playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Jupiter’s Legacy (Netflix) ซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่ที่ดูเกรด B กว่าฟอร์มโปรโมทจนน่าผิดหวัง (ไม่มีสปอยล์)

สรุป

ซีรีส์มีแก่นเรื่องแนวดราม่าปัญหาครอบครัวซูเปอร์ฮีโร่จากมุมมองของนักเขียนการ์ตูนดัง มาร์ค มิลล่าร์ ที่แปลกใหม่ดี ตัวเรื่องนำเสนอผลกระทบของหลักการทำตัวเป็นตัวอย่างคนดีของซูเปอร์ฮีโร่ในอีกมุมมองที่น่าสนใจ แต่ปัญหาของเรื่องมาจากหลายอย่าง ทั้งฉากแอ็กชั่นกับ CG พวกพลังพิเศษที่ดูไม่ได้ลงทุนมากเมื่อเทียบกับฟอร์มของเรื่อง ตัวละครรุ่นลูกเหมือนตัวประกอบสมทบที่ไม่ค่อยมีบทบาท การเล่าเรื่องที่ตัดแฟลชแบ็คสลับไปมาตลอดเรื่องจนดูไม่ต่อเนื่อง ทำให้แก่นของเรื่องที่ดีกลายเป็นซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่ที่ดูเกรด B กว่าในปัจจุบันที่นิยมทำกันออกมามากมายเข้าไปอีก

Overall
5.5/10
5.5/10
Sending
User Review
5 (2 votes)

Pros

  • ปมตั้งคำถามถึงการเป็นคนดีตามกฎของซูเปอร์ฮีโร่ดั้งเดิมว่ายังใช้ได้อยู่หรือไม่ในปัจจุบัน
  • ช่วงย้อนอดีตก่อนได้พลังของทีมรุ่นพ่อน่าติดตาม (ผจญภัยหาเกาะร้างเหมือนแนวคิงคอง)
  • ผลงานจากการ์ตูนของมาร์ค มิลลาร์ ที่เน็ตฟลิกซ์ดีลลิขสิทธิ์ไว้เรื่องแรก
  • โยงเศรษฐกิจสภาพสังคมเข้ากับบทบาทซูเปอร์ฮีโร่ในเรื่อง
  • ฉากมีความรุนแรงพอสมควร
  • มีเสียงพากย์ไทย

Cons

  • ฉากแอ็กชั่นน้อย CG พลังพิเศษดูพื้นๆ ทั่วไปออกแนวเกรดบี
  • ตัวละครรุ่นเด็กขาดเสน่ห์ บทมีแค่ผิวเผิน ใส่มาเพื่อฆ่าทิ้งไปหลายคน
  • การตัดแฟลชแบ็คย้อนอดีตถี่ๆ แบบไม่เชื่อมโยงกับปัจจุบันทำให้เรื่องดูไม่สมูธ
  • ซ่อนตัวร้ายแนววางแผนบงการ ซึ่งธรรมดาไปแล้วในยุคนี้
  • เรื่องจบแบบทิ้งปมขาดการเล่าเรื่องในอดีตให้ครบเยอะมาก
  • พลังที่มาของวายร้ายต่างๆ ในเรื่องแทบไม่มี
  • เรื่องดูยืดเยื้อไปกับปัญหาดราม่ามากไป

Jupiter’s Legacy จูปิเตอร์ส เลกาซี่ ซีรีส์ Original Netflix แนวซูเปอร์ฮีโร่ 8 ตอนจบซีซั่น จากผลงานของ มาร์ค มิลลาร์ เมื่อเหล่าซูเปอร์ฮีโร่รุ่นแรกช่วยปกป้องโลกให้ปลอดภัยมาเกือบศตวรรษแล้ว ตอนนี้ถึงคราวที่รุ่นลูกจะต้องมาสานต่อหน้าที่ให้ได้ดีเท่ารุ่นพ่อรุ่นแม่

