playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The Crown ss4 Netflix เล่าเรื่องที่คนไม่เคยรู้ของ ควีนเอลิซาเบธ แทชเชอร์ เจ้าหญิงไดอาน่า

สรุป

สุดยอดซีรีส์ของ Netflix ในซีซัน 4 รวมตัวละครสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์มาไว้ในเรื่องเดียวได้อย่างยอดเยี่ยม คือ ควีนเอลิซาเบธ มากาเร็ต แทชเชอร์ เจ้าหญิงไดอาน่า เล่าเรื่องราวเชิงลึกที่หลายคนอาจไม่เคยทราบ กับนำเรื่องที่คนอังกฤษรู้ดีอยู่แล้วมาขยายเพิ่ม นักแสดงสุดยอด บทพูดแต่ละฉากเต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมาย มีลุ้นคว้ารางวัลใหญ่ประจำปี

Overall
10/10
10/10
Sending
User Review
0 (0 votes)

Pros

  • นักแสดงเล่นได้สุดยอด ทั้งตัวหลัก ตัวรอง โดยเฉพาะสามนักแสดงหญิงตัวหลัก
  • บทพูดและแต่ละฉากเต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมาย ฉากสำคัญทำได้ทรงพลังมาก
  • โปรดักชั่นทุกตอนระดับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์
  • เพลงประกอบดีเยี่ยม บิ้วอารมณ์ได้ดี
  • นำเสนอมุมมองของเรื่องจากหลายฝ่าย ไม่เอียงเชียร์ใครมากเกินไป ถ้าเทียบกับสามซีซันก่อน
  • นำเสนอภาพนอกราชวัง ไปที่สังคมอังกฤษและคนยากจนมากกว่าเดิม
  • ตีแผ่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้น่าสนใจและมีมิติเชิงลึก ไม่ได้ตำหนิหรือชมใครเป็นพิเศษ

Cons

  • ควรต้องรู้บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์อังกฤษสมัยนั้นพอสมควร ไม่เช่นนั้นอาจจะไม่อินหรือไม่เข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆที่ถูกใส่มาในหลายฉาก

The Crown Ss4 Netflix รีวิว การกลับมารอบนี้เล่าเรื่องที่ผู้คนอาจไม่เคยรู้ของ ควีนเอลิซาเบธ มากาเร็ต แทชเชอร์ และ เจ้าหญิงไดอาน่า พร้อมกับเจาะเบื้องลึกของราชวงศ์วินเซอร์ (Windsor) กับปัญหาต่างๆที่รุมเร้าเข้ามาในประเทศอังกฤษเมื่อช่วงต้นและกลางยุค 80s แล้วยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเข้าสู่ยุคใหม่

รับชมสุดยอดซีรีส์ เดอะคราวน์ เรื่องนี้ในซีซัน 4 ได้แล้วใน Netflix ทั้งหมด 10 ตอนรวดเดียว

แล้วคนที่สนใจ สามารถอ่านรีวิว The Crown ในซีซันก่อนๆได้ที่

ตัวอย่าง The Crown ss 4 trailer

The Crown Ss4 Netflix รีวิว

The Crown ss4 เรื่องย่อ

การกลับมาของ เดอะคราวน์ สุดยอดซีรีส์ของ Netflix ที่บอกเล่าเรื่องราวในครอบครัวราชวงศ์วินเซอร์ ผ่านมุมมองของพระราชินีควีนเอลิซาเบธ รวมถึงเปิดเผยเรื่องราวเชิงลึกมากมายที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน

ซึ่งในสามซีซันก่อนหน้านี้ ตัวเรื่องจะเน้นไปที่ชีวิตแต่งงานของควีนและเจ้าชายฟิลิปส์ รวมถึงชีวิตของบรรดาสมาชิกระดับสูงในราชวงศ์ เช่น เจ้าฟ้าหญิงมากาเร็ต เจ้าฟ้าชายชาร์ล และบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการเมืองอังกฤษ เช่น วินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งตัวละครทั้งหมดในเรื่องต่างก็มีตัวตนอยู่จริง

