกต่างก็ยังน่าจะชอบแนวทางนี้ได้อยู่ครับ
Overall
5.5/10User Review
( votes)Pros
- แนวผีหลอกผสมหลายอย่าง
- ใส่ปมกดขี่ผู้หญิงจากผู้ชายในเครื่องแบบ
- งานภาพกับ CG ดูโอเคดี
Cons
- บทเขียนออกมาได้ทื่อๆ มาก
- เรื่องหลอกผู้ชมจนดูตั้งใจเกินไป
- นักแสดงดูไม่เป็นธรรมชาติหลายอย่างเพราะบท
- มีเพลงประกอบดังรบกวนบทพูดบางช่วง
อย่ากลับบ้าน Don’t Come Home ซีรีส์ไทย Original Netflix 6 ตอนจบ เรื่องราวของแม่ที่แจ้งตำรวจให้ตามหาลูกสาวที่หายไปในบ้านเก่าที่เธอพึ่งหวนกลับมา แต่เมื่อตำรวจเริ่มสืบก็พบกับปริศนามากมายที่ขุดลึกลงไปถึงอดีตของบ้านหลังนี้
รีวิว อย่ากลับบ้าน Don’t Come Home (มีสปอยล์บางส่วน)
ซีรีส์ไทยจาก วุฒิดนัย อินทรเกษตร ผู้กำกับเและเขียนบทหนังครั้งแรก ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าต้องการยกระดับให้คอนเทนต์ไทยไปไกลกว่าเดิม ด้วยการเล่นเรื่องแนวลึกลับระทึกขวัญที่ใช้ผีเป็นฉาบหน้าคลุมเรื่องราวไว้ให้น่าติดตามก่อน จากนั้นจึงตามมาด้วยแนวสืบสวนผสมจิตวิทยานิดๆ แล้วก็ต่อด้วยการพลิกแนวไปอีกทาง ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นความพยายามที่เห็นเด่นชัดมากๆ ว่าต้องการให้ผลงานโลคอลนี้ไปไกลโกอินเตอร์ระดับซีรีส์ Dark ของ Netflix เองหรืออย่างคู่แข่งของ Prime ที่ชื่อ The Devil’s Hour ที่ขึ้นชื่อในแนวทางสไตล์นี้คล้ายๆ กัน แต่ก็ต้องตำหนิกันตรงๆ ว่าความพยายามนี้กลับไปไม่ถึงขั้นนั้น ด้วยบทที่มีปัญหากันตั้งแต่แรกอย่างเห็นได้ชัดครับ
ซีรีส์พยายามเซ็ตเรื่องให้ดูสดใหม่ ด้วยการบอกตัวเองตั้งแต่โฆษณาจากเน็ตฟลิกซ์แล้ว ‘นี่ว่าไม่ใช่ผี’ เรือ่งเริ่มที่ ‘มินกับวารี’ แม่กับลูกสาววัย 5 ขวบที่หนีสามีมาอยู่บ้านเก่าของเธอกลางป่า แล้วก็อัดฉากผีหลอกตุ้งแช่โหมกระหน่ำกันมาติดๆ ทันทีโดยไม่รีรออะไร จนรู้สึกว่าเป็นความพยายามยัดเยียดจะให้ผู้ชมตกใจให้ได้ ซึ่งเอาจริงๆ ฉากผีหลอกในเรื่องนี้ก็มีความแปลกใหม่นิดๆ จากตัวผีตาแดงหน้าตาประหลาดๆ ไม่เหมือนผีไทยปกติ ฉากสิ่งของลอยได้ที่ดูเหมือนผีฝรั่ง เด็กปริศนาใส่หน้ากากวิ่งไปทั่วบ้านซึ่งดูก็รู้สึกหลอนๆ อยู่ แต่การใช้ฉากจั๊มสแกร์พร่ำเพรื่อมากมายก็เลยทำให้เรื่องดูงั้นๆ ไปเลย แถมยังออกจะตลกๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งแม้ตอนหลังจะมีการเฉลยฉากพวกนี้ก็ยังดูล้นจนมากเกินไปจริงๆ ครับ
