playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

เล่าสู่กันฟัง Death Stranding

Summary

อาจจะเข้าถึงยาก ไม่ใช่เกมสำหรับทุกคน ระบบเกมเพลย์แม้ดูเรียบง่าย แต่มีความซับซ้อนถ้าคนเล่นอยากจะค้นหา แม้เนื้อเรื่องจะขาดความกระชับแต่รูปแบบการเล่นที่แปลกใหม่ก็ทำให้เป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าจดจำของโคจิม่า

Overall
8.5/10
8.5/10
Sending
User Review
4.5 (2 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • ระบบการเล่นที่มีอะไรให้คิดวิเคราะห์วางแผนได้เยอะ
  • โอเพ่นเวิลด์ที่สวยงามและการกำกับคัทซีนระดับเทพ
  • ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเรื่องราวของโลกในเกม ทั้งเทคโนโลยี ศัตรู ภัยธรรมชาติ

Cons

การดำเนินเรื่องไม่กระชับ ไม่สม่ำเสมอ มีทั้งช่วงที่เนื้อหาไม่ค่อยมีอะไร และช่วงที่เล่าคัทซีนยาวร่วมชั่วโมง

ADBRO

Death Stranding รีวิว

I’ll hold you..
And protect you
So let love warm you
‘Til the morning- BB’s theme

Death Stranding รีวิว ผลงานใหม่ล่าสุดของผู้กำกับ ฮิเดโอะ โคจิม่า และเป็นผลงานแรกของสตูดิโอ Kojima Production หลังจากแยกทางกับ Konami เป็นเกมที่ถูกจับตามองแม้แต่คนนอกวงการเกมก็ยังรู้จัก สร้างกระแสพูดถึงได้ล้นหลามด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งพลังอวยกองเชียร์ทั้งความหมั่นไส้กองแช่ง บ้างก็อยากให้ปังบ้างก็อยากให้แป้ก

แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่คนเล่นเกมสนใจที่สุดก็คือ เกมมันดีหรือไม่? สนุกหรือเปล่า? วันนี้ก็มาเล่าสู่กันฟังกันเหมือนเคย คิดว่ามุมมองของเราน่าจะช่วยไขข้อสงสัยและใช้ประกอบการตัดสินใจได้บ้างนะคะ

*Spoiler free ไม่มีสปอลย์เนื้อหาในเกมจ้ะ


Connecting the dots


หลังหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า ‘Death Stranding’ ก็เกิดปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่ทำให้สังคมมนุษย์ต้องถดถอย

ทั้งเงาดำลึกลับจากโลกหลังความตายที่เรียกว่า ‘BT’ ที่จะพรากทุกชีวิตที่มันสัมผัส ทั้งการเกิด ‘Timefall’ ฝนที่ตกจากฟ้าและเร่งอายุขัยของสิ่งมีชีวิตให้ร่วงโรย และแม้แต่ความตายของมนุษย์ที่เคยเป็นเรื่องแสนธรรมดาก็จะทำให้เกิดระเบิดทำลายล้างที่ถูกเรียกว่า ‘Voidout’

สังคมเข้าสู่ยุค Dystopia สิ่งก่อสร้างถูกทิ้งร้าง ชุมชนทั้งหลายถูกตัดขาดออกจากกัน ผู้คนต้องหลบลงอาศัยในเชลเตอร์โดยไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น แม้การเดินทางในระยะสั้นๆบนพื้นผิวดินก็อาจจะอันตรายถึงชีวิตและยังเสี่ยงจะสร้างวอยด์เอาท์ทำให้ผู้คนอีกมากมายต้องตายตามไป การมีชีวิตอยู่ในความหวาดกลัวเพียงลำพังคือธรรมชาติใหม่ของมนุษย์

‘แซม’ ในฐานะพอร์ทเตอร์ จะออกเดินทางเพื่อไปช่วยเหลือคนสำคัญ และในระหว่างเส้นทางที่ยาวไกล เขาจะเชื่อมต่อผู้คนทั้งหลายเข้าด้วยกัน ธีมหลักของ Death Stranding ก็เรียบง่ายเท่านี้เอง

Death Stranding รีวิว เล่าสู่กันฟัง

แค่ส่งของมันสนุกตรงไหน?


