playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Electric Dreams ซีรีส์ไซไฟชวนฝันขั้วตรงข้าม Black Mirror

สรุป

ซีรีส์ที่รวมหนังสั้นงานคุณภาพหลายเรื่องอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยรวมดีแทบทั้งหมดยกเว้นตอนเดียวที่มีปัญหาคือตอน 4 ที่ข้ามไปไม่ดูก็ได้ หนังมีความแตกต่างจาก Black Mirror ตรงโปรดักชั่นสูงกว่า เรื่องราวล้ำไปไกลกว่า และก็ออกแนวจิตวิทยาสำรวจความคิดตัวละครในเรื่องมากกว่า อาจจะมีเนิบๆ อยู่บ้าง แต่ด้วยความเป็นหนังสั้นก็ไม่ได้เสียเวลาอะไรมากนักครับ

Overall
8/10
8/10
Sending
User Review
0 (0 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • โปรดักชั่นลงทูนสูงกว่า Black Mirror
  • เรื่องราวไซไฟแบบล้ำไปไกลมากๆ
  • หนังแนวดราม่าลงลึกสำรวจจิตใจมนุษย์
  • จบแนวฟีลกู๊ดหลายเรื่อง

Cons

  • ตอน 4 มีปัญหาหลายจุด
  • เรื่องราวจบปลายเปิดเยอะคนอาจจะไม่ชอบนัก
  • อาจจะมีเดินเรื่องเนิบๆ อยู่บ้าง

Electric Dreams อิเล็กทริก ดรีม (ชื่อไทย ฝันติดไฟ) ซีรีส์รวม 10 เรื่องสั้นจบในตอนของ Amazon Prime Video ที่นำเสนอแนวไซไฟโลกอนาคตทั้งใกล้และไกลหลายหมื่นปีแสง มีความคล้ายซีรีส์ Black Mirror มาก เพียงแต่เรื่องราวส่วนใหญ่สวยงามอิ่มเอมไปกับความรู้สึกฟีลกู๊ดมากกว่า
 Electric Dreams (2017) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่าง Electric Dreams (ฝันติดไฟ)

ซีรีส์ชุดนี้มีพื้นฐานมาจากนิยายของ ฟิลิป เค. ดิก (Philip Kindred Dick) เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งทั้งจากผู้อ่านทั่วไปและนักวิจารณ์  แม้เขาจะเสียชีวิตไปนานแล้วเมื่อปี ค.ศ.1982 งานของเขามีอิทธิพลต่อนิยายวิทยาศาสตร์ในยุคหลัง โดยเฉพาะแนวไซเบอร์พังก์ และถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายเรื่องอย่าง Blade Runner,Total Recall,Minority Report ซึ่งซีรีส์ชุด Electric Dreams นี้ก็หยิบเอานิยายกับเรื่องสั้นหลายเรื่องของเขามาทำ บางเรื่องเก่าแก่กว่า 60 ปีเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีความล้ำทันสมัยไม่ต่างอะไรจากเรื่องราวไซไฟในปัจจุบัน

ภาพโดยรวมของเรื่องสั้นทั้ง 10 ตอนจะค่อนข้างเป็นโลกอนาคตที่กึ่งๆ ย้อนยุคกลับไปในช่วงเวลาเก่าๆ สมัยปัจจุบันหรือยุค 80s 90s อยู่ตลอด เป็นแนวทางที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของซีรีส์ชุดนี้ที่ล้ำก็จริง แต่ก็มีความ Old School ย้อนยุคอยู่ในตัวเกือบทุกตอนไปพร้อมกัน ซึ่งจะต่างกับ Black Mirror ที่เป็นช่วงเวลาไม่ไกลจากปัจจุบันนัก และเรื่องราวโดยส่วนใหญ่จะค่อนข้างจบสวยงาม มีความเป็นดราม่าลงลึกถึงจิตวิญญาณมากกว่าเรื่องปัญหาของเทคโนโลยีโดยตรงแบบ Black Mirror แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่นำเสนอด้านลบของเทคโนโลยี บางตอนก็มีความรุนแรงสูง แต่เหมือนผู้สร้างตั้งใจให้ภาพรวมของซีรีส์ชุดนี้ดูแล้วสวยงามอิ่มเอมไปกับแนวคิดจิตวิญญาณผู้คนในยุคที่มีเทคโนโลยีล้ำๆ มากกว่า ดังนั้นเรื่องจึงไม่ได้ดาร์คอะไรมาก แม้ว่าระหว่างเรื่องอาจะดูดาร์ค แต่ก็จะพลิกกลับจบด้วยอารมณ์ตรงข้ามเสมอครับ

