playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The Killing Vote โหวตโทษประหาร (12 EP จบ) กดโหวตเหมือนเดธโน๊ตในโลกแห่งความเป็นจริง

The Killing Vote

Summary

โดยรวมเป็นซีรีส์ที่ผูกปมเล่าเรื่องเหมือนเดธโน๊ตในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดี ท้าทายความคิดทางศีลธรรมกับอาชญากรร้ายแรงที่โดนโทษประหารผ่านการกดปุ่มเดียวบนมือถือ ซีรีส์สะท้อนสังคมว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีสิ่งนี้ยื่นให้ผู้คนในสังคมทำกันแบบง่ายๆ นี่คือความยุติธรรมโดยตรงที่มีเสียงข้างมากรองรับการตัดสินไว้ใช่หรือไม่ และสิ่งนี้ดีกว่าความยุติธรรมทางกฎหมายที่เชื่องช้าและมีช่องโหว่แน่นอนหรือเปล่า โดยมีฝ่ายตัวเอกที่ก็ปมแบบเดียวกันมาตามล่าคนร้ายเอง ทำให้เรื่องซับซ้อนคาดเดาได้ไม่ง่าย แต่ปัญหาคือซีรีส์ยังใส่ฉากโรแมนติกพระเอกนางเอกมาเยอะมาก โดยที่เป็นแค่ช่วงยืดเรื่องไม่ได้มีบทสรุปจบใกล้เคียงคนรักเลย ทำให้ส่วนนี้น่าเบื่อมากและไร้ความหมาย นอกจากนี้ซีรีส์เล่าเรื่องจบเคลียร์เรื่องดี แต่กลับหักมุมทำให้มีต่อกลายเป็นที่ปูมาทั้งเรื่องไม่ได้จบจริง ซึ่งน่าผิดหวังมากที่ซีรีส์เลือกทำต่อซีซั่น 2 แบบนี้ 

Overall
6.5/10
6.5/10
Sending
User Review
0 (0 votes)

Pros

  • ประเด็นทางศีลธรรมกับกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา
  • จุดหักมุมค่อนข้างซับซ้อนหลายชั้น

 

Cons

  • ฉากโรแมนติกเยอะเกินจำเป็นโดยไม่สำคัญกับเรื่อง
  • ช่องโหว่ของเรื่องมีค่อนข้างเยอะ
  • จบแบบมีต่อไม่ได้จบในซีซั่น

The Killing Vote  โหวตโทษประหาร ซีรีส์เกาหลีจาก webtoon  12 ตอนจบใน amazon Prime เรื่องราวของการโหวตโทษประหารอาชญากรที่รอดพ้นกฎหมายผ่านแอปและลงมือฆ่าพวกเขา โดยมีบุคคลลึกลับที่สวมหน้ากากสุนัขเป็นผู้ควบคุมเกมนี้ ในขณะที่ฝ่ายตำรวจก็ตั้งทีมเฉพาะกิจที่รวบรวมคนมีฝีมือทางไซเบอร์มาช่วย โดยมีหัวหน้าตำรวจที่มักหาช่องหลบเหลี่ยงทางกฎหมายมาใช้ตามจับอาชญากรโดยเฉพาะ

รีวิว The Killing Vote โหวตโทษประหาร 12 EP จบ (ไม่มีสปอยล์)

ซีรีส์ที่มาแนวเกมฆ่าคน แต่เป็นการฆ่าผ่านการโหวตของประชาชนให้เหมือนเป็นกฎหมายลงโทษจากสังคมที่ยุติธรรมกว่าในระบบ ซึ่งไอเดียของเรื่องก็คล้ายๆ การเอาเดธโน๊ตมาทำเป็นแอป แล้วก็มีผู้ควบคุมเกมปริศนาที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมให้ตามล่าแบบเดียวกัน แต่แค่เรื่องนี้ดูเป็นจริงไม่ใช่แฟนตาซีแบบเดธโน๊ต 