อีกทั้งตัวซีรีส์ยัง “กล้า” ที่จะเอาเรื่องราวความสัมพันธ์ในชีวิตคู่และปัญหาการนอกใจของคนในราชวงศ์มาตีแผ่นชนิดหมดเปลือกจนน่าตกตะลึงด้วย แถมในซีซัน 4 ยังเพิ่มความหนักหน่วงของดราม่าชีวิตคู่สามเส้าระหว่าง เจ้าฟ้าชายชาร์ล เจ้าหญิงไดอาน่า และ คามิลล่า ซึ่งเอาเข้าจริงความสัมพันธ์ของพวกเขาก็เป็นเรื่องที่คนอังกฤษรับรู้กันมานานและเป็นข่าวชั้นดีให้บรรดาแทปลอยด์สมัยนั้นอยู่แล้วด้วย

ส่วนในพาร์ทการเมือง ยังเป็นการเพิ่มความเข้มข้นสไตล์ทริลเลอร์จากการเล่าเรื่องผ่าน มากาเร็ต แทชเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษในสมัยนั้น ผู้ที่ได้รับฉายาว่า “สตรีเหล็ก” ซึ่งในเรื่องก็จะบอกให้เราได้รู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายกหญิงเหล็กคนนี้กับควีนในแบบที่คนภายนอกอาจไม่เคยทราบมาก่อน รวมถึงเจาะประเด็นการแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอังกฤษ การตัดงบประมาณส่วนต่างๆ ไปจนถึงการประกาศสงครามบุกเกาะฟอร์คแลนด์ ที่กล่าวกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อังกฤษและอาร์เจนตินากลายเป็นคู่แค้นที่ชังน้ำหน้ากันมานานจนถึงทุกวันนี้

The Crown ss4 รีวิว

จุดสำคัญที่ซีรีส์ระดับรางวัลเรื่องนี้ยังคงทำได้ดีเสมอต้นเสมอปลายมาจาก 3 ซีซันแรก คือการ “เล่าเรื่อง” ที่เน้นเจาะเบื้องลึกภายในราชวงศ์วินเซอร์ ซึ่งมีหลายเรื่องที่คนทั่วไปคงคาดไม่ถึง บางเรื่องก็เป็นข่าวลือ และบางเรื่องก็เป็นข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ได้มีการเปิดเผยในช่วงเวลานั้น หรือบางคนอาจเคยรับทราบบ้างผ่านข่าวโทรทัศน์มาบ้าง

สำหรับในซีซัน 4 มีความยากในการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากก่อนหน้านี้ เพราะจับความในยุค 80s ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่มากขึ้นทุกที อีกทั้งบุคคลสำคัญในซีรีส์ก็ยังเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้ ดังนั้นการบอกเล่าเรื่องราวที่อาจจะส่งผลในแง่ลบต่อบุคคลเหล่านั้นจึงเป็นเรื่องที่ทีมสร้างต้องระวังมาก แต่เท่าที่สร้างออกมาก็ทำได้ดีพอสมควร

แถมจุดสำคัญคือ ยังช่วยให้คนดูได้มี “ความเข้าใจ” ต่อการตัดสินใจต่างๆของบุคคลเหล่านั้น ภายในบริบทและสถานการณ์จริงๆในเวลานั้นมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะทำให้คนดูเกิดความรู้สึกเห็นใจต่อบุคคลเหล่านั้นมากขึ้นก็ได้ โดยเฉพาะสามตัวละครหลักที่เป็นตัวเอกของซีซันนี้ร่วมกันคือ ควีนเอลิซาเบธ มากาเร็ต แทชเชอร์ และ เจ้าหญิงไดอาน่า

The Crown Ss4 Netflix รีวิว

โอลิเวียร์ โคลแมน ในบท ควีนเอลิซาเบธ

จิลเลียน แอนเดอร์สัน ในบท มากาเร็ต แทชเชอร์ “นายกหญิงเหล็ก”

เอ็มม่า คอร์ริน ในบท เจ้าหญิงไดอาน่า และ โจ โอคอนเนอร์ ในบทเจ้าชายชาร์ล

เฮเลน่า บอนแฮม คาร์เตอร์ ในบท เจ้าหญิงมากาเร็ต

โทเบียส เมนซีส์ ในบท เจ้าชายฟิลิปส์ ดยุคแห่งเอดินบะระ

ด้านนักแสดง นี่คือส่วนดีที่สุดของซีรีส์ เพราะทุกคนแสดงได้อย่างสุดยอด ไม่ว่าจะเป็น Olivia Coleman ในบทควีน และที่ทำได้ดีมากๆจนน่าจะได้มีชื่อลุ้นรางวัลในปีนี้ก็คือ Gillian Anderson ในบทนายกหญิงเหล็ก มากาเร็ต แทชเชอร์ และ Emma Corrin ในบทเจ้าหญิงไดอาน่าวัยแรกรุ่น ทั้งหมดแสดงได้ดีมากๆ ในขณะที่นักแสดงสมทบคนอื่นก็ยังทำได้ดีไม่แพ้กัน

