playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The Liberator แอนิเมชั่นเชิดชูอเมริกันฮีโร่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ Netflix (ไม่มีสปอยล์)

The Liberator

สรุป

นี่เป็นมินิซีรีส์หนังสงครามที่พยายามสร้างความแตกต่างด้วยการใช้ภาพแอนิเมชั่นมาเล่าเรื่องจริงของอเมริกันฮีโร่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าทำฉากสงครามออกมาได้ดีมากนัก มีความรู้สีกขัดตากับภาพที่ไม่สมจริงอยู่ตลอดเรื่อง และก็ไม่ได้มีฉากรบที่ยิ่งใหญ่อะไรให้เห็น แต่ในส่วนบทดราม่าเรื่องราวที่นำเสนอความแตกต่างของสีผิว เชื้อชาติในอเมริกาที่ต้องมาร่วมทีมด้วยกันทำได้ดี และยังมีเรื่องราวอีกมุมมองของนาซีที่ไม่ได้ไร้มนุษย์ธรรมแบบที่เห็นกันจนเป็นภาพติดตาในหนังเรื่องอื่นๆ รวมอยู่ด้วย

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  •  ชีวประวัติฮีโร่สงคราม Felix Spark ผู้รวบรวมหน่วยทหารคนชายขอบกับชนพื้นเมืองในอเมริกาไว้ด้วยกัน
  • ภารกิจในเรื่องมีความแตกต่างน่าสนใจในแต่ละตอน (มีแค่ 4 ตอนจบ)
  • มุมมองอีกด้านของนาซีที่มีมนุษย์ธรรมกลางดงสงครามได้เหมือนกัน
  • ภาพแอนิเมชั่นที่ทำให้การรับชมดูแตกต่างไปจากหนังสงครามเรื่องอื่นๆ
  • มีเสียงพากย์ไทยประกอบและก็พากย์ได้ดีมากด้วย

 

Cons

  • ความรู้สึกขัดตาไม่สมจริงกับแอนิเมชั่นที่พยายามถ่ายทอดฉากจริงของสงคราม แต่กลับไม่ได้อารมณ์สมจริงคล้อยตามได้มากพอ
  • สร้างมาจากเรื่องจริง แต่มีการแต่งเติมให้ดูเกินจริงร่วมด้วยอย่างเห็นได้ชัด

The Liberator ผู้ปลดปล่อย มินิซีรีส์แนวสงครามที่นำเสนอในรูปแบบแอนิเมชั่น 4 ตอนจบ สร้างจากเรื่องจริงของ Felix Spark ทหารอเมริกัน ฮีโร่จากสงครามโลกครั้งที่ 2 กับหน่วยทหารราบ “ทันเดอร์เบิร์ด” ที่เต็มไปด้วยชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียแดงและทหารเชื้อสายเม็กซิกัน ที่ไม่มีใครเห็นคุณค่าของพวกเขามาก่อน

 The Liberator (2020) on IMDb

ตัวอย่าง The Liberator ผู้ปลดปล่อย

มินิซีรีส์สงครามเรื่องนี้มาในแนวแปลกใหม่ด้วยการเป็นแอนิเมชั่นกึ่งสมจริง ไม่ใช่การวาดตัวการ์ตูนขึ้นมา แต่เป็นการจับภาพนักแสดงจริงๆ มาเปลี่ยนเป็นแอนิเมชั่น เคลื่อนไหวโดยนักแสดงจริงๆ แต่อยู่ในสตูดิโอที่ใส่ฉากแบ็คกราวน์ต่างๆ เข้ามาอีกที ซึ่งก็เป็นการลดต้นทุนมหาศาล เพราะเนื้อเรื่องของ Felix Spark ต้องตระเวณไปรบยังประเทศต่างๆ หลายหลายที่ ในเวลา 500 วันของการเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง จากการคุมหน่วยทหารเล็กๆ ไม่กี่คน จนเป็นกองพันในภายหลัง และสงครามก็เปลี่ยนแปลงตัวตนของเขาไปด้วยเช่นกัน

