รีวิวซีรีส์ WestWorld ซีซั่น 1-3 (HBO) เรื่องราวไซไฟสุดอลังการ อภิปรัชญาสุดซับซ้อน
รีวิว WestWorld Season 1-3
-
คะแนน WestWorld SS1 - 9.5/10
9.5/10
-
คะแนน WestWorld SS2 - 8.5/10
8.5/10
-
คะแนน WestWorld SS3 - 7/10
7/10
สรุป
ซีรีส์เรื่องนี้แม้พล็อตเรื่องและงานสร้างจะยิ่งใหญ่น่าติดตามมาก แต่ก็ไม่ได้สร้างมาเพื่อให้ผู้ชมวงกว้างทั่วไปดูแล้วสนุกไปกับเรื่องได้ง่ายๆ ต้องเป็นกลุ่มคนดูที่ต้องชอบพวกหนังนิยายวิทยาศาสตร์ปรัชญาไซไฟเป็นหลัก ในส่วนของแอ็กชั่นก็แค่ใส่มาให้สมจริงกับเรื่องราวมากกว่าจะเป็นฉากบู้เพื่อลุ้นอะไรนัก เพราะตัวละครในเรื่องนี้ตายกับเกิดใหม่เป็นว่าเล่นในทุกรูปแบบ แต่ถ้าคุณมองหาซีรีส์ที่มีการเล่าเรื่องผูกโยงจินตนาการโลกในอดีตผสมรวมกับอนาคตที่บ้าคลั่ง และเต็มไปด้วยเรื่องราวปรัชญาแนวคิดจิตใจและความเป็นมนุษย์แบบ Blade Runner กับ The Matrix รวมกัน เรื่องนี้ก็คือคำตอบหนึ่งเดียวในโลกตอนนี้แน่นอนครับ
Overall
8.3/10User Review
( votes)Pros
- ความอลังการงานสร้างมากถึงมากที่สุด
- เรื่องราวเต็มไปด้วยปมปรัชญาและจิตวิทยาซับซ้อนชวนติดตาม
- งานโปรดักชั่นกับ CG คุณภาพสูงลิ่ว
- มีความรุนแรงหดหู่ในเรื่องสูงแบบไม่ปราณีผู้ชม
- ทีมนักแสดงคุณภาพทั้งเรื่อง
Cons
- ปูรายละเอียดการตายซ้ำๆ กับฉากวนลูปตัวละครเยอะจนคนดูอาจจะเบื่อได้
- แรงจูงในของตัวละครในเรื่องมีความไม่สมเหตุผลอยู่บ้างเป็นระยะๆ (เพื่อต้องการดึงเรื่องให้หักมุม)
- ซีซั่น 2 มีการเล่าหลายไทม์ไลน์ซ้อนกัน ทำให้เรื่องพัวพันกันยุ่งเหยิงจนเข้าใจยากเกินไป
- ซีซั่น 3 บทอ่อนลงหลายด้านจนเรื่องเดินไปแบบธรรมดาทื่อๆ มาก
รีวิว WestWorld Season 1-3 ซีรีส์ของ HBO GO แนวดราม่าแอ็กชั่นไซไฟที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานของผู้สร้าง ในการสร้างโลกจำลองเสมือนจริงซ้อนทับกัน พร้อมกับบทที่ซับซ้อนเต็มไปด้วยการตั้งคำถามเชิงปรัชญากับชีวิตจิตใจชวนให้ขบคิดตลอดเวลา
ซีรีส์ที่ผู้สร้างและ HBO ตั้งใจปั้นขึ้นเป็นอภิมหากาพย์แบบเดียวกับที่ Game of Thrones เคยทำไว้และจบไปแล้วแบบไม่สวยงามสักเท่าไหร่ WestWorld เปิดตัวมาในปี 2016 กับรายชื่อผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง โจนาธาน โนแลน น้องชายของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ซึ่งก็รับหน้าที่เขียนบทให้พี่ชายคนดังมาตั้งแต่เรื่อง Momento, The Prestige, The Dark Knight, Interstellar เอาว่าเขาเป็นผู้ที่สร้างตำนานหนังดังหลายเรื่องร่วมกับพี่ชาย และก็เป็นตัวจริงในการเขียนบท โดยมี J. J. Abrams มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย
ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นบทออริจินอลเขียนขึ้นมาใหม่ แต่หยิบเค้าโครงเรื่องเดิมมาจากหนังเก่า Westworld ของ Michael Crichton เมื่อปี 1973 (ดูตัวอย่างต้นฉบับได้ที่นี่) โดยปรับเนื้อหาให้ทันสมัยล้ำไปไกลกว่าเดิม รวมถึงขยายเนื้อเรื่องให้กว้างไกลไปยังโลกอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่คาวบอย โดยกำหนดตามสัญญากับ HBO ถูกวางไว้ให้จบใน 5 ซีซั่น (อัพเดทผู้สร้างเผยว่ายังไม่ได้คิดว่าจบที่กี่ซีซั่นภายหลังจบซีซั่น 3) ใช้เวลาถ่ายทำเกือบสองปีต่อซีซั่น และตอนนี้ก็เดินเรื่องมาถึงซีซั่น 3 และพึ่งจบลงไปในวันที่ 4 เมษายน 2563 เนื่องจากเนื้อหาทิศทางในแต่ละซีซั่นแตกต่างกันมาก รีวิวนี้จะขอสรุปรวมแล้วค่อยแยกย่อยซีซั่นมาจากกันนะครับ
เนื้อหาบทความมีสปอยล์เรื่องราวบางส่วน แต่ไม่ได้เปิดเผยส่วนสำคัญของเรื่อง
เนื้อเรื่องของ Westworld
เวสเวิลด์เป็นเรื่องของอุทยานสวนสนุกในอนาคตของมนุษย์บนพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่จำลองทุกสิ่งในยุคคาวบอยกลับมาอย่างสมจริง โดยพัฒนาหุ่นแอนดรอยด์ที่รูปร่างหน้าตาประสาทการรับรู้ ให้ได้ความรู้สึกใกล้เคียงมนุษย์จนแทบแยกไม่ออก เพื่อมาสวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ ตามที่อุทยานวางบทกำกับไว้ แขกที่เข้ามาต้องจ่ายหนักเพื่ออิสระในการสวมบทบาทเหมือนจริงไปตามบท หรือแม้แต่การทำอะไรก็ได้นอกบทอย่าง ยิงฆ่าใครก็ได้ แม้แต่การข่มขืนผู้หญิง (ที่เป็นแอนดรอยด์เหมือนคนจริง) แต่ทำได้แค่กับหุ่นเท่านั้น และแม้หุ่นจะตอบโต้กลับตามบทก็ไม่อาจจะทำอันตรายมนุษย์ได้จริง (ปืนแค่ทำให้เจ็บพอรู้สึกว่าโดนยิง) จากนั้นพอผ่านวันไปทางอุทยานก็จะนำหุ่นพวกนี้ไปซ่อมและลบความทรงจำส่งกลับมารับบทเดิมๆ ใหม่อีกครั้ง อุทยานนี้ก็เลยเป็นเหมือนที่สนองด้านมืดของผู้เข้ามาเที่ยวโดยตรงมากกว่าอย่างอื่น จนมาวันหนึ่งหุ่นบางตัวในอุทยานเริ่มมีความผิดปกติขึ้นมาทีละนิดๆ จากความทรงจำเลวร้ายที่หลงเหลืออยู่ และก็ค่อยๆ กลายเป็นมหันตภัยที่แผ่ขยายจากภายในอุทยานแห่งนี้จนลามมาถึงโลกจริง
