playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Ultraman: Rising (Netflix) อุลตร้าแมนที่เล่าเรื่องดราม่าชีวิตส่วนตัวมากกว่าเน้นปราบไคจู

Ultraman: Rising

Summary

สรุป เป็นอุลตร้าแมนที่ฉีกแนวมาทำดราม่าครอบครัวมากกว่าสู้กับไคจู โดยการให้อุลตร้าแมนรุ่นใหม่ได้สัมผัสความยากลำบากของการเป็นพ่อเลี้ยงลูกไคจูกับทำงานไปด้วย ซึ่งไอเดียนี้เชยๆ แต่ก็ยังใช้ได้ เพียงแต่ว่าเรื่องมันไม่ลึก ทำให้การเดินเรื่องดูอ่อนไม่เข้มข้นเท่านั้น แต่ตอนท้ายก็มีฉากสู้กับศัตรูที่ไม่ใช่ไคจูแต่เป็นมนุษย์ได้พอสนุกและแปลกตาอยู่ครับ 

Overall
6.5/10
6.5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • อุลตร้าแมนเวอร์ชั่นเลี้ยงลูกไคจู
  • ปมปัญหาชีวิตกับการงาน
  • งานแอนิเมชั่นออกมาดี
  • มีพากย์ไทย

Cons

  • บทอ่อนไม่เข้มข้น
  • ตัวละครนางเอกบทน้อย
  • ขาดการปูเรื่องราวลึกๆ ของแม่

Ultraman: Rising ภาพยนตร์แอนิเมชั่น Original Netflix อุลตร้าแมนยุคใหม่ที่ต้องหาทางแก้ปัญหาชีวิตครอบครัวกับการงาน หลังได้รับเลี้ยงไคจูเด็กโดยบังเอิญ
Ultraman: Rising (2024) on IMDb

รีวิว Ultraman: Rising (มีสปอยล์)

ผลงานความร่วมมือที่เกิดขึ้นจาก Netflix พาสตูดิโอเจ้าของอุลตร้าแมน Tsuburaya Productions และ Industrial Light & Magic (ILM ของจอร์จลูคัส) มาจับมือร่วมกันทำ แต่ Shannon Tindle ผู้เขียนบทและผู้กำกับเป็นมือใหม่เรื่องแรกของวงการที่ทำงานคาแรกเตอร์ดีไซน์มาตลอด ก็คงเพื่อเปิดตลาดใหม่ให้กับแฟนๆ หน้าใหม่ที่อายุน้อยลงกว่ารุ่นก่อนที่อายุเยอะเยอะกันหมด เพราะเรื่องแม้จะเป็นอุลตร้าแมนก็จริง แต่ก็เด็กลงมากด้วยการเล่าเรื่องแนวไคจูเป็นตัวดี ไม่ใช่แค่ตัวไคจูเด็กเท่านั้น แต่เรื่องต้องการนำเสนอทิศทางใหม่ว่าการปราบไคจูไปเรื่อยๆ ไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ การแก้ปัญหาคือต้องผูกสัมพันธ์กับไคจูต่างหาก จะได้ไม่ต้องมารุกรานตีกันไม่รู้จบ ซึ่งเรื่องก็ใช้ตัวไคจูเด็กที่ถูกมนุษย์ขโมยมาจากแม่ที่เป็นไคจูแนวมังกร แล้วอุลตร้าแมนคนรุ่นใหม่ได้ไปช่วยไว้นำกลับมาเลี้ยง แล้วก็กลายเป็นความสัมพันธ์พ่อลูกต่างสปีชีส์กันไป โดยผูกเรื่องให้อุลตร้าแมนรุ่นนี้มีปัญหากับพ่อที่เป็นรุ่นก่อนที่ทำแต่งานปราบไคจู ไม่เคยมาดูแลเขาในสมัยเด็ก การได้เลี้ยงไคจูเด็กนี้เองทำให้เขาได้รับรู้ความยากลำบากของคนเป็นพ่อที่ต้องทำงานและบาลานซ์ชีวิตส่วนตัวให้ได้ไปพร้อม ก็ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์พ่อลูกกลับมาอีกครั้ง และไคจูเด็กนี้ก็คือทางออกของปัญหาที่อุลตร้าแมนคนพ่อมองหามานานครับ

พล็อตเรื่องมันก็ดูดีอยู่แม้จะเชยมากๆ ในยุคนี้ แต่สำหรับในมุมของอุลตร้าแมนที่ไม่ได้มีพัฒนาการฉีกแนวไปมากนักจากอดีต การได้ทำเรื่องที่เด็กลงมากๆ เอาปัญหาชีวิตส่วนตัวกับครอบครัวมาเล่นเป็นหลัก โดยงานของพระเอกที่เป็นนักเบสบอลดาวรุ่งเย่อหยิ่งในตัวเองว่าเก่ง แต่พอมาเลี้ยงไคจูเด็กก็ทำให้ชีวิตเขาดิ่งลงไปแบบหาทางแก้ไม่ได้ โจทย์พวกนี้ก็ดูท้าทายว่าเรื่องจะแก้ยังไงในมุมดราม่าล้วนๆ ไม่ใช่แอ็กชั่น ซึ่งแตกต่างไปจากต้นฉบับมากที่แค่สู้กับไคจูก็จบไปได้ ทำให้เรื่องมีประเด็นที่น่าสนใจจับต้องได้ ดูร่วมสมัยมากขึ้นพอสมควร

