playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The English Game ซีรีส์ สร้างจากเรื่องจริงของฟุตบอลอังกฤษ ชัยชนะของทีมชนชั้นแรงงาน

สรุป

สร้างจากเรื่องจริงที่ผ่านมุมมองของสองตัวเอก เฟอร์กัส ซูเทอร์ และ อาเธอร์ คินแนด สองนักบอลที่มาจากชนชั้นที่แตกต่างกัน กับเรื่องราวของการทำให้ฟุตบอลเป็นของทุกคน เป็นซีรีส์ดีเยี่ยมเกินคาดของ Netflix

Overall
8.5/10
8.5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • โปรดักชั่นดีเยี่ยม คุณภาพสูงมากราวกับซีรีส์ของ HBO และ BBC
  • สร้างจากเรื่องจริงที่ให้แรงบันดาลใจของการพลิกโฉมหน้าวงการฟุตบอลอังกฤษ และชัยชนะของทีมชนชั้นแรงงาน
  • ยกให้เป็นซีรีส์เกี่ยวกับวงการฟุตบอลที่ดีที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา
  • นำเสนอภาพของความเหลื่อมล้ำและไม่อยุติธรรมระหว่างชนชั้นผ่านเรื่องในวงการฟุตบอลได้ดี

Cons

  • ปูเรื่องการพัฒนาแท็คติคฟุตบอลที่เป็นการเปลี่ยนวิธีเล่นฟุตบอลในสมัยนั้นไว้น่าสนใจ แต่กลับพูดถึงเรื่องนี้น้อยมากจนน่าเสียดาย
  • ซีรีส์ให้แอร์ไทม์กับดราม่าเรื่องปัญหาสตรียุคนั้นค่อนข้างเยอะไปหน่อย จนดูเหมือนไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องหลักเลย

The English Game Netflix รีวิว สร้างจากเรื่องจริง ชัยชนะของทีมชนชั้นแรงงาน กับเรื่องราวของนักฟุตบอลคนแรกที่ได้ค่าจ้าง และการทำให้ฟุตบอลเป็นของทุกชนชั้น

เรื่องนี้เป็นซีรีส์ที่สร้างจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์การพลิกโฉมหน้าการเล่นฟุตบอลในหลายมิติ โดยเล่าเรื่องราวหลายอย่างที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลานั้น ซึ่งหลายสิ่งในซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีการเปลี่ยนฟุตบอลสมัครเล่นสู่ฟุตบอลอาชีพในภายหลัง ซึ่งในซีรีส์เล่าเรื่องราวได้สนุก น่าติดตามตั้งแต่ฉากแรกจนถึงฉากสุดท้าย

 The English Game (2020) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

The English Game Trailer

The English Game เรื่องย่อ

เรื่องราวเริ่มขึ้นในปี ..1878 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ฟุตบอลยังเล่นกันอยู่ในระดับสมัครเล่น และความสำเร็จในการชิงถ้วยยังคงผูกขาดอยู่กับทีมสโมสรของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยรัฐบาลซึ่งล้วนแต่มีสมาชิกจากชนชั้นนักปกครอง นายธนาคาร นายทุน ลอร์ดเจ้าที่ดิน ในขณะที่สโมสรจากฝั่งของชนชั้นแรงงานยังไม่เคยขึ้นมาได้แชมป์เลยสักครั้ง

แล้วในเวลานั้นเอง เฟอร์กัส ซูเทอร์ นักฟุตบอลชาวสกอตแลนด์ กลายเป็นคนแรกที่ถูกจ่ายค่าจ้างให้มาเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรฟุตบอลของโรงงานปั่นด้ายที่ Darwen ซึ่งในปีนั้นทีม Darwen ได้เข้าถึงรอบรองชนะเลิศถ้วย FA Cup เป็นครั้งแรก และจะต้องเผชิญหน้ากับทีม Eton ในรอบนั้น