ตัวซีรีส์นำเสนอเรื่องราวที่ซับซ้อนของความรู้สึกนึกคิดในหุ่นแอนดรอยด์ที่ค่อยๆ มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเองเหมือนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะค่อยๆ ต่อเติมเรื่องของผู้สร้างอุทยานแห่งนี้ขึ้นมาในเชิงพระเจ้าผู้สร้างโลก เมื่อมนุษย์ไปถึงจุดที่สร้างชีวิตเทียมขึ้นมาได้เหมือนหรือเหนือกว่ามนุษย์ผู้สร้างเองซะอีก ซึ่งคอนเซ็ปต์ของเรื่องก็ไม่ได้แปลกใหม่ มีความเหมือนหนัง Blade Runner ที่ออกมาทั้งสองภาค แต่สิ่งที่เรื่องนี้ไปไกลกว่านั้นคือการนำแนวคิดนี้ต่อยอดย้อนกลับไปยังผู้สร้างหุ่นนี้ขึ้นมา และก็ผสมรวมด้วยโลกแบบ The Matrix เข้ามาอย่างจริงจัง จนกลายเป็นมีโลกเสมือนจริงซ้อนทับสลับกันอยู่หลายชั้นในเรื่องนี้ แถมยังมีการดิ่งลึกไปยังความคิดทั้งในสมองมนุษย์และหุ่น ให้อารมณ์คล้าย Inception เข้ามาร่วมด้วย
แต่เรื่องไม่ได้ยำทุกอย่างเข้ามาจนเละ เพราะแนวเรื่องโลกเสมือนหลายชั้นที่ว่านี้จะค่อยๆ เติมมาภายหลังจากผ่านไปแต่ละซีซั่น ไม่ใช่การยำเข้ามาทีเดียวทั้งหมด แต่ก็ต้องบอกให้เข้าใจกันว่า นี่เป็นซีรีส์คัดคนดูเฉพาะกลุ่มมาก แบบไม่ปราณีกับคนดูทั่วไปเลยแม้แต่น้อย ซึ่งถ้าใครไม่ได้ชอบขบคิดกับปมซับซ้อนในเรื่องอาจจะต้องผ่านไปเลย เพราะตัวเรื่องยิ่งเดินหน้าไปยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ แบบถ้าตามไม่ทันแม้แต่นิดเดียวก็จะหลุดการเชื่อมต่อจากเรื่องที่โยงใยไว้ทั้งหมดทันที แต่ยังไงก็แนะนำว่าคุณก็อาจจะชอบก็ได้เพราะว่าในซีซั่นแรกเรื่องเรื่องไม่ได้ถูกวางให้ซับซ้อนมากนัก แม้จะมีความงุนงงกับการเดินเรื่องตัดสลับไปหลายตัวละคร กับช่วงยุคสมัยของการสร้างโลก Westworld ที่มักไม่บ่งบอกให้แน่ชัดว่าเป็น อดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพอทุกอย่างใกล้จบในแต่ละซีซั่นคุณจะได้เข้าใจช่วงเวลาเหล่านั้นได้เอง (ถ้าตามทัน)
ซึ่งความสลับซับซ้อนของการเล่าเรื่องบวกกับปมโลกหลายชั้น ทั้งที่จำลองออกมาเป็นจริง โลกในระบบเวอร์ชวล และโลกในความคิด นี่เป็นโจทย์ที่ตัวเรื่องต้องการให้คนดูขบคิดตามกันตลอดเวลา สำหรับคนที่ต้องการดูซีรีส์ผ่อนคลายเป็นไปไม่ได้เลยกับเรื่องนี้ อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความรุนแรง ติดเรต มีฉากฆ่าโหดอำมหิต แบบไม่ปราณีตัวละครใดๆ กันเลย เพราะคอนเซ็ปต์เรื่องคือการตายของหุ่นที่น่าสงสารซ้ำวนเวียนไปมา ก่อนจะกลายเป็นการล้างแค้นคืนแบบดาบนั้นคืนสนองพอกัน
ในเรื่องไม่ได้ชี้ว่าหุ่นที่ถูกกระทำเป็นฝ่ายดีให้เอาใจช่วยเสมอไป เพราะเรื่องนี้คือการใส่แนวคิดเรื่อง “อภิปัญญา” หรือ การรู้คิด (Metacognition) ที่เหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ AI. ว่าง่ายๆ คือการตื่นรู้กระทำอะไรลงไปตามที่คิดได้เอง ซึ่งก็คือจุดสูงสุดของสิ่งมีชีวิตเทียบเคียงได้กับมนุษย์ที่มี “เจตจำนงเสรี” (Free