 Jupiter's Legacy (2021) on IMDb

ตัวอย่าง Jupiter’s Legacy จูปิเตอร์ส เลกาซี่

Jupiter's Legacy เวอร์ชั่นการ์ตูน
Jupiter’s Legacy เวอร์ชั่นการ์ตูน

ซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกของ Netflix ที่ดีลจนได้สิทธิ์มาจากการ์ตูนของมาร์ค มิลลาร์ ในอังกฤษ ไม่ใช่ทั้งจาก DC หรือมาร์เวล ซึ่งชื่ออาจจะไม่คุ้นกับหลายๆ คน แต่ถ้าบอกว่าเขาคือคนแต่งเรื่อง KICK-ASS, WANTED, KINGSMAN ที่ถูกนำไปสร้างเป็นหนังดังทั้งสามเรื่องคงต้องเคยดูหรือผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งเอกลักษณ์ผลงานของเขาคือการดัดแปลงแนวซูเปอร์ฮีโร่ให้อยู่ในรูปแบบใหม่ อย่างคิกแอสที่เห็นชัดว่าเป็นแนวเรียลฮีโร่ Wanted เองที่ตัวเอกเป็นพนักงานออฟฟิสที่กลายมาเป็นมือปืนยิงกระสุนวิถีโค้ง รับงานฆ่าคนเลวจากเทพีสามองค์ที่คุมด้ายแห่งโชคชะตา กับ Kingman แนวสายลับกู้โลก ซึ่งจริงๆ ก็คือแนวฮีโร่แบบหนึ่งนี่แหละ ซึ่งจูปิเตอร์ส เลกาซี่ เองก็ถูกนำเสนอไปในแนวทางฮีโร่แบบใหม่ที่แตกต่างออกไป แต่กลับกลายเป็นเรื่องยากเมื่ออยู่ในมือของผู้สร้างที่มือไม่ถึงอย่าง Steven S. DeKnight เจ้าของผลงานผู้กำกับ Pacific Rim: Uprising อันเละเทะนั่นเอง

 

โครงเรื่องกับปมหลักในเรื่อง

โครงเรื่องของจูปิเตอร์สคือโลกนี้มีซูเปอร์ฮีโร่มาร่วมศตวรรษแล้ว ตั้งแต่ยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมอเมริกา ทั้งหมดเป็นกลุ่มคนอเมริกันที่ตั้งสหภาพซูเปอร์ฮีโร่ขึ้นมาพร้อมกฎ ห้ามฆ่าตัวร้าย ห้ามแทรกแซงรัฐบาล ไม่เข้าไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสังคมประวัติศาสตร์ (อย่าสงครามโลกครั้งที่ 2) เพื่อรักษาไว้ซึ่งเจตจำนงค์เสรีของมนุษย์ พวกเขาเป็นเพียงแค่ตัวอย่างดีงามให้ผู้คนยึดถือมาตลอด แต่กลายเป็นว่าในปัจจุบันสังคมกลับเสื่อมทรามลง และรุ่นลูกของพวกเขากลับรู้สึกว่ากฎนี้กลายมาเป็นปัญหาในการทำหน้าที่รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมเป็นอย่างมาก จนสุดท้ายคนที่แหกกฎก็กลายเป็นลูกชายของยูโทเปียน ผู้นำของสหภาพนี้เอง จนกลายเป็นผลกระทบกลับมาหาทั้งครอบครัวซูเปอร์ฮีโร่และการคงอยู่ต่อไปของสหภาพที่รุ่นพ่อก่อตั้งขึ้น

