playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว American Vandal ซีซั่น 1-2 (Netflix) การจัดฉากสารคดีอาชญากรรมสุดเพี้ยน

  • American Vandal Season 1 - 8.5/10
    8.5/10
  • American Vandal Season 2 - 8.5/10
    8.5/10

สรุป

ซีรีส์ Mockumentary (สารคดีที่ถูกจัดฉากขึ้นมา) ที่ล้อเลียนภาพยนตร์สารคดีแนวอาชญากรรมด้วยคดีประหลาด ๆ พร้อมแฝงประเด็นทางสังคมไปด้วย เช่น การสร้างตัวตนของวัยรุ่น ความอคติกับความยุติธรรม และอำนาจของโรงเรียน

Overall
8.5/10
8.5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • เป็นสารคดีปลอมที่สร้างตัวละครออกมาได้สมจริง มีหลายมิติ และใส่ใจรายละเอียดได้ดี
  • การสืบสวนและการเล่าเรื่องน่าติดตาม มีความสมเหตุสมผล
  • เป็นซีรีส์ที่ทำมากกว่าแค่การล้อเลียนเอาสนุก แต่ยังแฝงไปด้วยเป็นเด็นทางสังคมให้เอาไปคิดต่อ

Cons

  • ตัวเรื่องมีการวนเหตุการณ์เดิม ฉากเดิมเปลี่ยนมุมมองบ่อยทำให้รู้สึกจำเจได้
  • การเล่าเรื่องรูปแบบสารคดีที่อาจจะไม่ได้เหมาะกับคนชอบดูหนังซีรีส์โดยตรง
  • บางจุดใส่มาไม่สมเหตุผลตามรูปแบบสารคดีจริงที่เน้นข้อเท็จจริงเป็นหลัก
  • ประเด็นกับรูปแบบของเรื่องทั้งสองซีซั่นไม่แตกต่างกันนัก

หลาย ๆ คนที่ชอบดูภาพยนตร์หรือซีรีส์คงคุ้นเคยกับหมวด ๆ หนึ่งที่มักจะได้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ‘หมวดอาชญากรรม’ ซึ่งก็เป็นหมวดหนึ่งที่มีผลงานชวนจดจำไว้หลายเรื่อง โดยเสน่ห์ของมันก็คือรูปคดีที่ชวนให้น่าจดจำ ไม่ว่าจะเป็นความโหดร้าย ความรุนแรง หรือความลึกลับ แต่ American Vandal Original Series จาก Netflix จะพาผู้ชมไปเจอกับคดีที่ค่อนข้างประหลาดอยู่หน่อย ๆ ทั้งคดีนักเรียนพ่นสเปรย์รูปจู๋บนรถครูทั้งหมด 27 คัน และคดีการแกล้งกันในโรงเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องขี้ ๆ (ขี้จริง ๆ)

 American Vandal (2017) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB 

American Vandal ใช้วิธีนำเสนอแบบ Mockumentary หรือสารคดีปลอม (สารคดีที่เป็นการจัดฉากขึ้นมา) โดยรูปแบบการนำเสนอในเรื่องดู ๆ ไปคล้ายจะกำลังล้อเลียนกับรูปแบบ Documentary แบบ True-crime อยู่ ที่มีการเล่าเรื่องโดยการหยิบคดีที่เคยถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้างในอดีตมาทำเป็นสารคดี มีการสัมภาษณ์คนใกล้ชิดหรือผู้เกี่ยวข้องกับตัวอาชญากรพร้อมกับเล่าเรื่องราวความเป็นไปของเหตุการณ์ ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาใช้ประกอบการเล่าเรื่องของสารคดีเรื่องนี้ก็ทำออกมาได้น่าเชื่อจริง ๆ ทั้งฟุตเทจของตัว Subject ในวัยเด็ก หรือวิดีโอประกอบเหตุการณ์ที่ถ่ายมาให้อารมณ์เหมือนถ่ายมาจากเหตุการณ์จริง เช่น ฟุตเทจจากมือถือ หรือกล้องวงจรปิด

