playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว GHOST LAB หนัง “ฉีกกฎหนังผี” ที่พยายามสยองมากมายจนกลายเป็นตลกแบบไม่ตั้งใจ… (ไม่มีสปอยล์)

สรุป

หนังผีที่พยายามอย่างมากที่จะฉีกแนวหนังผีไทย แต่บทกลับไปไม่ถึงไหน หลายสิ่งที่นำเสนอไม่ได้ใหม่เลยกับคนดูหนังผีแนวท้าพิสูจน์แบบต่างๆ ที่เคยมีมาก่อนเยอะแล้ว แต่ปัญหาของเรื่องจริงๆ คือความพยายามลากเรื่องให้น่ากลัวแบบมีเหตุผลควบคู่ไปกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ แต่ไม่สำเร็จเพราะเหตุผลกับการเดินเรื่องมันไปกันไม่ได้ มีความย้อนแย้งกันในตัวตลอดเวลา จนรู้สึกแอบตลกอยู่หลายฉากแบบไม่ตั้งใจไปจนจบเรื่องเลยทีเดียว

 

Overall
5/10
5/10
Sending
User Review
3.29 (7 votes)

Pros

  • แนวท้าพิสูจน์ผีด้วยวิทยาศาสตร์
  • อัดฉากหวาดเสียวกับสยองมาเยอะ
  • นางเอกสวยจริงจังมาก

Cons

  • บทย้อนแย้งในตัวเองหลายอย่างทั้งตัวละคร วิธีพิสูจน์ หลักฐานต่างๆ
  • การแสดงล้นๆ ของตัวเอกทั้งคู่
  • ผีพิมพ์คาราโอเกะกับทำอะไรประหลาดๆ มากมายจนดูแล้วตลกมากกว่าสยอง
  • ฉากจบที่พยายามสอนใจคนดูจนขัดแย้งกับแนวทางสุดโต่งของเรื่องตั้งแต่แรก

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี หนังผีจากค่าย GDH ที่มาลงใน Netflix แนวสยองขวัญวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทดลองพิสูจน์ชีวิตหลังความตาย ที่ต้องใช้ชีวิตเข้าแลก

 Ghost Lab (2021) on IMDb

ตัวอย่าง GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

เรื่องย่อโกสต์แล็บ

กล้ากับวี หมอเพื่อนคู่หูเกิดเห็น ‘ผี’ ด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรก การเผชิญหน้าครั้งนี้ทำให้ทั้งคู่ต้องการค้นหาคำตอบเรื่องผีและข้อพิสูจน์เกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย การหมกมุ่นยึดติดเพราะอยากรู้โดยไม่คิดหน้าคิดหลังทำให้พวกเขาถลำลึกจนกู่ไม่กลับ และอาจทำให้ทั้งคู่ต้องสูญเสียมิตรภาพและคนที่ตนรักไป