ก่อนเกมออก คำอธิบายของโคจิม่าที่ระบุว่าเกมนี้เป็นเกมแนวใหม่ เกมแนว ‘Strand’ ไม่ทำให้คนเข้าใจมากขึ้นว่ามันจะสนุกยังไง พอมาเล่นเองก็ …อ้อ ความสนุกของเกมนี้ มีรูปแบบแตกต่างไปจากที่คาดหวังพอสมควร

ประเด็นแรก สำหรับเรา Death Stranding ไม่ได้ใหม่ในแง่ที่ว่ารูปแบบการเล่นนั้นไม่เคยมีมาก่อน องค์ประกอบในระบบการเล่นทั้งหลายของเกมนี้ล้วนเป็นระบบที่เคยพบเจอในเกมอื่นมาก่อนแล้วทั้งสิ้น

ทั้งการแชร์สิ่งก่อสร้างกับผู้เล่นคนอื่น การเดินทางแบบใช้สตามิน่าบนพื้นผิวสมจริง การจัดการอุปกรณ์และสัมภาระโดยมีน้ำหนักควบคุม หลายคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วในไตเติ้ลแอคชั่นต่างๆ

แต่ความใหม่ของเกมนี้ คือระบบเหล่านั้นถูกโฟกัสเป็นระบบหลักของเกม เพิ่มมิติความลึก,เพิ่มทางเลือกให้มีความซับซ้อน และนำมาประกอบเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างลงตัว พูดง่ายๆมันไม่เคยมีใครมาทำเกมส่งของในสเกล AAA ที่ลึกละเอียดระดับนี้มาก่อ

ประเด็นต่อมาคือความสนุก ฟุตเตจทั้งหลายที่เราเห็นกันคือนอร์แมนรีดีสเดินตุปัดตุเป๋แบกของตัวโย้ไปตามที่ราบสูงต่ำอันเวิ้งว้างไร้ผู้คน แต่การส่งของในเกมนี้ มันไม่ใช่ ‘แค่’ส่งของ น่ะสิ

สิ่งที่เราไม่เห็นจากเทรลเลอร์ หรือเห็นแล้วแต่ไม่เข้าใจ คือความสนุกในการจัดการ (micromanagement) และ ความสนุกที่ได้พัฒนา (sense of progress) ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ชัดเจนในฐานะคนเล่น ไม่ใช่คนดู


คิดเยอะคิดแยะ


จุดที่เราชอบและคิดว่าเกมนี้ทำได้ดีมาก คือการสอดประสานระหว่างการเล่นและเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อ ทุกอย่างที่ทำนั้นมี conext ทำให้ผู้เล่นอินกับโลกของเกมได้ เราเป็นพอร์ทเตอร์ คนส่งของและส่งสาร ในโลกที่มีทั้ง BT, Voidout, Timefall และสภาพแวดล้อมที่อันตราย ระบบเกมทุกอย่างก็ถูกออกแบบมาสร้างความลึกให้ประสบการณ์การรับบทเป็นคนส่งของนี่ล่ะ และผู้เล่นเองก็จะได้คิดวางแผนจัดการตลอดเวลา

โดยปรกติเราเป็นคนชอบระบบที่ต้องวางแผน จัดการทรัพยากร จัดการอะไรเล็กๆน้อยๆ…เป็นคนแบบที่สนุกกับการจัดกระเป๋าใน Resident Evil 4 ค่ะ และเกมนี้ก็ให้รางวัลกับคนที่ชอบทำอะไรทำนองนั้นมากเลย เพราะมันจะสร้างความแตกต่างระหว่างการเล่นอย่างเห็นได้ชัด

เริ่มตั้งแต่การเลือกออร์เดอร์ หากวางแผนดี เราอาจเลือกรับงานได้หลายๆงานในเส้นทางเดียวกันไม่ต้องเสียเวลาวิ่งไปมา จากนั้นก็เตรียมของที่จะต้องเอาไปส่ง สัมภาระทุกอย่างในเกมจะระบุน้ำหนักและขนาด กล่องไซส์เดียวกันก็จะสแตคต่อกันได้ดี

และเพราะว่าแบกของติดตัวไปได้ในจำนวนจำกัด ของแต่ละอย่างที่เอาไปจึงต้องจำเป็นจริงๆ และต้องเผื่อที่ว่างสำหรับการขนของในขากลับ หรือของจำเป็นอื่นๆที่จะเจอระหว่างทาง

