playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว ONE TAKE เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของ BNK48

สรุป

สารคดีที่คนทั่วไปดูไม่เข้าใจ คนเป็นแฟนคลับเป็นโอตะก็คงไม่ชอบ ด้วยประเด็นที่ล้าสมัยและการเล่าเรื่องที่น่าเบื่อ งานภาพและเพลงประกอบช่วยหนังไว้จริง ๆ

Overall
4/10
4/10
Sending
User Review
4 (2 votes)

Pros

  • ไดอารี่เล่าเรื่องราวก่อนเลือกตั้งที่คนนอกอาจจะสนใจ
  • ถ่ายทำภาพได้สวยมาก
  • เพลงประกอบเพราะ
  • ได้เห็นซีนอารมณ์ของเมมเมอร์ที่ไม่เคยเห็น
  • ได้เห็นคนนอกได้เข้ามามีส่วนร่วม

Cons

  • ประเด็นที่พยายามเล่าล้าสมัยน่าเบื่อ ขนาดตามวงยังไม่ชอบเลย
  • ดูเซ็ตฉากเกินไป ไม่ได้รู้สึกถึงอะไรเลย
  • หนังไม่มีการปูอะไรมาให้เลย เข้าประเด็นของวง ไม่ใช่ประเด็นของสาว ๆ มีการจะดราม่าแต่ไปไม่ถึงฝั่ง

ONE TAKE

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของ BNK48

 One Take (2020) on IMDb

ภาพยนตร์สารคดีเน็ตฟลิกซ์เรื่องแรกของประเทศไทย จากที่ตอนแรกมีกำหนดฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่เดือนเมษายน แต่เนื่องด้วยสภาวะโคโรน่าไวรัสระบาดได้ทำให้ภาพยนตร์ต้องเลื่อนฉาย จนในที่สุดก็ต้องย้ายมาอยู่ในสตรีมมิ่งตาม ซึ่งส่วนตัวผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วโลกได้สัมผัสเรื่องราวความสุข ความทุกข์ ที่แลกมาพร้อมกับการยืนอยู่ในจุดที่เรียกว่าไอดอล ของกลุ่มผู้หญิง โดยนำเรื่องราวของ BNK48 วงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปอันดับหนึ่งของไทยที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็มักอยู่ในหน้าสื่อต่าง ๆ ซึ่งผมจะไม่บอกว่ามีใครบ้างในวงนะ เพราะเดี๋ยวจะยาว เอาเป็นว่าวง BNK48 เป็นวงน้องสาวของ AKB48 วงไอดอลชื่อดังของประเทศญี่ปุ่นที่มาตั้งสาขาในประเทศไทย และตามธรรมเนียมก็จะต้องมีสารคดีถ่ายทอดชีวิตของพวกเธอซึ่งเรื่องแรกก็คือ GIRL DON’T CRY ที่กำกับโดย เต๋อ นวพล ที่กวาดเสียงคำชมพร้อมกับรางวัลนานาชาติมากมาย ซึ่งหาดูได้ในเน็ตฟลิกซ์เช่นกัน

แต่การกลับมาในรูปแบบสารคดีของวง BNK48 ในครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน เพราะครั้งนี้ โดนัท มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ผู้กำกับหญิงที่ได้ขึ้นชื่อเรื่องความเนี้ยบที่ผ่านงานแสดงและงานกำกับมาหลายชิ้นได้ก้าวเข้ามาถ่ายทอดเรื่องราวของ ONE TAKE ตามธรรมเนียมหลักในฐานะวง AKB48 คือ งานเลือกตั้งเซ็นบัตสึ หรือ เซ็นบัตสึโซเซ็งเกียว (Senbatsu Sousenkyo) เป็นงานกิจกรรมประจำปีของเอเคบีโฟร์ตีเอต (AKB48) ที่เปิดโอกาสให้แฟนคลับสามารถลงคะแนนสมาชิกที่ตนชื่นชอบให้เป็นเซ็นบัตสึของซิงเกิลได้ โดยในประเทศไทยนั้นคือ การเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 6 (BNK48 6th Single Senbatsu General Election) ในปี 2562