รีวิว GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

ผลงานจากค่าย GDH ของผู้กำกับ ปวีณ ภูริจิตปัญญา ที่เน้นทำแนวสยองขวัญจากผลงานแจ้งเกิด บอดี้ ศพ19 (2550) และกำกับ 4 กับ 5 แพร่งตอน “ยันต์สั่งตาย” กับ “หลาวชะโอน” ซึ่งมาคราวนี้เหมือนตั้งใจฉีกกฎหนังผีเต็มที่ด้วยการใช้แนววิทยาศาสตร์การทดลองมาร่วมด้วย ซึ่งในตอนแรกคิดว่าคล้าย FLATLINERS (ขอตายวูบเดียว) หนังสยองขวัญกึ่งผีกึ่งวิทยาศาสตร์ชื่อดังในอดีตที่พึ่งมารีเมคทำใหม่ไม่นานนี้ ด้วยพล็อตต้องการทดลองพิสูจน์หาชีวิตหลังความตายเหมือนกัน แต่โกสแล็บเน้นไปที่เรื่องราวการทดลองให้ผีปรากฎตัว ซึ่งตัวเรื่องดูตั้งใจให้มีความแปลกใหม่กับหนังผีไทย เมื่อเรื่องเริ่มจากการพิสูจน์หาผีในรูปแบบต่างๆ แต่ที่หนังนำมาใช้กลับไม่ได้ใหม่ซะทีเดียว เพราะหนังผีแนวพิสูจน์บ้านผีก็เคยนำวิธีพวกนี้มาใช้จนเกร่อแล้ว อย่างกล้องจับความร้อน หรือการใช้กล้องถ่ายผีโดยตรงไม่ติดตามกฎในเรื่องที่อ้างว่ายุคนี้มีกล้องมากมายทำไมไม่มีคลิปผีจะๆ ก็กลายเป็นการพิสูจน์โดยการถ่ายพวกปรากฎการณ์ โพลเตอร์ไกสท์ (Poltergeist) ก็คือปรากฎการณ์ผีหลอกจากข้าวของเคลื่อนที่ได้ ทำให้ตัวเรื่องที่ดูเหมือนจะแปลกใหม่ ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกให้เห็นเลย ซ้ำร้ายยังกลายเป็นว่าความพยายามให้เรื่องนี้ฉีกกฎต่างๆ ของหนังผี กลับกลายเป็นความไม่สมเหตุผลจนถึงขั้นตลก (อย่างไม่ตั้งใจ) กับบทหนังที่พยายามจริงจังสุดชีวิตไปแทน

ตัวหนังครึ่งแรกวนเวียนอยู่กับการทดลองบันทึกปรากฎการณ์ผีแบบต่างๆ ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเรื่องนี้ตัวเอกบอกเองว่าผีเห็นยากมากถึงมากที่สุด เรียกว่ามีตอนที่เล่าว่าไปพิสูจน์มาทั่วโลกแล้วแต่ไม่เจออะไร แต่เรื่องกลับเปิดมาแปบเดียวทั้งคู่ดันเจอผีคนตายในโรงพยาบาล ด้วยท่าหลอกแบบตลกๆ ที่ไม่เข้าใจเหมือนกันทำอะไร (ต้องไปดูเองแต่เชื่อว่าคงขำกันทุกคน) แต่เอาเป็นว่าเรื่องสตาร์ทด้วยการเห็นผีง่ายเหมือนไป 7-11 ได้เลยหลังจากนั้น เพราะต่อมาอยากเจอก็เจอ หาเจอได้ทั่วไปในโรงพยาบาล เอากล้องจับความร้อนมาถ่ายก็เจอ มือถือกับกล้องวงจรปิดก็ถ่ายปรากฎการณ์โพลเตอร์ไกสท์ได้บานเบอะ แต่เรื่องก็ยังพยายามไปต่อโดยอ้างว่าแค่นี้ยังเป็นหลักฐานไม่พอพิสูจน์ว่าผีมีจริง ซึ่งความพยายามไปต่อแบบไม่เมคเซนส์นี่เองเป็นจุดเริ่มของการพยายาม “แถก” ให้มีเรื่องพิสูจน์ผีไปเรื่อยๆ และก็ตามมาด้วยอะไรที่ผู้สร้างคงไม่ได้ตั้งใจให้ตลก แต่ต้องบอกว่าผู้เขียนนี่ต้องพยายามกลั้นขำไว้ตลอดเพราะนี่มันคือหนังผี เราจะขำไม่ได้เดี๋ยวผิดฟีลหมด 555