Death Stranding รีวิว เล่าสู่กันฟัง

ต้องคำนึงถึงสมดุลในการทรงตัวของแซม การเลือกจัดการสัมภาระให้ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง หรือจะสร้างยานพาหะอย่างมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาเพื่อย่นระยะเวลาเดินทาง แต่ก็ต้องคิดก่อนว่าเส้นทางที่จะไปนั้นอาจมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับรถ แทนที่จะเร็วกลับช้า

มีการเลือกสร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือในระหว่างเดินทางด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ปลดล็อคและอัพเกรดได้เรื่อยๆจากการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน ตั้งแต่โครงสร้างง่ายๆอย่างบันได เชือกโรยตัว เสาชาร์จแบตเตอรี่ ร่มกันฝนไทม์ฟอล ไปจนถึงสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆอย่าง สะพาน ถนน ซิปไลน์สำหรับโหน หรือเซฟเฮาส์

และเพราะว่าเรามีวัตถุดิบที่จำกัด การสร้างของแต่ละครั้งจึงต้องผ่านการใคร่ครวญ วางสะพานตรงจุดนี้ดีแล้วรึเปล่านะ? ถ้าอัพเกรดถนนตรงนี้จะมีประโยชน์กว่าทำซิปไลน์มั้ย? ไม่ใช่แค่ว่าจะสร้างอะไร แต่ต้องคิดถึงความคุ้มค่าในจุดที่สร้างด้วย

ในขณะเดินทางไม่ว่าจะด้วยเท้าหรือด้วยรถ บนพื้นผิวอันหลากหลายรูปแบบมีทั้งทุ่งหญ้า แม่น้ำ ภูเขา ผู้เล่นก็จะได้คิดอยู่ตลอด คอยสังเกตุพื้นต่างระดับ ระวังการทรงตัว คอยมองสภาพแวดล้อมแล้วหาทางตัดเข้าที่หมายที่มีประสิทธิภาพที่สุด และอาจจะต้องรับมือกับภัยที่ไม่แน่นอนอย่าง BT

ทั้งหมดนี้เป็นลูปเกมเพลย์ที่เรียบง่าย
แต่มีความซับซ้อนถ้าคนเล่นอยากจะค้นหา

การเรียนรู้จากความผิดพลาด ได้เห็นพัฒนาการของตัวเอง ไม่ใช่ตัวละครที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างเดียวแต่คนเล่นเองก็เลเวลขึ้นด้วย เส้นทางยากลำบากที่แม้แบกของเพียงเล็กน้อยก็ยังใช้เวลาร่วมครึ่งชั่วโมงในการเดินทาง อาจย่นระยะเวลาเหลือเพียงไม่กี่นาทีหลังมีประสบการณ์และมีอุปกรณ์ที่ได้สร้างไปแล้วตามจุดต่างๆ

Death Stranding รีวิว เล่าสู่กันฟัง

อีกข้อหนึ่งที่ทำให้ประทับใจในความเนี้ยบของเกมเพลย์ คือเลเวลดีไซน์ แม้จะเป็นโอเพ่นเวิลด์ แต่ก็ไม่ได้ละเลยการออกแบบสภาพแวดล้อมในการเล่นเลย

ยกตัวอย่างหน้าผาที่ดูเผินๆก็ไม่เห็นมีอะไรแต่มันถูกออกแบบมาแล้วว่าหย่อนเชือกลงมาแล้วช่วงปลายเชือก (30 เมตร ) จะมีระนาบให้เราพอยืนได้อยู่ ไม่ใช่ว่าสักแต่ทำหน้าผามากั้น หย่อนตัวไปแล้วก๊องทำอะไรไม่ได้ต้องไต่กลับขึ้นมา

และแม้เชลเตอร์ทั้งหลายจะใช้โครงสร้างเดียวกันแต่สภาพแวดล้อมรอบๆของทุกสถานที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ได้รู้สึกว่าไอ้หินกองนี้ต้นไม้กอนี้คือการ copy paste จากตรงนั้นนี่หว่า ถึงเราจะจำชื่อเมืองสลับกันมั่งเพราะมัน Knotๆ เหมือนกันไปหมดแต่ว่าจำทางไปและสภาพแวดล้อมได้ดี เป็นเกมที่ทำโอเพ่นเวิลด์ออกมาได้สมจริงน่าจดจำ


