playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The 8 Show (Netflix) งานเลียนแบบตามรอย Squid Game แบบทุนต่ำและจืดชืดกว่ามาก

Summary

สรุปเป็นซีรีส์ที่ Netflix ตั้งใจสร้างเลียนแบบ Squid Game โดยมาในเวอร์ชั่นที่เบากว่ามาก เป็นงานทุนต่ำพยายามทำให้ดูคล้ายๆ หลายอย่าง บท 3 ตอนแรกดีมีความแตกต่างด้วยการเล่นคอนเซ็ปต์จำลองสังคมขึ้นมาใหม่โดยไร้ความรุนแรง แต่หลังจากนั้นเรื่องพยายามใส่ความรุนแรงมากขึ้นผ่านเกมเล็กๆ ที่คิดกันขึ้นเอง แต่บทกลับแย่ลงเรื่อยๆ มีช่องโหว่มากมายที่ไม่สมเหตุผล ตัวละครก็ขาดการปูปูมหลังชีวิตก่อนเข้าเกมจนทำให้ไม่อินอะไร และตัวละครก็ทำบุคลิกออกมาน่ารำคาญหลายคนจนดูแล้วหงุดหงิด  แถมเรื่องยังจบแบบแฮปปี้เอนด์ดิ้งที่จืดชืดสุดๆ แต่ก็ยังทิ้งท้ายอยากทำต่อไปอีก 

Overall
5/10
5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • แนวเกมที่เนื้อเรื่องเบาไม่ได้มีการฆ่ากันตาย
  • ช่วง 3 ตอนแรกจำลองสังคมพื้นฐานมนุษย์ได้ดี
  • มีพากย์ไทย

Cons

  • บทช่วงหลังยืดเยื้อและเละเทะมีช่องโหว่มาก
  • ตัวละครน่ารำคาญเยอะมาก
  • ขาดการปูปูมหลังตัวละครแทบทุกคน
  • จบแบบแฮปปี้เอนด์ดิ้งได้จืดชืดมาก

The 8 Show: เกมโชว์เลือดแลกเงิน ซีรีส์เกาหลี Original Netflix 8 ตอนจบ เรื่องราวของคน 8 คนที่ต้องเข้าร่วมเกมโชว์ลึกลับ ที่มีรางวัลมหาศาลตามวันเวลาที่ผ่านไป แต่ก็ทำให้ทุกคนต้องพบกับเดิมพันอันเลวร้ายที่สุดในชีวิต

The 8 Show (2024) on IMDb

 

 

เรื่องย่อ

8 คนที่ประสบปัญหาทางการเงินเข้าร่วมเกมโชว์ลึกลับ พวกเขาต้องอยู่ในตึก 8 ชั้นที่ว่างเปล่า โดยมีเงินรางวัลให้ต่อนาทีจำนวนมากเพื่อนำไปซื้อของที่ต้องการได้ แต่สินค้าทุกชนิดจะมีราคาแพงเป็น 1,000 เท่า ทั้งหมดร่วมกันค้นหาว่าเกมนี้ต้องการให้เขาทำอะไร โดยที่สิ่งที่พวกเขาต้องทำก็คือการยืดเวลาเล่นเกมนี้เพื่อให้ได้เงินจำนวนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสังคมในเกมนี้ค่อยๆ เลวร้ายลงเรื่อยๆ

 

รีวิว The 8 show (ไม่สปอยล์)

 

ซีรีส์ที่ดูก็รู้เลยว่าตั้งใจสร้างเลียนแบบตามรอย Squid Game แม้เรื่องจะมาจากเว็บตูนในชื่อ Money Game โดย BAE jin soo เมื่อปี 2018 ซึ่งมาก่อน Squid Game ฉายในปี 2021 แต่แนวเกมแบบนี้ก็มีมานานแล้วและเรื่องก็คล้ายๆ กันหมด แต่เรื่องนี้คือแทบจะตั้งใจเจาะจงให้เหมือน Squid Game มากๆ ตั้งแต่โลกเกมในเรื่องที่เป็นห้องเหมือนสวนสนุกเด็กสีสันสวยงาม ชุดตัวละครที่มีเอกลักษณ์จากเกม เงินรางวัลที่ขึ้นบอร์ดโชว์ให้เห็น ตัวละครก็เป็นคนจนตรอกมีหลายระดับชั้นแบ่ง อย่างพระเอกเป็นคนแหยๆ ลูสเซอร์ที่สุดในกลุ่มแต่มีจิตใจดีสุด ตัวร้ายเป็นนักเลงผู้ชายกับผู้หญิง สาวน้อยที่ดูเหนียมๆ อ่อนแอ คนพิการที่เป็นตัวถ่วงของทีม ทอมห้าวที่ท้าชนผู้ชายได้ และคนฉลาดที่สุดที่ในกลุ่มที่ต้องใส่แว่นประจำ ซึ่งความเหมือนพวกนี้ทำให้แทบจะเหมือนเรากำลังดู Squid Game อีกเวอร์ชั่นหนึ่งไปเลยครับ

