playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Photocopier หนังที่ชวนหงุดหงิดกับความพยายามมีเหตุผล

สรุป

นี่คือหนังที่กล้าพูดได้เลยว่า อะไรก็ไม่รู้จริงๆ ทั้งพล็อตเรื่อง ประเด็นที่จะนำเสนอ การเล่าเรื่อง  กางวางปม ทุกอย่างพังหมด ดีเพียงแค่นักแสดงนำที่เป็นนางเอกเบอร์ต้นๆ ของอินโดนีเซีย น่ารักแบบบ้านๆ จริง และงานภาพที่ทำออกมาได้สวย ถ้าหากว่าทำความเข้าใจกับบริบทของอินโดนีเซียมากกว่านี้ อาจจะอินก็ได้ แต่ในฐานะผู้ชมหนังทั่วไป บอกเลยว่าไม่ผ่านอย่างแรง ทั้งในด้านหนังดราม่า หนังอาชญากรรม สืบสวน ปริศนา ไม่สามารถทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้โดดเด่นในด้านใดได้จริงๆ

Overall
4/10
4/10
Sending
User Review
0 (0 votes)

Pros

  • งานภาพสวย
  • นักแสดงดี

Cons

  • Cringe
  • บทบาทตัวละคร และพล็อตเรื่องไม่จูงใจผู้ชมให้อินได้เลย
  • พยายามหาเหตุผลให้ทุกๆ อย่างในเรื่องทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น จนดูเยอะเกินไป
  • แม้จะพยายามหาเหตุผลตัวหนังก็มีแต่ความไม่มีเหตุผล และเหตุผลกลวงๆ เต็มไปหมด

Photocopier เงื่อนงำหลังเครื่องถ่ายเอกสาร ภาพยนต์สัญชาติอินโดนีเซียที่ถูกนำมาลง Netflix เรื่องราวเกี่ยวกับนักศึกษาคนหนึ่ง ที่ชีวิตต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า เพียงแค่เธอเมาคืนๆ เดียว ทำให้เธอต้องตามสืบหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับเพื่อนพนักงานร้านถ่ายเอกสารของเธอ

 Photocopier (2021) on IMDb

ตัวอย่าง Photocopier

เรื่องย่อ 

ภาพยนต์เรื่องนี้ฉายที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 2021 และถูกนำมาลง Netflix ให้ชมทั่วโลกพร้อมกันในวันที่ 13 มกราคม 2022 นี้ และยังได้รับรางวัลจากงานภาพยนต์ของประเทศตัวเองอีกหลายรางวัลด้วย แต่มันจะเป็นหนังดีสมกับรางวัลที่ได้หรือไม่ล่ะ?

เซอร์ นักศึกษาสาวเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะการละครในมหาลัยจนทำให้การแสดงได้รับรางวัล ได้ไปงานเลี้ยงฉลองที่ได้รางวัล แต่ด้วยความที่เป็นเด็กไม่ประสีประสามาก ดื่มหนักจนเมาและหมดสติไป พอเธอตื่นเช้ามากลายเป็นว่ามีภาพเซลฟี่ของเธอว่อนไปทั่วโซเชี่ยลมีเดีย จนทำให้เธอต้องชวดทุนเรียนต่อ แถมที่บ้านยังไม่พอใจจนต้องไล่เธอออกจากบ้าน เซอร์จึงพยายามที่จะค้นหาความจริงว่า ใครเป็นคนที่ทำแบบนี้กับเธอกันแน่

ถ้าหากว่าคุณอ่านพล็อตเรื่องแล้วเริ่มเอะใจ และรู้สึกหงุดหงิดแปลกๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะว่าหนังเรื่องนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่สมเหตุสมผลมากกว่านี้อีก พล็อตเรื่องนักศึกษาที่พยายามหาความจริงว่า ตัวเองเมาจริงหรือไม่? เพราะตัวเองเชื่อว่าตัวเองไม่มีทางเมาจนหมดสติและถ่ายเซลฟี่สภาพเมาๆ ของตัวเองลงโซเชี่ยลแน่ๆ เลยพยายามจะสืบหาว่า ใครมันเป็นคนกลั่นแกล้งเรา ใครเป็นคนทำ? ก็เอ็งไม่ใช่รึไงที่เมาแล้วหมดสติลืมทุกอย่างน่ะ แค่เปิดหัวเรื่องมาก็แทบจะทำให้คนดูเริ่มกำหมัดแล้ว

