playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว KING OF STONKS อาชญากรต้มตุ๋นฟินเทคเยอรมันที่เน้นการปั่นหุ้นชอร์ทหุ้นแบบสนุกๆ

Summary

ถือเป็นซีรีส์ที่นำเสนอแนวอาชญากรปั่นหุ้นเป็นตัวเอกได้สนุกเพลินๆ มีความปวดหัวกับปัญหารอบด้านรุมเร้าตัวเอก แอบเอาใจช่วยให้เขารอด ตัวเรื่องติดตลกอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้เครียดซีเรียสหรือน่าเบื่อ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นทำได้ดีนักในเรื่องรายละเอียดที่มาบริษัทฟินเทคในเรื่องนี้ว่าเติบโตมาได้อย่างไร ออกแนวเล่าข้ามๆ ทำให้เรื่องที่บอกสร้างจากเรื่องจริงดูลอยๆ จนไม่น่าเชื่อถือเท่ากับซีรีส์แนวนี้เรื่องอื่นๆ ที่มักสร้างจากคดีจริงแล้วแต่งเติมเพิ่มได้สนุกกว่า อย่างแอนนามายาลวงของเน็ตฟลิกซ์ ดรอปเอาท์ของดิสนีย์+เป็นต้น

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • เน้นเรื่องราวการปั่นหุ้น ชอร์ตหุ้น ที่ได้ความรู้ดีและสนุกกับการได้เห็นขั้นตอนการปั่นหุ้นแบบต่างๆ
  • แรงบันดาลใจจากเรื่องแนวๆ นี้ในโลกสตาร์ทอัพฟินเทค (แต่ไม่ได้สร้างมาจากเรื่องจริง)
  • เรื่องราวติดตลกแทรกเป็นระยะๆ พอขำกับการแก้ปัญหาเอาตัวรอดของพระเอกได้
  • ซีรีส์ 6 ตอนจบสั้นๆ
  • มีพากย์ไทย

Cons

  • ที่มาที่ไปบริษัทเล่าข้ามไปมาไม่ค่อยชัดเจนจนคำที่อ้างว่าจากเรื่องจริงดูลอยๆ เป็นเรื่องแต่งที่โม้เกินแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงด้วย
  • CEO ของพระเอกดูต๊องๆ จนน่ารำคาญมาก
  • เรื่องดูติดตลกเยอะจนทำให้ดูเว่อร์ๆ ไม่สมจริงอย่างที่อ้างไว้ตอนเปิดเรื่อง
  • ถ้าไม่มีความรู้เรื่องหุ้นจะงงๆ อยู่บ้าง

KING OF STONKS ซีรีส์ Netflix เยอรมัน 6 ตอนจบ เรื่องราวของอาชญากรต้มตุ๋นรายใหญ่ของวงการฟินเทค ที่พยายามเอาตัวรอดปั่นหุ้นให้บริษัทพุ่งแรงไม่หยุด แต่ก็ต้องเจอกับสารพัดปัญหารุมเร้าที่พร้อมจะทำให้เขาติดคุกได้ทุกเมื่อ

 King of Stonks (2022) on IMDb

เรื่องย่อ

เฟลิกซ์ อาร์มันด์ โปรแกรมเมอร์ที่กลายมาเป็นนักต้มตุ๋นที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้บงการเบื้องหลังบริษัท FinTech สตาร์ทอัพหน้าใหม่ของเยอรมันนี แนวธุรกิจรับจ่ายเงินดิจิตอล กำลังจะทำ IPO และมีดีลสัญญาใหญ่กับรัฐบาล ทุกอย่างดูไปได้สวย แต่เบื้องหลังคือการฟอกเงิน การหลอกลวงของนักลงทุน และทำงานกับมาเฟียอินเตอร์เน็ตเว็บโป๊ ที่เรื่องทั้งหมดกำลังจะถูกเปิดโปงโดยนักชอร์ตหุ้น ชีล่า วิลเลียมส์ ผู้หญิงที่เฟลิกซ์ไม่ควรตกหลุมรักด้วยจริงๆ ซึ่งเขาต้องจัดการมันทั้งหมดด้วยตัวเองทั้งสื่อมวลชน การเมือง มาเฟียข่มขู่ รวมถึงปัญหาขัดแย้งกับแม็กนัส CEO ที่ทำงานเป็นหน้าตาให้บริษัท แต่กำลังคิดขายบริษัทนี้ทิ้งเพื่อเอาตัวรอด