ปมในเนื้อเรื่องของจูปิเตอร์สยังมีประเด็นน่าสนใจใหม่ๆ สะท้อนจากมุมมองของตัวมาร์ค มิลลาร์ โดยตรง เห็นได้จากที่เขาเองก็เป็นอดีตนักเขียนมาร์เวลเขียนตอน CIVIL WAR กับ LOGAN และถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนัง จนโด่งดังจากความแปลกแตกต่างในเนื้อหาที่ลุ่มลึก ซึ่งการที่เรื่องนำเสนอยึดติดกับกฎสองข้อที่ว่า ก็มาจากการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ที่ผ่านมาเองมักจะเป็นแบบนี้เสมอ (ไม่นับพวกแอนตี้ฮีโร่) การไม่ฆ่าก็เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายมาเป็นศาลเตี้ยลงฑัณฑ์ตัดสินเองก็เป็นเรื่องสมเหตุผลเข้าใจได้ แบบเดียวกับตำรวจมีหน้าที่จับส่งเข้าคุก (ในโลกนี้มีคุกพิเศษสำหรับวายร้ายโดยเฉพาะเหมือนกันในชื่อ ซูเปอร์แม็ก) ส่วนการไม่แทรกแซงรัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของมนุษย์ในโลก ก็เหมือนเป็นคัมภีร์ที่สืบทอดกันมาของ DC กับมาร์เวลเอง ที่การมีอยู่ของซูเปอร์ฮีโร่เพื่อปราบวายร้ายพิเศษที่ตำรวจทหารรับมือได้ลำบากเท่านั้น ถ้าเป็นเหตุการณ์ของมนุษย์กันเองก็จัดการไป เพื่อไม่ให้ซูเปอร์ฮีโร่มามีอำนาจบทบาททางการเมืองจนประชาชนไม่เชื่อถือกระบวนการปกครองอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้ สมเหตุผลในแบบหนึ่ง แต่จูปิเตอร์สเลือกข้ามเส้นกฎพวกนี้ไปโดยการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของกฎที่ว่าในปัจจุบัน เมื่อเหล่าร้ายก็ไม่หมดไปสักที แถมยังกลายเป็นการแก้แค้นกลับรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสูตรวายร้ายที่ไม่ตายสักทีแล้วรอดมาก่อเหตุซ้ำๆ แทนที่จะฆ่าทิ้งไปให้จบๆ ดังนั้นจะเป็นอย่างไรถ้ารุ่นลูกหรือ Gen X Z ในปัจจุบันที่มักต่อต้านกฎเกณฑ์จากคนรุ่นก่อนอยู่แล้ว กลายมาเป็นซูเปอร์ฮีโร่รุ่นใหม่ที่รุ่นเก่าพยายามฝึกสอนให้มาทำหน้าที่แทนตัวเอง แต่ก็พบว่าพวกเขาไม่อาจจะคุยกับรุ่นลูกรู้เรื่องได้อีกต่อไป ซึ่งไม่ต้องเป็นเรื่องซูเปอร์ฮีโร่ สังคมในโลกจริงก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้วเช่นกัน

เมื่อเรื่องใช้วิธีการตั้งคำถามถึงกฎเก่าๆ ในการ์ตูนดั้งเดิม เหตุการณ์ในเรื่องก็เลยผูกปมหลักใหญ่สุดไว้กับการมีอยู่ของกฎนี้ตลอด ในเรื่องยูโทเปียนตัวเอกหลักรุ่นพ่อถูกนำเสนอภาพเหมือนซูเปอร์แมนที่มีแต่ความดี ตั้งใจทำดีให้เป็นความหวังของมนุษย์ จนกลายเป็นการไม่ยอมปรับตัวหรือเข้าใจรุ่นลูกที่มองว่ากฎนี้ใช้ไม่ได้อีกต่อไป และประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนับสนุนแนวทางเก่า กลับต้องการความเด็ดขาดจัดการวายร้ายให้ตายๆ ไปเลย แบบที่มักชอบพูดกันว่าจับไปขังคุกกินเงินภาษีประชาชนนั่นแหละ ซึ่งคนที่มาแตกหักกฎนี้ก็เป็น “แบรนดอน” ลูกชายคนโตของยูโทเปียนเองที่มีชื่อฉายาว่า The Paragon พารากอน ที่แปลว่า ตัวอย่างที่ดีเลิศ เขาใช้ชีวิตเดินตามกฏพ่อมาตลอดจนอึดอัดกับสิ่งที่เป็น และลงมือฆ่าวายร้ายที่กำลังฆ่าพ่อของเขา เป็นการตัดสินใจเพื่อช่วยชีวิตพ่อ แต่พ่อกลับรู้สึกว่าลูกทรยศหลักการที่สอนมาตลอด จนเป็นการแตกหักในครอบครัวซูเปอร์ฮีโร่ ที่ขยายวงไปยังคนอื่นๆ ทั้งซูเปอร์ฮีโร่รุ่นใหม่กับประชาชนที่เห็นด้วยกับการกระทำของลูกชายยูโทเปียนมากกว่า ทำให้รุ่นพ่อเริ่มรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น และการคงอยู่ของสหภาพก็เริ่มสั่นคลอน