แต่หลังจากนั้นตอน 2-3 เรื่องพลิกไปอีกทางเมื่อ ‘ฟ้า’ สารวัตรสาวท้อง 6 เดือนมาสืบคดีนี้ แล้วก็พบว่าคำให้การของมินเต็มไปด้วยพิรุธน่าสงสัย เมื่อไม่สามารถยืนยันได้เลยว่ามีลูกสาวจริงๆ หนังก็ทำตัวเหมือนแนวสืบสวนผสมจิตวิทยาตั้งคำถามว่า หรือจริงๆ แล้วไม่มีตัวลูกสาวคนนี้ตั้งแต่แรก ซึ่งเรื่องก็พยายามวางปมหลอกล่อให้คนดูหลงทางอย่างหนัก จนทำให้หลายฉากดูไม่เป็นธรรมชาติของตำรวจสืบสวน อย่างการใส่บทว่าฟ้าเป็นชู้กับเจ้านายเพื่อเลื่อนขั้น ตัวมินที่ใส่เสื้อเปื้อนเลือดมาสองวันก็ไม่เปลี่ยนชุดจนตำรวจสงสัยต้องขอเสื้อไปตรวจ DNA ซึ่งจริงๆ ตำรวจก็เห็นเธอใส่ชุดนี้ตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว ซึ่งฉากพวกนี้ทำเพื่อตั้งใจหลอกจนคนดูเองก็ต้องรู้สึกว่ากำลังถูกหลอก จนไม่ต่างอะไรกับฉากผีหลอกจั๊มสแกร์ในตอนแรกเลย
ซีรีส์มาพลิกแนวทางเอาตอน 4 เป็นการเฉลยปมเรื่องที่แท้จริงไปอีกทาง แม้มันจะดูหวือหวาหรือว้าวที่คอนเทนต์ไทยมาแนวนี้ได้ แต่ด้วยความทื่อของบทก็ทำให้การพลิกแนวนี้กลับมาสร้างปัญหาให้เรื่องมีมากขึ้น เมื่อบทมีแต่จุดที่ดูแล้วต้องเอ๊ะๆ อิหยังวะ เต็มไปด้วยช่องโหว่มากมายที่เห็นได้ชัด แล้วก็ยังพยายามทำให้ฉากพวกนี้ดูสมเหตุผล ด้วยวิธีการที่ไม่สมเหตุผลมากขึ้นไปอีก จนสงสัยว่าคนเขียนบทที่เป็นผู้กำกับแค่อยากทำแนวนี้ก็เลยหาทางยัดใส่มาทื่อๆ เลยมั้ง ซึ่งหลังจากนั้นเรื่องก็เล่นสนุกกับไอเดียที่วางไว้ตั้งแต่แรก โดยเป็นการเล่าซ้ำเฉลยเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดอีกที ซึ่งแม้มันจะดูสมบูรณ์เนียนไร้รอยต่อ แต่ก็เป็นการเล่าเรื่องแบบที่ผู้ชมก็รู้อยู่แล้วไม่มีเซอร์ไพรส์อะไรอีก ไม่มีการพลิกผันให้เรื่องมีแนวทางที่ต่างออกไป จนดูแล้วรู้สึกว่าตัวละครในเรื่องอยู่ๆ ก็เต็มไปด้วยบทโง่ๆ มาต่อร้อยเรียงกันมากกว่าจะเป็นการเฉลยเรื่องที่น่าประทับใจอะไรเลย แถมด้วยบทเฉลยโยงถึงชื่อเรื่องที่ดูแล้วสิ้นคิดเอามากๆ กับตัวละครนี้ครับ