will) ทำให้หุ่นในเรื่องก็เป็นได้ทั้งตัวร้ายและตัวดีไปพร้อมๆ กันทุกตัวละคร เปรียบเสมือนมนุษย์ที่ไม่ขาวไม่ดำแต่เป็นสีเทา ทั้งหุ่นและมนุษย์ในเรื่องนี้จึงมีปมของเรื่องราวเกี่ยวกับการทำตามความปราถนาที่ซ่อนอยู่ในใจลึกๆ ของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งคาดเดาไม่ได้ทุกซีซั่นว่าสุดท้ายแล้วต้องการอะไรกันแน่ โดยให้น้ำหนักทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมคู่คี่กันไปตลอดเวลา
สิ่งที่เรียกว้าวที่สุดของเรื่องคือการเนรมิตโลกคาวบอยกึ่งไซไฟขึ้นมาได้อย่างสมจริงมากๆ ตัวโลกมีความกว้างใหญ่เดินเรื่องไปยังหลายสถานที่ไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นเกมๆ หนึ่ง อีกทั้งยังมีโลกอื่นเข้ามาเพิ่มอีกเรื่อยๆ อย่าง “โชกุนเวิลด์” ที่เป็นยุคซามูไรกับนินจา ช่วง “บริติชราช (British Raj)” ที่อังกฤษเข้าปกครองอินเดียและการเดินทางล่าสัตว์ร้าย “วอร์เวิลด์” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีไล่ยึดครองยุโรป หรือแม้แต่โลกดาร์คแฟนตาซีเวิลด์ที่ครอสโอเวอร์เอาตัวมังกรและตัวละครจาก Game of Thrones มาใช้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกยกมามีเรื่องเล่าเต็มๆ แบบ Westworld ที่เป็นโลกหลักเกี่ยวข้องกับทุกซีซั่น ซึ่งอุทยานทั้งหมดทางผู้สร้างกำหนดไว้ว่าจะมี 6 แห่ง
นอกจากโลกสมมุติเหมือนจริงในอุทยานแล้ว ตัวเรื่องยังทะเยอทะยานสร้างโลกในยุคนั้นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่ต้องเล่าจากอุทยานขึ้นมาสู่ห้องสร้างแอนดรอยด์ และออกไปสู่โลกจริงในซีซั่น 3 ซึ่งก็ต้องถือว่าซีรีส์เรื่องนี้ทุ่มทุนสร้างสูงมากถึงซีซั่นละประมาณ 100 ล้านเหรียญ (ตอนละ 8-10 ล้าน) ความสมจริงของงานสร้างฉากต่างๆ ขึ้นมาเหมือนจริง รวมถึงส่วนที่ต้องใช้ CG ทุกอย่างในเรื่องอยู่ในระดับเกือบเทียบเท่าภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ทุกอย่าง เอาแค่ฉากโอเพนนิ่งเปิดเรื่องของแต่ละซีซั่นก็บรรจงสร้างมาอย่างงดงามอลังการ สะท้อนถึงธีมเรื่องในแต่ละซีซั่นที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน (สามารถตีความออกมาได้ทุกฉาก) ซึ่งไม่เคยมีงานสร้างซีรีส์ที่คิดใหญ่ไปไกลขนาดนี้มาก่อน อาจจะยิ่งใหญ่กว่า Game of Thrones ก็ยังได้เพราะ Game of Thrones เองก็เป็นอุทยานหนึ่งในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ก็ต้องย้ำกันอีกครั้งว่าซีรีส์เรื่องนี้แม้พล็อตเรื่องและงานสร้างจะยิ่งใหญ่น่าติดตามมาก แต่ก็ไม่ได้สร้างมาเพื่อให้ผู้ชมวงกว้างทั่วไปดูแล้วสนุกไปกับเรื่องได้ง่ายๆ ต้องเป็นกลุ่มคนดูที่ต้องชอบพวกหนังนิยายวิทยาศาสตร์ปรัชญาไซไฟเป็นหลัก ในส่วนของแอ็กชั่นก็แค่ใส่มาให้สมจริงกับเรื่องราวมากกว่าจะเป็นฉากบู้เพื่อลุ้นอะไรนัก เพราะตัวละครในเรื่องนี้ตายกับเกิดใหม่เป็นว่าเล่นในทุกรูปแบบ แต่ถ้าคุณมองหาซีรีส์ที่มีการเล่าเรื่องผูกโยงจินตนาการโลกในอดีตผสมรวมกับอนาคตที่บ้าคลั่ง และเต็มไปด้วยเรื่องราวปรัชญาแนวคิดจิตใจและความเป็นมนุษย์แบบ Blade Runner กับ The Matrix รวมกัน เรื่องนี้ก็คือคำตอบหนึ่งเดียวในโลกตอนนี้แน่นอนครับ
รีวิวสรุป WestWorld Season 1 (ไม่มีสปอยล์)
เรื่องราวเปิดตัวอุทยานเวสเวิลด์ที่ดำเนินงานมากว่า 30 ปี มีตัวละครหลักคือ Dolores Abernathy (รับบทโดย Evan Rachel Wood) หญิงสาวชาวไร่ผู้รักสงบ แต่เธอกลับถูกย่ำยีจากแขกที่เป็น “ชายปริศนา” (รับบทโดย Ed Harris) ในอุทยานอย่างป่าเถื่อน จนเริ่มตื่นรู้ขึ้นมาทีละนิดๆ ในขณะที่ Bernard (รับบทโดย Jeffrey Wright) ผู้ตรวจสอบดูแลหุ่นกลับไม่อาจจะหาสาเหตุที่มานั้นได้ ซึ่งผู้สร้าง Dr. Robert Ford (รับบทโดย Anthony Hopkins) กลับไม่รู้สึกใส่ใจจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กลับเตรียมตัววางเรื่องราวใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมไว้ในโลกนี้ แต่ไม่ใช่แค่ Dolores ที่เริ่มผิดปกติ ยังมีหุ่นอีกหลายตัวก็เริ่มมีความทรงจำที่ถูกลบติดกลับมา โดยบทเด่นจะตกอยู่กับ Maeve (รับบทโดย Thandie Newton) สาวผิวสีที่เป็นแม่เล้าคุมบาร์ในเมือง ซึ่งเธอจะมีบทบาทหลักเดินทางคร่อมระหว่างโลกจริงกับเวสเวิลด์ ผ่านการตายซ้ำๆ เพื่อหาความจริงของโลกทั้งหมด
ด้วยความสดใหม่ของเนื้อหาในซีซั่นแรก การรับชมในแต่ละตอนจึงเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจทั้ง CG กับโลกเหมือนจริงกึ่งไซไฟที่ทำออกมาได้เนี๊ยบจนน่าประทับใจ และก็ไม่ได้โผล่มานิดๆ แต่โชว์ออกมาตลอดเรื่องทั้งฉากในอุทยานที่ผสมความล้ำซ่อนไว้ในโลกคาวบอย ฉากในโลกจริงที่เผยให้เห็นเบื้องหลังการทำงานในเวสเวิลด์ที่มีแผนกต่างๆ มากมายรองรับแก้ปัญหาให้แขกตลอดเวลา ตรงส่วนนี้เต็มไปด้วย CG กับฉากที่ถูกเซ็ตขึ้นมาอย่างอลังการ มีทั้งขั้นตอนการสร้างหุ่นขึ้นมาใหม่ และการซ่อมแซมหุ่นที่ถูกกู้คืนชีพกลับมา