แต่จุดอ่อนของเรื่องนี้ก็คือการหยิบพวกนี้มาเล่นแบบใส่รายละเอียดได้ไม่ลึกพอ อาจจะเพราะ Shannon Tindle พึ่งเคยได้ทำหน้าที่เต็มตัวครั้งแรก ทำให้เรื่องมันไม่ลึกสักด้าน ตั้งแต่เด็กไคจูก็ขาดที่มาที่ไปว่ามนุษย์ไปจับได้มายังไง ทั้งๆ ที่ไคจูไม่เคยมีเด็กมาก่อน การผูกสัมพันธ์กับไคจูตัวแม่ก็เป็นไปแบบง่ายๆ เหมือนอยู่ๆ ไคจูแม่ก็คิดขึ้นมาได้ว่าต้องทำตัวดีแล้วเขาช่วยลูกเรา ซึ่งบทตรงนี้มันง้องแง้งมากจริงๆ

ส่วนชีวิตของพระเอกที่ต้องช่วยทีมเบสบอลก็เล่าแบบวูบวาบให้เห็นตอนตกต่ำเพราะเลี้ยงเด็ก แต่พอช่วงดีก็กลับมาดีทันทีเลย อยู่ๆ พระเอกก็ช่วยสอนเพื่อนในทีมเหมือนเปลี่ยนเป็นคนละคน แบบเล่าเรื่องด้วยภาพสไลด์ไปไวๆ ว่าชีวิตดีขึ้นจนพาทีมชนะแชมป์แล้ว แม้ว่าจะเอาเรื่องความเป็นพ่อที่เกิดขึ้นมาหลังเลี้ยงเด็กก็เลยเข้าใจไปปรับตัวกับการทำงาน แต่จริงๆ มันก็เป็นอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างไปใช้กันไม่ได้นักหรอกครับ 

แม้แต่ความสัมพันธ์พ่อลูกบทก็เบาบางมาก เรื่องพยายามทำปัญหาแม่ที่หายไปทิ้งไว้เพื่อไปต่อภาค 2 แต่ก็สร้างเรื่องไว้แบบไม่มีเบาะแสอะไรให้เข้าใจเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ผ่านบทสนทนาการทะเลาะกันของพ่อลูกจากปัญหานี้

 

สิ่งที่ดีของเรื่องนี้ก็คือการยังคงไว้ซึ่งความเป็นอุลตร้าแมนทุกอย่าง จุดอ่อนเรื่องเวลาแปลงร่างมีเหมือนเดิม แต่ดัดแปลงเพิ่มอารมณ์ให้มีเกี่ยวข้องเข้าไป ท่ายิงแสงยังเป็นไม้ตายสุดยอดแบบเดิมอยู่ แต่คราวนี้ศัตรูไม่ใช่ไคจูแต่เป็นมนุษย์ที่สร้างหุ่นยักษ์ขึ้นมาต่อกรกับไคจู แต่ได้มาใช้กับอุลตร้าแมนแทน ฉากต่อสู้ตอนท้ายยังดูสนุก การได้เห็นทีมไคจูกับร่วมกับทีมอุลตร้าแมนก็เป็นไอเดียที่แปลกดีมากครับ

 

งานแอนิเมชั่นเรื่องนี้ดีกว่าซีรีส์อุลตร้าแมนก่อนนี้ที่ Netflix ทำซึ่งแข็งๆ เป็นแนวแอนนิเมชั่นคอมมากไป ในเรื่องนี้การเคลื่อนไหวลื่นไหลดูดีกว่า แต่ลายเส้นออกแบบตัวละครจะดูเป็นฝรั่งมากกว่าญี่ปุ่นเท่านั้นครับ

 

สรุป เป็นอุลตร้าแมนที่ฉีกแนวมาทำดราม่าครอบครัวมากกว่าสู้กับไคจู โดยการให้อุลตร้าแมนรุ่นใหม่ได้สัมผัสความยากลำบากของการเป็นพ่อเลี้ยงลูกไคจูกับทำงานไปด้วย ซึ่งไอเดียนี้เชยๆ แต่ก็ยังใช้ได้ เพียงแต่ว่าเรื่องมันไม่ลึก ทำให้การเดินเรื่องดูอ่อนไม่เข้มข้นเท่านั้น แต่ตอนท้ายก็มีฉากสู้กับศัตรูที่ไม่ใช่ไคจูแต่เป็นมนุษย์ได้พอสนุกและแปลกตาอยู่ครับ 

 

รวมรีวิว Netflix คลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!