(ซ้าย) ปีเตอร์ และ (ขวา) แซม

ทั้ง 2 ซีซั่นนี้จะแยกจากกันเป็นคนละคดี โดยมี ปีเตอร์ และแซมเป็นผู้ถ่ายทำและคอยดำเนินเรื่อง ส่วนในด้านอารมณ์ของเรื่องก็เหมือนกับสารคดีอาชญากรรม มีการหาหลักฐาน หาแรงจูงใจ การสัมภาษณ์ การโยงเหตุการณ์ โดยทั้ง 2 ซีซั่นก็จะมีประเด็นที่เน้นแตกต่างกัน

ตัวอย่าง American Vandal Season 1 (Netflix)


*หมายเหตุ: บทความไม่มีสปอยล์

Season 1: ใครวาดไอ้จู๋!?

“ลองคิดดูว่า คนประเภทไหนจะไปพ่นสีรูปไอ้จู๋ใส่รถกลางลานจอดรถครู คนแบบนี้จะมีหน้าตาอย่างไร คบหากับคนแบบไหน นั่งอยู่มุมไหนของโรงอาหาร สอบได้เกรดเท่าไร” คือคำโปรยของสารคดีที่เล่าถึงคดีทำลายทรัพย์สินของ Hanover High School โดยเหตุการณ์มีอยู่ว่า รถของครูทั้งหมด 27 คันถูกพ่นสเปรย์สีแดงรูปจู๋ขนาดใหญ่ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีหลักฐานชี้ไปที่ใครเนื่องจากกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่บันทึกแหตุการณ์ทั้งหมดไว้ถูกลบออก แต่ทางโรงเรียนก็ได้ไล่ ‘ดีแลน แม็กซ์เวลล์’ เด็กนักเรียนคนหนึ่งออกจากโรงเรียนเนื่องจากมีเด็กนักเรียนอีกคนที่อ้างว่าได้เห็นเหตุการณ์ ประกอบกับบุคลิกของดีแลนที่เป็นเด็กที่ชอบเล่นอะไรไร้สาระก่อกวนคนอื่นและขึ้นชื่อว่าเป็นนักเรียนที่ชอบวาดรูปจู๋เป็นประจำอยู่แล้ว ทางโรงเรียนจึงได้ไล่เขาออกทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ไปกระตุ้นให้ ‘ปีเตอร์’ และ ‘แซม’ เกิดความต้องการที่จะหาความจริงของเบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ผ่านการถ่ายทำสารคดี

Who drew the dicks?

ตัวซีรีส์จะพาเราไปสำรวจเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์เด็กนักเรียนคนอื่น ๆ ในโรงเรียน เหล่าครู บุคคลที่เกี่ยวข้อง และคนใกล้ตัวของดีแลนด้วยมุมมองที่เป็นกลาง และนำเรื่องราวทั้งหมดมาร้อยกันเป็นความจริงตามหลักเหตุผล ซึ่งแน่นอนว่าในเหตุการณ์ทั้งหมดนี้คนส่วนใหญ่จะเล่าผ่านมุมของตัวเอง มีทั้งพูดโกหก พูดไม่หมด และพูดเกินความเป็นจริง จนเกิดเป็นจุดขัดแย้งให้เรื่องต้องขุดลึกลงไป ซึ่งนี่เป็นเพียงด้านหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้เท่านั้น เพราะระหว่างที่เรื่องดำเนินไป ตัวซีรีส์ก็กำลังพูดถึงความเป็นตัวตน ทั้งตัวตนที่เป็นตัวตนของเราจริง ๆ และความเป็นตัวตนของเราผ่านสายตาของคนอื่น