ตัวเรื่องมีตัวละครหลัก 5 ตัว (ตามที่ใส่ไว้ในเรื่องย่อด้านบน) และจะใช้เป็นตัวเดินเรื่องไปตลอดซีซั่นจนถึงซีซั่น 3 เลย และมีตัวละครสมทบที่มีบทบาทเกี่ยวข้องอีกหลายตัว แต่การจดจำตัวละครในเรื่องแทบไม่มีปัญหา เพราะเรื่องจะแนะนำตัวละครซ้ำๆ ผ่านบทพูดเดิม ไปเจอกับตัวละครเดิมที่เกี่ยวข้องกันตลอด แต่มีรายละเอียดที่เปลี่ยนไปทีละนิดเรื่อยๆ คล้ายๆ พวกหนังแนวเวียนว่ายตายเกิดเป็นลูป ซึ่งตัวเรื่องก็จัดความรุนแรงป่าเถื่อนใส่มาแทบทุกช่วงที่เดินเรื่องให้เหมือนอยู่ในยุคคาวบอยเถื่อนไร้ขื่อแป สำหรับคอหนังโหดติดเรตคงสะใจตรงจุดนี้แน่นอน
ในส่วนของปมปริศนาในเรื่องระหว่างดูอาจจะคลุมเคลือไปหมดแทบทุกจุดว่าคืออะไร ด้วยความแปลกใหม่ของเรื่อง คนดูเองก็ยังคลำหาเมนหลักของเรื่องนอกจากการตื่นขึ้นทีละนิดของหุ่นในเรื่องไม่เจอ แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะดูไม่รู้เรื่อง เพราะอันที่จริงหนังตั้งใจให้ไม่ให้เดาเรื่องได้เลยอยู่แล้วว่าเรื่องจะไปทางไหน เพราะตัวเรื่องปิดบังเนื้อหาหลักจุดหมายปลายทางสุดท้ายหลอกคนดูได้อยู่หมัด แต่ระหว่างทางก็มีการเปิดเผยเรื่องชวนช็อคกับตัวละครสำคัญด้วยเช่นกัน ทำให้เรื่องในซีซั่น 1 เต็มไปจุดหักมุมหลายครั้ง ก่อนจบด้วยฉากค้างคาเพื่อไปต่อซีซั่น 2 แบบบังคับดูต่อแน่นอน
คะแนน 9.5/10
ตัวอย่าง WestWorld Season 1
รีวิวสรุป WestWorld Season 2 (มีสปอยล์บางส่วน)
เนื้อเรื่องของซีซั่น 2 จะไม่ได้เริ่มต่อกับฉากจบซีซั่นแรกโดยตรง แต่เริ่มจากไทม์ไลน์ของ Bernard ที่กลายมาเป็นตัวละครหลักสำคัญในตอนนี้กับซีซั่น 3 ด้วย ซึ่งก็เป็นการเล่นกับไทม์ไลน์ที่หลากหลายกว่าเดิมหลายเท่า โดยคราวนี้มีโลกในระบบของเวสเวิลด์ที่ซ่อนอยู่มาเกี่ยวข้อง รวมถึงไทม์ไลน์ย้อนเข้าไปในหัวของ Bernard เองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างทั้งในอดีตสมัยแรกเริ่ม ก่อนจะกลับมาช่วงปัจจุบัน และก็ช่วงไทม์ไลน์ที่ไม่ระบุชัดว่าเวลาไหน กับสุดท้ายคือช่วงรอยต่อของเรื่องที่หายไปตอนท้ายซีซั่น 1 ว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากการตื่นขึ้นมาของ Dolores กับหุ่นอื่นๆ ที่หลุดการควบคุมของอุทยานไปแล้ว และก็สามารถฆ่ามนุษย์ได้จริง แม้จะยังติดอยู่ในบทที่ถูกวางไว้ก็ตาม
ซีซั่นนี้เรียกว่าเป็นตัววัดเลยว่าใครจะทนดูต่อไหวไหม เพราะเรื่องเริ่มเล่นกับไทม์ไลน์หลากหลายแบบที่ชวนงง แถมลากยาวไปเฉลยเอาท้ายเรื่องมาก แต่ก็เป็นจุดที่ทำให้เรื่องนี้ขายขอบเขตออกไปไกลมากขึ้น ไม่ใช่แค่โลกเหมือนจริงในอุทยาน แต่เป็นโลกจำลองที่เหมือนจริงยิ่งกว่าแบบ The Matrix ที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกให้หุ่นในอุทยานที่หลุดการควบคุมและอยากมีชีวิตเป็นของตัวเองได้เข้าไปอยู่ในนั้น