playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Queenmaker ซีรีส์เกาหลีแนวล้างแค้นผ่านเรื่องการเมืองที่ยังใช้สูตรสำเร็จแบบเดิมๆ

Queenmaker

Summary

ซีรีส์แนวล้างแค้นสูตรสำเร็จเดิมๆ แบบที่ซีรีส์เกาหลีนิยมทำ แต่ก็ยังเป็นแนวทางที่คนชื่นชอบ การดำเนินเรื่องยังทำได้สนุกตามมาตรฐานงานซีรีส์เกาหลี เนื้อเรื่องเข้มข้น ลุ้นระทึกไปกับเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองแบบขุดคุ้ยประวัติมาโจมตีกันผ่านสื่อ แต่ข้อเสียคือทั้งเรื่องมีแต่เหตุการณ์แนวนี้พลิกไปพลิกมา  ไม่มีการใช้แทคติกกลยุทธ์การเมืองแบบอื่นเลย จนเป็นซีรีส์ที่เล่นเรื่องการเมืองแบบฉาบฉวย บทตัวร้ายทุกตัวละครก็เลวแบบโอเวอร์ไปสุดขั้วไม่มีดีอะไรเหลืออยู่เลย แล้วก็จบแบบง่ายๆ ไม่ค่อยมีอิมแพ็คสักเท่าไหร่ 

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
4.67 (3 votes)

Pros

  • ซีรีส์แนวล้างแค้นผ่านเรื่องราวการเมือง
  • เรื่องราวเน้นหักมุมเยอะ
  • มีพากย์ไทย

 

Cons

  • เสียเวลาไป 4 ตอนแรกถึงจะเข้าเรื่องการเลือกตั้ง
  • ไม่ค่อยลงลึกเรื่องแทคติกกลยุทธ์การเมือง
  • บทตัวร้ายเลวแบบทื่อๆ

Queenmaker ซีรีส์เกาหลี Original Netflix 11 ตอนจบ เรื่องราวของกุนซือหญิงแกร่งหัวหน้าทีมงานกลยุทธ์ ที่มีหน้าที่คอยปกป้องชื่อเสียงบริษัทยักษ์ใหญ่จากข่าวเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หลังจากอุบัติเหตุอันน่าสลดเกิดขึ้นกับทีมงานของเธอ ก็ทำให้เธอต้องพบกับความจริงอีกด้านที่เกินรับได้ และต้องออกจากบริษัทมาเพื่อแก้แค้นกับทวงความยุติธรรม โดยปลุกปั้นทนายความหญิงสุดห้าวที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิพลเมืองให้เป็นนายกเทศมนตรีคนต่อไป โดยต้องเดิมพันแข่งขันกับลูกเขยของบริษัทยักษ์ ที่หวังขึ้นครองอำนาจในกรุงโซล

Queenmaker (2023) on IMDb

Queenmaker รีวิว (ไม่สปอยล์)

ซีรีส์เกาหลีแนวแก้แค้นต่อจากซีรีส์ Glory ที่เป็นผลงานสร้างของ Netflix โดยตรง และได้นักแสดงดังอย่าง คิมฮีแอ รับบทเป็น ฮวังโดฮี นักวางแผนกลยุทธ์เลือกตั้ง ร่วมกับ มุนโซรี รับบทเป็น โอซึงซุก ทนายสุดห้าวที่ผันตัวเองมาลงแข่งชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งบทแนวนี้ไม่ได้ถือว่าแปลกใหม่ ซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องก็เคยมีตัวละครแนวนักวางแผนกลยุทธ์ แก้ข่าวเสียหายให้คนรวยที่กระทำความผิด เพื่อปกปิดข่าวเสียหายหรือช่วงชิงตำแหน่งต่างๆ

แต่ในความจำเจของตัวละครกับพล็อตเรื่องสูตรสำเร็จแนวนี้ก็ยังไม่ถึงกับทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ดูน่าเบื่อ เพราะแนวเรื่องสูตรสำเร็จ คนรวยกระทำย่ำยีคนจน ทำให้คนจนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้โค่นล้มอำนาจคนรวย ก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมเสมอ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แนว Underdog ที่ตัวเอกตกอับจนแทบไม่มีทางสู้ได้ แต่เป็นการร่วมทีมของคนจนที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์กับคนที่เคยอุ้มชูคนรวย มาร่วมมือต่อสู้ด้วยกัน ทำให้เรื่องราวเป็นการนำเสนอตัวละครที่มีบุคลิกนิสัยต่างกันสุดขั้ว แต่ต้องปรับตัวเรียนรู้กันทั้งสองฝ่าย ต่างพบข้อดีข้อเสียของกันและกัน จนนำไปสู่มิตรภาพที่ก่อเกิดขึ้นมาภายหลัง ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จดราม่าเกาหลีที่ยังไงก็ใช้ได้ผล และเรื่องนี้ก็ยังทำได้สนุก ตามมาตรฐานซีรีส์เกาหลี ผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ ระทึก บีบคั้นตัวละครทั้งคู่ให้ร่วมกันฝ่าฝันไปได้ โดยที่บทของทั้งคู่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน แม้ตัวเอกนักวางแผนกลยุทธ์อาจจะเป็นแกนนำพลิกผันเรื่องราวต่างๆ แต่ก็มีหลายครั้งที่แผนนั้นใช้ไม่ได้ผล และกลายเป็นความสามารถเฉพาะตัวของทนายสาวที่พลิกสถานการณ์คับขันนั้นได้ด้วยตัวเอง ทำให้ตัวเรื่องมีฉากหักมุมคาดเดาไม่ได้อยู่ตลอดทั้งเรื่อง

อีกสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้เข้มข้นคือเหล่าตัวร้ายของเรื่องที่มีหลายคนมาก ตั้งแต่ประธานบริษัทที่คอยบงการเรื่องชั่วอยู่สูงสุด ลูกเขยตัวร้ายที่ทำแต่เรื่องเลวๆ แล้วซุกซ่อนไว้กับภรรยาโรคจิตที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วยังมีกุนซือตัวร้ายของบริษัทที่วางแผนทำลายคู่แข่งด้วยวิธีการสกปรกทุกทางที่ทำได้ ตัวร้ายทั้งหมดถูกเขียนบทให้เลวแบบโอเวอร์มาก ไม่เหลือศีลธรรมความดีติดตัวเลยสักนิด แม้จะมีบางช่วงที่ทำให้เห็นว่ายังมีความรู้สึกดีๆ หลงเหลืออยู่ แต่ก็เป็นแค่ชั่วคราวก่อนกลับมาร้ายสุดขั้วต่อ (แบบเดียวกับซีรีส์ Glory เรื่องก่อน) ซึ่งผู้ชมแนวซีรีส์เกาหลีก็คงชอบตัวร้ายแบบนี้ เพราะมันไปสุดทางของความเลวแบบไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน

จุดด้อยของเรื่องก็คือ เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องดูไม่สมจริง ไม่เหมือนการแข่งขันเลือกตั้งจริงๆ บทถูกเขียนออกมาแบบตื้นเขิน ทั้งเรื่องเน้นแต่การขุดคุ้ยหาประวัติไม่ดีมาโจมตีกัน รวมถึงการสร้างข่าวปลอมมาโจมตีคู่แข่งจากตัวร้าย ทำให้เหตุการณ์ในเรื่องเน้นพลิกไปมาในเวลาสั้นๆ คะแนนเสียงในเรื่องก็แกว่งขึ้นลงเปลี่ยนไปมาตลอดเวลาแบบง่ายๆ จนดูเหมือนคนเลือกตั้งเป็นคนโง่ที่คอยแต่ตามข่าวเสียหายของผู้สมัคร บทขาดการนำเสนอแทคติกกลยุทธ์การเมืองรอบด้าน เป็นซีรีส์ที่เล่นเรื่องการเมืองแบบฉาบฉวยมากไป

อีกอย่างคือตัวเรื่องใช้เวลานานมากถึง 4 Episode กว่าจะเข้าเรื่องการลงแข่งเลือกตั้ง ซึ่งตัวเรื่องใช้เวลา 4 ตอนปูพื้นตัวละครต่างๆ นานไป และยังเดินเรื่องช้าๆ ไม่กระชับฉับไวแบบงานสร้าง Netflix เรื่องอื่น ด้วยจำนวนตอน 11 ตอน ความเป็นจริงเนื้อหาสามารถเล่าเรื่องได้กระชับกว่านี้ จบใน 8 ตอนตามปกติก็ยังได้

ซีรีส์จบลงแบบเคลียร์เรื่องราวทั้งหมดได้ลงตัว แต่ก็เป็นการสรุปจบที่ง่ายไป ไม่ค่อยมีอิมแพ็คมากเท่าไหร่ แล้วก็มีทิ้งท้ายไว้ว่าสามารถทำต่อซีซั่น 2 ได้ เป็นการขึ้นเรื่องใหม่ไปเลย

 

Including other English reviews

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!