playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิวซีรีส์ Feel Good (Netflix) เมื่อความรักไม่ต้องการคำนิยามเรื่องเพศ

Feel Good

สรุป

ซีรีส์ LGBTQ ที่จะพาไปสำรวจความสัมพันธ์ของคู่รักของหญิงสาวคู่หนึ่งตั้งแต่พบกัน แต่เมื่อมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง จากความสัมพันธ์ที่ดูจะปกติก็เริ่มไม่ปกติทั้งจากสายตาของคนใกล้ตัวและความขัดแย้งกับภาพคู่รักในอุดมคติ จนเริ่มเกิดเป็นความอึดอัดในใจของทั้งสองฝ่าย

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
4.75 (4 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • นำเสนอเรื่องความซับซ้อนของเพศได้น่าสนใจ

Cons

  • ตัวละครอื่น ๆ นอกจากสองตัวละครหลักไม่ค่อยมีเสน่ห์
  • ด้วยความที่ตอนค่อนข้างน้อยแต่เหมือนเรื่องจะใส่รายละเอียดมาหลายอย่างจนรู้สึกว่ามันยังเล่าไม่ละเอียด

ความสัมพันธ์ของคู่รักแบบไหนที่สามารถนิยามได้ว่าเป็นปกติ ใช่คู่รักที่สามารถเปิดอกคุยและยอมรับกันได้ทุก ๆ เรื่องหรือเปล่า หรือเป็นความรักที่เมื่อมองผ่านสายตาคนรอบข้างแล้วไม่รู้สึกติดใจอะไร ซีรีส์ ‘Feel Good’ Original Series LGBTQ จาก Netflix จะพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์แบบผู้หญิงรักผู้หญิงตั้งแต่ช่วงเวลาที่ทั้งคู่พบกันครั้งแรกและสานต่อความสัมพันธ์จนกลายเป็นคู่รัก

 Feel Good (2020) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่าง Feel Good Season 1 (Netflix)

*หมายเหตุ: บทความไม่มีสปอยล์

แม้เธอจะชื่นชอบเพศเดียวกันแต่เธอก็ไม่ได้ระบุตัวเองว่าเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน เม ชาวแคนาดาที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ ในวัย 25 ปี ที่มีอดีตเป็นทั้งคนขายและเสพโคเคนจนโดนพ่อแม่ไล่ออกจากบ้านตั้งแต่วัยเด็ก ปัจจุบันเป็นนักเดี่ยวไมโครโฟนอยู่ที่บาร์แห่งหนึ่ง ซึ่งการขึ้นโชว์ของเธอก็ทำให้เธอได้พบกับจอร์จหญิงสาวที่ดูเหมือนจะเป็นคนเดียวที่ขำกับมุกของเธอ ทั้งสองได้ได้ทำความรู้จักกันและพัฒนาความสัมพันธ์จากคนรู้จักเป็นคนรู้ใจในคืนนั้น

หลักจากที่ทั้งคู่ลงเอยเป็นคู่รักกันเมก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่อะพาร์ตเมนต์ของจอร์จและมีโอกาสได้สานสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แต่แม้ทั้งสองจะได้รู้จักกันและกันมากขึ้นก็ยังมีบางสิ่งที่ยังไม่อยากให้อีกฝ่ายได้รับรู้เท่าไร อย่างอดีตของเมที่เคยเป็นคนขายและเสพยาจนขนาดพ่อและแม่ของเธอต้องขอให้เธอย้ายออกจากบ้านไป หรือจอร์จที่เธอยังไม่สบายใจที่จะบอกคนรอบตัวของเธอได้ว่าเธอมีแฟนเป็นผู้หญิงด้วยกัน และเมที่ต้องคอยปรับตัวเองให้เข้ากับภาพแฟนในจินตนาการของจอร์จจนบางทีก็ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอกำลังฝืนตัวเองอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ค่อย ๆ เริ่มก่อตัวขึ้นมาเป็นความอึดอัดในใจของพวกเธออย่างช้า ๆ

(ซ้าย)เมและ(ขวา)จอร์จ

ความสัมพันธ์ระหว่างเมกับจอร์จได้สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องเพศและของบทบาทของคู่รักที่หนีกรอบความคิดแบบความสัมพันธ์แบบชายหญิงไม่ได้ แม้เมและจอร์จจะเป็นผู้หญิงทั้งคู่ แต่เมก็ยังมีความรู้สึกว่าตัวเองต้องสวมบทบาทของความเป็นชายเสมอ ไม่ว่าจะทั้งตอนมีเซ็กส์ที่มักจะเห็นเธอเป็นฝ่ายทำให้เสมอโดยใช้จู๋ปลอม หรือแม้ในชีวิตประจำวันที่เธอต้องเปลี่ยนการแต่งตัวหรือต้องหมั่นออกกำลังเพื่อให้ดูแมนในสายตาของจอร์จ แต่ลึก ๆ แล้วเธอเองก็ยังมีความเป็นผู้หญิงอยู่บ้าง เธอจึงสะสมความอึดอัดที่ต้องสวมบทบาทของเพศชายในขณะที่แม้ตัวเธอเองยังไม่สามารถระบุเพศจริง ๆ ของเธอได้เลย เธอเพียงแค่ใช้ชีวิตไปตามความรู้สึกโดยไม่ได้กำหนดว่าตัวเองจะเป็นเพศอะไร และในตอนที่ตัวละครพูดถึงเรื่องการมีลูกก็ยังบอกได้อีกว่าสุดท้ายแล้วถ้าทั้งคู่อยากจะสร้างครอบครัวกันจริง ๆ ก็ยังต้องใช้สเปิร์มจากผู้ชายอยู่ดี