ภาพตัวจริงของเฟลิกซ์กับนักแสดงจริงที่ถูกแปลงมาเป็นแอนิเมชั่นในเรื่อง

ถือว่าเป็นการเปิดโลกใหม่ของหนังประวัติศาสตร์สงครามในรูปแบบแอนิชั่น ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นเหตุผลของการลดต้นทุนมากกว่าอย่างอื่นทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าพอมาเป็นรูปแบบแอนิเมชั่นกึ่งๆ จะเป็นภาพการ์ตูนแบบนี้ด้วย ต้องมีอาการขัดตากันตั้งแต่แรกเห็นแน่นอน ซึ่งส่วนตัวผมเองก็รู้สึกไม่ชินไปจนจบเหมือนกัน มันให้ความรู้สึกแปลกๆ ถึงความไม่สมจริง แต่พยายามจะให้ดูสมจริงขัดกันตลอดเวลาที่เห็น และตัวเรื่องก็ไม่ได้ดุเดือดเข้มข้นด้านแอ็กชั่นแบบหนังสงครามอะไรมากด้วย เลยยิ่งรู้สึกว่าการที่มาทำแนวแอนิเมชั่นเพื่อลดต้นทุนงานสร้างลง แต่กลับไม่มีสงครามที่ยิ่งใหญ่อัดเข้ามาแทน งานแอนิเมชั่นที่ออกมาเลยไม่ได้ช่วยถ่ายทอดฉากสงครามจริงจังอะไรนัก

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายถึงว่าความรู้สึกไม่สมจริงที่ว่านี้จะทำลายอรรถรสในการดูไปทั้งหมด ซีรีส์ได้เรื่องราวดราม่าสงครามดีๆ หลากหลายมาทดแทน เริ่มตั้งแต่การรวมตัวกันของหน่วยทันเดอร์เบิร์ด ที่ตัวเอกเฟลิกซ์ต้องไปเกณฑ์มาจากในคุกตามคำสั่งของหัวหน้าที่รับมือกับพวกนี้ไม่ไหว ทั้งการที่ไม่ยอมฝึกซ็อมจริงจัง สอบตกการยิงปืน ทะเลาะต่อยตีกับพลทหารด้วยกัน และที่หลักสุดคือ การเหยียดอินเดียแดงที่มีความสามารถเป็นทหารที่เก่ง แต่กลับไม่ได้รับการเลื่อนยศไปเป็นจ่าหลายครั้ง จนถึงขั้นต่อยผู้บังคับบัญชาคนขาวจนมาลงเอยที่คุก

ซึ่งจุดเริ่มของหน่วยทหารที่แต่ละคนในเวลาปกติยังแทบเข้ากันไม่ได้จากปมเชื้อชาติที่แตกต่าง การถูกอเมริกันคนขาวเหยียด  แม้แต่ในค่ายทหารเองก็ยังไม่เว้น แต่กลับถูกเกณฑ์มารบเพื่ออเมริกาที่ไม่เคยให้ความเท่าเทียมกับพวกขาเลย ทำให้ตัวเรื่องสามารถผูกปมปัญหาสำคัญๆ พวกนี้เข้ากับยุคสงครามนาซีที่เหยียดเข่นฆ่ายิวเช่นกัน จนมีฉากที่เฟลิกซ์ต้องมาเจอกับนาซีที่ตั้งคำถามกลับว่า อมริกันเหยียดชนพื้นเมือง เข่นฆ่าอินเดียแดง แตกต่างอะไรกับที่เยอรมันเหยียดยิวเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่ามันก็เป็นความจริงที่ไม่อาจจะหลีกหนีได้ในตอนนั้น ยุคที่อเมริกายังกดขี่ชนกลุ่มน้อยพวกนี้อยู่มาก ซึ่งตัวเฟลิกซ์เองพยายามประสานความแตกต่างพวกนี้ ให้ความรู้สึกว่าทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน จนกลายเป็นความแน่นแฟ้นของหน่วยทันเดอร์เบิร์ดจนรบชนะในศึกสำคัญๆ และได้รับเหรียญรางวัลดีเด่นในเวลาต่อมา

