playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Serious Men (Netflix) เด็กอัจฉริยะลวงโลกจากความหวังดีของพ่อ

Serious Men

สรุป

เรื่องราวของ Serious Men ถือว่าดีมากในแง่การสะท้อนภาพสังคมจริงที่คนได้ดิบได้ดีก็มักมีเรื่องสีเทาๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่เรื่องนี้หยิบจับมาใส่ไว้ในตัวเด็ก 10 ขวบที่เป็นเหมือนผ้าขาวให้พ่อแม่ป้ายสีลงไปจะเป็นยังไงก็ได้ สุดท้ายสิ่งที่พ่อแม่เห็นว่าดีกับลูก แต่กลับเป็นการสนองความต้องการลึกๆ ของตัวเองมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้เก็บแง่มุมพวกนี้มาใส่ไว้ผนวกกับปัญหาชนชั้นในอินเดียที่ซ้ำเติมให้หนักเข้าไปอีก แต่ตัวเรื่องไม่ได้มีจังหวะการเดินเรื่องที่สนุกอะไรมากนัก แค่พอดูได้เพลินๆ เท่านั้นครับ

Overall
6.5/10
6.5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • เรื่องลวงโลกที่แม้ดูเว่อร์ แต่ก็เกิดขึ้นได้จริง มีอยู่ทั่วไปในสังคมปัจจุบัน
  • ตีแผ่ปัญหาการกดขี่เหยียดชนชั้นในอินเดียได้คลอบคลุมหลายวงการ
  • มีตลกเสียดสีนิดๆ หน่อยๆ พอให้ขำกับเรื่องชนชั้นในอินเดีย
  • หนังของ นาวาซัดดิน ซิดดิกรี พระเอกขาประจำของ Netflix

 

Cons

  • ฉากจบที่ค่อนข้างไม่เมคเซนส์ ไม่เข้ากับเรื่องราวเอามากๆ
  • ตัวเรื่องบิ้วอารมณ์คนดูให้คล้อยตามได้ไม่ดีพอ
  • น้องนักแสดงเด็กตัวเอกยังรู้สึกไม่โดดเด่นพอ

 

Serious men อัจฉริยะหน้าตาย หนังอินเดียเรื่องใหม่ของ Netflix เรื่องราวของพ่อผู้สร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะลวงโลกออกสื่อต่างๆ จนดังระดับประเทศ ด้วยความหวังดีที่ต้องการให้เขามีชีวิตที่ดีกว่าตนเอง

 Serious Men (2020) on IMDb

ตัวอย่าง Serious Men อัจฉริยะหน้าตาย

รีวิวมีสปอยล์เนื้อบางส่วน

หนังของ นาวาซัดดิน ซิดดิกรี  กับ Netflix (อีกแล้ว) ถ้าใครยังไม่เคยรู้จักเขาก็แนะนำว่าลองเปิด  Sacred Games (อ่านรีวิวได้ที่นี่) ซีรีส์เรื่องดังของอินเดียดู ก่อนนี้เขาก็พึ่งเล่นเรื่อง ฆาตกรรมในคืนเปลี่ยว (Raat Akeli Hai) ซึ่งก็ถือว่าดีมากเช่นกัน อาจจะเพราะเขาเป็นดาราที่แม้จะดังหลักๆ แค่ในเน็ตฟลิก แต่ก็คัดบทรับแต่เรื่องที่ดีๆ หน่อย ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นกัน ที่ว่าด้วยพ่อที่ปั้นลูกให้เป็นอัจฉริยะเพื่อจะได้หลุดพ้นจากฐานะกับชนชั้นล่างของอินเดีย แต่กลับใช้วิธีที่ผิดด้วยการหลอกลวงผู้คนให้เชื่อว่าลูกเป็นอัจฉริยะ ด้วยทุกวิถีทางที่เขาคิดได้

เรื่องนี้สร้างจากนิยายในชื่อเดียวกันและก็ตีพิมพ์ขายทั่วโลกได้รับคำชมมากมาย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าตัวพล็อตโครงเรื่องราวอยู่ในขั้นดีมาก เนื้อเรื่องมีความสดใหม่แตกต่าง และก็มีหลายมิติแง่มุมที่น่าสนใจทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคม การเมือง การศึกษา ชนชั้นวรรณะของอินเดีย มีรวมครบอยู่ในเรื่องเดียวกัน โดยจุดศูนย์กลางของเรื่องคือ “อาทิ” เด็กน้อยวัย 10 ขวบที่ถูกขนานนามว่าไอน์สไตน์คนใหม่ ที่ใครๆ ก็ต่างมารุมห้อมล้อมหาผลประโยชน์จากตัวเขา โดยที่ไม่รู้ว่าความอัจฉริยะที่เห็นผ่านสื่อกับเรื่องราวในโรงเรียนนั้นมาจากความช่วยเหลืออย่างลับๆ ของ “มานิ” พ่อผู้ซึ่งไม่อยากให้ลูกตกที่นั่งเดียวกับตนในอดีต จากการที่เป็นวรรณะศูทรต่ำสุดที่เกิดมาเป็นแรงงานและโดนปิดกั้นการศึกษา ทำให้เขาฝังใจเป็นปมด้อยตลอดมา แม้ว่าจะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์อัจฉริยะที่มีชื่อเสียงของอินเดีย แต่ก็ถูกเหยียดไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนคนเท่าเทียมกัน

