playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

Opinion: US ถึง Huawei เราทำได้แต่นายห้ามทำ เข้าใจ๊

  • ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนนะครับว่าปัจจุบันผมใช้มือถือ Huawei อยู่ และถือเป็นหนึ่งในผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบในอนาคต ในขณะที่ผมเองก็เสียภาษีให้กับสหรัฐอเมริกาในทุกๆ ปีเช่นกันเนื่องจากกฏหมายข้อบังคับที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงนี่ แม้ว่าตัวผมเองจะไม่ได้อยู่ในสหรัฐถึงจำนวนวันตามปีภาษีก็ตามที

ตรงนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า สหรัฐนั้นมีความสามารถในการบังคับกฏหมายที่นอกเขตแดนของเขาได้อย่างง่ายดาย ด้วยหลักการเดียวกัน ถ้าคุณไม่ทำตาม คุณก็จะโดนดี

บทความนี้ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้าข้างใคร แต่จะพูดในฐานะคนไทยที่เป็นประเทศตรงกลาง และเราควรจะมองเหตุการณ์นี้เป็นกลางมากกว่าเลือกจะรักหรือชังใครโดยไม่ได้ตรึกตรองให้ดีก่อน


ากเหตุการณ์ที่ Huawei และบริษัทในเครือโดนรัฐบาลสหรัฐจับขึ้นบัญชีดำ ที่ห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกิจด้วยหากไม่ได้รับอนุญาต ด้วยสาเหตุเรื่อง”ความมั่นคงของประเทศ” นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่สิ่งที่อเมริกาทำก่อนหน้านี้มันไม่ได้กระทบคนเป็นวงกว้างเช่นนี้ อันนี้คือกระทบกับผู้บริโภคทั้งโลกที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วยเลย

[bs-quote quote=”การจับผู้ใช้ทั่วโลกเป็นตัวประกันในสงครามการค้ามันไม่แฟร์เอาซะเลย” style=”default” align=”left” author_name=”NiCK” author_job=”Author”][/bs-quote]

การที่ Huawei โดนแบน อเมริกาให้เหตุผลที่กว้างมาก ไม่ระบุและไม่มีหลักฐานชัดเจนให้เราได้เห็น จะมีที่เป็นข่าวก็เรื่องขโมยความลับด้านเทคโนโลยี

อเมริกาเป็นประเทศที่มีรากฐานความคิดที่ดี ความกล้าได้กล้าเสียทำให้ประเทศพัฒนาสิ่งใหม่ๆ มาให้โลกได้ใช้ถึงทุกวันนี้ รวมถึงมันสมองที่ไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้มีการพัฒนาหลายๆอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยี

ไม่ใช่แค่นั้น ด้านอื่นๆ อย่างเช่น ยารักษาโรคที่พัฒนายาแบบต่างๆ ออกมาให้เราได้ใช้ผ่านการลงทุนศึกษาและพัฒนาจนมียาดีๆ ให้เราได้ใช้กันในวันนี้

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ รู้มั้ยครับว่า อเมริกาก็เคยขโมยความลับแบบที่จีนกำลังทำอยู่มาก่อน เพื่อนำมาพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า เช่นเดียวกับที่จีนกำลังทำอยู่ ผมไม่ได้สนับสนุนเรื่องการขโมยสิทธิบัตรหรือเทคโนโลยี แต่เราต้องแยกแยะก่อนว่า ก่อนที่จะตัดสินใคร ควรย้อนกลับไปดูตัวเองก่อน


ในช่วงปี 1800 ถึง 1900 เป็นช่วงที่อเมริกายังเพิ่งเริ่มสร้างประเทศใหม่ๆ ในยุคนั้นสหราชอาณาจักร เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกล อเมริกาเองไม่มีความสามารถและแรงงานที่มีคุณภาพพอที่จะสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเองตั้งแต่เริ่ม
เพื่อที่จะให้แข่งขันได้ อเมริกาใช้วิธีนำเงินมาล่อ เพื่อดึงดูดคนงานที่มีความรู้ในการใช้และประกอบเครื่องจักร รัฐบาลให้เงินสนับสนุนคนที่สามารถสร้างเครื่องจักรที่ลอกมาจากของสหราชอาณาจักรได้ด้วย

ใครที่แอบนำชิ้นส่วนเครื่องจักรมาให้อเมริกาได้ คนนั้นก็จะได้รางวัลจากรัฐบาล พฤติกรรมนี้ไม่ต่างจากจีนในวันนี้เลยแม้แต่น้อย เพียงแค่เกิดกันคนละยุคเท่านั้นเองครับ

สมัยนั้นสหราชอาณาจักรเองก็ป้องกันความลับของตัวไว้เต็มที่ ถึงขนาดมีค่าปรับมหาศาลและมีการสั่งจำคุกคนที่พยายามชักชวนให้คนอังกฤษไปทำงานที่อเมริกา แต่สุดท้ายความลับและแรงงานก็หลุดไปอยู่ดี

เคสที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีที่ Francis Cabot Lowell ขโมยความลับหลังจากเยี่ยมชมโรงงานในอังกฤษและสก็อตแลน โดยเขาใช้วิธีจดจำดีไซน์ของเครื่องจักรและการทำงานภายในของมัน จากนั้นเขาเดินทางกลับอเมริกาแต่เรือก็ถูกให้หยุดตรวจโดยเจ้าหน้าที่ของสหราชอาณาจักร แต่ไม่พบอะไร เนื่องจากทุกอย่างอยู่ในหัว Lowell หมดแล้ว