คนเดียวแต่ไม่เดียวดาย


ใน Death Straning ตลอดทั้งเกมเราจะไม่เจอผู้เล่นคนอื่นเลย แต่กลับเป็นเกมที่นำการเชื่อมต่อออนไลน์มาใช้ได้มีประโยชน์มาก สิ่งของและสัญลักษณ์ที่ผู้อื่นสร้างไว้ สามารถมาปรากฏในโลกของเราได้ (เหมือนลายเซ็นและข้อความในดาร์คโซล)

แต่สำหรับเกมนี้ต่อยอดไปมากกว่านั้น สิ่งก่อสร้างที่คนอื่นสร้างรากฐานไว้ เราสามารถหาวัตถุดิบมาช่วยอัพเกรดได้และใช้เวอร์ชั่นอัพเกรดนั้นไปด้วยกัน

ในบางทีที่วางแผนผิดพลาด ของหมดตัว อยู่ในจุดอันตรายแบบไร้อุปกรณ์ช่วยเหลือ ก็มีของที่ผู้เล่นคนอื่นสร้างไว้นี่แหล่ะเป็นเครื่องช่วยชีวิต อุปสรรคทั้งหลายในเกมนี้ไม่สามารถผ่านไปได้ด้วยตัวคนเดียว ทั้งที่เกมนี้ไม่เปิดโอกาสให้เราได้เห็นผู้เล่นคนอื่น แต่กลับรู้สึกถึงตัวตนของคนที่สร้างของแต่ละจุดไว้ได้ว่าเบื้องหลังของแต่ละชิ้นเนี่ย มีคนจริงๆที่เคยเล่นผ่านจุดนี้มา และก็สร้างสิ่งนี้ไว้

มีหลายครั้งที่เกิดโมเมนต์เข้าอกเข้าใจปนขำ ไม่ว่าจะขับรถไปแบตจะหมดแล้วก็เจอเสาชาร์จรออยู่พอดี หรือปีนเขาด้วยความลำเค็ญไปเห็นซิปไลน์ที่อยู่บนเขาอีกยอดนึงให้เราวางลิงค์ต่อกันได้ทันที หรือเดินไปสุดหน้าผาแล้วเห็นเชือกวางทิ้งไว้เป็นหย่อมๆให้โรยตัวไปถึงพื้นสุดไกลได้พอดิบพอดี

ทุกๆประสบการณ์เหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าโลกในเกมของเรานั้นเชื่อมต่อกับคนอื่นจริงๆ โคจิม่าพูดย้ำหลายครั้งว่าธีมหลักของเกมคือการเชื่อมต่อ ถึงจะเป็นคำพูดดูน้ำเน่าชวนให้รู้สึกจั๊กกะเดียม แต่เกมนี้ก็ถ่ายทอดมันออกมาในรูปแบบของเกมเพลย์ได้อย่างน่าประทับใจ


I’ll be waiting for you on the beach…again


พูดถึงแต่เกมเพลย์ไปซะเยอะ เพราะเป็นส่วนที่เราสนุกกับเกมมากที่สุด ในแง่เนื้อเรื่องของเกมนี้เราไม่ได้ประทับใจอะไรเป็นพิเศษ จะไม่พูดถึงรายละเอียดเพราะเดี๋ยวสปอยล์ แต่เอาเป็นว่าเกมนี้ก็เล่าเรื่องสไตล์โคจิม่า พยายามอธิบายเรื่องเหนือธรรมชาติด้วยหลักการเชิงวิทยาศาสตร์ ผ่านบทพูดยาวซับซ้อนในคัทซีนจริงจัง

ในหลายครั้งการเล่าเรื่องขาดความปะติดปะต่อเพราะต้องการผูกปมปริศนาเย้ายวนให้ชวนสงสัย แต่พอมันยั่วบ่อยๆแทนที่จะอยากรู้กลับกลายเป็นเริ่มรำคาญไปแทน กว่าจะถึงตอนที่เฉลยเราก็ไม่ได้แคร์ไปซะแล้ว