แม้อาจมีคำพูดที่บอกประมาณว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องของคนสองคน แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว เพราะจอร์จที่แม้จะอยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่สามารถตัดสินใจจะเลือกหรือไม่เลือกอะไรให้กับชีวิต แต่พอเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างความรัก เธอกลับไม่สบายใจที่จะบอกใครต่อใครว่าเธอมีแฟนเป็นผู้หญิงเพราะกังวลกับสายตาจากคนรอบข้าง เธอรู้สึกอึดอัดใจจนต้องโกหกเพื่อน ๆ ของเธอว่าเธอมีแฟนเป็นผู้ชาย และความอึดอัดใจนี้ก็ไม่ได้ตกอยู่แค่ในใจของจอร์จเท่านั้นแต่มันยังทำให้เมรู้สึกอึดอัดใจไปด้วยจนทำให้ทั้งคู่เริ่มมีปัญหากันทั้งด้านความสัมพันธ์และเรื่องบนเตียง ซึ่งก็น่าคิดเหมือนกันว่าทำไมความสัมพันธ์ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคนสองคนถึงได้มีปัญหากับเรื่องสายตาของคนรอบข้างที่คอยมองมา

การเสพติดเป็นสิ่งหนึ่งที่มักถูกพูดถึงในเรื่อง ซึ่งการเสพติดมีให้เห็นหลาย ๆ แบบ ทั้งการติดยาเสพติดจริง ๆ หรือการเสพติดในความสัมพันธ์ ทั้งสองอย่างนี้มีจุดที่เหมือนกันอยู่ คือ อาการลงแดง ซึ่งคงไม่ต้องพูดถึงอาการลงแดงแบบยาเสพติดเพราะอาจเคยเห็นหรือนึกภาพออกกัน แต่อาการลงแดงในความสัมพันธ์นั้นตัวซีรีส์ก็เปรียบเทียบได้ค่อนข้างน่าสนใจ โดยมันเหมือนกับอาการติดคนรัก รู้สึกคิดถึงตอนไม่ได้อยู่ด้วยกัน จนบางทีอาจทำให้เกิดความพยายามครอบครองหรือคาดหวังอะไรจากอีกฝ่ายที่มากจนเกินไปจนลืมไปว่าอีกฝ่ายเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบไปในทุกเรื่อง อย่างในความสัมพันธ์ของเมกับจอร์จที่เมต้องการให้จอร์จพาเธอไปเปิดตัวกับเพื่อนและคนใกล้ตัวของจอร์จเสียที แต่บางทีมันอาจมากเกินไปจนมันทำให้จอร์จรู้สึกกดดันกับความต้องการของเม เราอาจเข้าใจความอึดอัดของเมได้แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจอร์จก็มีชีวิตเป็นของตัวเองและมีสิทธิตัดสินใจเช่นกัน ซึ่งก็บอกไม่ได้เหมือนกันอีกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นของทั้งสองนั้นเกิดจากการเป็นห่วงสายตาคนรอบข้างของจอร์จจนลืมความรู้สึกของคนใกล้ตัวอย่างเม หรือการเสพติดความรักที่มากเกินไปของเมจนทำให้จอร์จรู้สึกกดดันกันแน่

ในด้านการสร้างตัวละครบางตัวยังรู้สึกว่าไม่มีค่อยมีเสน่ห์ เช่น ฟิล รูมเมทของจอร์จ แม้เขาจะมีบทในทุก ๆ ตอน แต่สิ่งที่เรารู้มีเพียงแค่เขาเป็นโรคซึมเศร้าที่เจอกับจอร์จบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้นและไม่ค่อยมีมิติ เหมือนมีหน้าที่แค่คอยบอกข้อมูลเฉย ๆ หรือแม็กกี้หญิงสาวที่เมได้รู้จักจากกลุ่มบำบัดคนติดยากับลาวาลูกของเธอที่ปูเรื่องมาให้ดูเหมือนจะมีอะไรสำคัญ ๆ แต่เราก็แทบไม่ได้รู้จักทั้งคู่สักเท่าไรและมักจะโผล่มาในเฉพาะตอนที่มีเวลาเกี่ยวข้องกับเมเท่านั้น แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจเป็นข้อจำกัดด้านเวลาที่มีแค่ 6 ตอน ตอนละ 25 นาทีเท่านั้น หรือตัวละครอาจจะมามีบทบาทมากขึ้นในซีซั่นถัด ๆ ไปซึ่งยังไม่มีการยืนยันว่าจะมีการถ่ายทำต่อหรือเปล่า

จากที่กล่าวมา ซีรีส์อาจกำลังทำให้เห็นทัศนคติถึงเรื่องเพศทางเลือกของคนหมู่มากที่มองการรักร่วมเพศเป็นเรื่องตลกหรือไม่มองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ความชอบของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ซึ่งมนุษย์มีความซับซ้อนเกินกว่าจะนิยามความเป็นตัวตนให้เป็นคำ ๆ เดียวได้อย่าง ผู้ชาย ผู้หญิง เกย์ เลสเบี้ยน หรือไบเซกชวล ฯลฯ เท่านั้น และการรักร่วมเพศก็ไม่ใช่อะไรที่ชวนตลกหรือเป็นอะไรที่ผิดปกติเลย

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!