รีวิว Photocopier

**เนื้อหาต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนต์ **

ความเอ๊ะในใจของผู้ชมจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อนางเอกของเรา เรียนเอกวิทย์คอม แต่มาทำอะไรกับคณะละครในมหาลัย ทั้งๆ ที่เด็กนิเทศน์หรือนักศึกษาสาขาเกี่ยวข้องน่าจะมาเป็นตัวละครหลัก หนังก็พยายามจะให้เหตุผลว่าตัวนางเอก ได้มาทำเว็บไซต์ให้กับคณะละคร มันสวยมากจนทำให้ขายบัตรการแสดงได้หมด ตรงนี้แทบจะเป็นการยัดเหตุผลแบบข้างๆ คูๆ มาใส่ด้วยซ้ำ แต่ก็พอมองข้ามผ่านไปได้ เราต้องเปิดใจกับมันนิดหนึ่ง

สิ่งแรกที่ต้องชมในหนังเรื่องนี้เลยคืองานภาพที่สวย ดูเรียลๆ มีการเกรดสีให้ดูหม่นๆ เหมาะกับเรื่องราวแบบ ปริศนา ลึกลับ พร้อมกับการสอดแทรกวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย เช่นการแต่งกายชุดประจำชาติไปงานปาร์ตี้ หรือเรื่องราวข้อห้ามของศาสนา และแทบจะเรียกได้ว่าเป็นความดีงามเพียงไม่กี่อย่างของเรื่อง เพราะที่เหลือต่อจากนี้จะมีแต่อะไรก็ไม่รู้ที่จะทำให้ผู้ชม รู้สึกขัดใจไปแทบทุกอย่างกับหนังเรื่องนี้

ด้วยการที่คณะละครแสดงดีจนประสบความสำเร็จ เครดิตส่วนหนึ่งยกให้นางเอกที่ได้ทำเว็บ (อิหยังวะ) ทุกคนก็เลยไปปาร์ตี้ที่บ้านของ รามาร์ หนึ่งในสมาชิกคณะละคร ที่เป็นลูกคนรวย มีหน้าตาและชื่อเสียง เลยอาสาที่จะจัดงานฉลองให้เพื่อนๆ ที่บ้าน

นางเอกมีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่ง ชื่ออาร์มิน โตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก เป็นพนักงานร้านถ่ายเอกสาร ด้วยความที่เธอไม่เคยไปปาร์ตี้แบบนี้เลยชวนเพื่อนคนนี้ไปด้วย เมื่อไปถึงงานก็มีการจัดฉลองกินดื่มตามประสาวัยรุ่น และหนังเรื่องนี้มีฉากสูบบุหรี่ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว แต่แล้วนางเอกก็เกิดหมดสติเพราะเหมือนว่าดื่มเหล้ามากไป รู้ตัวอีกทีก็ตื่นขึ้นมาที่บ้านแล้ว

กลายเป็นว่าเธอต้องตื่นสายและเกือบที่จะไปสัมภาษณ์ขอทุนการศึกษาไม่ทัน คุณพ่อที่โกรธเพราะเธอดื่มเหล้าก็พยายามจะรั้งเธอไว้ไม่ให้ไปมหาลัย เพราะต้องการสั่งสอน ตรงนี้เขาพยายามจะแทรกเกี่ยวกับวิถี การสอนของพ่อแม่แบบชาวเอเซียที่เข้มงวดกับลูกมากเกินไป จนกลายเป็นตัวละครพ่อโคตรน่ารำคาญมาก ซึ่งประสบผลสำเร็จที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกรำคาญได้

เมื่อเซอร์ไปถึงมหาลัย สัมภาษณ์ขอทุนในสภาพกระเซอะกระเซิง ก็พบว่าได้มีภาพเซลฟี่ตอนเธอเมาว่อนโซเชี่ยล จนมาถึงคณะกรรมการให้ทุน นั่นเลยทำให้เธอต้องชวดทุนเรียนต่อไป ชีวิตพลิกผัน ทางบ้านก็ไม่พอใจโดยเฉพาะคุณพ่อ เธอเลยโดนไล่ออกจากบ้าน จนได้ย้ายมาอยู่ชั่วคราวกับ อาร์มิน เพื่อนที่ทำงานร้านถ่ายเอกสาร เพื่อหาทางสืบเสาะ หาความจริงเกี่ยวกับคืนที่เธอหมดสติไปว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่