ในแง่การเล่าเรื่อง การกำกับ ถือว่าเป็นจุดแข็งอีกหนึ่งที่ทำได้น่าตะลึง เพราะในหลายตอนจะพบว่า บทพูด ไดอาล็อค ไปจนถึงองค์ประกอบฉากต่างๆ มีการใส่สัญลักษณ์ หรือ สัญญะ ที่สื่อถึงชะตากรรมและอนาคตของเหล่าตัวละครเอาไว้มากมาย ซึ่งถ้าเป็นคนที่ชอบประวัติศาสตรอังกฤษหรือสนใจเรื่องของราชวงศ์วินเซอร์ จะอินเอามากๆครับ ซึ่งบรรดาฉากที่ใส่สัญลักษณต่างๆเอาไว้ก็มีมากมาย ตัวอย่างเช่น (สปอยบางส่วน)

  • การพบกันครั้งแรกระหว่าง ชาร์ล และ ไดอาน่า ที่เรื่องราวในซีรีส์ได้เสริมแต่งเข้ามาว่าทั้งสองพบกันก่อนหน้าที่ไดอาน่ากำลังซ้อมเล่นละครเพื่อจะไปแสดงละครเวทีเรื่อง Midsummer’s Night Dream ผลงานดังของ วิลเลียม เช็คสเปียร์ ตรงนี้เสมือนเป็นการสื่อถึงความเป็นบุคคลที่เสมือนภาพมายา ความฝัน ที่จะมาและจากไป แต่จะยังคงเป็นที่จดจำของผู้คนไปตลอดกาล
  • ฉากที่ไดอาน่าไปล่ากวางกับเจ้าชายฟิลิปส์ แล้วไดอาน่ายืนกรานว่า ลมจะมาทางซ้าย ในขณะที่ฟิลิปส์บอกว่าทางขวา แต่สุดท้ายลมมาทางซ้ายจริงๆ สื่อถึงกระแสสังคมและการเปลี่ยนแปลงที่ราชวงศ์จะต้องเผชิญ ซึ่งจุดน่าสนใจคือ ทั้งสองต่างก็เป็นคนนอกที่เข้ามาในครอบครัวนี้เหมือนกัน
  • บมสนทนาระหว่างไดอาน่าและคามิลล่าในการพบกันครั้งแรก ที่เต็มไปด้วยการสื่อนัยยะเรื่องชีวิตคู่ของพวกเธอหลังจากนี้
  • ฉากที่ควีนออกมาพบปะประชาชนในสวนหน้าวัง ซึ่งในแถวของผู้คนที่ได้เข้าพบถูกคัดเลือกมาแล้ว เป็นผู้ที่ดูมีฐานะ มีรอยยิ้ม เบิกบาน แล้วภาพตัดไปที่แถวของคนงานยากไร้ ใบหน้าไร้รอยยิ้ม
  • นำเหตุการณ์ที่ควีนพูดคุยกับ ไมเคิล เฟแกน ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงที่ไม่มีใครรู้ว่าทั้งสองคนคุยอะไรกัน ออกมานำเสนอปนวิพากษ์สังคมอังกฤษและระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนคนยากจนไม่สามารถสื่อสารปัญหาของพวกเขาให้ สส. นำไปแก้ไขได้แบบในอุดมคติของประชาธิปไตยจริงๆ
  • ภาพสุดท้าย ที่เป็นการถ่ายรูปครอบครัววินเซอร์ ทุกคนยิ้มแย้ม แต่ไดอาน่ากลับแปลกแยกออกมาคนเดียวในภาพนั้น และเป็นการส่งสัญญาณถึงสิ่งที่จะเกิดในซีซัน 5 ซึ่งจะเป็นยุค 90s ที่ไดอาน่าจะเฉิดฉายถึงขีดสุด และนำพาการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่าเดิมมาอีก