ทั้ง 10 ตอนผู้เขียนติดใจไม่ชอบอยู่ตอนเดียวคือ ตอนที่ 4. เพชร Crazy Diamond นอกนั้นอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ชอบ ถ้าคิดเป็นคะแนนก็ 7-8 ทุกเรื่อง แต่ว่าข้อเสียของหนังสั้นแบบนี้คือมักจะไปไม่สุดทั้งอารมณ์หรือเรื่องราวที่มักจะโดนตัดจบ หรือจบแบบปลายเปิดซะก่อน แต่ถ้าเข้าใจว่าเป็นหนังสั้นแถมเป็นซีรีส์ทำลงสตรีมที่ทุนอาจจะไม่สูงนักก็ไม่มีปัญหาครับ ซึ่งแม้ว่าทุนจะไม่สูง แต่ซีรีส์ชุดนี้ก็มีโปรดักชั่นสูงกว่า Black Mirror มากเหมือนกัน หลายๆ ตอนเซ็ทโลกล้ำๆ ได้สมจริง มีฉากภายนอกหรือ CG ที่ดูอลังกว่า Black Mirror ที่มักจะวนๆ ใช้วัตถุดิบกับอุปกรณ์เดิมๆ (อย่างที่แปะหัว) ดังนั้นจึงคาดหวังได้เลยว่าซีรีส์ชุดนี้ดูสนุกแล้วก็สมจริงกว่า เพียงแต่ว่าไม่ได้ดังเท่ากับ Black Mirror อาจจะเพราะอยู่ใน Amazon Prime ที่มียอดสมาชิกน้อยกว่าหลายเท่า แต่รับรองว่าโดยรวมเรื่องราวกับงานสร้างดีไม่แพ้กัน และก็อาจจะมากกว่าด้วยถ้าเทียบกันในรายละเอียดตอนต่อตอนครับ

Electric Dreams รีวิวสั้นๆ ทั้ง 10 ตอน (ไม่มีสปอยล์)

ตอนที่ 1. ชีวิตจริง (Real Life)

ตำรวจหญิงในโลกอนาคตที่กำลังตามล่าผู้ก่อการร้ายตัวฉกาจที่สังหารเพื่อนตำรวจไปมากมาย และด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน แฟนสาวเลสเบี้ยนนำเสนออุปกรณ์ช่วยฝันเหมือนจริงเพื่อการพักผ่อน แต่แล้วกลายเป็นว่าเรื่องราวในฝันกลับเหมือนจริงยิ่งกว่าชีวิตที่เธอเคยดำรงอยู่…