นอกจากการแข็งข้อตามกฎการเป็นซูเปอร์ฮีโร่แล้ว ตัวเรื่องยังเพิ่มน้ำหนักของปัญหานี้มาที่ “โคลอี้” ลูกสาวคนสวยของยูโทเปียนด้วย เมื่อเธอมีพลังแบบเดียวกับพ่อ แต่กลับไม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพ หรือแม้แต่อยากทำหน้าที่ซูเปอร์ฮีโร่เลยแม้แต่น้อย อีกทั้งยังสวนทางด้วยการไปเป็นนางแบบเซ็กซี่ล่อแหลม ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นติดยา สุดเหวี่ยงไปกับปาร์ตี้ทุกค่ำคืน ด้วยการแยกตัวออกไปอยู่คนเดียวจากครอบครัว อีกทั้งยังไม่สนใจฟังพ่อเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่แม่ที่เป็นซูเปอร์ฮีโร่ด้วยก็เริ่มมีปัญหากับการที่สามีไม่เข้าใจโอนอ่อนรับฟังลูก และเริ่มลามมาถึงเธอ เมื่อเธอเข้าใจลูกดีกว่า

นี่จึงเป็นซีรีส์ที่นำเสนอปัญหาครอบครัวซูเปอร์ฮีโร่แบบเข้มๆ ดราม่ามากมายตลอดเรื่องโดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นแนวเฉพาะทางที่แตกต่างออกไปจากเรื่องอื่นๆ เลย แต่ก็ไม่ได้น่าเบื่อ หรือเป็นส่วนแย่ของเรื่อง ปมปัญหานี้เป็นส่วนสำคัญที่ผูกเรื่องราวไว้ทั้งหมดจนถึงตอนจบของซีซั่น และสำคัญมากกับแผนการของตัวร้ายในเรื่องนี้อีกด้วย

 

ส่วนที่สนุกสุดของเรื่องคือที่มาของพลัง

จูปิเตอร์ส เลกาซี่เปิดมาถึงก็กลายเป็นโลกที่มีทั้งซูเปอร์ฮีโร่กับตัวร้ายมีพลังพิเศษเต็มไปหมด อีกทั้งยังมีพวกเวทย์มนต์มาเกี่ยวด้วย ซึ่งมาร์ค มิลลาร์ต้องการให้คนดูเข้าใจไปเลยว่ามันคือโลกปกติของการ์ตูนแนวนี้อยู่แล้ว

แต่ตัวเรื่องจะตัดฉากแฟลชแบ็คกลับไปช่วงก่อนที่ตัวเอกทั้งทีมยังไม่มีพลัง เป็นยุคบุกเบิกก่อร่างสร้างอุตสาหกรรมในอเมริกา บริษัทของตัวเอกที่เป็นกิจการเหล็กขนาดใหญ่กำลังขยายโรงงาน แต่กลับมาเจอตลาดหุ้นล้ม เหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทตก ค.ศ. 1929 ทำให้แทบล้มละลายทั่วอเมริกา พ่อของเชลดอน (ยูโทเปียน) ฆ่าตัวตายต่อหน้าเขา จนกลายเป็นปมในจิตใจเห็นพ่อที่ตายไปแล้วตามาหลอกหลอน แต่ก็กลายเป็นคำใบ้นำไปสู่การแกะรอยสัญลักษณ์ประหลาดจากนิมิตร ที่พาเขากับเพื่อนไปสู่เกาะลึกลับในทะเลแอตแลนติก (พล็อตแอบคล้ายๆ เรื่องคิงคอง) ที่มีประตูลึกลับสู่จักรวาล และมอบพลังให้เขากับพวกที่ถูกคัดเลือกมาจากนิมิตรของเชลดอน