ตัวเรื่องมีพัฒนาการของเฟลิกซ์จากคนมองโลกดีๆ ในแบบหนึ่ง ค่อยๆ กลายเป็นคนที่เย็นชากับความโหดร้ายของสงครามมากขึ้น โดยตัวเขาเองก็รู้สึกถึงเรื่องนี้ และถ่ายทอดมันลงผ่านจดหมายที่ส่งถึงภรรยา โดยหวังว่าเธอจะยังยอมรับสามีคนนี้ที่เปลี่ยนไปได้ แต่เรื่องก็ไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นคนโหดร้ายรุนแรงอะไร เฟลิกซ์ยังเป็นคนที่พยายามควบคุมหน่วยใต้บังคับบัญชาให้อยู่ในกรอบของคำสั่งเสมอ แม้ลูกทีมจะกลายเป็นศาลเตี้ยตัดสินฆ่านาซีที่ยอมแพ้แบบไร้อาวุธ แต่เขาก็ยังพยายามปกป้องลูกทีมเสมอ จนตัวเองต้องโดนคดีแทน ซึ่งบทปูมาแบบให้เฟลิซ์เป็นฮีโร่มาก มากซะจนรู้สึกว่ามีการแต่งแต้มเกินจริงรวมไปด้วยแน่ๆ

ฉากสงครามในเรื่องออกแนวปฏิบัติการเล็กๆ แต่สำคัญกับยุทธศาสตร์ ซึ่งตัวเรื่องที่มี 4 ตอนก็แบ่งภาระกิจที่เฟลิกซ์ได้รับแยกจากกัน จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง รวมเวลาแล้ว 500 วันถึงปลดประจำการ ซึ่งบางตอนก็ไม่ได้มีในหนังสงครามทั่วไป อย่างฉากการเข้าต่อสู้ในเมืองที่ถูกนาซีบังคับให้พลเมืองกลายเป็นทหารด้วย และยังเอาผู้หญิงกับเด็กไปไว้ตามสถานที่สำคัญๆ ในเมืองเป็นตัวประกันไม่ให้ฝ่ายที่มาบุกทำอะไรรุนแรงลงไป หรือฉากการเจรจาสงบศึกชั่วคราวไม่ถึงชั่วโมงสั้นๆ เพื่อขนย้ายคนเจ็บทั้งสองฝ่าย นาซีในเรื่องนี้แม้จะมีความโหดร้ายแบบที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นโดยทั่วไป แต่ก็มีมุมที่เป็นทหารเหมือนกันกับชาติๆ อื่นๆ คือยังเจรจาพูดคุย มีมนุษย์ธรรมในหลายครั้งกับทหารที่บาดเจ็บ ซึ่งก็แปลกใจเหมือนกันที่ตัวเรื่องถ่ายทอดมุมนี้ออกมาให้เห็นหลายครั้ง จนดูเหมือนว่าพลทหารทั้งสองฝ่ายก็เป็นแค่เบี้ยที่ถูกนำมาใช้แล้วทิ้งไม่ต่างกัน

ในเรื่องจะเห็นฉากการเจรจาต่อรองกับนาซีระหว่างรบหลายครั้ง ซึ่งไม่เคยเห็นในเรื่องอื่นมากก่อน

สำหรับคนที่ต้องการมุมมองที่แตกต่างออกไปจากหนังสงครามปกติ ซีรีส์เรื่องนี้ทำได้ดีทีเดียว มีความน่าติดตามจากดราม่าชนชั้นเหยียดผิวของคนอเมริกัน และอีกด้านคือมุมมองของนาซีที่มองมายังอเมริกาในแบบเดียวกันกับที่ทำกับยิว ตัวเรื่องตั้งคำถามและใส่บทพวกนี้ลงไปหลายครั้งให้คนดูได้เก็บไปคิด แต่ก็ยังคงไม่พ้นการวางเรื่องแนวเชิดชูฮีโร่อเมริกาในโครงเรื่องหลักอยู่ดี ซึ่งอาจจะเป็นข้อด้อยเล็กๆ ในตัว ที่ไม่ว่าเราจะไปดูหนังสงครามอเมริกาเรื่องไหนก็ต้องเจอเรื่องนี้อยู่ดีครับ…

อ่านรีวิวหนัง Netflix ในเว็บไซต์เพิ่มเติมคลิกที่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!