เอาจริงๆ แค่มองดูเรื่องราวแค่นี้ก็ยิ่งทำให้มีแต่คำถามมากมาย ผุดขึ้นมาในหัว เหมือนกับว่าตัวละครนางเอก ไม่ยอมรับว่าตัวเองเมา เพราะอะไร? เพราะว่าเธอคือเด็กเรียบร้อยที่เพิ่งหัดกินเหล้า ไม่น่าจะเมาจนหมดสติหรือเผลอทำอะไรแผลงๆ ได้? แล้วเธอจะตามหาความจริงว่าใครกลั่นแกล้งเธอเพื่ออะไร? พอเจอตัวคนร้ายตัวจริงเธอจะทำยังไงกับคนร้าย? แก้แค้น? คือต้องบอกเลยว่า หนังไม่มีเหตุผลรองรับในส่วนนี้ จนแทบทำให้คนดูไม่เชื่อในการกระทำของนางเอกตั้งแต่ต้นเรื่องด้วยซ้ำ

และการกำหนดบทบาท นางเอกเรียนวิทย์คอม เก่งคอมมาก แต่มีเรื่องในคณะละครของมหาลัย ด้วยความเก่งคอมของเธอก็เลยคิดแผนที่จะ “แฮค” ข้อมูลต่างๆ ของเพื่อนร่วมคณะละครตัวเอง เพื่อหาให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ตรงจุดนี้นี่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการยัดบทบาทของตัวละครแบบ มันต้องมีตรงนี้เรื่องราวมันถึงจะสามารถไปต่อได้ ด้วยการให้นางเอกเก่งคอมมาเลย มันเลยยิ่งทำให้เหตุผลอื่นๆ ไม่สามารถจูงใจผู้ชมให้อินไปกับเรื่องได้เลย

การแฮคข้อมูลก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะเธอมาขออยู่กับเพื่อนร้านถ่ายเอกสาร และร้านถ่ายเอกสารจะมีเพื่อนนักศึกษามาใช้บริการเป็นปกติ เธอเลยวางแผนว่าตอนที่เพื่อนในคณะละครของเธอมา ให้อาร์มินถ่วงเวลาแล้วล่อให้เหยื่อ เชื่อมต่อมือถือเข้ากับคอมโดยตรงให้ได้ แล้วเธอก็จะค่อยๆ รู้ความจริงที่มีเบื้องลึกเบื้องหลัง ของเพื่อนบางคนในคณะละครมากขึ้น

เหมือนว่าตัวผู้กำกับ คนเขียนบทเอง พยายามจะหาเหตุผลให้กับทุกสิ่ง ทุกอย่างภายในเรื่อง แต่กลายเป็นว่ามันถูกใส่เข้ามาดื้อๆ เกินไป ไม่มีการขัดเกลาให้มันดูลื่นไหล ยิ่งดูไปก็จะยิ่งตะขิดตะขวงใจว่า เฮ้ย ใส่มาแบบนี้เลยเหรอ อยู่ตลอดทั้งเรื่อง

หนังมีความยาวกว่าสองชั่วโมง ถือว่าค่อนข้างยาวเลยทีเดียว แต่เนื้อหาสำคัญมีเพียงน้อยนิด ประเด็นหลักของเรื่องจริงๆ นั้น หนังต้องการจะสื่อเกี่ยวกับสังคมของคนอินโด การใช้สื่อโซเชี่ยล และประเด็นเรื่องการถูกทารุณกรรมทางเพศ ประเด็นพวกนี้ถูกหยิบยกมาเล่าให้หนังเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้ก็จะพยายามทำให้แตกต่าง แต่กลับเพลย์เซฟในแบบไม่น่าให้อภัย อาจจะเป็นเพราะบริบทสังคมของคนอินโดนีเซียด้วย เลยทำให้หนังนำเสนอออกมาได้เป็นแบบนี้

 

เพลย์เซฟอย่างไร? ขอสปอยล์เรื่องราวเลยก็คือ มีเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่ง ชอบวางยาเพื่อนด้วยกันเพื่อจับแก้ผ้า และถ่ายรูป แค่นี้เลย ทั้งๆ ที่เขาพยายามจะนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการทารุณ หรือเรื่องเพศ แต่คนร้ายทำอะไรกับเหยื่อ ถ่ายรูป! แค่กดชัดเตอร์ถ่ายรูป คนร้ายตัวจริงมันเลยไม่ได้ดูร้ายอะไรขนาดนั้นเลย ไม่ได้ถ่ายรูปแบล็คเมล์ หรือข่มขู่เหยื่ออะไรด้วย แค่ถ่ายรูปเอาไปใช้เป็นแบคกราวน์ในการแสดงละคร แค่นั้น อะไรวะเนี่ย