สิ่งที่สะท้อนออกมาจากการสัมภาษณ์เด็กนักเรียน และคุณครู ก็คือสังคมของ High School ที่มีทั้งความอยากและพยายามที่จะสร้างตัวตนที่ได้รับการยอมรับจากคนอื่นของทั้งนักเรียนและคุณครู หรือความอคติที่ไม่ว่านักเรียนหรือคุณครูเมื่อได้อคติใครแล้วก็จะพูดถึงด้านลบของอีกฝ่ายได้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นใครและด้วยสถานะแล้วมันควรทำหรือไม่ควร

แม้ตัวซีรีส์จะนำเสนออย่างเป็นกลางด้วยการ ‘หาความจริง’ ไม่ใช่ ‘หาความจริงเพื่อช่วยดีแลน’ เพราะตัวสารคดีที่ถ่ายทำก็นำเสนอทุกมุมของดีแลนจริง ๆ ซึ่งพฤติกรรมของเขาก็ชวนให้สงสัยจริง ๆ ว่าเขาได้พ่นสเปรย์รูปจู๋หรือเปล่า เพราะเขาทั้งชอบเล่นอะไรแผลงๆ เพื่อความสนุกของตัวเองโดยไม่สนว่าคนอื่นจะชอบหรือเดือดร้อนหรือไม่ และยังชอบวาดไอจู๋ไปทุกๆ ที่ ทั้งกระดานไวท์บอร์ด ไปจนถึงกระดาษข้อสอบของเขาเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าทางโรงเรียนไล่เขาออกจากคำตัดสินที่มองแค่ภาพลักษณ์ของเขาเท่านั้น ซึ่งตัวซีรีส์ได้พูดถึงประเด็นเรื่องการตัดสินคนอย่างง่ายๆ ด้วยภาพลักษณ์เท่านั้น ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักคนๆ นั้นเลยด้วยซ้ำ เพราะบางคนที่เข้าข่ายว่าสามารถก่อเหตุครั้งนี้ได้ แต่ก็หลุดโผผู้ต้องสงสัยไปอย่างสิ้นเชิง เพียงเพราะเขาเป็นคนที่อยู่แต่ในกรอบและมักไม่ทำอะไรแผลงๆ ซึ่งมันชวนให้ทั้งดีแลนและคนดูสารคดีนี้คิดว่าเราเป็นใครกันแน่ เราเป็นเราจากสิ่งที่เราคิดว่าเราเป็น หรือเราเป็นคนที่คนอื่นคอยบอกว่าเราเป็นกันแน่

ตัวอย่าง American Vandal Season 2 (Netflix)

Season 2: เรื่องขี้ไม่ใช่เรื่องตลก!

หลังจากที่ตัวภาพยนตร์สารคดี American Vandal ถูกปล่อยออกไปสู่สายตาสาธารณะ ก็ทำให้เกิดเป็นกระแสและถูกพูดถึงมากมาย ปีเตอร์และแซมก็เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นผ่านการสัมภาษณ์ในรายการต่าง ๆ จนวันหนึ่งก็มีอีเมล์จากเด็กนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียนเอกชนชื่อดังอย่าง เซนต์เบอร์นาดีน โดยมีใจความว่าโรงเรียนของเธอเกิดเหตุการณ์ที่ว่านักเรียนขี้แตกกันทั้งโรงเรียนพร้อมกัน ซึ่งไม่ได้เกิดเพราะความบังเอิญแน่นอนเพราะหลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็มีบุคคลปริศนาที่อ้างตัวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดนี้โดยใช้นามแฝงว่า ‘The Turd Burglar’ ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ตามสืบหาต้นตอของเหตุการณ์ทั้งหมดและไปจบตรงที่โรงเรียนได้ไล่เด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ถูกเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ แต่ทั้งความจริง หลักฐานและแรงจูงใจไม่ได้ถูกบอกให้กระจ่าง ปีเตอร์และแซมจึงได้เริ่มถ่ายสารคดีอีกครั้งเพื่อตามหาความจริงและเปิดโปงตัวตนของ The Turd Burglar