แต่ถึงจะก็อปมาเยอะก็จริง แต่เรื่องราวในเรื่องกลับตั้งใจทำให้ตรงข้ามกันด้วยการลดความรุนแรงลง กฏในเกมนี้คือห้ามมีการตายไม่งั้นเกมจะจบ ซึ่งทำให้เรื่องนี้เบากว่ามาก ไม่มีฉากฆ่า ไม่มีการฆ่าเกิดขึ้น แล้วเรื่องก็ดำเนินไปในช่วงแรกด้วยการให้ตัวละครค่อยๆ เรียนรู้กฏต่างๆ แต่ไม่มีเป้าหมายว่าให้ทำอะไร นอกจากเวลาในเกมที่ลดลงไปถ้าหมดคือจบ พวกเขาจึงต้องหาทางทำให้เวลาในเกมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นความลับของเรื่องที่ซ่อนไว้ในช่วงแรก โดยเมื่อเรื่องดำเนินไปก็ทำให้ผู้ชมได้ค่อยๆ เห็นว่าเกมนี้คือการจำลองสังคมมนุษย์ขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มมาขาดพื้นฐานการดำรงชีพ แล้วให้ดิ้นรนกันเอาเอง อย่างอาหารไม่ต้องซื้อแต่มีจำกัดจนต้องวางกฏแบ่งกัน ส้วมก็ไม่มีต้องขรี้ลงถังแล้วเก็บไว้ในห้องเพราะมีกฏห้ามเอาอะไรออกนอกห้อง แถมของทุกอย่างราคาแพงพันเท่าจากปกติ ส่วนของนอกห้องต้องใช้เวลาในการซื้อ ซึ่งก็จะทำให้เกมจบไวขึ้นจึงต้องระวัง ช่วง 3 ตอนแรกเรื่องดำเนินไปอย่างสนุกกับกฏการเอาชีวิตรอดพวกนี้ได้ดี ทำให้เรื่องช่วงนี้ดูมีแนวทางแตกต่างไปจาก Squid Game มาก 

แต่ช่วงหลังจากตอน 4 ไปเรื่องเริ่มเพิ่มความรุนแรงทางร่างกายจากเกมที่คนในกลุ่มคิดกันขึ้นมา โดยเป็นเกมพระราชาที่มีบทลงโทษโหดๆ แต่ซีรีส์ก็ยังเบรคไว้ไม่ให้ถึงตาย แต่ก็มีฉากทำร้ายร่างกายกันรุนแรง ก่อนที่เรื่องจะค่อยๆ แรงขึ้นเรื่อยๆ จากเกมที่คนในกลุ่มคิดเล่นกันขึ้นมาเองเรื่อยๆ โดยที่ทางผู้จัดเกมไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง มีเพียงคอยเฝ้าดูและสนับสนุนสิ่งของมาให้เท่านั้น ซึ่งเรื่องก็เป็นแนวการหักหลัง แบ่งกลุ่มกดขี่ข่มเหงกัน ดูเหมือนจะสนุก แต่ว่าแทบจะตรงกันข้ามเพราะคอนเซ็ปต์การจำลองสังคมเอาชีวิตรอดในตอนแรกถูกทิ้งหายไปหมด ซีรีส์เหลือเพียงแค่ฝ่ายที่มีอาวุธกดขี่ฝ่ายที่ไม่มี แล้วก็สลับกันแย่งอาวุธไปมา โดยที่เนื้อหาแกนหลักสังคมจำลองเบาบางจางลงเรื่อยๆ 

 

