playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

ทำไม Huawei ถูกแบน? สาเหตุจุดชนวนสงครามโลกการค้ายุคใหม่

Huawei ถูกกูเกิลแบน จากข่าวดังสะเทือนโลกวันนี้ เมื่อ Google ประกาศยุติการสนับสนุนบริการต่างๆ ให้กับ Huawei ซึ่งจะส่งผลให้โทรศัพท์ Huawei ไม่สามารถอัพเดท Android เวอร์ชั่นต่อไปได้ รวมถึงไม่สามารถใช้บริการต่างๆ ของ Google ในเครื่องรุ่นต่อไปได้ (กูเกิลยืนว่าเครื่องในปัจจุบันยังสามารถใช้งานได้เป็นปกติ) ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่ Google แต่รวมไปถึงบริษัทอเมริกาอื่นๆ ที่ตามมาด้วย อย่าง Microsoft Qualcomm Intel ฯลฯ ซึ่ง Huawei ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนอุปกรณ์ และซอฟแวร์หลายอย่างของอเมริกา ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้กลายเป็นชนวนสงครามการค้าระดับโลกครั้งใหญ่ ที่จะแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ในโลกแน่นอน

ทำไม Huawei ถูก Google แบน?

ซึ่งสาเหตุที่มาที่ไปของเรื่องนี้มาจากหลายๆ อย่างประกอบกัน โดยต้นเหตุมาจากสหรัฐอเมริกาเปิดสงครามการค้าทุกรูปแบบ เล่นทุกวิถีทาง ไม่มีอีกแล้วซึ่งการค้าเสรีใสๆ แต่อย่างใด ทางผู้เขียนวิเคราะห์ว่าประเด็นหลักๆ มีดังนี้

สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่1.จุดเริ่มต้นเรื่องนี้น่าจะมาจากมูลเหตุ “สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ ลั่นชาติต่างๆ อย่าคบค้าสมาคม” (อ่านเรื่องราวละเอียดที่ BBC) เนื่องมาจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ และเมื่อเจรจาไม่สำเร็จก็ประกาศคว่ำบาตรการค้าขายกับอิหร่าน และห้ามไม่ให้ประเทศในเครือสหประชาชาติค้าขายด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายประเทศก็กลัวปัญหากับสหรัฐจึงยอมทำตาม แต่แล้ว ZTE ซึ่งเป็นบริษัทไอทีอันดับสองของจีน ที่ทำธุรกิจเครือข่ายโทรคมนาคมอยู่ในสหรัฐฯ กลับถูกโทษแบนห้ามทำการซื้อขายสินค้ากับอเมริกาทุกชนิดเป็นเวลา 7 ปี หลังถูกจับได้ว่าติดต่อขายอุปกรณ์ไอทีให้กับอิหร่าน (มีเกาหลีเหนือพ่วงมาด้วย) สุดท้าย  ZTE จำยอมจ่ายค่าปรับ 900 ล้านดอลลาร์ ถึงกลับมาทำธุรกิจกับสหรัฐฯ ได้อีกครั้ง ซึ่งนี่เป็นเหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นครั้งแรกของ สหรัฐฯ คงหวังว่าจะได้ผล และไม่มีชาติไหนกล้าทำแบบนี้อีก แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น..

ลูกสาวหัวเว่ย
ลูกสาวผู้ก่อตั้ง Huawei เมิ่ง หวั่นโจว

2.ชนวนประทุครั้งที่ 2 จากคดี จับลูกสาวหัวเว่ย “เมิ่ง หวั่นโจว” เมื่อปลายปี 2561 ขณะที่เธอรอเปลี่ยนเครื่องบินที่สนามบินเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา โดยถูกทางการสหรัฐฯ ร้องขอมาแล้ว “จัสติน ทรูโด” นายกรัฐมนตรีแคนาดาคนใหม่ตอบสนอง มีการจับกุมตัวเธอและกำลังส่งกลับไปตัดสินอเมริกา โดยข้อกล่าวหาคือ เมิ่ง หวั่นโจว ตั้งบริษัท “สกายคอม” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของหัวเว่ย ขึ้นมาบังหน้าเพื่อทำธุรกิจขายอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับอิหร่านในช่วงปี 2552 ถึงปี 2557 ซึ่งเป็นการละเมิดมติคว่ำบาตรอิหร่านของสหประชาชาติ ซึ่งสหรัฐฯ ยอมไม่ได้ เพราะชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ของหัวเว่ยก็มีของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน สำหรับคดี “เมิ่ง หวั่นโจว” ล่าสุดพึ่งขึ้นศาลที่แคนาดานัดแรกวันที่ 2 พ.ค. 2562 เธอต่อสู้ร้องขอไม่ให้ถูกส่งตัวไปตัดสินคดีที่สหรัฐฯ ซึ่งดูแล้วคดีนี้คงยืดเยื้อไปอีกนาน แม้เธอจะได้รับการประกันตัว แต่ก็ห้ามออกนอกแคนาดา และต้องถูกใส่กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวตลอดเวลาอีกด้วย ไม่ได้กลับบ้านและกลายเป็นนักโทษแบบไม่ทันตั้งตัวไป โดยที่รัฐบาลจีนก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ นอกจากตอบโต้ด้วยการจับกุมคนของทางอเมริกาในข้อหาสายลับแทน ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เกิดการต่อรองปล่อยตัวลูกสาวหัวเว่ยแต่อย่างใด…

