playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Miracle in Cell No.7 (ปาฏิหาริย์ห้องขังหมายเลข 7) ฉบับตุรกีที่ต่างจากเกาหลีใต้

Miracle in Cell No.7

สรุป

จากหนังเรียกน้ำตาของเกาหลีใต้ที่โด่งดังกลายเป็นหนังตุรกีที่ถ่ายทอดแบบดราม่า และเรียบง่ายกว่าที่ให้ความประทับใจในแบบฉบับของตน

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
5 (2 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • หนังรีเมคจากหนังดังของเกาหลีใต้ แต่เล่าในแบบฉบับของตนเอง
  • สาระที่ยังสะท้อนปัญหาความยุติธรรมในสังคมยังคงมีอยู่
  • สองนักแสดงนำทำหน้าที่ได้น่าประทับใจ

Cons

  • ความแตกต่างจากต้นฉบับอาจทำให้ใครที่คาดหวัง สไตล์แบบเดิมอาจผิดหวัง
  • ความเรียบง่ายของฉบับตุรกี ทำให้ตัวหนังมีความซ้ำกับหนังเกี่ยวกับคุกเรื่องอื่น ต่างไปจากฉบับเกาหลีใต้

เมื่อปี ค.ศ.2013 มีหนังเกาหลีใต้ที่สร้างปรากฎการณ์ในประเทศเพราะกลายเป็นหนังทำเงินเกิดคาดคิด เรื่องราวปาฏิหาริย์ระหว่างพ่อสติไม่สมประกอบที่ติดคุก กลับได้พบกับลูกสาววัยน่ารักอีกครั้ง ใน Miracle in Cell No.7 (ปาฏิหาริย์ห้องขังหมายเลข 7) ผลงานของผู้กำกับ อีฮวานกยอง ซึ่งผสมผสานทั้งหนังเมโลดราม่าเรียกน้ำตา กับหนังตลก และหนังคนคุกขึ้นโรงขึ้นศาล ปะปนกับกลิ่นอายแฟนตาซี และศาสนาคริสต์ในบางฉาก ซึ่งส่งผลให้มีคนดูตีตั๋วหนังชมหนังเรื่องนี้กว่า 12 ล้านใบ ทำเงินในประเทศ 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์ก้ำกึ่ง แต่ก็ได้รับการเสนอชื่อและกวาดรางวัลไปไม่น้อยเช่นกัน และด้วยความที่มันเป็นทุนสร้างไม่สูง ไม่มีดาราดัง ทำให้ในบรรดาสิบอันดับหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของเกาหลีใต้ มันเป็นหนังที่ทำกำไรสูงที่สุด

 Yedinci Kogustaki Mucize (2019) on IMDb

ตัวอย่าง Miracle in Cell No.7 ฉบับตุรกี

ความนิยมของหนังเรื่องนี้ยังทำให้มันถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมคในหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย, ฟิลิปปินส์ และล่าสุดคืออินโดนีเซียซึ่งมีกำหนดฉายในปีนี้ แต่ในปี 2019 ที่ผ่านมาเองก็มีฉบับของประเทศตุรกีซึ่งเป็นหนังที่เราจะนำมาเขียนถึงนี้

ฉบับของประเทศตุรกีใช้ชื่อเดียวกันกับของเกาหลี ภายใต้ชื่อภาษาเตอร์กิซว่า 7. Koğuştaki Mucize ผลงานกำกับของ เมเม็ด อดา ออสเตกิน (ซีรี่ส์โทรทัศน์ Tek Yürek ปี 2019) ซึ่งก็กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดประจำปีที่แล้วของประเทศ ทำรายได้เฉพาะในตุรกีกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เรื่องราวความผูกพันระหว่าง เมโม (Aras Bulut İynemli นักแสดงชายชื่อดังของตุรกี) พ่อพิการทางสมองกับ โอวา(Nisa Sofiya Aksongur) ที่อุบัติเหตุการเสียชีวิตของลูกสาวพันโท ผู้มีอิทธิพลคนหนึ่ง ทำให้เขาถูกจับยัดข้อหา และพิพากษาให้มีโทษประหารชีวิต หากการไปอยู่ห้องขังหมายเลข 7 ความบริสุทธิ์ของเมโมที่ถูกมองอย่างน่ารำคาญ ก็ทำให้ผู้นำนักโทษในนั้นเริ่มลดอคติ ต่อมาเมื่อเมโมยังได้ช่วยชีวิตตนเองจากการลอบทำร้าย ทำให้เขาหาทางให้โอวามาพบกับผู้เป็นพ่อในเรือนจำได้สำเร็จ