ส่วนเกมที่คิดกันขึ้นมาช่วงหลังนี้ก็แทบไม่มีความหมายอะไร เพราะเป็นแค่การทรมานคนเพื่อให้ได้แต้มเวลาเท่านั้น ซึ่งเรื่องก็ไม่ได้จำเป็นต้องเล่นเกมก็ได้ เพราะแค่รอเวลาผ่านไปก็ได้เงินแล้ว แต่ก็ยังพยายามใส่เกมเล็กๆ น้อยๆ เข้ามาอยู่เรื่อยเหมือนจะย้ำว่านี่คือเกมเอาชีวิตรอดนะ ทั้งๆ ที่ทุกคนสามารถออกไปได้อยู่แล้วถ้าปล่อยให้เวลาหมด โดยการใช้เวลาซื้อของให้ลดลงไปก็ได้ แต่เรื่องกลับมองข้ามมีช่องโหว่มากมายและพยายามยืดเยื้อหาทางให้ทุกคนติดในเกมแบบไม่สมเหตุผล ต่อเนื่องไปจนกระทั่งฉากจบที่ธรรมดามากๆ เป็นการจบแบบแฮปปี้เอนด์ดิ้งที่จืดชืดสุดๆ แล้วก็ยังใส่ฉากเอนด์เครดิตไว้ว่าถ้าดังอาจจะทำต่อซีซั่น 2 อีก 

สิ่งที่เรื่องทำได้แย่มากอีกอย่างคือแทบไม่มีแบ็คกราวด์ตัวละครให้รู้เลยตลอดเรื่อง แล้วไปยัดปมชีวิตของทุกคนไว้รัวๆ ในตอนท้ายก่อนจบ โดยแทบไม่มีเหตุผลเลยว่าจะไล่ยัดเข้ามาทุกคนตอนนั้นเพื่ออะไร ซึ่งทำให้เรื่องนี้ผู้ชมได้รู้จักตัวละครแค่การแสดงออกในเกมเท่านั้น ไม่มีดราม่าปูมหลังชีวิตให้รู้เลยว่าคนๆ นี้เป็นใครยังไง แต่ก็ยังพยายามทำให้ทุกตัวละครมีความซับซ้อน แต่มันไม่สำเร็จ เพราะตัวละครส่วนใหญ่ก็มีบุคคลิกน่ารำคาญมากด้วย หลายคนใส่มาเพื่อแค่ให้เป็นตัวถ่วงเกมล้วนๆ เท่านั้น แม้แต่ตัวเอกก็ยังไม่รู้สึกดึงดูดอะไรเลยในบทคนที่ใจดีที่สุดใน 8 คน ตัวร้ายยิ่งแย่กว่าเพราะร้ายแบบทื่อๆ ไร้มิติตัวละครโดยสิ้นเชิงครับ 

 

งานโปรดักชั่นก็ดูทุนต่ำกว่า Squid Game มาก เพราะเรื่องวนกันอยู่ในห้องกับนอกห้องที่เดียวเท่านั้น เรื่องไม่มีฉากที่อื่นนอกจากการย้อนอดีตช่วงสั้นๆ เกมก็พื้นๆ เล่นกันเองไม่ได้ลงทุนมีฉากใหม่แต่อย่างใด 

 

สรุปเป็นซีรีส์ที่ Netflix ตั้งใจสร้างเลียนแบบ Squid Game โดยมาในเวอร์ชั่นที่เบากว่ามาก เป็นงานทุนต่ำพยายามทำให้ดูคล้ายๆ หลายอย่าง บท 3 ตอนแรกดีมีความแตกต่างด้วยการเล่นคอนเซ็ปต์จำลองสังคมขึ้นมาใหม่โดยไร้ความรุนแรง แต่หลังจากนั้นเรื่องพยายามใส่ความรุนแรงมากขึ้นผ่านเกมเล็กๆ ที่คิดกันขึ้นเอง แต่บทกลับแย่ลงเรื่อยๆ มีช่องโหว่มากมายที่ไม่สมเหตุผล ตัวละครก็ขาดการปูปูมหลังชีวิตก่อนเข้าเกมจนทำให้ไม่อินอะไร และตัวละครก็ทำบุคลิกออกมาน่ารำคาญหลายคนจนดูแล้วหงุดหงิด  แถมเรื่องยังจบแบบแฮปปี้เอนด์ดิ้งที่จืดชืดสุดๆ แต่ก็ยังทิ้งท้ายอยากทำต่อไปอีก 

รวมรีวิว Netflix คลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!