playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิวซีรีส์ Law School (Netflix) นักศึกษากฎหมายที่กลายมาเป็นนักสืบจำเป็น… (อัพเดทจบ 16 ตอน)

สรุป

ซีรีส์แนวสืบสวนที่เอาตัวละครรู้กฎหมายมาเป็นตัวนำสืบสวนเหมือนนักสืบ แต่ไปในแนวทางต่อสู้ด้วยกฎหมายเป็นหลัก ไม่มีส่วนบู๊มาเกี่ยวข้อง บทพูดรัวเรื่องกฎหมายยากที่คนทั่วไปจะตามทัน จนตัวเรื่องเหมือนดูการบลัฟกันทางแง่มุมกฎหมาย ความสนุกของเรื่องจริงๆ คือการพลิกปมคนร้ายในคดีที่ซับซ้อนแตกย่อยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากคดีแรก ซึ่งมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันหมด แต่พอช่วงครึ่งหลังตัวเรื่องพยายามผูกเรื่องสร้างคดีเพิ่มขึ้นอีกมากมาย จนตอนท้ายกลายเป็นรีบสรุปจบหลายๆ อย่างแบบตัดตอนง่ายๆ จนเกินไป และยังขาดบทสรุปของตัวละครในเรื่องอีกหลายตัวที่ไม่เคลียร์ให้เห็นเลย

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
5 (2 votes)

Pros

  • แนวสืบสวนโดยใช้กฎหมายกับตัวละครสายกฎหมายนำเรื่อง
  • คดีฆาตกรรมที่แตกย่อยออกไปได้เรื่อยๆ
  • ให้ความรู้กฎหมายกับคนดูได้ดีพอสมควร
  • แสดงให้เห็นพัฒนาการขั้นตอนของนักศึกษากฎหมายที่จะออกไปทำอาชีพด้านนี้ได้ดี
  • เลิฟไลน์มีแค่เบาๆ พอให้น่าติดตาม

Cons

  • บทสนทนายัดเรื่องกฎหมายเข้ามาตลอดเวลาจนดูเยอะล้นๆ เกินไป
  • การพลิกเรื่องราวไปมาดูง่าย จู่ๆ ก็มีหลักฐานใหม่เข้ามาตลอด
  • ตัวละครทุกตัวทุกวัยในเรื่องพยายามอวดภูมิรู้กฎหมายจนดูเฟคไปสักหน่อย
  • ฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอก ตำรวจ นักสืบ อัยการ อ่อนกฎหมายจนดูไม่สมกับเป็นคู่ปรับสักเท่าไหร่
  • ช่วงท้ายเรื่องรีบตัดจบหลายอย่างจนห้วนๆ ไม่เคลียร์

ซีรีส์เกาหลี Netflix เรื่องใหม่ Law School ชื่อไทย ชีวิตนักเรียนกฎหมาย เรื่องราวของศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่แข็งกร้าวและบรรดาลูกศิษย์ ต้องมาสืบสวนคดีฆาตกรรมในสถาบันการศึกษาชั้นนำของพวกเขาเอง

 Law School (2021) on IMDb

ตัวอย่าง Law School Netflix

ซีรีส์แนวสืบสวนคดีฆาตกรรมที่เปลี่ยนแนวตัวเอกอาชีพเดิมๆ อย่างตำรวจ นักสืบ มาเป็นอาจารย์กับนักเรียนกฎหมาย ซึ่งถือว่ามีความแปลกใหม่น่าติดตาม ฉีกกฎเดิมๆ ออกไป โดยตัวเรื่องเริ่มต้นด้วย “ยางจองฮุน” (รับบทโดย Kim Myung Min) อดีตอัยการที่ผันตัวมาเป็นอาจารย์สอนกฎหมายคดีอาญาในมหาวิทยาลัยกฎหมายฮันกุกที่มีชื่อเสียง ในขณะที่มหาวิทยาลัยกำลังเปิดศาลจำลองคดีแรกให้เหล่านักเรียนได้ร่วมว่าความในตำแหน่งต่างๆ “ซอพย็องจู” อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้กลับตายปริศนาในห้องพักตัวเอง เหล่านักเรียนที่เกี่ยวข้องกลายเป็นพยานในคดีและพยายามสืบหาความจริงด้วยตนเอง โดยมีผู้ต้องสงสัยคือ ยางจองฮุน อาจารย์ของพวกเขาเองที่มีอดีตขัดแย้งกับอาจารย์ที่ตายไป และยิ่งสืบลึกมากขึ้นเท่าไหร่ คดีนี้ยิ่งซับซ้อนเกี่ยวพันกับหลายคนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ศาลจำลองในเรื่องที่เป็นส่วนติดกับห้องพักในคดีฆาตกรรม

เรื่องนี้เป็นแนวสืบสวนหรือแนวกฎหมายกันแน่?