ด้วยความที่มันดูเป็นจริง แม้จะมีช่องโหว่มากมายว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีแอปแบบนี้แทรกเข้าไปยังมือถือคนในประเทศแบบง่ายๆ ซึ่งเรื่องก็พยายามจะอธิบายจุดนี้ในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้ดีนัก เหมือนเป็นแค่การอธิบายแนวคิดหลวมๆ ว่าคนร้ายทำได้ยังไง และจะมีคนทำแอปที่เก่งขนาดนี้อยู่ในประเทศโดยที่ไม่มีใครหยุดได้เลยก็เป็นไปไม่ได้เข้าไปอีก (ถ้าทำได้ขนาดนี้คือควบคุมข้อมูลรัฐบาลได้แล้ว) แต่เอาว่าตัดเรื่องความสมจริงไป นี่ก็เป็นซีรีส์ที่พยายามเล่นเรื่องท้าทายความคิดของผู้คนกับกระบวนการยุติธรรมได้ค่อนข้างดีเลย โดยมีประเด็นว่าคนโหวตเท่ากับคนลงมือด้วยหรือไม่ในทางกฎหมาย การสมรู้ร่วมคิดออนไลน์แบบนี้มีความผิดหรือไม่ โดยเหยื่อที่เป็นอาชญากรแต่ละรายก็มีคดีที่สะเทือนสังคมแล้วรอดเงื้อมมือกฎหมายไป เพราะกฎหมายเองก็มีช่องโหว่มากมายให้อาชญากรได้ใช้ อย่างอาการทางจิต เส้นสายผู้มีอำนาจ ช่องโหว่ของหลักฐาน ซึ่งแน่นอนว่าเหยื่อทุกรายไม่เคยรอดจากการโหวต ซึ่งซีรีส์เอาเรื่องนี้มาสะท้อนให้เห็นสังคมที่บิดเบี้ยวทำตัวเป็นศาลเตี้ยตัดสินซะเอง โดยมีคนอื่นลงมือให้แทนก็ไม่รู้สึกผิดอะไร จึงทำให้คนในประเทศเริ่มเห็นด้วยกับวิธีการและเข้าข้างผู้บงการเกมนี้ จนกลายเป็นสัญญาณอันตรายที่ท้าทายอำนาจกฎหมายของประเทศโดยตรง โดยที่พวกเขาก็อ้างว่านี่คือกระบวนการยุติธรรมจากเสียงข้างมากเช่นเดียวกัน

นอกจากเล่นกับเรื่องของอาชญากร ทางฝ่ายตำรวจเองก็มีปัญหานี้เช่นกันเมื่อหัวหน้าทีมคิมมูซานเป็นตำรวจที่มักใช้วิธีผิดกฎหมายเพื่อจับอาชญากร อย่างการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อจับตัวคนร้ายที่หาหลักฐานเอาผิดตรงๆ ไม่ได้ โดยเขามีคดีที่เคยผิดพลาดในอดีตกับศาสตราจารย์ทางกฎหมายที่สูญเสียลูกสาวไป และศาสตราจารย์ก็ปล่อยให้กฎหมายดำเนินไปแต่กลับเอาผิดคนร้ายไม่ได้ เขาจึงต้องลงมือฆ่าด้วยตนเองแม้จะรู้ว่าผิดต่อความเชื่อในหลักการทางกฎหมายที่เขายึดถือ รวมถึงตำรวจสาวไซเบอร์ที่มีปมครอบครัวถูกชนแล้วหนีจนเสียพ่อแม่ไปแล้วคนร้ายก็รอดไปได้เช่นกัน ซึ่งตัวละครฝั่งนี้เองต้องมาเจอกับบททดสอบทางหน้าที่กับศีลธรรม เมื่อเคยทำผิดแบบเดียวกันและโกรธแค้นอาชญากรแบบเดียวกัน  แต่กลับต้องมาทำหน้าที่จับคนร้ายที่กำลังพิสูจน์ว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องเหมือนที่ใจของพวกเขาต้องการ ซึ่งซีรีส์ก็ผูกมัดเรื่องส่วนนี้ให้กลายเป็นเรื่องราวการตามล่าและแรงจูงใจที่มาของโหวตประหารได้เป็นอย่างดี โดยมีปมว่าใครคือคนร้ายที่ซ่อนอยู่ในตัวละครที่เห็นในเรื่อง เหมือนซีรีส์สืบสวนที่ฆาตกรมักซ่อนอยู่ใกล้ตัว ซึ่งทำให้ผู้ชมก็ไม่แน่ใจว่าแม้แต่ตัวเอกคิมมูซานเองก็อาจจะเป็นคนร้ายได้เช่นกัน 