ฉากเปิดตัวของทีมรุ่นแรกใน Jupiter’s Legacy

ตัวเรื่องส่วนนี้เป็นส่วนที่สนุกที่สุดของเรื่อง และเดินเรื่องควบคู่ไปกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาครอบครัวยูโทเปียนกำลังรุมเร้า แต่เป็นการตัดสลับเล่าถี่ๆ โดยไม่อิงความเชื่อมโยงกับปัจจุบันใดๆ เลย อยากจะเล่าก็เล่า ตัดสลับไปมาตลอดเวลา แม้จะไม่งง แต่ออกแนวรำคาญจากการดูไม่ต่อเนื่อง เพราะส่วนการตามหาพลังในอดีตดูสนุกกว่าปัจจุบัน ซึ่งเรื่องกว่าจะเล่าจบก็กินไปถึงตอน 8 สุดท้ายของเรื่องเลย เป็นการปูที่ยาวนานมาก แต่ก็ยังขาดคำตอบที่มาของพลังพวกตัวร้ายต่างๆ ในเรื่อง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเรื่องจะเล่าถึงไหม เพราะจากที่ดูเหมือนต้องการให้เข้าใจว่าหลังจากมีพวกทีมพระเอกเกิดขึ้นมา โลกก็เปลี่ยนไปและมีพวกนี้ปรากฎขึ้นมาเอง โดยมีช็อตนึงทำให้เห็นว่าพลังที่มอบให้พวกตัวเอกรุ่นแรก กระจายไปยังคนอื่นๆ ในวงกว้างไปด้วย แต่ในเรื่องก็ไม่ได้มีอธิบายอะไรนอกจากนั้นตามมา เข้าใจว่าอาจจะต้องการปูไว้ซีซั่นต่อไปด้วย

 

วายร้ายหลักของเรื่อง (ไม่สปอยล์)

ซีรีส์ไม่ได้เดินเรื่องแบบมีวายร้ายบอสใหญ่สุดชัดเจนอะไรมาก แต่คนดูเรื่องแนวนี้ก็คงเข้าใจกันอยู่แล้วว่าเป็นบอสแนว “มาสเตอร์ มายด์” หรือผู้บงการเบื้องหลังโดยใช้แผนร้าย ซึ่งในเรื่องนี้ก็เช่นกัน และก็จะเฉลยเอาตอนสุดท้ายของซีซั่นเลยว่าเป็นใคร ซึ่งก็ไม่ถึงกับว้าวอะไรมาก ก่อนไปต่อที่ซีซั่นสอง แต่ในระหว่างเรื่องก็แก้ขัดโดยการให้มีวายร้ายชื่อ Blackstar เป็นตัวจุดชนวนเชื้อความขัดแข้งในกฎของยูโทเปียน และต้องการพิสูจน์ว่าพวกซูเปอร์ฮีโร่ที่ถือยึดกฎนี้เป็นพวกจอมปลอม ซึ่งถ้าทำสำเร็จ สาธารณะชนก็จะไม่เชื่อถือสหภาพซูเปอร์ฮีโร่อีกต่อไป

 