เนื้อหาต่อจากนี้มีสปอยล์จุดสำคัญบางอย่างกลางเรื่องเพื่อไปต่อช่วงหลัง

ช่วงครึ่งหลังของเรื่องคือการพยายามพิสูจน์ที่มาของผีด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก ซึ่งก็เหมือนเรื่องเข้าสู่โหมดดาร์คเต็มที่เมื่อตัวเอกกล้ากับวีคนใดคนหนึ่งต้องยอมตายเพื่อเป็นตัวทดลองผีจากโลกหลังความตาย ซึ่งการมาถึงจุดนี้เรื่องก็พยายามบิ้วกันมาก่อนให้แม่ของวีเป็นผู้ป่วยติดเตียงรอวันตาย ส่วนกล้าก็บ้าอยากพิสูจน์ให้ได้แม้เอาชีวิตเข้าแลก โอเคแม้เหตุผลมันอาจจะไม่ถึงจุดที่สุด แต่กับการดูเพื่อให้อินกับเรื่องก็ต้องยอมมองข้ามส่วนนี้ไป แต่ยังไม่ทันไรเรื่องก็ออกแนว “ตลกแบบไม่ตั้งใจ” ขึ้นมาซะงั้น เมื่อทั้งคู่ต่าง “แย่งกันตาย” เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็เลยใช้การโยนเหรียญหัวก้อยเสี่ยงดวงซะงั้น เอาว่ายอมมองข้ามจุดเริ่มแบบนี้ไปก็ได้ แต่หลังจากนี้บทเหมือนเริ่มเขียนมาเพื่อกะให้เป็นแนวผีสยองขวัญกันเต็มที่ แต่ด้วยความที่เรื่องมันคือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ มันก็เลยเหมือนทางสองแพร่งของเรื่องว่าจะเอายังไงดี เมื่อผีก็พยายามกลับมาช่วยการทดลองพิสูจน์ข้อสงสัยต่างๆ ในแนวสยองบ้าคลั่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ดันเป็นอารมณ์ผีทั่วไปที่ตายแล้วก็มีห่วงคนเป็นที่ตนเองรักซะงั้น มาแนวดราม่ากะให้ซึ้งกันไปเลย ซึ่งทั้งสองแนวมันดันผสมปนกันมั่วไปหมด ผู้กำกับก็ดูจะพยายามอย่างมากกับการทั้งยำทั้งลาก ปั่นสองแนวทางนี้ให้มันรวมเข้าด้วยกันให้ได้ เอาว่าผู้เขียนขอแยกเป็นหัวข้อย่อยๆ ให้ชัดเจนละกันครับจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

มุมของวิทยาศาสตร์พิสูจน์ผี

เมื่อเรื่องให้คู่หูที่ตายไปตามสัญญากลับมาด้วยเหตุไม่คาดคิด ประมาณว่าอยู่ๆ ก็มีพลังเพื่อมาช่วยเพื่อนทำการทดลองต่อ บทหนังเหมือนหาทางไปแบบมีเหตุผลไม่ได้ขึ้นมาดื้อๆ คือคงไม่รู้ว่าจะทำให้ตัวละครที่เหลืออยู่คนเดียวเล่นกับอากาศธาตุในห้องว่างๆ ได้ไง จะเอาเรื่องโพลเตอร์ไกสท์มาใช้อีกก็ไม่ได้อะไร เพราะช่วงแรกของเรื่องก็บอกเองว่าโพลเตอร์ไกสท์ไม่ได้ช่วยพิสูจน์ว่าผีมีจริง สุดท้ายก็เลยหาทางออกกันดื้อๆ ให้ผีที่ตายไปสื่อสารกับคนที่เหลืออยู่ด้วย “การพิมพ์คาราโอเกะ” อ่านไม่ผิดหรอกครับ ผีในเรื่องพิมพ์คาราโอเกะจริงๆ ผ่านโน๊ตบุ๊คคนตายกับมือถือที่ตัวเอกถืออยู่ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผีกดเปลี่ยนภาษาไม่เป็น คือเป็นหมอพิมพ์ ENG คุยกันในบางช่วงน่ะสมเหตุผลพออยู่ แต่การพิมพ์คาราโอเกะทับศัพท์คำไทยเพื่อให้เป็นปมอ่านแล้วไม่เข้าใจ ตีความผิดไปอีกอย่างในภาพด้านล่างนี้ คืออะไรที่บ้าบอเอามากๆ แม้จะเพื่อเอาปมตรงนี้มาสร้างฉากดราม่าก็ตาม แต่ในเรื่องก็ยังมีการติดต่อสื่อสารแบบผีพิมพ์คุยกลับมาหาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ แค่นี้ก็สามารถเอาไปพิสูจน์ให้คนอื่นดูได้แล้วว่าผีพิมพ์ชัดเจน แต่เรื่องก็พยายามแถกว่ายังไม่พอ ต้องเป็นการปรากฎตัวตนให้คนอื่นเห็นเลยสิถึงจบการทดลองนี้ได้