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง อาเธอร์ คินแนด บุตรชายของลอร์ดคินแนด เจ้าของธนาคารใหญ่และเจ้าที่ดิน ซึ่งตัวอาเธอร์เองก็เป็นนักฟุตบอลที่มีความสามารถโดดเด่นและเป็นสมาชิกของทีมสโมสร Eton ซึ่งเป็นสโมสรของวิทยาลัยรัฐชั้นนำที่ครองความสำเร็จและเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาเกมฟุตบอลให้เป็นกีฬายอดนิยม แล้วแพร่หลายในเวลานั้น

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเผชิญหน้ากันระหว่างสองทีมที่เป็นตัวแทนจากชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงาน โดยเรื่องราวดำเนินอยู่ระหว่างชายทั้งสองคนที่เกิดและเติบโตอยู่ในสังคมที่แตกต่างกันสุดขั้ว แต่ว่าพวกเขาก็ล้วนมีสิ่งที่เหมือนกันนั่นคือ ความรักหลงใหลในเกมฟุตบอลเสมือนชีวิต ซึ่งพวกเขาทั้งสองคนต่างก็ต้องการที่จะแข่งขันกันอย่างยุติธรรมและ Fairplay ที่สุด ซึ่งก็ทำให้พวกเขาทั้งสองมีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมหน้าวงการฟุตบอลอังกฤษไปตลอดกาล

The English Game ตัวละคร

เฟอร์กัส ซูเทอร์

นักฟุตบอลร่างเล็กชาวสกอตแลนด์ มีความสามารถในการเล่นฟุตบอลที่โดดเด่น เขาเล่นให้กับทีม Patrick ในกลาสโกว์ ซึ่งเขาก็กลาเป็นคนแรกที่ถูกจ่ายค่าจ้างให้มาเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรฟุตบอลของโรงงานปั่นด้ายที่ Darwen โดยมีเจ้าของโรงงานคือ เจมส์ วอลซ์ ที่มีความทะเยอทะยานอยากจะพาสโมสรโรงงานของตนให้ประสบความสำเร็จสักครั้ง โดยซูเทอร์ได้เดินทางมาร่วมทีมพร้อมกับ จิมมี่ เลิฟ เพื่อนคู่หู และหวังว่าจะคว้าถ้วย FA มาครองให้ได้

ซูเทอร์ยังไม่ใช่แค่นักฟุตบอลอัจฉริยะทั่วไป แต่เขายังนำวิธีการเล่นฟุตบอลแบบใหม่เข้ามาสู่อังกฤษ เนื่องจากการเล่นฟุตบอลของสโมสรในอังกฤษเวลานั้นจะเน้นการเล่นแบบสกรัมเหมือนการเล่นรักบี้ ใช้ผู้เล่นรูปร่างสูงใหญ่ เข้ามารวมกลุ่มป้องกันลูกฟุตบอลแล้วบุกไปข้างหน้า แต่ซูเทอร์ซึ่งเป็นผู้เล่นที่รูปร่างเล็ก ได้เสนอให้ใช้วิธีส่งบอลไปมา หาพื้นที่ว่างเข้ามาใช้ในเกมฟุตบอลในสมัยนั้น รวมถึงเริ่มปรับ Formation จากที่แต่เดิมมักเน้นอัดกองหน้าเข้าไปมากกว่า 6-7 คน ซูเทอร์เสนอให้ปรับมาใช้การจ่ายบอลขึ้นมาจากแดนหลังและแดนกลาง เพิ่มตำแหน่งผู้เล่นกลางสนามมากขึ้น ซึ่งก็กลายเป็นการพลิกแนวคิดฟุตบอลไปตลอดกาล แล้วทำให้วิธีเล่นแบบของ Eton สูญสลายไปด้วย