 

5G Huawei
5G Huawei ภาพจาก BBC

3. เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยประสบความสำเร็จนำหน้าคู่แข่งอย่างมาก ทั้งประสิทธิภาพและราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งในโลกทั้งหมด ทำให้สามารถเข้าไปทำสัญญาได้ในหลายประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเริ่มต้นเทคโนโลยีนี้ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กังวลว่าจะสุ่มเสี่ยงกับความมั่นคงไปจนถึงหากเกิดสงความไซเบอร์ขึ้นมา ถ้าหากเครือข่ายไร้สายทั่วโลกรวมถึงอเมริกาต้องขึ้นกับบริษัทชั้นนำจากจีน ซึ่งถูกมองว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับรัฐบาลจีน และรัฐบาลจีนเองก็ได้ออกกฎหมายเมื่อปี 2017 ให้บริษัทจีนต้องส่งมอบข้อมูลให้รัฐบาลถ้ามีการร้องขอตรวจสอบขึ้นมา โดยประเด็นความกังวลนี้แพร่ขยายลุกลามกลายเป็นข้อห้ามไม่ให้หน่วยงานต่างๆ และโอเปอร์เรเตอร์โทรคมนาคมในอเมริกาห้ามใช้อุปกรณ์ต่างๆ ของ Huawei ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จับขึ้นแบล็คลิสต์ อ้างว่ามีึความสุ่มเสี่ยงในการถูกสอดแนมข้อมูล และส่งคำเตือนไปยังทั่วโลกในเรื่องนี้ ซึ่งก็มีประเทศพันธมิตรที่รับลูกสหรัฐฯ แล้วอย่าง ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ห้ามใช้เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยเป็นอันขาด ประเด็นปัญหานี้ แม้จะไม่มีหลักฐานว่าหัวเว่ยมีการดักส่งข้อกลับจีน และหัวเว่ยเองก็ปฏิเสธในเรื่องเหล่านี้ จนถึงขั้นต้องลงนามความปลอดภัยกับประเทศต่างๆ เพราะติดต่อค้าขายกับทั่วโลกยิ่งต้องมีความโปร่งใส และหลายชาติก็ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยมาตลอด ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น แน่นอนว่านี่เป็นเกมบีบสกัดคู่แข่งทางการค้า ซึ่งสหรัฐฯ รู้ว่า 5G จะเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการติดต่อสื่อสารครั้งใหญ่ จึงไม่ยอมให้หัวเว่ยจากจีนยึดโลกด้านนี้ไปได้ (อ่านข่าว 5G ประกอบที่นี่)

 

donald Trump tax 25%4. สงครามการค้าระอุ สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 25% หลังการเจรจาการค้ารอบล่าสุดระหว่างสหรัฐกับจีนไม่เป็นผล ซึ่งเกิดขึ้นจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นว่าอเมริกาขาดดุลย์การค้ากับทั่วโลก จึงตั้งแง่กับทุกประเทศในลิสต์ (มีไทยด้วย) ให้มีการเจรจาซื้อขายสินค้าใหม่ให้สมดุลย์กัน (*อาวุธทางหารไทยก็เกี่ยวพันกับตรงนี้ด้วยนะ ไทยเลยต้องซื้อทั้งจีนกับอเมริกาพร้อมกัน) ซึ่งที่อื่นๆ ก็ดูเป็นไปด้วยดี แต่กับจีนที่สหรัฐขาดดุลย์การค้าล่าสุดรวมแล้วถึง 3.01 แสนล้านดอลลาร์ (อ่านข่าวเพิ่มเติมคลิก) ซึ่งหนักสุด ทำให้เกิด สงครามการค้ากับจีนขึ้นในปี 2651ต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันด้วยการปรับกำแพงภาษีสินค้านำเข้า แต่สหรัฐฯ ได้ออกมาใช้มาตราการนี้อย่างรุนแรงก่อน โดยมีลิสต์รายการปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 10% เป็น 25% จำนวนมาก (แต่ยังไม่รวมอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ที่เป็นสินค้าหลักของสหรัฐฯ ที่ต้องพึ่งพิงโรงงานจีนอย่างมาก อย่างการผลิตสินค้าของ Apple) ซึ่งทรัมป์เองก็ได้ประกาศชัดเจนว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น จะต้องเป็นข้อตกลงที่สหรัฐได้ประโยชน์มากกว่า ไม่มีทางที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์เท่ากันแบบ 50-50 เพราะจีนเอาเปรียบสหรัฐฯ มาก่อนนานแล้ว (ทรัมป์น่าจะหมายรวมถึงบริการออนไลน์ต่างๆ อย่างเฟซบุ๊ค กูเกิล ที่ถูกแบนในจีนมานานด้วย)ทรัมป์ระบุว่า เขายินดีกับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน เพราะภาษีเหล่านี้จะทำให้สหรัฐมีรายได้มากขึ้นถึง 1 แสนล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น และมองว่าจีนจะต้องยอมเจรจารับเงื่อนไขใหม่ที่อเมริกาได้สัดส่วนมากกว่า 50-50 เพราะมีสินค้าจากจีนเข้ามาขายในอเมริกามากมาย ทำให้เสียหายมากกว่าถ้าเอามาขายอเมริกาไม่ได้เนื่องจากต้นทุนภาษีที่แพงขึ้นมาก และสินค้าที่ถูกขึ้นภาษีเหล่านั้นทางอเมริกาเองก็สามารถติดต่อซื้อขายกับชาติอื่นแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจากจีน และผลจากการบีบครั้งนี้ก็จะทำให้บริษัทต่างๆ ที่มีฐานการผลิตในจีน และที่กำลังจะไปตั้งโรงงานที่จีน ตัดสินใจย้ายหนีไปผลิตจากที่ประเทศอื่นในเอเชียแทน (เวียดนามเป็นแหล่งผลิตใหม่ที่ต่างชาติแห่ไปตั้งโรงงานอยู่ในตอนนี้) แต่จีนก็ตัดสินใจไม่ยอมอ่อนข้อให้ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอเมริกาอย่างหนักเช่นกัน โดยมีผลวันที่ 1 มินายน 2562 นี้ ดูแล้วไม่มีใครยอมใคร สงครามนี้คงยืดเยื้อต่อไปอีกสักพักใหญ่แน่นอน…