ตอนแรกที่เปิดมาก็ดีเลย แถมด้วยเซ็ตติ้งโลกอนาคตล้ำๆ แบบมีรถบินได้ อุปกรณ์สื่อสารล้ำๆ ที่ทำ CG ออกมาดูดีเลย แต่ช่วงฝันของตัวเอกจะกลับมายังยุคปัจจุบันที่เราอยู่แต่เปลี่ยนเป็นผู้ชายแทน  แล้วก็เล่นเรื่องคู่ขนานสองโลกที่มีความคล้ายคลึงกันแต่ในหลายๆ อย่างในบริบทอย่างชื่อคนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอก ซึ่งมีปมปริศนาที่ต้องไขให้กระจ่างว่าตัวเอกทั้งสองกำลังตามล่าคนร้ายเหมือนกัน แต่โลกไหนล่ะที่เป็นเรื่องจริงกันแน่ ซีรีส์มีบทบู๊แอ็กชั่นพร้อมความรุนแรงพอสมควรจากที่พระเอกในโลกปัจจุบันทำตัวเหมือนแบทแมนออกไล่ล่าหาคนร้ายด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าทำออกมาได้ครบเครื่องสนุกมากตั้งแต่ตอนแรก และก็ฉงนพิศวงไปกับเรื่องราวโลกคู่ขนานจริงหรือฝันไปพร้อมกันครับ

คะแนน 7.5 


ตอนที่ 2. ออโตแฟก (Autofac)

โลกดิสโทเปียที่สังคมล่มสลายแต่โรงงาน “ออโตแฟก” ที่ผลิตสินค้าอะไรก็ได้ในโลกแบบอัตโนมัติขนาดใหญ่กลับยังปฏิบัติงานตามหลักบริโภคนิยมอยู่ จนทำให้เกิดมลพิษต่อเนื่องจนมนุษย์กลุ่มสุดท้ายต้องตัดสินใจลุกขึ้นมาปิดมัน แต่ก็ต้องผ่านการต่อสู้กับเหล่าจักรกล AI. ที่ปกป้องโรงงานนี้อยู่เพราะมันคิดว่าตัวเองกำลังช่วยมนุษย์ชาติที่เป็นผู้บริโภคกลุ่มสุดท้ายนี้อยู่ด้วยเช่นกัน

นี่เป็นตอนเสียดสีโลกอุตสาหกรรมทุนนิยมโดยตรง ผ่านโรงงานออโตแฟกที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโรงงานในฝันสร้างอะไรก็ได้จบในที่เดียว แต่หลังโลกสูญสลายไปกลับกลายเป็นว่ามันก็ยังไม่หยุดสร้าง จนส่งขยะออกมาถมโลกที่เน่าเฟะให้แย่ลงไปอีก ซึ่งก็คล้ายๆ กับปัญหาในโลกยุคปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่กับขยะอิเล็กทรอกนิกส์หรือมือถือล้นโลกในตอนนี้ แต่ว่าเรื่องราวก็ไม่ได้เดินไปทางเสียดสีอะไรให้น่าเบื่อ เพราะเรื่องราวดำเนินไปแบบแนวคนเหล็กเทอมิเนเตอร์ มีการส่งคนไปบุกโรงงาน ต้องต่อสู้หาทางจัดการกับหุ่นยนต์ที่ปกป้องโรงงาน แต่ว่าก็ไม่ถึงขนาดบู๊แอ้กชั่นอะไรมาก เผลอๆ จะออกแนวสยองขวัญซะมากกว่าด้วยครับ

นอกจากนี้เรื่องราวยังมีปมปริศนาซ้อนกันอยู่หลายชั้นแบบไม่คาดคิดระหว่างมนุษย์กับจักรกล AI. รวมถึงเรื่องราวความรักในโลกดิสโทเปียที่ไม่มีอนาคตสดใส แต่ก็ยังเกิดขึ้นได้อย่างสวยงาม ต้องบอกเลยว่าเป็นตอนที่แม้ดูเผินๆ จะธรรมดากับแนวหนังแบบคนเหล็ก แต่เรื่องราวพอเฉลยแล้วน่าทึ่งชวนตะลึงมาก จนเป็นหนึ่งในตอนที่ดีที่สุดในหนังสั้นชุดนี้เลย

คะแนน 8.5 


ตอนที่ 3. ความเป็นมนุษย์ (Human Is)

โลกอนาคตในยุคที่มนุษย์ไปตั้งอณานิคมในต่างดาว ภรรยาที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของดาวเทอรากลับพบว่าสามีเธอเปลี่ยนไป หลังจากไปปฏิบัติหน้าที่ในดาวดวงหนึ่ง และเป็นผู้รอดชีวิตมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้เธอเริ่มไม่แน่ใจว่าเขาคือสามีของเธอตัวจริงคนเดิมหรือไม่?