ซีรีส์เป็นแนวสืบสวนหาคนร้ายในคดีฆาตกรรมรวมถึงอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีในเรื่องโดยชัดเจน แต่ว่าเลือกเดินเรื่องด้วยตัวละครที่รู้กฎหมาย ทั้งจากอาจารย์ยางจองฮุนเองที่เป็นตัวละครหลักที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ต้องติดคุก และคิดหาทางออกในแนวทางกฎหมาย กับพ่วงสืบคดีในแบบที่เป็นไปได้ด้วยตัวเองจากการสันนิษฐานจากหลักฐานต่างๆ ในที่เกิดเหตุ ด้วยความเป็นอัยการเก่าเก๋ากฎหมายด้วย ตัวเรื่องจึงให้ตัวเอกมีชั้นเชิงเล่เหลี่ยมในทางกฎหมายกับตำรวจและอัยการที่มาทำคดีของเขาแบบปักธงไว้ก่อนเลยว่าเขาคือฆาตกร โดยฝ่ายพระเอกมีตัวละครหลักอีกคนเป็นอาจารย์ผู้หญิงสอนคดีแพ่ง “คิม อึนซุก” (รับบทโดย Lee Jung-Eun) ซึ่งพยายามขัดขวางการปลดจองฮุนออกจากมหาวิทยาลัย ด้วยการพยายามหาความจริงในคดีนี้เช่นกัน

การสืบสวนอีกทางหนึ่งคือเหล่าตัวละครลูกศิษย์ของยางจองฮุน ที่นำโดยตัวละครหลัก คังซอล A (รับบทโดย Ryoo Hye-Young) นักเรียนสาวที่มีความเชื่อมั่นในตัวอาจารย์ของเธอเป็นอย่างมากว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้ตัวเองจะไม่ได้แม่นกฎหมายมากก็ตาม อีกคนคือ “จุนเฮวี” (รับบทโดย Kim Beom) นักเรียนหัวดีเก่งกฎหมายที่สอบเนติรอบสองผ่าน (สอบกฎหมายทนายความ) ที่มาช่วยสืบคดีนี้อีกคน โดยที่ตัวเขาเองก็มีปมพัวพันกับอาจารย์ที่ตายไปเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 คนนี้คือตัวละครเมนหลักฝ่ายลูกศิษย์ที่มีความสามารถคนละด้าน อย่างคังซอลแม้ดูเป็นคนไม่เก่งกฎหมาย แต่กลับมีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี และมองเห็นบางจุดที่คนอื่นมองไม่เห็น ในขณะที่จุนเฮวีเก่งกฎหมายมากอยู่แล้ว ก็พยายามใช้ตัวเองเป็นตัวล่อเพื่อช่วยอาจารย์ตามหาความจริงว่าคนร้ายเป็นใครกันแน่

นอกจากนี้ก็มีตัวละครรองอื่นๆ อีกหลายคนที่ทำหน้าที่ขัดแย้งหรือสนับสนุน ที่เด่นๆ ในช่วงแรกก็คือ จิโฮ (รับบทโดย David Lee) ที่ในเรื่องคือคนที่เก่งกฎหมายรองจากจุนเฮวีเท่านั้น และก็เป็นเพื่อนร่วมห้องพักกับเขาอีกด้วย

เมื่อตัวละครเป็นคนรู้กฎหมายทั้งหมด การสืบสวนในเรื่องนี้จึงใช้กฎหมายนำ สืบไปในทางที่กฎหมายกำหนด คือต้องมีหลักฐาน พยาน แล้วสืบสวนไปในทางที่ทำให้ได้ประโยชน์ในทางกฎหมายกับจองฮุนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ ซึ่งการที่เรื่องใช้กฎหมายนำก็ทำให้ตัวละครทุกตัวในเรื่องต้องพูดแบบท่องกฎหมายมาตราต่างๆ ให้ผู้ชมได้ฟังกันตลอดเวลา จนกลายเป็นความยากในการอ่านซับที่มารัวยิบให้ทัน แต่ถึงอ่านทันก็คงต้องงงๆ อยู่บ้างกับการถกกฎหมายโต้แย้งกันในเรื่องที่แม้จะเป็นพื้นฐานพอเข้าใจ แต่เรื่องก็มีมุมประเด็นทางกฎหมายที่ต้องอาศัยการคิดตามอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคนคิดตามไม่ทันก็ดูได้ แต่คงไม่สนุกหรือเข้าใจทันไปกับเรื่องได้มาก ก็เหลือเพียงแค่ช่วงพลิกปมไปมาว่าใครเป็นฆาตกรเท่านั้นที่อาจจะยังย่อยง่ายและน่าติดตามอยู่