ตามประวัติจริง ซูเทอร์ เป็นนักฟุตบอลที่มีความสามารถรอบด้าน เขามีรูปร่างเล็ก แต่ก็ทดแทนด้วยการเล่นฟุตบอลที่น่าตื่นตาตื่นใจในยุคสมัยที่การเล่นฟุตบอลจะเน้นพละกำลังเป็นหลัก เขารับค่าจ้างให้มาเล่นในทีม Darwen แล้วต่อมาก็รับค่าจ้างเล่นให้ทีม Balckburn ซึ่งในที่สุดเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่สามารถพาทีมสโมสรที่เป็นชนชั้นแรงงานเอาชนะคว้าถ้วยแชมป์ FA Cup มาครองได้สำเร็จ แล้วยังได้ถ้วยมาครองถึงสามครั้ง หลังจากเลิกเล่น เขาก็ได้ทำธุรกิจโรงแรม Millstone ที่ Darwen กระทั่งเสียชีวิตที่ Blackpool ในปี 1916

อาเธอร์ คินแนด

อาเธอร์ คินแนด บุตรชายของลอร์ดคินแนดซึ่งเป็นนายทุนเจ้าของธนาคารใหญ่และเจ้าที่ดิน แต่ตัวอาเธอร์มีความหลงใหลในเกมฟุตบอลมากกว่าบริหารงานธุรกิจ เขายังเป็นนักฟุตบอลที่มีความสามารถโดดเด่น เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งทีมสโมสรวิทยาลัย Eton และทำให้เกมฟุตบอลโด่งดัง ซึ่งต่อมาก็ได้แพร่หลายแล้วนิยมเล่นกันจนกระทั่งวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มสร้างสโมสรฟุตบอลขึ้นมาเข้าร่วมการแข่งขันกัน

คินแนด ได้เผชิญหน้าในเกม FA Cup กับซูเทอร์เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ได้ก่อให้เกิดการแข่งขันและมิตรภาพระหว่างลูกผู้ชายระหว่างคนทั้งสอง คินแนดพยายามที่จะเข้าใจความลำบากของชนชั้นแรงงานที่หาเช้ากินค่ำ จนไม่มีเวลาพักผ่อนหรือซ้อมก่อนที่จะแข่งฟุตบอล เขายังช่วยผลักดันในคณะกรรมการแข่งขันเพื่อให้ทีมชนชั้นแรงงานสามารถได้รับสิทธิในการแข่งขันอย่าง Fairplay กับทีมของชนชั้นสูงด้วย

ตามประวัติจริง คินแนด ได้รับการยอมรับจากคนในวงการว่าเป็นผู้ที่มีน้ำใจนักกีฬามาก มีความสามารถในการเล่นกีฬารอบด้านในระดับสูง ได้แชมป์ในการแข่งเทนนิสถึงสองสมัย เขาเป็นหนึ่งในคนริเริ่มแนวการเล่นฟุตบอลสไตล์อีตัน แม้ว่ารูปแบบนี้จะสลายไปแล้วในปัจจุบันก็ตาม

คินแนดได้เข้าเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารของ FA ยุคแรกเมื่ออายุแค่ 21 ปี เขาได้ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของสมาคมและต่อมากลายเป็นประธานสมาคม FA กระทั่งเสียชีวิตก่อนที่สนามเวมบลีย์จะเปิดตัวเพียงแค่เดือนเดียวในปี .. 1923

มีบันทึกเกี่ยวกับคินแนดว่า เขาเตรียมใจที่จะถูกอัดหรือล้มลงไปนอนกองในการแข่งขันเสมอ และพร้อมจะลุกขึ้นมาสู้กลับ เและเขายังมีความอึดของร่างกายที่สามารถลงแข่งในเกมฟุตบอลได้ 4-5 วันติดต่อกันด้วย

The English Game รีวิว

ที่ผ่านมา มีการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ที่เกี่ยวกับวงการฟุตบอลไม่มากนัก ซึ่งเท่าที่สร้างกันมาหลายเรื่อง ก็มีแค่ไม่กี่เรื่องที่ทำได้สนุก แต่สำหรับ ดิอิงลิชเกม ถ้าจะบอกว่านี่คือซีรีส์ที่เกี่ยวกับฟุตบอลที่ดีที่สุด ก็ไม่ได้เกินเลยไป งานนี้ต้องถือว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมชนิดเกินคาดของ Netflix ซึ่งคุณภาพของงานโปรดักชั่นอยู่ในระดับงานซีรีส์สไตล์ BBC เลยทีเดียว