เรื่องในตอนนี้มาในแนวไซไฟล้ำๆ สำรวจจักรวาลแบบสตาร์เทร็ก แต่ไม่ได้เป็นแนวสันติวิธีเมื่อเจอมนุษย์ต่างดาว กลับทำตัวเป็นผู้รุกรานสิ่งมีชีวิตเจ้าของดาวนั้นแทน จนกลายเป็นเหมือนว่าผลร้ายจากการรุกรานสิ่งมีชีวิตโลกอื่น กำลังหวนกลับมาหามนุษย์กลุ่มนี้ ซึ่งหนังมาในแนวบททดสอบว่าความเป็นมนุษย์จริงๆ คือเอาอะไรมาตัดสินกัน ถ้าหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวมีความเป็นมนุษย์แบบที่จำกัดความไว้ มนุษย์จะยังคงเชื่อหรือไม่ว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตสุดประเสริฐในจักรวาลอีก

หนังในตอนนี้ถ้าหลุดช่วงแรกไปก็จะเป็นแนวเรียบๆ เน้นดราม่าหาคำตอบกับปัญหาชีวิตครอบครัวในอนาคตที่ไม่ต่างอะไรจากปัจจุบัน จุดเฉลยของเรื่องไม่ค่อยเซอร์ไพรส์อะไรมาก คิดว่าทุกคนที่ดูคงรู้คำตอบไม่ยาก แต่ก็นับว่าเป็นตอนที่หยิบเอาเรื่องสันดานดั้งเดิมของมนุษย์มาตีแผ่ในแบบล้ำๆ ได้อย่างน่าสนใจพอควรครับ

คะแนน 7


ตอนที่ 4. เพชร (Crazy Diamond)

ชีวิตของเอ็ดกลับตาลปัตรเมื่อเขาเจอสาวเจ้าเสน่ห์ที่ชื่อจิล ปัญญาประดิษฐ์ที่ทั้งสวย ทั้งอันตราย จิลนำเอ็ดเข้าสู่โลกอาชญากรรมและฆาตกรรมซึ่งคุกคามทุกอย่างที่มีความหมายกับเขา

นี่เป็นที่ทำออกมาได้คุณภาพต่ำสุดเมื่อเทียบกับตอนอื่นๆ ที่มีมาตรฐานกว่ามาก ตัวเรื่องนำเสนอบริษัทที่สร้างชีวิตสังเคราะขึ้นมาได้ เพื่อช่วยให้มนุษย์มีผู้ช่วยเป็นร่างเนื้อมีชีวิตจิตใจเหมือนคนจริงๆ แม้คอนเซ็ปต์จะดูล้ำ และเรื่องราวมาในแนวอาชญากรรม จารกรรม แต่ว่ากลับทำออกมาตลกแบบไม่เข้าท่าอย่างไม่น่าเชื่อ จนเหมือนตั้งใจจะทำให้ไม่สมจริงแบบหนังคัลท์แนวแปลกๆ ที่ดูไม่สนุกเอาซะเลย แถมยังพ่วงดราม่าปัญหาชีวิตครอบครัวของพระเอกที่ดูไปก็ออกจะงงๆ แม้เรื่องราวจะเบาหวิวแค่ว่าพระเอกอยากหลุดจากชีวิตมนุษย์ทำงานปกติไปล่องเรือเดินทางสำรวจโลก

แนะนำเลยว่าตอนนี้ไม่ต้องดูก็ได้ เพราะพอดูแล้วกลายเป็นฉุดความรู้สึกดีในตอนอื่นๆ ไปด้วยครับ