 

หัวเว่ยแซงไอโฟน
ยอดส่งออกมือถือทั่วโลกไตรมาสล่าสุด Huawei ขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก และมียอดบวกเพิ่มสูงสุดในทุกบริษัท

5. หัวเว่ยกำลังขึ้นเป็นเบอร์ 1 โทรศัพท์มือถือของโลก จากผู้ผลิตขายในประเทศไม่กี่ปีก่อนหัวเว่ยกลับรุกขึ้นมาเบียดแบรนด์อันดับต้นๆ ลงได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการชูประสิทธิภาพคุ้มค่า กล้องชั้นเยี่ยม สเป็คและราคาอยู่ในเกณฑ์ที่จับต้องได้ พร้อมทั้งปั้นแบรนด์พรีเมียมร่วมมือกับแบรนด์ไลก้าของเยอรมนี ลบภาพสินค้าด้อยคุณภาพจากจีนไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สัดส่วนการตลาดหัวเว่ยสูงขึ้นสวนทางกับตลาดโลกที่มีการอิ่มตัว ซึ่งเกิดจากการกินส่วนแบ่งไอโฟนไปอย่างมาก จนล่าสุดก็สามารถแซงไอโฟนได้สำเร็จ และตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำตลาดเบอร์ 1 ในปี 2020 ซึ่งที่ 1 คือซัมซุงที่ยอดขายลดลง รวมถึงไอโฟนก็ตกเป็นที่ 3 และยอดขายหดตัวอย่างหนักที่สุด แน่นอนว่าสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศนโยบาย “อเมริกาเฟิร์ส” ที่ประโยชน์ของอเมริกาต้องมาก่อน ไม่ยอมอยู่เฉยปล่อยให้บริษัทของอเมริกาตกที่นั่งลำบากแน่นอน ทุกมาตรการที่เตะตัดขาได้ก็ถูกงัดมาใช้ แม้จะไม่เอ่ยถึงตรงๆ ในลิสต์ (Entity list) ซึ่งคำสั่งนี้ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เป็นเรื่องของการ “ห้ามส่งออก” ผลิตภัณฑ์จากบริษัทสหรัฐฯ ไปยังบริษัทจีน ทำให้กูเกิลต้องปฏิบัติตาม และก็เป็นการช่วยสกัดดาวรุ่งคู่แข่งไอโฟนไปพร้อมกันด้วย

 

ล่าสุดยังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ของหัวเว่ยกับรัฐบาลจีน มีแค่คำกว่าวสั้นๆ จากกระทรวงต่างประเทศจีนโดย Lu Kang โฆษกกระทรวงบอกว่า “จะปกป้องบริษัทจีนที่มีสิทธิ์ถูกต้องด้วยกระบวนการทางกฎหมาย” แต่คาดว่าคงไม่ยอมอ่อนข้อจำนนง่ายๆ ซึ่งทางหัวเว่ยเองก็มีการเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว โดย Huawei ได้พัฒนา OS ของตัวเองขึ้นมาในบริษัท แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ (โค๊ดเนม “Hongmeng”)  ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ไปทางหัวเว่ยคงต้องหันมาพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ซึ่งชาวจีนก็ปลุกกระแสชาตินิยม เทใจให้แบรนด์แห่งชาติฝ่าวิกฤติครั้งนี้ให้สำเร็จอีกด้วย

*อัพเดทล่าสุด สหรัฐฯ ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับ Huawei เป็นเวลา 90 วัน อ่านข่าวต่อคลิกที่นี่

อ่านข่าวเทคโนโลยีอื่นๆ คลิกที่นี่

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!