ซีรีส์เรื่องนี้เป็นการนำเสนอเหตุการณ์ในช่วงปีสำคัญของวงการฟุตบอลเมื่อปลายศตวรรษ 1800s ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดฟุตบอลอาชีพแบบในปัจจุบัน ซีรีส์จะโฟกัสไปที่เรื่องราวของสองตัวเอกสำคัญคือ เฟอร์กัส ซูเทอร์ ซึ่งเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ได้รับการจ่ายค่าจ้างให้มาเล่นโดยเฉพาะ (ร่วมกับจิมมี่เลิฟ) แล้วยังเป็นตัวแทนของนักฟุตบอลในชนชั้นแรงงานด้วย ขณะที่อีกมุมหนึ่ง เรื่องก็จะโฟกัสไปที่ตัวเอกอีกคนคือ อาเธอร์ คินแนด ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้นนำในสมัยนั้น ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่ผูกขาดฟุตบอลอยู่ในพวกตัวเองมาก่อน

ในซีรีส์จะแสดงให้เห็นภาพความขัดแย้งที่คอนทราสกันระหว่างสองชันชั้นตลอดเรื่อง อีกทั้งแนวคิดเรื่องการจ่ายค่าจ้างให้นักฟุตบอลมาเล่นถูกมองในสมัยนั้นว่าเป็นทั้งเรื่องที่ไม่เหมาะสมและผิดกฏ แต่ในเรื่องก็มีการพูดถึงประเด็นการควบคุมกฏเกณฑ์ต่างๆว่า มันเอื้อให้กับคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ในขณะที่ชนชั้นแรงงานต้องการรายได้เพื่อที่จะทำให้ชีวิตของตนเองอยู่รอด การขายฝีเท้าในการเล่นฟุตบอลก็เป็นอีกโอกาสสำคัญที่ตัวเอกคือซูเทอร์จำต้องเลือกเดิน แม้ว่าเขาจะถูกหลายคนโจมตี อิจฉา หรือไม่เข้าใจก็ตาม

ซึ่งประเด็นการเล่นฟุตบอลเพื่อแลกเงินโดยพร้อมจะย้ายทีมไปเล่นให้ฝ่ายที่จ่ายค่าจ้างมากกว่านี้เอง กลายเป็นปมหลักในเรื่องที่ถูกใช้ไปจนถึงเนื้อหาในช่วงตอนจบ อย่างไรก็ตาม บทสรุปเพื่อคลี่คลายประเด็นนี้กลับทำได้ดีมากผ่านปากของสองตัวเอกว่าเพราะอะไรนับแต่นี้ไปการจ่ายค่าจ้างเพื่อให้คนเตะฟุตบอลจึงมีความจำเป็นโดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน ที่ไม่มีต้นทุนชีวิตดีเหมือนชนชั้นสูง

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความพยายามของคินแนดที่จะอธิบายให้คนในชนชั้นสูงของเขาเองเข้าใจว่า ต่อไปนี้ฟุตบอลจะไม่ใช่เรื่องของอีตันหรือสโมสรวิทยาลัยอีกแล้ว แต่มันจะแพร่หลายไปทั่วโลก กลายเป็นของทุกคน ถึงเวลานั้นฟุตบอลจะไม่ใช่ของชนชั้นนำอีก แต่ฟุตบอลจะกลายเป็นของทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

แต่ข้อด้อยของซีรีส์ก็มี นั่นคือ ตัวเรื่องอุตส่าห์ปูเรื่องการเปลี่ยนวิธีการเล่นฟุตบอลและแท็คติคสมัยนั้นเอาไว้ได้น่าสนใจ แต่กลับแตะเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งที่นี่เป็นเรื่องสำคัญ แถมในส่วนของแอร์ไทม์ ไปให้เวลากับเรื่องดราม่าต่างๆรายรอบของสองตัวเอกมากไปนิด ซึ่งบางเรื่องแทบจะไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักเลย แต่ก็ถือว่าเป็นการเสริมให้เราเห็นภาพถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและปัญหาสตรีในสมัยนั้นได้ดีขึ้น