คะแนน 5


ตอนที่ 5. คนทำหมวก (The Hood Maker)

สงครามกำลังระอุระหว่างมนุษยปกติกับ “ทีป” มนุษย์กลายพันธุ์ที่มีพลังจิตอ่านความคิดได้ มีเพียงรอส เจ้าหน้าที่กองปราบและออเนอร์ ทีปที่ถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่นี้โดยเฉพาะ แต่พวกเขาจะหักห้ามความรู้สึกที่มีต่อกันได้หรือไม่ในเมื่อความรักต่างเผ่าพันธ์มนุษย์กลายพันธ์เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในโลกนี้

 

เรื่องราวมาในแนว X-Men สืบสวนสอบสวนในโลกที่มนุษย์กลายพันธ์อ่านใจได้กำลังก่อปัญหากับมนุษย์ปกติ ที่รู้สึกว่าตัวเองถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวทางความคิด หนังเปรียบเรื่องการอ่านความคิดของทีปเป็นเหมือนการเจาะระบบแฮ็กเกอร์ เทียบรูปแบบเหมือนการที่เรามีข้อมูลดิจิตอลบนออนไลน์ แต่แล้วกลับถูกเจาะเอาไป ทำให้เกิดการต่อต้านจนจะกลายเป็นสงครามใหญ่ อีกทั้งยังกลายเป็นการเหยียดทีฟว่ามีความผิดปกติไม่สมควรมาปะปนทำงานร่วมกับมนุษย์ใดๆ ซึ่งทีฟในเรื่องนี้จะมีรอยสีคาดบนใบหน้าชัดเจนว่าเป็นทีป และตัวทีฟเองแม้อ่านใจได้แต่ก็ตกเป็นคนชนชั้นล่างของสังคม ที่หลายคนถูกนำไปค้าประเวณีทางจิต โดยให้ผู้ชายจินตนาการเรื่อง SEX พิสดารกับทีปที่อ่านใจแล้วบรรยายออกมาแลกเป็นเงินตอบแทน หนังจึงเป็นทั้งแนวสืบสวนตามหาคนทำหมวกที่เป็นอุปกรณ์ปิดกั้นพลังของทีปได้ (แบบหมวกแม็กนีโตของ X-Men) และเป็นเรื่องความรักระหว่างสองคนที่ทำงานด้วยกันที่ทำออกมาโรแมนติกดีพอตัว แต่เรื่องจริงๆ ก็ยังมีซ่อนไว้ลึกกว่านั้นอีก อันนี้ต้องลองไปดูเองครับ รับรองว่าเกินคาดนิดๆ เหมือนกันครับ

คะแนน 7.5


ตอนที่ 6. โดยสวัสดิภาพ (Safe and Sound)

เมื่อฟอสเตอร์ สาววัย 15 ปีย้ายจากเมืองเล็กไปเมืองแห่งอนาคตขนาดใหญ่ เธอกลายเป็นคนเชยๆ เข้าสังคมไม่ได้ เนื่องจากแม่ของเธอเป็นนักต่อต้านสิ่งของใช้ไฮเทคติดตามตัวที่เธอเชื่อว่ารุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้คน และไม่ยอมให้ลูกใช้มัน จนสุดท้ายฟอสเตอร์แอบซื้อ “เด็กซ์” ที่เป็นอุปกรณ์ประจำตัวของคนในเมืองนี้ที่มีไว้เพื่อระบุตัวตนและป้องกันการก่อการร้าย เสียงของ “ผู้ช่วยทางเทคนิค” ก็กลายเป็นเพื่อนคนใหม่ของเธอ และนำเธอไปสู่การสืบหาแผนการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในโรงเรียน

 