รีวิว KING OF STONKS

ซีรีส์ที่ขึ้นในเรื่องว่าสร้างจากเรื่องจริง แต่พอเช็คดูแล้วน่าจะแค่ได้แรงบันดาลใจคดีปั่นหุ้นสตาร์ทอัพต่างๆ มาสร้างเรื่องราวเป็นของตัวเองมากกว่า เพราะไม่เจอบริษัทเคเบิลแคชที่ระบุในเรื่องนี้ว่ามีตัวตนจริงแต่อย่างใด (ในเรื่องอ้างว่าเป็นคดีโกงใหญ่สุดหลอกรัฐบาลเยอรมันได้หลายพันล้านยูโร) 

แต่ถ้าข้ามเรื่องข้อเท็จจริงพวกนั้นไป นี่ก็คือเรื่องราวแนวๆ เดียวกับการโกงมหากาพ์ช่วงหลังในตลาดฟินเทค คือการที่พยายามอ้างว่าสร้างนวัตกรรมใหม่ทางไอทีขึ้นมาดิสรัปหรือเปิดตลาดใหม่จนกลายเป็นใครๆ ก็อยากเข้ามาจับจองซื้อหุ้น เพราะกลัวพลาดแบบตอนเฟซบุ๊ก กูเกิล เป็นต้น แต่ในเรื่องนี้บริษัทที่ว่าแทบไม่มีอะไรแบบนั้น เป็นเพียงแค่ตัวกลางรับชำระเงินแบบ paypal ที่เกิดมาจากการรับชำระเงินคนดูเว็บโป๊ ซึ่งในเรื่องก็ข้ามจุดนี้มาเลยถึงตอนที่กำลังเตรียมเข้าตลาดหุ้นทำ IPO กันแล้ว ซึ่งก็อาจจะงงๆ ในช่วงแรกบ้างว่าตกลงแล้วบริษัทแบบนี้เติบโตมาจนทำ IPO ได้อย่างไร มีแค่การอธิบายช่วงหลังแบบลวกๆ นิดหน่อยเท่านั้น 

ตัวเรื่องเหมือนตั้งใจโฟกัสที่ตัวเอกเฟลิกซ์มากกว่า โดยเส้นเรื่องทั้งหมด 6 ตอนของซีรีส์นี้คือการเติบโตของเขาจากโปรแกรมเมอร์ตัวเล็กๆ ที่ค่อยๆ กลายมาเป็นมืออาชีพด้านการตบตาปั่นหุ้น ฟอกเงิน ซึ่งเรื่องก็ทำออกมาแนวสนับสนุนอาชญากรเศรษฐกิจให้เป็นตัวเอกแบบตรงๆ คือทั้งเรื่องจะไม่ได้เล่าไปในทางที่ทำให้รู้สึกว่าเฟลิกซ์ผิด โดยการเดินเรื่องแบบว่ามี CEO ตัวร้ายของเรื่องกดหัวเขาอยู่ ทำให้เขาต้องคอยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นพยุงบริษัทให้รอดไปได้เรื่อยๆ โดยที่เจ้า CEO นี่ลอยหน้าลอยตาหาแต่เรื่องให้ แถมยังออกแนวคาแรกเตอร์กวนๆ ปัญหาอ่อนไปเรื่อย จึงทำให้ตัวเอกดูเหมือนนักแก้ปัญหาจากเรื่องผิดที่เขาไม่ได้ก่อขึ้นมาเอง แล้วเขาก็ยังเป็นคนที่ไม่ได้ชั่วร้ายอะไรมากแค่พยายามเอาตัวรอดพร้อมพาพนักงานให้รอดด้วยให้ได้เท่านั้น