เมื่อเรื่องพยายามไปต่อก็หันมาใช้แนว Mad Scientist นักวิทยาศาสตร์ที่บ้าคลั่งที่พยายามทำการทดลองให้ผีปรากฎตัวแบบล้ำเส้น ด้วยสมมุติฐานว่าผีมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ จากอารมณ์ต่างๆ ตัวหนังก็ให้ตัวเอกที่ยังอยู่บ้าคลั่งขึ้นเรื่อยๆ กับการทดลองทำร้ายตัวเองให้ผีเพื่อนมาปกป้อง ไปจนถึงพาแฟนเพื่อนมาข่มขืนเพื่อให้ผีหวง ซึ่งเรื่องช่วงนี้อัดแนวสยองมากะให้น่ากลัวเต็มที่ เหมือนได้ช่วงเวลาขายแนวนี้เต็มๆ แล้ว เพราะบทในช่วงนี้คือนักวิทยาศาสตร์บ้า อยากทำไรก็ทำ ดังนั้นจึงไม่มีความสมเหตุผลมาเกี่ยวแล้ว อะไรก็เป็นไปได้หมด ซึ่งผู้เขียนโอเคนะถ้าจะใส่แนวสยองกันเต็มๆ แบบนี้ แต่มันดันมีบางอย่างที่กลายเป็นตลกแบบไม่คาดคิดจนได้อยู่ดี ยกตัวอย่าง ผีที่ไม่มีตัวตนแต่ทำร้ายคนได้ปาวๆ กลับมาสิงศพเพื่อให้มีร่างไล่ฆ่าเพื่อน (แอบเหมือนเทอมิเนเตอร์ด้วย ชวนขำนิดๆ) ก่อนคิดได้หันมาปั๊มหัวใจช่วยเพื่อนงี้ก็ได้เหรอ ซึ่งกลายเป็นความป่วยของบทแบบไม่น่าเชื่อ สุดท้ายเรื่องการทดลองก็ตัดจบแบบงงๆ ด้วยว่าเอาอะไรส่งไปให้นิตยสารวิทย์ของเมืองนอกเพื่อหวังตีพิมพ์ขึ้นปกแบบที่ตั้งใจตอนแรก หนังจบส่วนนี้แบบห้วนๆ แต่ก็ยังแอบมีส่งท้ายให้สำเร็จในฝัน เพื่อให้เป็นฉากจบที่ดูฟีลกู๊ด ยืนหยัดรักษาคอนเซ็ปต์จบแบบมีคติสอนใจคนดูตามสูตร GDH หรือไงก็ไม่ทราบจริงๆ ครับ