แต่ปัญหาของเรื่องนี้หลักๆ คือเนื้อเรื่องส่วนอื่นที่เติมเข้ามาแบบยืดเยื้อมาก โดยเฉพาะพาร์ทความรักของเรื่องที่ดูไม่เข้ากันเลย ซึ่งมีทั้งของตัวเอกคิมมูซานกับจูฮยอน ตำรวจสาวไซเบอร์ที่มาช่วยและก็ไม่ถูกกันในตอนแรก ก่อนจะค่อยๆ มีฉากโรแมนติกให้เห็นโมเมนต์ดีๆ บ่อยจนแทบจะกลายเป็นแนวรักระหว่างสืบ แต่ยังดีที่เนื้อเรื่องช่วงหลังฉากโรแมนติกค่อยๆ หายไป แถมจบแบบว่างเปล่าเหมือนทั้งคู่ไม่เคยมีโมเมนต์ดีๆ อะไรกันในตอนจบ ซึ่งทำให้เนื้อเรื่องในส่วนนี้เหมือนใส่มาเพื่อยืดเรื่องหรือตอบสนองแฟนๆ ตามสูตรสำเร็จว่าซีรีส์เกาหลีต้องมีพระเอกนางเอกรักกันแค่นั้น

 

อีกคู่คือรุ่นเด็กของเรื่องเป็นน้องสาวของจูฮยอนกับเด็กหนุ่มที่เรียนพิเศษมาด้วยกัน โดยเป็นเรื่องรักใสๆ ของทั้งคู่ ซึ่งเนื้อเรื่องในส่วนนี้ใส่มาค่อนข้างเยอะมากโดยแทบไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไรในตอนแรก จนกระทั่งตอนหลังเรื่องถึงเฉลยให้ผู้ชมเข้าใจว่ามีความสำคัญ ซึ่งในส่วนของคู่นี้ถือว่าโอเค 

แต่ถึงซีรีส์จะเคลียร์ปมปัญหาในเรื่องได้ทั้งหมดค่อนข้างดี ทั้งประเด็นทางสังคมกับกระบวนการยุติธรรมว่าใครผิดและต้องรับโทษ แต่ตอนสุดท้ายเนื้อเรื่องกลับพลิกหักมุมให้มีต่อ มีตัวละครใหม่เพิ่มเข้ามาและทำให้ตัวละครที่เหมือนกลับใจหรือต้องได้รับโทษกลับมาทำเกมโหวตประหารต่อ กลายเป็นบทสรุปก่อนหน้านั้นกลับพังไปเลย แม้ผู้ชมอาจจะอยากดูต่อก็ตามครับ

 

โดยรวมเป็นซีรีส์ที่ผูกปมเล่าเรื่องเหมือนเดธโน๊ตในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดี ท้าทายความคิดทางศีลธรรมกับอาชญากรร้ายแรงที่โดนโทษประหารผ่านการกดปุ่มเดียวบนมือถือ ซีรีส์สะท้อนสังคมว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีสิ่งนี้ยื่นให้ผู้คนในสังคมทำกันแบบง่ายๆ นี่คือความยุติธรรมโดยตรงที่มีเสียงข้างมากรองรับการตัดสินไว้ใช่หรือไม่ และสิ่งนี้ดีกว่าความยุติธรรมทางกฎหมายที่เชื่องช้าและมีช่องโหว่แน่นอนหรือเปล่า โดยมีฝ่ายตัวเอกที่ก็ปมแบบเดียวกันมาตามล่าคนร้ายเอง ทำให้เรื่องซับซ้อนคาดเดาได้ไม่ง่าย แต่ปัญหาคือซีรีส์ยังใส่ฉากโรแมนติกพระเอกนางเอกมาเยอะมาก โดยที่เป็นแค่ช่วงยืดเรื่องไม่ได้มีบทสรุปจบใกล้เคียงคนรักเลย ทำให้ส่วนนี้น่าเบื่อมากและไร้ความหมาย นอกจากนี้ซีรีส์เล่าเรื่องจบเคลียร์เรื่องดี แต่กลับหักมุมทำให้มีต่อกลายเป็นที่ปูมาทั้งเรื่องไม่ได้จบจริง ซึ่งน่าผิดหวังมากที่ซีรีส์เลือกทำต่อซีซั่น 2 แบบนี้  


including other English reviews

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!