พัฒนาการของตัวละครไปสู่นักกฎหมายมืออาชีพ

ตัวเรื่องชื่อโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งก็ถือว่าซีรีส์มีเนื้อหาดำเนินไปแบบตรงตัว โดยเนื้อเรื่องค่อยๆ แสดงให้เห็นพัฒนาการของนักศึกษากฎหมายที่ต้องรู้อะไรบ้างในมหาวิทยาลัย มีศาลจำลอง มีคลีนิคให้คำปรึกษา มีการฝึกงานในตำแหน่งต่างๆ การสอบเนติ ซึ่งตัวเรื่องพยายามใส่รายละเอียดพัฒนาการขั้นตอนนี้มาจนครบ รวมถึงแง่มุมของกฎหมายแปลกๆ ความรู้ในศาลอย่าง ลูกขุน อัยการ ซึ่งตัวละครในเรื่องจะได้จำลองตัวเองเป็นหน้าที่ต่างๆ จนครบทุกด้าน ซึ่งเป็นขั้นตอนของนักกฎหมายที่ต้องผ่านให้ได้ทั้งหมด เพื่อจบไปประกอบอาชีพในชีวิตจริง

 

คดีหลักมีคดีเดียวหรือหลายคดี

เรื่องนี้เปิดมาเป็นคดีฆาตกรรมอำพราง แต่ต่อมาพอเรื่องสืบไปเรื่อยๆ ตัวเรื่องเริ่มผูกคดีเก่าที่ค้างคาไว้ของตัวเอกจองฮุนเข้ามาเกี่ยวด้วย ซึ่งก็มีคดีชนเด็กแล้วหนีที่เขาปิดไม่ได้คดีเดียว และคดีนี้ยังมีที่มาจากคดีข่มขืนเด็กของ “อีมันโฮ”  อาชญากรตัวร้ายที่ถูกปล่อยตัวด้วยทัณฑ์บน และต้องใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว มาเป็นตัวละครที่คอยก่อกวนและเตรียมก่ออาชญากรรมอีกครั้ง โดยคราวนี้เจ้าตัวศึกษากฎหมายมาเป็นอย่างดี และมักใช้เล่เหลี่ยมทางกฎหมายมาให้คุณกับตน และงัดข้อกับฝ่ายตัวเอกจองฮุนกับลูกศิษย์ด้วย

อีมันโฮ อาชญากรตัวร้ายที่อัพเกรดตัวเองให้รู้กฎหมาย และใช้มันเป็นอาวุธป้องกันไปด้วย

นอกจากนี้แล้วตัวเรื่องก็ยังมีคดีต่อเนื่องจากคดีแรกงอกเพิ่มมาอีก ในแต่ละอาทิตย์ โดยค่อยๆ เปิดตัวละครที่ดูไม่เกี่ยวข้องในตอนแรก ให้กลายมาเป็นผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรรม ซอพย็องจู เพิ่มมาอีก ซึ่งภายหลังคดีจะพัวพันไปถึงตัวการใหญ่ระดับชาติ ที่อาจารย์และลูกศิษย์ต้องช่วยกันเอาผิดเขาในทางกฎหมายให้ได้

 

 

 

นี่ไม่ใช่ซีรีส์สายหวานโรแมนติก แค่มีเลิฟไลน์เบาๆ

สำหรับคนที่คาดหวังว่าเรื่องนี้มีพาร์ทโรแมนติก เพราะตัวละครหลักก็หน้าตาดีกันทั้งนั้น โดยเฉพาะสาวๆ ในเรื่อง แต่ต้องบอกว่าตั้งแต่แรกจนจบมีแค่เลิฟไลน์เบาๆ แค่การชอบกันไปมาในกลุ่มเพื่อน ของนักเรียนสาว คังซอล A ในเรื่องมีเพื่อนร่วมห้องของเธออีกคนที่เป็นคู่แข่งชื่อเดียวกันเลยถูกเรียกว่า คังซอล B (รับบทโดย Lee Soo-Kyung) ที่ถูกวางไว้ให้ชอบจุนเฮวีทั้งคู่ เป็นรักสามเส้าแบบไม่ได้เน้นแก่งแย่งชิงดีหรือขัดกันในเรื่องความรัก  ยิ่งตัวเอกอย่างอาจารย์จองฮุนยิ่งไม่มีทางมีบทแบบนี้ เพราะตัวละครนี้แข็งกร้าวออกแนวโหดๆ คิดกับทำทุกอย่างตามกฎหมาย แล้วก็ไม่มีตัวละครหลักในผังที่เป็นนางเอกรุ่นใหญ่เลย