การเลือกตั้งเซ็มบัตสึประจำปีครั้งแรกของวงบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต มีขึ้นเพื่อคัดเลือกสมาชิกจำนวน 32 คน จากการโหวตของแฟนคลับ โดยคนที่ได้อันดับ 16 คนแรก จะได้ร่วมขับร้องและแสดงในเพลงหลักของซิงเกิลที่ 6 ในขณะที่ 16 คนที่อยู่อันดับต่ำลงมาจะได้เป็น อันเดอร์เกิร์ล และจะต้องมีอีกหลายคนที่ไม่ได้สักอันดับ นี่จึงเป็นที่มาของเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยความสัมพันธ์ที่ต้องต่อสู้ทั้งกับตัวเอง กับคนอื่น กับภายนอก เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขและความหวังที่จะได้ทำตามความฝันในภาพยนตร์สารคดี BNK48 : ONE TAKE

จะอินได้คุณต้องอินกับระบบและวง ไม่งั้นคุณจะงงอย่างแรง

สารคดีเดินเรื่องพูดถึงรุ่นที่สอง ตามที่เคยปูไว้ใน GIRL DON’T CRY หนังใช้การเล่าเรื่องแบบการถ่ายทำตามติดสมาชิก และเข้าสัมภาษณ์ประกอบกับการใช้ฟุตเทจเก่า ๆ ที่อาจหาได้ง่ายในยูทูป แต่ถามว่ามันเข้มข้นมั้ย ผมว่ามันไม่ได้เลย การสำรวจความรู้สึกของทั้งรุ่นหนึ่งและรุ่นสองที่มีต่อกัน ผ่านการตั้งกล้องถ่ายสัมภาษณ์ที่ถ่ายทำออกมาในลักษณะของการไปสัมภาษณ์คนนั้นคนนี้มากมาย หรือแม้แต่การไปสัมภาษณ์เจ้าของเพื่อให้ได้มุมมองของจุดเริ่มต้นในการเลือกตั้ง ขอบอกตามตรงแบบไม่อ้อมค้อม ขนาดผมที่ตามวงมายังงงเลย คิดว่า คนที่จะอินกับเรื่องนี้ได้ต้องเป็นคนที่ติดตามวง BNK48 เพราะหนังไม่ได้ปูอะไรมาให้เลยด้วยซ้ำ เพราะหนังเหมือนจะขายให้คนที่ตามหรือเป็นแฟนดูมากกว่า ถ้าได้ดู ก็คงจะไม่รู้สึกอินตามอย่างที่มันควรจะเป็น เพราะมันคือการบอกเล่าถึงวงธุรกิจไอดอลที่มีงานเลือกตั้งเป็นตัวสร้างความรู้สึกที่เป็นไปในแง่ลบมากกว่า

ตอนนั้น กับ ตอนนี้ ไม่เหมือนกัน

การยัดใส่ฟุตเทจต่าง ๆ เบื้องหลังทั้งเก่าและไม่เก่าที่ใส่เข้ามาเรื่องของการเรียนการแสดง การเซ็ตฉากเพื่อให้เข้าใจหัวอกของกันและะกัน การใส่ความคิดของการเป็นไอดอลที่ต้องแข่งขันกันมันก็ล้าสมัยไปแล้วสำหรับในปีนี้ แม้จะมีบางฉากที่รู้สึกถึงความจริงใจในการเสนอ หรือการพยายามใส่การตอบโต้ทางความคิดระหว่างเมมเมอร์ถึงการทำทุกอย่างเพื่อเป็นที่หนึ่ง แต่มันก็ดูเป็นการถ่ายทำแบบตั้งใจมากกว่าความเป็นธรรมชาติจริง ๆ โดยผมจะไม่เทียบกับสารคดีก่อนหน้า อาจเพราะด้วยสารคดีที่ทำเสร็จช้าด้วยหรือเปล่า ถึงทำให้บางประเด็นมันไม่สมูธพอ เอาจริง ๆ ชื่อหนังยังไม่ได้ขับเน้นความเป็น เทคเดียวของชีวิตเลยด้วยซ้ำ จริง ๆ หนังควรจะชื่อ REAL ME แบบที่มันเคยจะเป็นมากกว่า ONE TAKE สุดท้ายมันก็ไม่ได้รู้สึกเรียลแบบที่หนังพยายามจะเป็นเลย เพราะเรารู้ความคิด รู้ทุกสิ่งหมดแล้ว น่าเสียดาย เพราะงานของคุณโดนัทค่อนข้างจะเนี้ยบ แต่รอบนี้รู้สึกว่าการเล่าเรื่องและประเด็นมันไม่ได้ช่วยให้อินได้อย่างรุนแรง