ตัวเรื่องหลักจะเกี่ยวพันกับนายจ้างของพระเอกที่กำลังพยายามขอทุนรัฐบาลส่งยานขึ้นไปชั้นบรรยากาศของโลก เพื่อเก็บตัวอย่างมาหาสิ่งมีชีวิตที่ลอยอยู่ในอวกาศ ซึ่งก็ทำให้เขาได้รู้เรื่องราวสกปรกเบื้องหลังของวงการวิทยาศาสตร์ และก็นำมันมาใช้เป็นข้ออ้างให้เชื่อว่าทำสิ่งที่ถูกต้อง แบบเดียวกันกับการปั้นลูกชายของตัวเองขึ้นมาลวงโลกเช่นกัน และก็เป็นเรื่องราวการหักหลังและแก้แค้นของทั้งคู่ในช่วงหลัง ที่ต่างล่วงรู้ความลับของกันและกัน แต่ก็ต้องจำยอมปิดบังไว้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

ในส่วนการเมืองจะเป็นเรื่องราวการใช้ลูกพระเอกเป็นเครื่องมือให้นักการเมืองเข้ามาสร้างโครงการตึกระฟ้าในชุมชนเพื่อไม่ให้มีการต่อต้าน เพราะอาทิกลายเป็นผู้นำที่คนในชุมชนเชื่อฟัง แม้จะเป็นแค่เด็ก 10 ขวบ ซึ่งก็ผ่านการชักใยของพ่อที่อยู่เบื้องหลัง และก็กลายเป็นยิ่งสร้างความเชื่อผิดๆ ให้เขาคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกเข้าไปอีก ในเมื่อเขาเอาความเจริญเข้ามาให้ชุมชนแห่งนี้ได้สำเร็จ ผ่านการปั้นน้ำเป็นตัวให้ลูกชายพูดตามที่เขาร่างสคิปต์ไว้จนดูความคิดยิ่งใหญ่เกินเด็ก

แต่จุดกำเนิดของเรื่องจริงๆ คือการศึกษา ที่พระเอกพยายามเอาลูกเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ตามระบบแล้วแต่กลับถูกกีดกันจากศาสนาที่ไม่ได้นับถือคริสต์ ซึ่งโรงเรียนที่สอนเด็กด้วยภาษาอังกฤษมักจะเป็นโรงเรียนคริสต์ อีกทั้งชนชั้นวรรณะของครอบครัวก็ทำให้โรงเรียนปฏิเสธการรับเข้าเรียนในตอนแรก จนกลายเป็นตัวพระเอกต้องเลือกเส้นทางการสร้างเรื่องโกหกให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ แต่ก็กลายเป็นยิ่งถลำลึกกับความสำเร็จจอมปลอมนี้มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็ทำร้ายลูกในที่สุด ซึ่งบทสรุปท้ายเรื่องตรงนี้หดหู่มาก

ลูกพระเอกถูกกดดันจากพ่อจนเกือบเป็นบ้า เอาแต่ท่องบทที่พ่อบอกวนไปวนมา เพราะกลัวพ่อโกรธ

แต่เรื่องก็ไม่ได้จบแบบเศร้า ยังหาหนทางให้ทั้งพระเอกและลูกได้มีโอกาสกลับมามีชีวิตปกติได้อีกครั้ง โดยเป็นทางออกที่ลงตัวและก็มีเหตุผลลึกซึ้งถึงอดีตพ่อแม่ของพระเอกอีกทีว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจสร้างเรื่องแบบนี้ขึ้นมา เป็นเหมือนลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ซึ่งเป็นจุดที่เรื่องราวนำเสนอความเป็นจริงของสังคมสีเทาๆ ถ้าอยากเอาตัวรอดในระบบที่กดขี่คนได้ก็ต้องทำแบบนี้ ซึ่งเทียบกับเรื่องราวโกหกของพระเอกก็ดูเป็นเรื่องปกติไปเลย

แต่ปัญหาคือตัวเรื่องกลับไม่ยอมจบในจุดที่ลงตัวดีแล้ว ยังลากยาวต่อไปอีกด้วยฉากจบแบบไม่ค่อยเมคเซนส์เท่าไหร่ เหมือนต้องการให้มีเรื่องกรรมสนองคืนกลับไปหาพ่อ ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องมีฉากนี้เลยจะดีกว่า ตัวเรื่องก็สามารถจบลงตัวได้อยู่แล้วครับ

เรื่องราวของ Serious Men ถือว่าดีมากในแง่การสะท้อนภาพสังคมจริงที่คนได้ดิบได้ดีก็มักมีเรื่องสีเทาๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่เรื่องนี้หยิบจับมาใส่ไว้ในตัวเด็ก 10 ขวบที่เป็นเหมือนผ้าขาวให้พ่อแม่ป้ายสีลงไปจะเป็นยังไงก็ได้ สุดท้ายสิ่งที่พ่อแม่เห็นว่าดีกับลูก แต่กลับเป็นการสนองความต้องการลึกๆ ของตัวเองมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้เก็บแง่มุมพวกนี้มาใส่ไว้ในเรื่องผนวกกับปัญหาชนชั้นในอินเดียที่ซ้ำเติมให้หนักเข้าไปอีก แต่ตัวเรื่องไม่ได้มีจังหวะการเดินเรื่องที่สนุกอะไรมากนัก แค่พอดูได้เพลินๆ เท่านั้นครับ

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!