นี่เป็นตอนที่ผสมผสานเรื่องราววัยรุ่นไฮสคูลเข้ากับเรื่องทฤษฎีสมคบคิดแนวรัฐบาลสอดแนมประชาชน โดยอ้างเหตุจากการก่อการร้ายที่มีบ่อยครั้งในโลกยุคนั้น หนังจึงเป็นการจำลองเหตุการณ์ในโลกยุคปัจจุบันนี้จากประเทศที่มีคดีกราดยิงกับการก่อการร้ายรุนแรงในแบบที่ว่าถ้ามีอุปกรณ์ติดตามตัวทุกคนกันไปเลย จะสามารถป้องกันเหตุร้ายเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งหนังเลือกใช้เรื่องราววัยรุ่นเชยๆ ที่มาจากชนบทและไม่มีอุปกรณ์นี้ติดตัว จนทำให้ถูกแบ่งแยกออกจากสังคม และแทบจะไม่ได้รับการยอมรับให้เข้ากิจกรรมทำอะไรต่างๆ จนทำให้สาวน้อยคนนี้ตัดสินใจไม่เชื่อแม่ ยอมใช้อุปกรณ์นี้ และก็ได้พบกับผู้ช่วยทางเทคนิคการใช้อุปกรณ์ที่เสียงหล่อและพูดคุยกับเธอดีมากๆ จนเกือบๆ เรียกว่าจีบ จนทำให้เธอเชื่อว่าเขาเหมือนเป็นเพื่อนชายที่ไว้ใจได้คนหนึ่ง ซึ่งหนังนำปัญหาการล่อลวงหญิงสาววัยรุ่นทางโลกออนไลน์มาปรับใช้กับตอนนี้ และก็ทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนว่าตัวนางเอกติดอยู่กับจินตนาการจนแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนจริงกับเธอกันแน่ หนังทำออกมาแนวลุ้นระทึกลับลวงพรางกับเรื่องสังคมวัยรุ่นไฮคูลได้ค่อนข้างดีเลย สนุกพร้อมกับตอนจบที่อาจจะงงนิดๆ ก่อนเฉลยเรื่องราวอีกด้านให้ดูแบบเคลียร์ๆ กันไปเลย

คะแนน 7.5


ตอนที่ 7. ความเป็นพ่อ (The Father Thing)

แจ็ค เด็กน้อยที่รู้ว่ามนุษย์กำลังถูกแทนที่โดยมนุษย์ต่างดาวอันตราย ซึ่งแทรกซึมเข้ามายังโลกและแทนที่พ่อของเขาไปเสียแล้ว

 

ตอนนี้มาในแนวหนังสยองขวัญเอเลี่ยนบุกโลกสมัยก่อน ซึ่งพล็อตก็เหมือนเรื่อง Invasion of the Body Snatchers ของปี 1956 (มีรีเมคภายหลังปี 1993) ที่เป็นมนุษยต่างดาวกลืนกินลอกเลียนแบบคน แล้วทำตัวกลมกลืนกับมนุษย์เพื่อยึดโลก ซึ่งในตอนนี้ก็มาแบบเดียวกัน เป็นโลกยุคปัจจุบันที่พวกเอเลี่ยนมาจากฝนดาวตก ก่อนที่เด็กน้อยแจ็คจะพบความลับเรื่องนี้จากการเห็นพ่อของเขาเปลี่ยนแปลงไป และก็พยายามขุดคุ้ยหาที่มา รวมถึงพยายามให้ทุกคนรู้ แต่ก็ตามสูตรไม่มีใครเชื่อ จนเขาต้องใช้ไหวพริบจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็มาในแนวหนังผจญภัยเด็กๆ แต่ก็มีความน่ากลัวสยองขวัญเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่นับว่าพล็อตเรื่องซ้ำกับหนังดัง เรื่องก็ดูสนุกและเพลินเลยในแบบเด็กๆ สู้กับเอเลี่ยนกู้โลก แต่ในมุมความลึกของเนื้อหาดราม่าหรือจิตใจในแบบเดียวกับตอนอื่นๆ ไม่มีเลย