ฉากแอ็กชั่นกับ CG ในเรื่องดูเกรดบี

ด้วยแนวเรื่องดราม่าปัญหาครอบครัวของเรื่อง ฉากแอ็กชั่นจึงไม่ค่อยได้มีมาก หลักๆ มีแค่ตอนแรกเปิดเรื่องกับตอนท้ายของ EP1 ที่ดูมีฉากสู้สเกลใหญ่นิดๆ ให้ดู ซึ่งก็เหมือนผู้กำกับพยายามอย่างที่สุดแล้วให้ตอนแรกของเรื่องดูน่าติดตาม ซึ่งก็ได้ผลประมาณหนึ่ง แต่ด้วยความที่ตัวเรื่องเปิดมาแบบข้ามสเต็ปการปูเรื่องมาถึงก็มีตัวร้ายอาละวาดเกลื่อนในโลกที่ซูเปอร์ฮีโร่เยอะแยะด้วย ทำให้คนดูคงไม่ทันอิน และยังไม่รู้จักเลยใครเป็นใคร มีพลังอะไร

หลังจากตอนแรกแล้ว ในเรื่องแทบไม่เหลือฉากแอ็กชั่นที่มีระดับสเกลใหญ่อีกเลย เรียกว่าหลังจากนี้ไปแทบเว้นว่าง หรือมีก็แค่เป็นแถมๆ แปะมานิดๆ หน่อยๆ แค่ให้พอไม่ถูกคนดูว่าเอาแค่นั้น แม้แต่ตอนจบก็เป็นฉากต่อสู้แบบพื้นๆ ในคุกซูเปอร์แม็กกับแบล็คสตาร์ ที่ไม่ได้มีอะไรเว่อร์วังให้สมกับเป็นแนวซูเปอร์ฮีโร่เลย แต่กลายเป็นแนวแบบเล่นเกมกับตัวเลือกการตัดสินใจหมือนโจ๊กเกอร์ในภาคดาร์กไนท์ของโนแลน ซึ่งออกจะดูไม่ค่อยเข้ากับวายร้ายที่ดูบ้าพลังด้วย ในขณะที่อีกทางก็เป็นการต่อสู้กับตัวร้ายในจิต ซึ่งก็ดูพื้นๆ ไม่ต่างอะไรกันมากเช่นกัน

ตัวเรื่องพยายามทำฉากเลือดสาดมาตามแนวนิยมยุคนี้ ซึ่งผู้เขียนมาร์ค มิลลาร์เองก็มาแนวนี้อยู่แล้ว แต่ในเรื่องก็ยังไม่ได้ฉากไหนน่าตื่นเต้นประทับใจแบบคิกแอสเลยแม้แต่น้อย มีแต่ฉากตัดอวัยวะขาดที่ดูผ่านไปเฉยๆ ไม่ถึงขั้นแหวกแนวแบบซีรีส์ The Boy ของ Amazon Prime เลยด้วยซ้ำ

CG ประกอบเรื่องดูดีแค่พวกฉากบินต่างๆ (ในเรื่องนี้ทุกคนแทบจะบินได้กันหมด) แต่พวกแสงเอฟเฟ็กต์ดูพื้นๆ ไม่ได้เนียนหรือแย่ ออกแนวกลางๆ ทั่วไป ในเรื่องก็ไม่ได้โชว์ประเภทของพลังอะไรมากกว่าด้วย ที่โชว์มากสุดกลับเป็นไอเทมที่เป็นแท่งวาร์ปไปไหนก็ได้ที่ตัวละครหนึ่งครอบครองมากกว่า

ฉากแอ็กชั่นที่น้อยฉากบวกกับ CG พื้นๆ ดูแล้วรู้สึกได้เลยว่านี่เป็นซีรีส์ที่ไม่ค่อยลงทุนเท่าไหร่ ผิดกับการโปรโมทที่ออกมามาก แม้แต่กับซีรีส์แนวซูเปอร์ฮีโร่ด้วยกันในยุคนี้ก็ยังดูด้อยกว่า จนเหมือนเป็นซีรีส์เกรดบีของแนวนี้ไปเลย

 