กรณีนี้แทบจะเหมือนกับที่รัฐบาลสหรัฐฟ้องคดีอาญา Huawei กรณีที่ขโมยความลับด้านเทคโนโลยีจาก T-Mobile โดยคดีนี้ Huawei โดนกล่าวหาว่าพนักงานที่เข้ามาดูการทำงานของหุ่นยนต์ทดสอบการใช้งานโทรศัพท์มือถือ โดยเจ้าหุ่นยนต์นี้มีชื่อว่า Tappy จากเอกสารคำฟ้อง รัฐบาลระบุว่า Huawei สั่งให้วิศวกรของตนถ่ายรูปและสอบถามข้อมูลการทำงานมาให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยการทำงานและดีไซน์ที่ซับซ้อนของเครื่องจักรเมื่อเทียบกับเมื่อ 200 ปีก่อน ทำให้วิศวกรของ Huawei ต้องขโมยแขนกลออกมาจากห้องแล็บเพื่อวัดขนาดด้วยตัวเองแทนการถ่ายรูป ผลที่ตามมาคือหลังจากนั้น T-Mobile ไม่อนุญาติให้วิศวกรคนนั้นเข้าไปร่วมดูงานอีกต่อไปและนี่นำมาสู่ปัญหาคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้

จะเห็นได้ว่าอเมริกาในวันนั้น ก็คือจีนในวันนี้ ถามว่าผิดมั้ย ผมตอบเลยว่าผิดทั้งคู่ จีนเองก็เป็นประเทศใหม่ที่กำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจไม่ต่างจากอเมริกาเมื่อ 200 ปีก่อน และจีนน่าจะเลือกหาทางออกในการแบ่งปันเทคโนโลยีร่วมกันแทนการขโมยเอาซึ่งๆหน้า

การแก้ปัญหาขโมยความลับ อาจจะแก้ได้ด้วยการแบ่งปันเทคโนโลยีผ่านคนกลาง หรือตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาร่วมกันระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ถ้าทำไม่ได้จริงๆ การแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ทำได้ด้วยการฟ้องศาลและให้ศาลตัดสินแทนที่จะออกกฏกันเองจากการกล่าวหาลอยๆ หากเปลี่ยนจากการตบตีมาเป็นร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้นร่วมกัน เราคงได้เห็นเทคโนโลยีพัฒนาไปได้ไวกว่านี้อีกแน่นอนครับ

Info graphic โดย ACLU

ส่วนเรื่องการสอดแนมประชากร อันนี้จะว่าก็ไม่ได้ เพราะอเมริกาเองก็ทำอยู่ไม่ต่างกัน ยิ่งกว่านั้นยังลามไปถึงนอกประเทศด้วย การที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่า Huawei มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน และอาจจะมีการส่งข้อมูลไปให้เจ้าหน้าที่รัฐหากมีการขอ แต่ในทางกลับกันอเมริกาเองก็มีกฏเกณฑ์ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการใช้กฏหมาย Patriot Act ที่ขอบเขตกว้าง และการอนุมัติจากศาลก็เป็นความลับไม่สามารถเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ได้ และเคสส่วนใหญ่ศาลจะอนุมัติ เนื่องจากการอ้าง “ความมั่นคง”

ในมุมมองสหรัฐ จีนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ แน่นอนกว่าความโปร่งใสย่อมไม่เท่ากับสหรัฐที่ต้องผ่านขั้นตอนมากกว่า แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่อเมริกาเคยทำในเรื่องการสอดแนม ที่ส่วนมากประชาชนเองก็ไม่ได้รับรู้อะไรด้วยเลย บริษัทอเมริกันเองก็ต้องยอมให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลได้ โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิในการแย้งคำสั่งลับของศาลได้เลยด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้เลยกลายเป็นว่า เราทำได้แต่นายห้ามทำนะ แบบนี้ถ้าจะให้ดี อเมริกาควรแบนเฉพาะจีนไม่ใช่ออกคำสั่งที่กระทบกับคนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย ระบุขอบเขตลงไปให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อให้บริษัทเอกชนได้มีแนวทางในการรับมือ แทนที่จะแค่ออก executive order มาแล้วโยนให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐจัดการที่เหลือเอง ผลของ Executive order ในหลายๆครั้งเป็นการสร้างความวุ่นวายให้หน่วยงานภายในบ้านตัวเองแบบไม่จำเป็น

มันก็แค่เกม

สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา อย่าเพิ่งตื่นตูมกันไป มือถือของ Huawei ที่วางขายไปแล้วในปัจจุบันจะยังคงได้รับการสนับสนุนต่อไป เพียงแต่รุ่นอื่นๆในอนาคตจะไม่มีความแน่นอน จนกว่าปัญหานี้จะคลี่คลาย และผมค่อนข้างมั่นใจว่า เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงไอทีโลก หากจีนเลือกจะที่จะพัฒนาอะไรเองภายใน ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอีกแล้ว

เราจะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน ถ้าเกิดว่าการแบนครั้งนี้ยังดำเนินต่อไปอย่างหาทางออกไม่ได้ อย่างน้อยเราก็ยังมีมือถือค่ายอื่นๆให้ได้เลือกใช้อีกมาก แต่เมื่อไม่มีการแข่งขัน มันก็มีความเป็นไปได้ว่า เทคโนโลยีใหม่ๆที่เราจะได้เห็นก็จะช้าลงเรื่อยๆ เกิดการผูกขาดในตลาดมากขึ้น ผมก็ได้แต่หวังว่าอเมริกากับจีนจะสามารถกลับมาจับมือกัน และร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อความก้าวหน้าที่ยั่งยืนกว่านี้ในอนาคต

อ้างอิง: Boston, NPR, ACLU

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!