คะแนน 7


ตอนที่ 8. ดาวที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible Planet)

“นอร์ตัน” เป็นมัคคุเทศก์บนเรือสำราญในอวกาศที่ไม่มีความสุข ชีวิตของเขากำลังจะไม่เหลืออะไรจนกระทั่งเขาเจอ “เออร์มา” หญิงวัยชราที่ใกล้ตาย เธอต้องการเดินทางไปยังโลก ดาวที่ถูกทำลายไปนานแล้ว เพื่อเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายให้กับตัวเองก่อนสิ้นลมหายใจ

 

นี่เป็นอีกตอนที่เรื่องไปในอนาคตอันไกลมากจนถึงขั้นมีการเดินทางทัวร์อวกาศเป็นเรื่องเป็นราว และดาวโลกก็อยู่อาศัยไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งหนังตอนนี้เป็นการจำลองธุรกิจพาเที่ยวดวงดาวต่างๆ ที่แอบมีตุกติกหลอกลูกค้าบ้างในบางครั้งจากเครื่องมือสร้างภาพเปลี่ยนสีสันบนกระจกของยานให้ภาพดูเว่อร์เกินจริง แต่ก็เพื่อสนองความต้องการลูกค้า ซึ่งก็แอบเสียดสีธุรกิจทัวร์ต่างๆ ที่มักถ่ายภาพออกมาสวยเกินจริงเสมอ

แต่หนังไม่ได้เน้นที่ตรงนั้นมากนัก การปูเรื่องตุกติกก็เพื่อนำมาใช้กับตัวละครเออร์มาที่เป็ยแขกพิเศษมาจ้างพระเอกเดินทางไปยังโลก ที่ไม่มีใครไปมานานแล้วเนื่องจากมลพิษในดาวสูงจนมนุษย์อาศัยอยู่ไม่ได้ ซึ่งนั่นทำให้การเดินทางครั้งนี้กึ่งๆ เป็นการหลอกต้มเอาเงินจากหญิงชรา ซึ่งเรื่องราวต่อจากนี้จะเต็มไปด้วยความรู้สึกผิดบาปของพระเอก ก่อนจะเริ่มรู้สึกหวั่นไหวไปกับเออร์ม่าแบบแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งหนังทำออกมาได้ละมุนและสมเหตุผลเพียงพอให้เชื่อว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และก็หาทางออกในตอนจบได้ล้ำๆ ชวนฝันงดงามมาก

ตอนนี้เป็นตอนที่ดูแล้วทุ่มทุนหลายอย่างทั้งชุดอวกาศ ดวงดาวที่ลงไปสำรวจ และยังมีหุ่นแอนดรอยด์ที่เป็นผู้ช่วยของเออร์มาที่สำคัญกับเรื่องมาก และก็ทำออกมาแฝงความน่ากลัวในตัวมันเอง จากการที่พยายามปกป้องเจ้านายให้ได้ทำตามฝันให้สำเร็จ เรื่องในตอนนี้จึงมีหลากหลายอารมณ์ทั้งผจญภัย ความรัก ทริลเลอร์ผสมรวมกันได้อย่างลงตัวมาก แต่ถ้าใครไม่ชอบแนวรักๆ ก็อาจจะมองว่าตอนี้อืดๆ และเรื่องดูเพ้อฝันมากไปหน่อยได้เหมือนกัน

คะแนน 8.5


ตอนที่ 9. ผู้โดยสาร The Commuter

เอ็ดเบื่อชีวิตซ้ำซากของเขาในสถานีรถไฟ แต่หลังได้พบหญิงลึกลับซึ่งต้องการไปยังสถานีเมืองเมคอน ไฮต์ส เมืองลี้ลับที่ไม่มีอยู่ในแผนที่ นั่นจึงทำให้เอ็ดเริ่มเสาะหาทางไปเมืองนี้ให้ได้โดยขึ้นรถไฟไปตามเบาะแสที่หญิงสาวลึกลับทิ้งไว้