ตัวละครไม่มีเสน่ห์ ขาดเอกลักษณ์น่าสนใจ

ในเรื่องแม้จะวางพล็อตไว้หลักๆ กับรุ่นลูก แต่เอาจริงๆ เรื่องของรุ่นลูกแทบไม่มีอะไรมากไปกว่าดราม่าวัยรุ่น พยายามขายฉาก SEX ของโคลอี้ที่วางไว้เหมือนเป็นตัวนางเอกเด่น รับบทโดย Elena Kampouris แต่เธอกลับแค่ดูหน้าตาเก๋ไก๋ ออกแนวพวกอีโมพังค์ นอกเหนือจากนั้นไม่มีอะไรให้รู้สึกว่าน่าจดจำเลย เพราะทั้งเรื่องแทบหมดไปกับการเล่นยา เอาใจตัวเอง การใช้พลังนอกเรื่อง ซึ่งดูแล้วออกแนวน่าเบื่อกับชีวิตตัวละครนี้มากกว่า

ส่วนตัวลูกชายแบรนดอน (รับบทโดย Andrew Horton) ที่รับบทต้องการสืบทอดพ่อ แต่มีคำถามกับกฎที่พ่อตั้งไว้ตลอด บทดูมีความขัดแย้งที่น่าสนใจ แต่ในเรื่องกลับแทบจะไม่ได้มีฉากที่บิ้วอารมณ์ในเรื่องนี้มาก กลายเป็นแบรนดอนเองหลังพลั้งมือฆ่าวายร้ายไป กลับถูกพ่อกักบริเวณไว้ในไร่จนเกือบจบเรื่องถึงได้กลับมาแต่งชุดรัดรูปอีกครั้ง ซึ่งกลายเป็นบทสมทบเรื่องมากกว่าจะเป็นตัวหลักตัวเด่นใดๆ ในเรื่อง โคลอี้คนน้องยังถือว่ามีบทเด่นกว่ามาก อีกทั้งหน้าตาท่าทางก็ดูไม่มีเสน่ห์ให้รู้สึกว่าน่าติดตามตัวละครนี้เลย

และปัญหาของตัวละครรุ่นลูกยังไม่ใช่แค่สองคนนี้ แต่ลามไปถึงตัวอื่นๆ ในเรื่องที่ออกมาคล้ายๆ กันคือเหมือนมีบทแค่ประกอบเรื่อง กับมีไปงั้นๆ เพราะบางคนโผล่มาแปบๆ ก็ตาย เป็นซีรีส์ที่ฆ่าตัวละครง่ายๆ โดยทั้งหมดที่ตายอยู่ในรุ่นลูกทั้งหมด

ตัวหลักสามคนใน Jupiter’s Legacy

แต่เรื่องก็ยังดีที่รุ่นพ่อมีบทที่ดีกว่า ทั้งการแฟลชแบ็คเล่าที่มาก่อนเป็นซูเปอร์ฮีโร่กับในปัจจุบัน ตัวเรื่องพยายามขายพลังพิเศษของแต่ละคนในทีมให้มีความแตกต่างชัดเจน สามนักแสดงหลักอย่าง Josh Duhamel เล่นเป็น เชลดอน/ยูโทเปียน Ben Daniels เล่นเป็น วอลเตอร์/เบรนเวฟ พี่ชายของเชลดอน Leslie Bibb เล่นเป็น เกรซ/เลดี้ลิเบอร์ตี้ ภรรยาของเชลดอน ทั้งหมดก็ดูเหมาะสมและก็รับบทบาทได้ดี แต่พลังของทั้งสามคนก็ยังไม่ได้แปลกใหม่อะไร ยูโทเปียนกับลิเบอร์ตี้เหมือนซูเปอร์แมน บินได้ ตายิงแสงได้ มีพลังความแข็งแกร่งเหนือมนุษย์มาก ลูกสองคนก็พลังเดียวกัน เบรนเวฟมีพลังเจาะเข้าไปในจิตใจ ซึ่งการที่พลังในเรื่องนี้ดูก็อปมาก็เลยทำให้ขาดเอกลักษณ์ไปเลย แต่ก็พอเข้าใจได้ว่ามาร์ค มิลล่าร์เองต้องการเทียบเคียงบทตัวเอกยูโทเปียนเข้ากับซูเปอร์แมน เพื่อให้คนดูเข้าใจในทันทีว่าถ้าซูเปอร์แมนบ้าความดีที่ยึดถือมากไปและก็ไม่ค่อยใช้เวลากับลูกตอนเด็ก จนลูกโตมาแบบขาดความอบอุ่นไม่ยอมรับพ่อแม่กับแอนตี้สังคมในตอนนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นมุมมองที่แปลกใหม่น่าสนใจดีครับ