รวมไปถึงประเด็นหลักของเกมอย่างความผูกพันและการเชื่อมต่อ ที่ทำผ่านเกมเพลย์ได้เยี่ยมแต่ในเนื้อเรื่องนั้นถ่ายทอดออกมาล้นจนเกินพอดี คือย้ำแล้วย้ำอีกจนมันขาดอิมแพคไปเลย

ในเนื้อเรื่องมีสัญลักษณ์มากมายที่ไม่จำเป็นพูดโพล่งออกมาว่ามันหมายความว่าอะไร ปล่อยให้คนเล่นตีความเองจะสร้างความประทับใจได้ดีกว่า แต่โคจิม่าสไตล์ก็คือจะอธิบายทุกอย่างให้ดูซับซ้อนกว่าที่เป็น

แล้วพอจะขยี้อารมณ์มันทุกอัน ผลคือไม่มีอันไหนเด่นโดด ฉากที่เราประทับใจและจำได้ในเกมกลับเป็นฉากที่ไม่ต้องอธิบายอะไรเยอะแยะ ไม่ได้พลิกล็อคไม่ได้มีปมซับซ้อน แต่สื่อความหมายด้วยสายตาและความรู้สึกของตัวละครก็พอแล้ว

มีจุดที่ต้องชมอย่างจริงจังคือคัทซีนที่กำกับได้ดีมาก นักแสดงที่เล่นได้ยอดเยี่ยม เพลงประกอบก็ไม่แย่งเด่นแต่เสริมอารมณ์ให้การเล่าเรื่อง ถึงคัทซีนจะยาวแต่ก็ดูเพลินตลอดเพราะตั้งใจทำมาได้ประณีตจริงๆ


ทิ้งท้าย 


Death Stranding รีวิว เล่าสู่กันฟัง

จุดหนึ่งที่เราชื่นชม Death Stranding คือมันเป็นผลงานที่กล้าหาญที่สุดของโคจิม่า เขาจะเซฟตัวเอง ทำเกมแบบ MGS ออกมาอีกสักเกมก็ได้ หรือทำเกมบู๊แอคชั่นสูตรสำเร็จที่เข้าถึงง่ายๆมีกลุ่มเป้าหมายกว้างๆ แต่เขาก็ไม่ทำ และเลือกที่จะทุ่มเทสร้างเกมที่คนทั่วไปจะมองเผินๆแล้วก็บอกว่าดูน่าเบื่อทั้งที่ยังไม่ได้เล่นด้วยซ้ำ

มันคงง่ายที่จะหาข้อติ หรือชี้จุดที่ไม่ลงตัวต่างๆเมื่อเทียบกับเกมแนวอื่นที่ขัดเกลาสูตรสำเร็จมาแล้ว และสุดท้ายคนก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ว่ามันจะใหม่หรือไม่ แต่สนใจว่ามันจะเป็นเกมที่ดีหรือเปล่า ซึ่งโคจิม่าและทีมทำได้สำเร็จ มันเป็นเกมที่ดีด้วยรายละเอียดอันประณีตทั้งหลายที่แฝงอยู่ในเกมเพลย์ แต่ไม่ใช่เกมที่เข้าถึงง่าย ไม่ใช่เกมสำหรับทุกคน

เกมนี้บันทึกรอยเท้าทุกก้าวที่เราเหยียบบนพื้น บันทึกทุกเส้นทางที่เราเดินทางผ่านไป ในช่วงท้ายของเรื่องราว เมื่อมองย้อนกลับไปตามรอยบันทึกเล็กๆทั่วไปหมดในแผนที่ เห็นรอยเท้าที่เดินก้าวมาทีละก้าว เชื่อมต่อทั้งประเทศจนถึงจุดปลายสุดที่ตะวันตก มันก็ทิ้งความรู้สึกบางอย่างไว้ในใจ สำหรับเรามันสนุก และเป็นประสบการณ์ที่ดีเกินพอแล้วสำหรับการเล่นเกมๆ นึงค่ะ

บทสรุปเนื้อเรื่องเกม และผลงานบทความอื่นๆของผู้เขียน TAEPOPPURI

 

Leave a comment
รีวิว Black Doves พิราบเงา (Netflix) ซีรีส์สายลับที่ตัวละครมีเสน่ห์ซับซ้อนคมคายสุดๆ
------------------------------------------------------------