นอกจากแผลมากมายในเนื้อเรื่องแล้ว ซีรีส์ยังพยายามจะเล่าถึงปมการกดขี่ผู้หญิง 3 คนในเรื่อง (แสดงโดย นุ่น วรนุช, แพร์ พิชชาภา, ซินดี้ สิรินยา) มินที่ถูกสามีทหารทำร้าย ฟ้าตำรวจสาวที่บ้านแตกแล้วก็เป็นชู้กับเจ้านายเพื่อเลื่อนขั้น แม่ของมินที่โผล่มาภายหลังกับปมครอบครัว เรื่องใส่ประเด็นพวกนี้ไว้ในเรื่องแบบตรงๆ ทื่อๆ ไม่มีการลงรายละเอียดอะไรมากให้ผู้ชมค่อยๆ ดิ่งลึกเข้าใจได้ตาม อย่างฟ้าที่ฉลาดขนาดนี้แต่กลับมาเป็นชู้กับเจ้านายได้ยังไง จนถึงช่วงเวลาที่หลุดพ้นจากปมที่ถูกดขี่ก็ไม่รู้สึกว่านี่เป็นการก้าวข้ามอะไรเลย กลับรู้สึกว่าเธอจะลำบากกว่าเก่าด้วยจากการกระทำในตอนจบ ซึ่งบทของเรื่องนี้เหมือนแค่ต้องการลากผู้ชายในเครื่องแบบทหารกับตำรวจมาประจานด่าทอ โดยใช้ตัวละครผู้หญิงเป็นเครื่องมือแบบทื่อๆ เท่านั้น ซึ่งมันไม่เวิร์คไม่อินด้วยเลยจริงๆ ครับ
ตัวเรื่องก็ยังพยายามเอาช่วงเวลาปฏิวัติทหารยึดอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง มาในรูปแบบเดียวกับความตั้งใจเหมือนหนังตาคลีเจเนซิสเลย กลัวคนลืมช่วงเวลาพวกนี้ไป ซึ่งเป็นอะไรที่ใส่มาแบบคิดเวิ่นเว้อมากไปเองของผู้กำกับที่อยากส่งต่อให้คนดูกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยครับ
สรุป ซีรีส์จากผู้กำกับหน้าใหม่ที่นำเสนอเรื่องราวแนวผีหลอกบังหน้าไว้ ก่อนจะทะเยอทะยานไปสู่แนวอื่นที่ไกลโพ้นออกไปจากแนวทางคอนเทนต์ไทยตามปกติมาก ซึ่งในมุมนี้ก็น่าชื่นชมอยู่ แต่ด้วยบทที่ถูกเขียนออกมาทื่อๆ ทำให้ทั้งบทพูด ตัวละคร การดำเนินเรื่องกลับดูแย่ เรื่องเต็มไปด้วยจุดเอ๊ะ อิหยังวะ กับแผลเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด แม้ตอนหลังจะมีความพยายามอธิบายเรื่องทั้งหมดให้ดูเนียน แต่กลับเป็นการเฉลยเรื่องแบบทื่อๆ ขาดการพลิกแพลงที่สุดท้ายแนวนี้ควรมีบ้าง รวมถึงประเด็นการกดขี่ผู้หญิงที่เรื่องวางไว้ก็มีปัญหาด้วยบทตั้งใจด่าทหารตำรวจแบบทื่อๆ เหมือนกัน ซึ่งมันไม่เวิร์คเลยจริงๆ ถ้าจะทำออกมาแบบนี้ครับ แต่ด้วยความที่เรื่องสั้นแค่ 6 ตอนจบ ก็ทดลองดูได้ถ้าใครต้องการคอนเทนต์ไทยที่แตกต่างก็ยังน่าจะชอบแนวทางนี้ได้อยู่ครับ
สปอยล์สำคัญใน EP 4
ตอน 4 เรื่องพลิกไปแนวย้อนเวลา เมื่อแม่ของมินในอดีตเสียลูกสาวไป แล้วบังเอิญทำเครื่องย้อนเวลาได้หลังจากพยายามฆ่าตัวตาย ก็เลยสร้างเครื่องมือที่จะดึงเอาลูกสาวที่ตายไปกลับมา แต่กลายเป็นว่าไปดึงเอาตัววารีกลับมาแล้วเลี้ยงเป็นเหมือนลูกของตัวเอง กลายเป็นวนลูปพาราด็อกไป