 

ซีรีส์จบแบบค้างต่อซีซั่น 2 (มีสปอยล์บางส่วน)

ด้วยความที่ตัวเรื่องใช้เวลาปูทุกอย่างยาวนานมาก ตั้งแต่แฟลชแบ็คในอดีตก่อนได้พลังที่ปูมาทั้งเรื่อง แต่ก็ยังไม่ถึงช่วงมีความขัดแย้งกันในทีมที่ยูโทเปียนเอ่ยมาตอนแรกว่า จอร์จ เพื่อนสนิทหรือฉายาสกายฟ็อกซ์ (รับบทโดย Matt Lanter ) กลายมาเป็นวายร้ายคนสำคัญกับทีม ก็ยังไม่ปรากฎตัวออกมาชัดเจนมาก มีแค่ตอนยังไม่ได้พลังที่เล่นบทคู่กับสามตัวหลักมาตลอด ซึ่งการที่สกายฟ็อกซ์ก็ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นตัวร้ายหลักด้วยไหม เพราะสูญหายไปตลอดเรื่อง ตอนจบโผล่มาในจิตให้เห็นเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็นการสร้างจากตัวร้ายอีกคนในเรื่องที่ซ่อนไว้ ซึ่งก็มาเฉลยเอาตอนจบ พร้อมทั้งแรงจูงใจในเรื่องที่เกิดจากความอึดอัดในกฎของยูโทเปียน แบบเดียวกับเรื่องของสกายฟ็อกซ์ที่ถูกเล่าว่า แยกตัวจากทีมและกลายเป็นวายร้ายเพราะเหตุนี้เช่นกัน (เป็นข่าวว่าจับรองประธานาธิบดีเป็นประกัน) แต่เรื่องก็ค้างไว้ที่จุดนั้นทั้งสองคนเลย ซึ่งถือว่าคลุมเครือมากกว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร มีความน่าติดตามอยู่พอสมควร

 

สรุป

Jupiter’s Legacy มีแก่นเรื่องแนวดราม่าปัญหาครอบครัวซูเปอร์ฮีโร่จากมุมมองของนักเขียนการ์ตูนดัง มาร์ค มิลล่าร์ ที่แปลกใหม่ดี ตัวเรื่องนำเสนอผลกระทบของหลักการทำตัวเป็นตัวอย่างคนดีของซูเปอร์ฮีโร่ในอีกมุมมองที่น่าสนใจ แต่ปัญหาของเรื่องมาจากหลายอย่าง ทั้งฉากแอ็กชั่นกับ CG ที่ดูไม่ได้ลงทุนมากเมื่อเทียบกับฟอร์มของเรื่อง ตัวละครรุ่นลูกเหมือนตัวประกอบสมทบที่ไม่ค่อยมีบทบาท การเล่าเรื่องที่ตัดแฟลชแบ็คสลับไปมาตลอดเรื่องจนดูไม่ต่อเนื่อง ทำให้แก่นของเรื่องที่ดีกลายเป็นซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่ที่ดูเกรด B กว่าในปัจจุบันที่นิยมทำกันออกมามากมายเข้าไปอีก ซึ่งคงไม่ต้องโทษใครเลยนอกจากผู้สร้าง Steven S. DeKnight เจ้าของผลงาน Pacific Rim: Uprising นั่นเอง


อ่านรีวิวหนังซีรีส์ Netflix ในเว็บไซต์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!