จุดด้อยของเรื่อง Law School

นอกจากปัญหาของการทำความใจตามในเรื่องกฎหมายที่ตัวละครพูดออกมารัวๆ จนตามอ่านก็ลำบากแล้ว ที่เห็นชัดๆ คือการที่บทพยายามให้ทุกตัวละครนอกเหนือกลุ่มตัวหลักเป็นพวกรู้กฎหมายกันไปหมด จนดูเกินปกติออกแนวเฟคๆ ไปมาก อย่างน้องสาวของคังซอล A ที่เป็นเด็กประถมก็กลับรู้กฎหมาย ดูฉลาดเกินวัย อาชญากรอย่างอีมันโฮก็แม่นกฎหมายเพื่อป้องกันตัวเสียเหลือเกิน คนถ่ายเอกสารในโรงเรียนก็เก่งเข้าใจกฎหมายทันนักเรียนหมด กลายเป็นทุกตัวละครในเรื่องอวดภูมิความรู้กฎหมายกันตลอดเวลาในบทพูดจนดูเกินจริงไปมาก แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก มองว่าซีรีส์พยายามโฟกัสให้มีบทกฎหมายจากคนหลายๆ แบบมาทุกเพศทุกวัยมาประกอบเรื่องก็เข้าใจได้ เหมือนที่มักบอกกันว่าประชาชนทุกคนต้องรู้กฎหมาย จะมาอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้เวลาโดนคดี

อีกจุดคือตัวเรื่องปูความสามารถด้านกฎหมายไว้กับฝ่ายตัวเอกเท่านั้น พอมาเป็นฝ่ายตำรวจ อัยการ ทนายแผ่นดิน อาจารย์ที่อยู่ตรงข้ามกับตัวเอก ทั้งหมดกลับกลายเป็นตัวละครที่ไม่เอาไหน ไม่ค่อยรู้เรื่องราวกฎหมาย ตามไม่ทันการใช้กฎหมายของฝ่ายตัวเอกไปทั้งหมด ซึ่งดูเป็นบทแบบยัดให้เป็นตัวละครโง่ๆ อ่อนกฎหมายไปซะทั้งหมด แทนที่จะเป็นการต่อสู้ด้วยกฎหมายแบบเข้มข้นจากทั้งสองฝั่งอย่างสมเหตุผล

นอกจากนี้เรื่องยังพยายามพลิกหักมุมทุกอาทิตย์ต่อยอดจากคดีแรกให้มีผู้ต้องสงสัยเพิ่ม แล้วก็พยายามหักมุมกลับอีกที จนกลายเป็นเหมือนแค่พยายามตั้งใจหลอกคนดู โดยทำให้ตัวละครดูน่าสงสัยเกินจริงไป กลายเป็นบทที่เขียนแบบนึกจะให้เรื่องพลิกยังไงก็พลิกได้ โดยไม่ค่อยมีที่มาที่ไปให้เข้าใจได้ด้วย อย่างการที่ตัวเอกจองฮุนจู่ๆ ก็ไปเจอหลักฐานใหม่ในที่เกิดเหตุง่ายๆ ในตอนสอง ก็เป็นอะไรที่ชวนงงแบบไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุผลได้เลย

ปัญหาความยุ่งเหยิงของเรื่องช่วงหลังมากไปจนรีบตัดจบ (มีสปอยล์บางอย่าง)

ซีรีส์ในช่วงครึ่งหลังไป ตัวเรื่องผูกคดีหลายคดีซ้อนกันเยอะมาก เรียกว่าทุกคนในกลุ่มลูกศิษย์มีคดีส่วนตัวกันแทบทั้งนั้น อีกทั้งเรื่องยังวางปมให้มีตัวร้ายใหญ่โต แต่ก็ยังเป็นแพทเทิร์นสูตรสำเร็จเดิมของตัวร้ายเกาหลีอยู่ที่ต้องเกี่ยวกับนักการเมืองระดับชาติ และด้วยการเซ็ตให้มีตัวร้ายระดับนี้ ทำให้เรื่องเหมือนไม่มีเวลาพอในการเล่า หลายอย่างถูกรวบรัดตัดจบหาทางออกแบบง่ายๆ เรียกว่าเป็นซีรีส์กฎหมายที่ช่วงท้ายแทบไม่ได้มีฉากเข้มข้นต่อสู้กันในศาลเลย (ช่วงจบเรื่องในศาลแผ่วกว่าช่วงตอนกลางเรื่องมาก) รวมถึงเรื่องราวของนักศึกษาแต่ละคนในตอนหลังก็หายไป ไม่มีบทสรุปของเรื่องที่พยายามปูมาตลอด จนน่าผิดหวังกับตอนจบอยู่เหมือนกัน

ซีรีส์ Law School ฉายทุกวันพุทธกับพฤหัสหลัง 3 ทุ่มไป มีทั้งหมด 16 ตอนจบ

อ่านรีวิวซีรีส์เกาหลี Original Netflix เรื่องอื่นคลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!