 

ตอนนี้เดินเรื่องอยู่ในยุคปัจจุบัน แต่ใส่เรื่องพิศวงเข้ามาเหมือนแดนอัศจรรย์ที่เอ็ดต้องตามหาให้เจอ ผ่านการเดินทางโดยรถไฟไปยังจุดลี้ลับเชื่อมต่อกับแดนอัศจรรย์แห่งนี้ หนังเล่าเรื่องออกมาสวยงามน่าติดตาม แล้วก็มีเรื่องราวชีวิตครอบครัวรันทดของเอ็ดแทรกเข้ามาเพื่อเป็นตัวเทียบกับชีวิตในฝันเมืองอัศจรรย์แห่งนี้ว่าเขาจะเลือกใช้ชีวิตที่ไหน หนังจึงออกแนวดราม่าผสมเรื่องไซไฟพิศวง ที่ไม่ได้สิ่งของหรืออะไรล้ำๆ แต่ว่าทำออกมาในแนวภาพมายาจากการมองเห็นของเอ็ดเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ได้น่าเบื่อเพราะเรื่องราวมีความแปลกน่าติดตามหาคำตอบไปจนจบ แต่ถ้าใครหวังไซไฟล้ำๆ กับตอนนี้ก็ไม่มีหรอกครับ

คะแนน 7


ตอนที่ 10. (ฆ่าให้หมด Kill All Others)

ชายคนหนึ่งถูกแขวนคอจากป้ายโฆษณาที่ไร้คนสนใจ เห็นได้ชัดว่าเขาถูกฆาตกรรมหลังนักการเมืองที่ลงสมัครชิงตำแหน่งปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความรุนแรง เมื่อชายคนหนึ่งกล้าพูดเพื่อประท้วง เขาก็กลายเป็นเป้าหมายใหม่ทันที

นี่เป็นตอนที่ดูแล้วต้องตีความหลายอย่างเยอะที่สุด เพราะหนังมาในแนวความเชื่อการเมืองสุดโต่งกับประชาธิปไตยในโลกอนาคต แต่เสียดสีอ้างอิงจากในอดีตที่ผ่านๆ มาของอาชีพนักการเมืองที่มักจะใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง โดยที่ประชาชนเองก็ไม่ได้ตระหนักว่าตัเองเป็นเหยื่อ หนังทำเรื่องตรงนี้โดยเสียดสีออกมาตรงๆ แรงๆ โดยให้นักการเมืองทำแคมเปญฆ่าคนคิดต่างทางแนวคิดการเมือง พร้อมกับนำเสนอโลกอนาคตที่มีการโฆษณาชวนเชื่อผ่านโฮโลแกรมล้ำๆ สมจริงถึงทุกที่ในบ้าน แม้ดูไม่ค่อยน่าพิศมัย แต่ว่าผู้คนก็ติดใจในความเหมือนจริงของโฆษณา ถึงขนาดมีอารมณ์กับโฮโลแกรมได้ และยังใส่ปัญหาแรงงานมนุษย์ที่ถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ในโลกอนาคตที่โรงงานเหลือมนุษย์เพียงไม่กี่คนไว้ตามกฏหมายเท่านั้น ซึ่งหนังจำลองอะไรหลายๆ อย่างออกมาล้ำๆ เป็นจริงได้แน่ๆ ในอนาคต แต่ก็แฝงปัญหาที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมกัน ตอนนี้มีความเป็นแนวแง่ลบจากเทคโนโลยีแบบซีรีส์ Black Mirror มากที่สุดแล้วในทั้ง 10 ตอน เป็นตอนที่ดูสนุกขำๆ กับเรื่องเสียดสีเทคโนโลยี แต่ว่าหนักกับเรื่องการเมืองมากอยู่ ต้องดูแล้วตีความกันเอาเองกับฉากจบในตอนนี้ครับ

คะแนน 7.5


Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!