ตัวเรื่องยังมีการนำภาพฟุตเทจของเหตุการณ์จริง ฉายสลับกับการเล่าเรื่อง ยิ่งช่วยเพิ่มน้ำหนักของความสมจริงยิ่งกว่าเดิม ซึ่งมีภาพฟุตเทจมากขึ้นหากเทียบกับสามซีซันก่อนด้วย

นอกจากนี้ ผู้สร้างอย่าง Peter Morgan ก็ยังคงเลือกแนวทางการเล่าเรื่องเหตุการณ์จริง ผสมเรื่องเสริมแต่ง และแฝงการ “วิพากษ์” ของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อของชนชั้นนำ ปัญหาคนตกงาน การทำสงครามที่ทำให้อังกฤษกลับมาเป็นผู้นำแถวหน้าทางทหาร แต่ในขณะเดียวกันก็แลกมากับอะไรหลายอย่าง รวมถึงความพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ

ซึ่งในประเด็นนี้ ตัวเรื่องยังมีการใส่สัญลักษณ์ไว้ผ่านตัวละครของแนวคิดสองฝั่ง โดยมีตัวแทนฝั่งอนุรักษ์นิยมในเรื่องก็คือ ควีน ที่ยังคงยึดแนวทาง ไม่กระทำสิ่งใด ในขณะที่ตัวแทนฝั่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นนำโดย นายกหญิงเหล็ก แทชเชอร์ มุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้พึ่งตนเองได้แม้ว่าเธอจะสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมก็ตาม และทางฝั่งราชวงศ์ ก็มีเจ้าหญิงไดอาน่า ที่เป็นตัวละครที่เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงที่จะโอนอ่อนหรือถูกกลืนไปในสถาบันแบบเดิมอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นสิ่งที่คนดูคงจะได้รับชมเต็มที่ในซีซัน 5 แน่นอน

ส่วนพาร์ทของ นายกหญิงแทชเชอร์ ที่เป็นเรื่องการเมือง ที่จริงแล้วก็ไม่ได้เน้นเล่าในมุมการเมืองจ๋ามากนัก แถมยังเล่าเรื่องของแทชเชอร์ในมิติของการเป็นผู้นำหญิงเหล็กที่มีทั้งคนรักและเกลียด รวมถึงในมิติของการเป็นภรรยาและการเป็นแม่คนได้น่าสนใจเอามากๆ น่าจะช่วยทำให้คนดูได้รู้จักตัวตนของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ และเป็นนายกอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดังอันดับต้นๆคนนี้ได้ดีมากขึ้น แล้วในพาร์ทของครอบครัวสามีภรรยาแทชเชอร์ เรื่องก็จะเล่าโดยตัดภาพสลับกับครอบครัวฝั่งวินเซอร์อย่างมีนัยยะน่าสนใจด้วย เหมือนเป็นการเปรียบเทียบระหว่างครอบครัวของทั้งสองฝั่งที่แตกต่างกันมาก

ส่วนจุดด้อยก็มีเล็กน้อย คือคนดูควรต้องรู้บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์อังกฤษสมัยนั้นพอสมควร ไม่เช่นนั้นอาจจะไม่อินหรือไม่เข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆที่ถูกใส่มาในหลายแต่ละฉาก และอาจจะไม่อินกับบริบททางความคิดของสังคมอังกฤษในยุคนั้น แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อด้อยอะไรมากนัก ต่อให้เป็นคนที่ไม่เคยรู้เรื่องอังกฤษก็ดูได้ เพราะบรรดาปัญหาต่างๆที่ซีรีส์นำเสนอออกมาก็มีความใกล้เคียงกับชีวิตผู้คนในเวลานี้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ชีวิตคู่ และปัญหาอื่นๆ

สำหรับในซีซัน 4 ฉายจบแล้ว 10 รับชมได้ทาง Netflix เลยครับ รับรองว่าไม่ผิดหวัง ว่าทำไมเรื่องนี้จึงเป็นซีรีส์ที่สร้างประเด็นใหญ่โตในอังกฤษ ส่วนซีซัน 5 จะฉายในปี 2021 รอรับชมกันต่อไป

ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่

Reference Website

https://www.imdb.com/title/tt4786824/

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!