สำหรับเรื่องจริงกับเหตุการณ์ในซีรีส์ มีความแตกต่างด้านรายละเอียดกันอยู่พอสมควร ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะซีรีส์ต้องการเล่าเรื่องให้กระชับภายในจำนวนตอนที่จำกัด ซึ่งในซีรีส์จะทำราวกับว่าซูเทอร์ย้ายมาเล่นให้ทีมดาร์เวนไม่นานก็ย้ายไปต่อไปแบล็กเบิร์นเลย แต่ในเรื่องจริงซูเทอร์เล่นให้กับดาร์เวนสองฤดูกาลก่อนจะย้ายไปแบล็กเบิร์น แล้วก็ต้องใช้เวลาหนึ่งปีถึงคว้าแชมป์ FA Cup มาครองสองสมัยติดต่อกัน

อีกทั้งยังมีข้อมูลว่า ที่จริงแล้วซูเทอร์เป็นคนที่ทำเรื่องขอย้ายสโมสรจากทีมแพทริคในสกอตแลนด์มาเล่นให้ดาร์เวนด้วยตนเอง ซึ่งเวลานั้นที่ดาร์เวนกำลังมีจิมมี่เลิฟมาเล่นให้แล้ว ดังนั้นรายละเอียดจึงมีความคลาดเคลื่อนจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์อยู่บ้างครับ

สำหรับในวงการฟุตบอลอาชีพปัจจุบัน ถือว่า เฟอร์กัส ซูเทอร์ และ จิมมี่ เลิฟ คือสองนักฟุตบอลอาชีพสองคนแรกของโลกที่ได้รับค่าจ้างเพื่อเล่นฟุตบอล ซึ่งนี่เป็นการเปลี่ยมโฉมหน้าของวงการไปตลอดกาล แล้วตัวของซูเทอร์ยังทำให้เกิดค่านิยมในการค้นหาเพชรเม็ดงามในแถบสกอตแลนด์ให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะหลังจากซูเทอร์เข้ามาสร้างชื่อในอังกฤษ สโมสรหลายแห่งก็เริ่มมีการส่งแมวมองไปค้นหานักฟุตบอลฝีเท้าดีที่สกอตแลนด์เพื่อซื้อตัวมาเล่นให้กับสโมสรในอังกฤษเป็นเวลานับศตวรรษหลังจากนั้นด้วย แม้แต่ทีมดังอย่าง Manchester United และ Liverpool ในช่วงที่ครองความสำเร็จและกวาดแชมป์ในเกาะอังกฤษ ก็อาศัยการค้นหานักเตะจากสกอตแลนด์ ไปจนถึงชาติในเครือสหราชอาณาจักร เช่น เวลส์ ไอร์แลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ เป็นตัวหลักในยุคสมัยหนึ่ง

ซึ่งกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการกรุยทางของซูเทอร์และเลิฟนั่นเอง

โดยสรุปแล้ว ในซีรีส์มีการดัดแปลงเรื่องราวจากในประวัติศาสตร์จริงอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการนำเสนอในเชิงบวก รวมถึงบทสรุปของเรื่องราวตามเหตุการณ์จริง ซึ่งถือว่าทำได้ดี เป็นซีรีส์ที่ไม่ใช่แค่บอกเล่าที่มาของวงการฟุตบอลสมัยใหม่ แต่ยังให้แรงบันดาลใจที่ดีเยี่ยมด้วย ถือว่าเป็นผลงานระดับดีเยี่ยมเกินคาดใน Netflix อีกเรื่องเลยครับ

 

ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่

Reference Website

wikipedia.org/wiki/Fergus_Suter

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!