แม้จะเป็นการรีเมค แต่ก็ต้องเรียกได้ว่ามันมีลีลาและสไตล์การเล่าเรื่องที่ต่างไปจากต้นฉบับโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ต้นฉบับถูกเล่าด้วยลีลาเมโลดราม่าสลับกับฉากตลก นักแสดงและวิธีการแสดงถูกออกแบบมาให้ขำกันจริงจัง ฉบับตุรกีกลับเล่าเรื่องด้วยการเร้าอารมณ์แบบหนังดราม่า ปูมหลังเกิดขึ้นในช่วงอดีตที่นานกว่าต้นฉบับ ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนแปลงรายละเอียดหลายอย่าง จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการหยิบยืมพล็อต และเรื่องราวของตัวละครหลักจากหนังเรื่องเดิมมาใช้เสียมากกว่า

ต้นฉบับนั้นแม้จะทำเงินมหาศาล มีทั้งคนที่ซาบซึ้งเสียน้ำตา รวมถึงคอหนังเกาหลีบ้านเรา แต่กับผู้เขียนเองมองว่ามีจุดด้อย และความไม่สมเหตุสมผลมากพอสมควร ตัวหนังเองโดดเด่นในพล็อตแบบที่เป็นส่วนผสมของหนังดังๆ แบบ Forrest Gump กับ Shawshank Redemption แต่เล่าแบบหนังตลกเกาหลี หากปัญหาของหนังคือรายละเอียดการเล่าสะเปะสะปะ เต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผล ลูกสาวตัวเอกมีโอกาสเข้ามาในคุกมากเกินกว่าหนึ่งครั้งด้วยสารพัดวิธีอย่างไม่น่าเชื่อ มีความพยายามหนีออกจากคุกแบบเพ้อฝันถึงขั้นสร้างบอลลูนให้ลอยหนีออกไปแต่ไม่สำเร็จ

ฉบับตุรกีแม้จะเล่าไม่สนุกเท่า แต่ก็นับเป็นงานดราม่าที่เรียบง่ายแต่สวยงามกว่าผ่านการแสดงที่สะท้อนความรักของพ่อและลูกสาวตัวเล็กได้โดยไม่ต้องฟูมฟาย ปรับจากกลิ่นอายของศาสนาคริสต์ เป็นอิสลาม จากเหตุการณ์ในเมืองกลายเป็นชนบท ที่ถ่ายบรรยากาศภูมิประเทศอันโดดเด่นของตุรกี เปลี่ยนผู้ใช้อำนาจจับตัวเอกเข้าคุกจากนายตำรวจยศสูงเป็นนายทหารยุคที่ประเทศอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการ และมีเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดราวทศวรรษที่ 1960s โดยมีมุขตลกสอดแทรกไม่มาก

นอกจากนี้ยังมีฉากการเสียชีวิต และการซ้อมนักโทษที่ดูสมจริงและรุนแรงกว่า โดยยังได้เพิ่มรายละเอียดครอบครัวของตัวเอกให้มียายคอยดูแลโอวาให้ดูสมเหตุสมผลขึ้น กินเวลาที่เกิดขึ้นในคุกน้อยกว่า ไม่มีฉากขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่มีการตัดสลับระหว่างอดีตกับปัจจุบันมากเหมือนต้นฉบับ และตัวละครนักโทษคนอื่นในเรื่องจะมีบทบาทจนเปลี่ยนแปลงตอนจบต่างจากแบบเดิมของเกาหลีใต้อีกด้วย

เรียกได้ว่าด้วยกลวิธีดังกล่าวอาจจะถูกใจคอหนังดราม่าของยุโรป มากกว่าสไตล์การเล่าที่มีสีสันแบบเอเชียจากต้นฉบับ ฉบับตุรกีนั้นยังดูมีเหตุมีผลกว่าเนื่องจากตัดเหตุการณ์บางอย่างที่ดูไม่สมจริงออกไปค่อนข้างมาก

หากทั้งสองฉบับก็ยังคงสะท้อนสาระเดียวกันนั่นคือปัญหาความไม่ยุติธรรมในประเทศ ที่การใช้อำนาจบาตรใหญ่สั่งการแบบผิดๆ จากคนที่มีตำแหน่งมาทำร้ายคนตัวเล็กๆ ไม่มีทางสู้ให้กลายเป็นแพะรับบาปไปนั่นเอง

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!