เพราะร่างแอนดรอยด์ของหุ่นเองก็ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเรื่องเวสเวิลด์ใช้เป็นหลักอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องจิตกับข้อมูลความรู้สึกการตื่นรู้ที่ตัวเรื่องจริงๆ ของซีซั่นนี้ และไม่ใช่แค่ฝั่งหุ่นเท่านั้น แต่ฝั่งมนุษย์เองก็มีการนำข้อมูลจากสมองอัปโหลดเข้าไปในหุ่นเพื่อหวังความเป็นอมตะเช่นกัน ซึ่งโลกจริงในร่างหุ่นกับโลกจำลองที่มีจิตกับข้อมูลดำรงอยู่ โลกทั้งสองแบบคือประเด็นหลักของซีซั่นนี้ที่ขมวดรวมกันให้คนดูงงจนแยกไม่ออกว่าอันไหนโลกจริงหรือโลกจำลองกันแน่
สิ่งที่โดดเด่นเพิ่มมาคือ ซีซั่นนี้จะมีฉากแอ็กชั่นลุยกันมากขึ้น มีสงครามระหว่างหุ่นกับมนุษย์เกิดขึ้นในเวสเวิลด์ เป็นการปะทะกันระหว่างหน่วยที่ถูกส่งมาเก็บกวาดหุ่นในเวสเวิลด์ออกไปทั้งหมด เพื่อจะรีเซ็ตทุกอย่างใหม่อีกครั้ง และก็มีเส้นเรื่องของ Maeve แยกออกไปเฉพาะ เป็นการเดินทางตามหาลูกสาวในความทรงจำที่ค้างคาเรื่องนี้ไว้ในซีซั่นแรก ซึ่งการผจญภัยของเธอจะไปถึง “โชกุนเวิลด์” ในตอน 5 ของซีซั่นนี้เต็มๆ โดยไม่ตัดเรื่องกลับไปฝั่งเวสเวิลด์เลย ในโลกนี้ก็จะมีตัวละครใหม่โผล่มามากมาย แต่ก็เป็นเหมือนก็อปปี้บทจากเวสเวิลด์มาเป็นเมืองญี่ปุ่นเท่านั้น แต่แม้จะได้เวลาเต็มๆ ไปทั้งตอน แต่เรื่องกลับทำโลกซามูไรออกมาได้ไม่สนุกเท่าไหร่นัก ดูแล้วไม่ค่อยเข้ากับตัวละครในทีมของ Maeve อีกทั้งยังดูไม่น่าสนใจเท่ากับโลกคาวบอยที่มีวัตถุดิบหลายอย่างให้เดินเรื่องได้สนุกกว่ามากมาย
ส่วนบทสรุปของซีซั่น 2 ก็คือผลพวงต่อเนื่องจากซีซั่น 1 ซึ่งก็เป็นการสรุปจบเรื่องราวเกือบทั้งหมดในอุทยาน ก่อนที่จะเริ่มต้นใหม่กับโลกจริงนอกอุทยานในซีซั่น 3
คะแนน 8.5/10
ตัวอย่าง WestWorld Season 2
รีวิวสรุป WestWorld Season 3 (มีสปอยล์บางส่วน)
ซีซั่นนี้เป็นการขึ้นเรื่องราวใหม่เกือบหมดในโลกจริง เป็นเรื่องราวของ Dolores กับตัวละครหลักคนใหม่ “Caleb” ที่รับบทโดย Aaron Paul จากบท Jesse Pinkman ซีรีส์ Breaking Bad รวมถึงตัวร้ายคนใหม่ Serac’s (รับบทโดย Vincent Cassel) ชายชาวฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าของระบบที่ควบคุมมนุษย์ทุกชีวิตบนโลกในปัจจุบัน ด้วยการเลือกเส้นทางชีวิตให้ทุกคนแทนแบบลับๆ ผ่านระบบดิจิตอลในโลกอนาคตที่เชื่อมเข้ากับทุกอย่างของมนุษย์ จนกลายเป็นเครื่องมือของ Serac’s โดยที่ผู้คนบนโลกก็ไม่รู้ตัว โดยอ้างจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ชาติเดินทางไปสู่การทำลายโลก