The Turd Burglar

ในครั้งนี้ตัวซีรีส์จะพาเราไปสำรวจเหตุการณ์ต่าง ๆ เหมือนซีซั่นที่แล้ว ทั้งการสัมภาษณ์ การผูกโยงเรื่องราว หรือการหาแรงจูงใจ แต่ประเด็นหลัก ๆ ที่ซีซั่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงคือเรื่องของสังคมบนโลกออนไลน์ ทั้งการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (Cyber bullying) การสร้างตัวตน การหลอกลวงบนโลกออนไลน์ (Catfish) และการแบล็คเมล์ รวมไปถึงเรื่องการทำงานของกระบวนการยุติธรรม และธุรกิจการศึกษา

การตัดสินลงโทษเด็กนักเรียนโดยไม่มีหลักฐานของซีรีส์ซีซั่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงธุรกิจการศึกษาได้ดี ทั้งการมองนักเรียนเหมือนเป็นสินค้าชิ้นหนึ่งที่มีทั้งสิ้นค้าราคาถูกและราคาแพง แน่นอนว่านักเรียนที่มีความประหลาดหรือแปลกแยกมักเป็นเหมือนเนื้อร้ายที่โรงเรียนตัดทิ้งได้อย่างง่าย ๆ เหมือนกับเด็กนักเรียนที่เป็นแพะของเหตุการณ์นี้รวมกับกระบวนการยุติธรรมที่มีวิธีการจับคนร้ายที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงความหมายของคำว่าความยุติธรรมกันใหม่เลยทีเดียว

ตัวซีรีส์ยังคงเรื่องของสังคม High School เอาไว้อยู่ โดยเราจะเห็นเด็กนักเรียนหลายประเภททั้งนักกีฬา คนดัง เด็กบ้านรวย รวมไปถึงเด็กประหลาด ซึ่งก็เข้ากันได้ดีกับประเด็นเรื่องการสร้างตัวตนของเด็กนักเรียน เช่น การสร้างชีวิตที่ดูดีบนโลกออนไลน์ การทำตัวให้เป็นที่นิยมในหมู่นักเรียนด้วยกัน หรือก็คือการทำตัวเพื่อให้รู้สึกว่าถูกยอมรับจากคนรอบข้าง ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มวัยรุ่นทั้งในโลกของความเป็นจริงและบนโลกออนไลน์จนชวนให้ตั้งคำถามว่าโลกไหนกันแน่ที่เราได้เป็นตัวของตัวเองจริง ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นโลกไหนเราก็นำเสนอแต่ในด้านที่ทำให้ตัวตนของเราออกมาดูดีและถูกยอมรับในสายตาคนอื่นเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วเราอาจจะมองการกระทำแบบนี้ว่ามันเป็นการโกหกหรือเป็นเพียงการสร้างตัวตนหลอก ๆ แต่ตัวซีรีส์เองก็ไม่ได้ฟันธงว่าพฤติกรรมแบบนี้มันคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดีแต่มันเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ทำให้เราได้สำรวจและทดลองกับตัวเองว่าเรามีความสุขกับตัวเราในแบบไหนมากกว่า

ปัจจุบันตัวซีรีส์ถูกตัดจบที่ซีซั่น 2 โดยแต่ละซีซั่นมีความยาวรวมซีซั่นละ 8 ตอน ตอนละประมาณ 30 นาที จากทั้งไอเดียและเรื่องราวของตัวซีรีส์ซึ่งมีความน่าสนใจจนทำให้รู้สึกเสียดายที่ตัวซีรีส์ไม่ได้ถูกทำต่อ แม้ความที่ตัวคดีในแต่ละซีซั่นอาจชวนให้เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ประหลาด ๆ หรือดูไม่มีสาระ แต่ก็ขอแนะนำให้ลองดูสักครั้งแล้วจะพบว่าตัวซีรีส์มีอะไรให้ชวนคิดตามอีกหลายอย่างและความประหลาด ๆ นี้เองที่จะชวนให้เราดูมันไปจนจบ

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!