สุดท้ายทุกคนก็ต้องจำนนกับชีวิตที่มันไม่เคยแฟร์

งานเลือกตั้งถือเป็นสิ่งที่ทำให้เมมเมอร์เครียดมาก เพราะพวกเขาต้องเจอทั้งแรงกดดัน ทั้งความคาดหวัง แต่การถ่ายทอดในเรื่องนี้ก็ทำให้เรารู้สึกแบบแล้วยังไงล่ะ ก็เราเห็นอยู่แล้วผ่านสื่อ สุดท้ายใครจะได้ตำแหน่งไหนในการเลือกตั้งมันก็อยู่ที่กำลังเงินของแฟนคลับ จริง ๆ แฟนคลับก็คือตัวละครหนึ่งที่สำคัญที่ผลักดันให้ฝันเป็นจริงเพราะชอบที่เราเป็นใคร แต่ไม่ว่าจะเจ็บปวดแค่ไหน ต้องยอมรับและพัฒนาตัวเองต่อไป อย่างน้อยมันก็คือประสบการณ์ในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิต แต่ช่วงที่ผมควรจะชอบในช่วงท้ายกลับจบลงแบบดื้อ ๆ ทิ้งไปแบบไม่ทันจะได้อิน มันก็จบแล้ว สรุปชีวิตของสาว ๆ เหล่านี้ก็ยังคงต้องแข่งขันกันอย่างไม่มีสิ้นสุดอยู่ดี

อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดหลังจากที่ดูจบ อาจจะมีฉากบางฉากที่ผมรู้สึกอึ้ง แต่ก็มีน้อยมากจนน่าใจหาย เรียกได้ว่าเป็นสารคดีที่แฟนคลับดูคงเฉย ๆ คนดูทั่วไปก็คงไม่มีทางชอบแน่นอน แต่งานภาพที่จัดซะสวย มุมกล้องถ่ายให้เห็นสีหน้าเมมเมอร์ และเพลงประกอบกลับเป็นสิ่งที่ดีของหนังไม่ว่าจะเป็นเพลง It’s life ของเฌอปรางที่ถ่ายทอดการแบกรับภาระและใช้ชีวิตยืดหยัดด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ it’s me ที่เปิดขึ้นมาตอนจบมันก็ดิ่ง แต่หนังกลับไม่ส่งให้เพลงเหล่านี้มีความหมาย กลับกันเพลงกลับทำให้เราอินมากกว่าที่หนังพยายามจะสื่ออีก

แล้วสรุปกลุ่มเป้าหมายของสารคดีนี้คือกลุ่มใด

กลุ่มเป้าหมาย มันก็ต้องเป็นอย่างมากสุดก็คือแฟนคลับ เหล่าโอตะที่ติดตามวงมาตลอดเกือบ 4 ปี นี่แหละถึงจะอินเพราะมันก็เหมือนสมุดบันทึกช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งที่มีเมมเมอร์มาเล่าให้ฟัง แต่คนธรรมดาได้ดูคงจับต้องอะไรกับประเด็นที่หนังพยายามจะสื่อไม่ได้ พูดแบบไม่อ้อมค้อม คือมันเฉพาะกลุ่มจริง ๆ ผมที่ตามวงมา ยังรู้สึกไม่ชอบเลยกับการที่หนังพยายามเซ็ตตัวเองเป็นสารคดีโดยที่ตั้งกล้องตามถ่ายไว้ ประเด็นที่หนังพยายามจะสื่อ ผมเชื่อว่าเหล่าแฟนคลับ เหล่าโอตะคงรู้กันอยู่แล้ว ดีไม่ดีคนธรรมดามาดูคงไม่สามารถจับใจความหรือดูจนจบได้ เพราะงั้นถ้าอยากจะดูเรื่องนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวงอย่างน้อยก่อน เพราะสารคดีเรื่องนี้ ถ้าไม่ตามวง ไม่เข้าใจแน่นอนครับ ถ้ามีสารคดีเรื่องหน้า ควรไปหาทิศทางใหม่ดีกว่านะครับ

ตัวอย่าง ONE TAKE

ติดตามรีวิวซีรีส์ หนัง Netflix เรื่องอื่นคลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!