มุมดราม่าช่วงหลัง

ตัวเรื่องเอาผีที่ตายไปมาพิมพ์แมสเซจสั้นๆ บอกเพื่อนว่า อยากทำนั่นนี่เพื่อเคลียร์เรื่องค้างคาใจให้คนที่ยังอยู่มีความสุข ซึ่งคนเป็นที่ยังก็คือทำใจไม่ได้กับการตายจากไปแบบไม่มีเหตุผล ที่ตัวเอกอีกคนปกปิดไว้ว่าจริงๆ ตายจากการทดลอง ทำให้หนังต้องสละช่วงเวลาไปเคลียร์ปมพวกนี้ ซึ่งต้องบอกว่าตัวหนังนึกอยากจะตัดฉากมาดราม่าก็มา ตัดกลับไปสยองกลับมาดราม่าในช่วงนี้ให้คนดูปรับตามกันไม่ทันเลย ซึ่งถ้าช่วงดราม่ามีเวลาเล่าลงลึกเต็มที่เพื่อดิ่งไปกับมัน หนังเรื่องนี้ก็คงมีอะไรที่น่าจะไปทางนี้ได้ดีอยู่ เพราะปมการตายแบบไม่มีเหตุบอกกล่าวทำให้เล่นเรื่องราวตรงนี้ได้ตรงๆ แต่การที่ต้องแบ่งฉากไปสยองบ้างดราม่าบ้าง ทำให้สุดท้ายดราม่าที่พยายามลากให้คนซึ้ง กลับกลายเป็นไปไม่ถึงไหนเลยซะมากกว่า แม้กระทั่งตอนจบที่อยู่ๆ เรื่องราวก็หักลำที่ทำมาทั้งหมด เมื่อผีที่อยากทำการทดลองมาตลอดจู่ๆ ก็บอกว่าพอแหละ คิดได้แหละว่าไม่ควรนั่นนี่ ฉากสุดท้ายของเรื่องราวก็เลยเปลี่ยนปุ๊บปั๊บมาเป็นอะไรที่ผ่อนคลายเรื่องให้จบลงแบบง่ายๆ พยายามดราม่ากันเต็มที่ แต่กลับไม่ได้มีอะไรน่าจดจำกลับมาเลย

บทบาทของนักแสดง

พาริส อินทรโกมาลย์สุต กับ ธนภพ ลีรัตนขจร ในบทกล้ากับวี คือยังติดภาพดาราวัยรุ่นมากกว่าจะเชื่อได้ว่าเป็นหมอ อีกทั้งคาแรกเตอร์ช่วงแรกยังดูทะเล้นๆ ผิดกับแนวเรื่องที่ควรดูซีเรียสจริงจังกับนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ทั้งคู่ดูแสดงแบบล้นๆ ไปหมดกับทุกอย่างในเรื่อง คือปัญหาอาจจะไม่ใช่นักแสดงโดยตรง เพราะบทดันบังคับให้ต้องแสดงแบบไม่มีเหตุผลเชื่อได้สักเท่าไหร่ด้วย แต่ที่สะดุดคตาคือ ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ นางเอกในเรื่องที่เป็นบทสมทบมากกว่า เธอสวยเด่นจริงๆ แต่บทนี้ก็เป็นแค่สมทบบางอย่าง ไม่ได้มีโอกาสให้แสดงอารมณ์อะไรมาก ซึ่งทั้งเรื่องแทบจะเล่นกันอยู่แค่ตัวละครกล้ากับวีอยู่แล้วด้วย แอบคิดว่าเป็นบทแนวทุนต่ำจำกัดตัวละครในวงแคบๆ ได้เหมือนกัน

สรุป GHOST LAB

หนังผีที่พยายามอย่างมากที่จะฉีกแนวหนังผีไทย แต่บทกลับไปไม่ถึงไหน หลายสิ่งที่นำเสนอไม่ได้ใหม่เลยกับคนดูหนังผีแนวท้าพิสูจน์แบบต่างๆ ที่เคยมีมาก่อนเยอะแล้ว แต่ปัญหาของเรื่องจริงๆ คือความพยายามลากเรื่องให้น่ากลัวแบบมีเหตุผลควบคู่ไปกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ แต่ไม่สำเร็จเพราะเหตุผลกับการเดินเรื่องมันไปกันไม่ได้ มีความย้อนแย้งกันในตัวตลอดเวลา จนรู้สึกแอบตลกอยู่หลายฉากแบบไม่ตั้งใจไปจนจบเรื่องเลยทีเดียว

อ่านรีวิวหนัง Netflix ในเว็บไซต์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!