ปัญหาของเฟลิกซ์ไม่ได้มีแค่การพยุงบริษัท แต่เขายังต้องหาทางปกปิดการเชื่อมโยงของบริษัทกับการฟอกเงินให้นายทุนมาเฟียตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทอยู่ด้วย แต่เรื่องนี้ไม่ได้ทำมาแนวโหดสมจริงอะไร เพราะจริงๆ มันคือแนวตลกแอบเสียดสีเรื่องจริงอยู่เรื่อยๆ ปัญหามาเฟียก็เลยเป็นดูเรื่องขำๆ ที่ตัวเอกต้องพยายามหาทางเอาตัวรอดให้ได้จากการไปสัญญาเฟคๆ หลอกมาเฟียเอาตัวรอดอยู่เรื่อย

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความรักในเรื่อง ที่เฟลิกต้องเจอกับ ชีล่า วิลเลียมส์ สาวผิวสีที่มาทำความรู้จักในวันเปิด IPO แต่จริงๆ แล้วเธอคือนักช็อทหุ้นตัวเอ้ (การช็อทหุ้นคือการทำกำไรกับหุ้นที่ตกดิ่งเหว) ซึ่งก็คือศัตรูตัวร้ายที่แฝงเข้ามาสืบหาข้อมูลทำลายหุ้นของเคเบิลแคชโดยตรง จากการร่วมมือกับนักข่าวขุดคุ้ยความปลอมลวงโลกของที่นี่ แต่กลายเป็นว่าทั้งคู่ค่อยๆ มีความรู้สึกดีต่อกัน ซึ่งความรักในเรื่องก็ค่อยๆ พัฒนาไปจนถึงจุดที่ความจริงกระจ่าง กลายเป็นปัญหาที่เฟลิกซ์ต้องเลือกว่าจะเอาชนะคนรักหรือยอมโดนจับเข้าคุก ซึ่งจุดนี้เองคือไคลแม็กซ์ของเรื่องที่เป็นแผนซ้อนแผนกันหลายตลบ แอบลุ้นเรื่องรักกับเรื่องเอาตัวรอดของตัวเอกทั้งคู่ ซึ่งเรื่องหาทางออกได้ดี และจบได้ค่อนข้างสวย แต่ก็ยังไม่วายทิ้งปมไว้เผื่อทำซีซั่น 2 ได้อีกแหนะ

เรื่องนี้ด้วยความว่าเกี่ยวกับการปั่นหุ้นเป็นเมนหลักของเรื่อง ทำให้ต้องมีศัพท์หลายอย่างกับการเล่นหุ้นเข้ามาในเรื่องบ่อย ซึ่งใครที่ตามไม่ทันหรือไม่รู้ตรงจุดนี้ก็อาจจะงงๆ ดูไม่สนุกไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเข้าใจก็จะสนุกไปกับกลโกงการสร้างเครดิตราคาปั่นหุ้นแบบได้ความรู้กลับมาไม่น้อยครับ

ถือเป็นซีรีส์ที่นำเสนอแนวอาชญากรโกงเป็นตัวเอกได้สนุกเพลินๆ มีความปวดหัวกับปัญหารอบด้านรุมเร้าตัวเอก แอบเอาใจช่วยให้เขารอด แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นทำได้ดีนักในเรื่องรายละเอียดที่มาบริษัทฟินเทคในเรื่องนี้ว่าเติบโตมาได้อย่างไร ออกแนวเล่าข้ามๆ ทำให้เรื่องที่บอกสร้างจากเรื่องจริงดูลอยๆ จนไม่น่าเชื่อถือเท่ากับซีรีส์แนวนี้เรื่องอื่นๆ ที่มักสร้างจากคดีจริงแล้วแต่งเติมเพิ่มได้สนุกกว่า อย่างแอนนามายาลวงของเน็ตฟลิกซ์ ดรอปเอาท์ของดิสนีย์+เป็นต้น

อ่านรีวิวหนัง Netflix ในเว็บไซต์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!