เรื่องราวในซีซั่นนี้ไม่ได้มีไทม์ไลน์แบบตัดสลับเวลาให้ชวนงงอีกแล้ว แต่ละฉากเดินหน้าตามโครงเรื่องว่าหุ่นอย่าง Dolores ต้องการยึดครองโลกนี้แทนมนุษย์ แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับ Serac’s ที่เป็นเจ้าของระบบบงการชะตาชีวิตผู้คนอยู่แบบลับๆ แม้เรื่องจะเซ็ตไว้ใหญ่ในธีมเดิมที่โลดเหมือนเป้นอุทยานขนาดใหญ่เช่นเดียวกับเวสเวิลด์ เรื่องถูกบอกเล่าแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน อาจจะเพราะเรตติ้งที่ตกฮวบในซีซั่น 2 ทำให้ผู้สร้างเลือกเล่าแบบง่ายมาขึ้น แต่นั่นก็ทำให้ตัวเรื่องกลายเป็นหนังที่ค่อนข้างธรรมดาไปเลย แถมออกได้กลิ่นคนเหล็กตุๆ จากการที่ให้บทของ Maeve คู่ปรับนางเอก Dolores เป็นเหมือนเทอมิเนเตอร์ออกมาไล่ล่าเธอไปเรื่อยๆ ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่เฟลมาก เหมือนลดเกรดหนังตัวเองจาก A เป็น B
ในส่วนของ “Caleb” ตัวละครใหม่ที่พึ่งเข้ามา แม้ว่าจะใส่เรื่องราวที่น่าสนใจเรื่องการเป็นมนุษย์ที่ถูกควบคุมมาโดยไม่รู้ตัวตลอดชีวิต แต่ว่าตัวละครนี้ก็ไม่ได้โดดเด่นเท่ากับตัวอื่นๆ ในเวสเวิลด์เพราะแค่มาเสริมช่วย Dolores ตลอดเรื่องมากกว่าจะเป็นตัวนำ กับมีเรื่องราวแฟลชแบ็คกลับในอดีตของตัวเองเป็นระยะๆ ที่พอช่วยให้ดูมีอะไรขึ้นมาบ้าง กับตอนจบที่ทิ้งไว้ว่าเขาจะเป็นตัวนำหลักในซีซั่นต่อไป
ส่วนตัวละครอื่นที่ตามมาทุกซีซั่นอย่าง Bernard กับ William กลายเป็นถูกลดบทบาทลงมากจนแทบจะไม่ได้สำคัญกับเรื่องจริงๆ นัก แล้วก็ยังติดกับปมเรื่องเดิมๆ มาตั้งแต่ซีซั่นก่อนจนถึงตอนนี้ทั้งคู่ แต่เรื่องก็ยังต้องพึ่งพาพวกเขาต่อไปและกำลังผูกปมใหม่ให้ในตอนจบที่ดูแล้วน่าจะทำให้สองคนนี้กลับมามีบทบาทมากขึ้น
ซีซั่นนี้มีการกลับไปหาอุทยานเวสเวิลด์ที่เรียกว่าเกือบล่มสลายแล้ว ซึ่งชวนให้คิดถึงแต่ก็มาแปบเดียวจบไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น แต่ยังดีที่มีการเปิดตัวโลกใหม่เป็นยุค “วอร์เวิลด์ (Warworld)” เมืองในอิตาลี ช่วงปี 1943 – 1945 แนวสายลับต่อสู้กับนาซีที่มายึดครองเมือง ผ่านทีมของ Maeve เดิมๆ ที่รวมตัวมาตั้งแต่ซีซั่นแรก แต่เรื่องก็มีปัญหาที่ว่าไปไม่สุด และก็ไม่ได้อยู่บนโลกจริงแบบเวสเวิลด์ แถมมีเนื้อเรื่องอยู่ที่ฉากสั้นๆ ฉากเดียวตั้งแต่แรกวนลูปไปมา ให้โลกนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาลึกและหลากหลายสักเท่าไหร่ ดูมีดีเทลน้อยกว่าโชกุนเวิลด์ด้วยซ้ำ
เป็นซีซั่นที่เริ่มมาดูดีกับการขึ้นโลกใหม่ แต่กลับทำได้ไม่ลึกพอให้รู้สึกว่าแปลกใหม่ จำนวนตอนที่น้อยลงเหลือแค่ 8 ตอน ดูเหมือนอนาคตของซีรีส์เรื่องนี้อาจจะไม่สดใสเท่าที่ควรนักแบบตอนเริ่มแรกแล้วก็ได้ครับ
คะแนน 7/10