ตลอดทั้งเรื่องมันก็จะมีกิมมิคสอดแทรกมาตลอด ที่น่าสนใจก็คือการฉีดพ่นไล่ยุง ใช่ครับ มีฉากการฉีดพ่นไล่ยุงแบบควันขาวๆ ขโมงๆ แบบที่เห็นกันในบ้านเรานั่นแหละ ในอินโดจะคล้ายๆ บ้านเราเลย ตรงนี้จะใส่มาสองสามฉากให้เราคิดว่ามันไม่สำคัญ แต่มันสำคัญช่วงท้าย

Photocopier

เพราะในช่วงสุดท้ายของเรื่อง นางเอกสืบหาคนร้ายตัวจริงได้ว่าคือใคร แต่แล้วคนร้ายก็นำเกมเหนือกว่าไปก้าวนึง รู้ว่าพวกนางเอกอยู่ที่ไหน ในขณะเดียวกันที่นางเอกกบดานอยู่ในคลินิกแห่งหนึ่ง ก็มีเจ้าหน้าที่มาพ่นยากันยุงควันขโมง และนี่คือฉากเปิดตัวตัวร้ายที่ชวนกำหมัดที่สุดตั้งแต่ผมเคยดูหนังมาเลย

คนร้ายตัวจริง ลงรถมากับลูกน้องที่ใส่หน้ากากกันแก๊ส แล้วลูกน้องก็จับตัวพวกนางเอกเอาไว้ ใช่ครับ ลงมาพร้อมกับควันยากันยุง ฝ่าสโมคมา สิ่งที่คนร้ายทำก็คือ ใส่ชุดการแสดงละครมา เปลือยท่อนบน ท่อนล่างใส่เหมือนผ้าเตี่ยว ส่วนหัวใส่หมวกแบบละครกรีก ลงมาแบบไม่ใส่หน้ากากกันแก๊ส แล้วก็เริ่มพูดบทพูดของละคร แล้วก็ค่อยๆ หยิบเอาโทรศัพท์ที่มีหลักฐานต่างๆ ออกมา แล้วก็เผาทิ้งตรงหน้าพวกนางเอก ในระหว่างนั้นก็พูดบทละครที่ชวน Cringe ออกมาเรื่อยๆ เมื่อเผาโทรศัพท์เสร็จ ก็กลับขึ้นรถ แฝงตัวแล้วหายไปกับควันของยากันยุง

เพื่อ? เพื่ออะไร? ตัวหนังต้องการสื่ออะไร? ผมพยายามทำความเข้าใจและเปิดใจสุดๆ กับหนังเรื่องนี้ แต่สิ่งที่มันนำเสนอนั้นมีแต่อะไรก็ไม่รู้จริงๆ ถ้าตีความตรงๆ เลยก็คือฉากนี้ ต้องการจะเปิดตัวคนร้าย แสดงให้เห็นว่าเขาร้าย และโรคจิต แต่เปิดตัวมากับควันยากันยุงเนี่ยนะ? แล้วทำไมลูกน้องเอ็งใส่หน้ากากกันแก๊ส แต่ตัวร้ายไม่ใส่ เอ็งเป็นยอดมนุษย์หรืออะไรกันวะครับ ซึ่งหลังจากที่เผาโทรศัพท์เสร็จก็หนี พวกนางเอกก็สลบควันยากันยุง แต่ไอ้คนร้ายนี่คือไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับควันยากันยุงเลย ทั้งๆ ที่ไม่ใส่หน้ากาก พูดบทพูดละครพร่ำเพรื่อท่ามกลางหมู่ควัน บอกได้คำเดียวว่า Cringe

และความ Cringe ก็ส่งผลไปถึงตอนจบ ว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงชื่อ Photocopier เครื่องถ่ายเอกสาร เพราะด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ทำให้เอาผิดคนร้ายจริงๆ ไม่ได้ นางเอกก็เลยรวมกลุ่มกับผู้เสียหาย นำเอาหลักฐานที่มี มาถ่ายเอกสารแล้วโปรยลงจากตึกเท่ๆ เมื่อมีเหล่านักศึกษามาเห็นความจริง ทุกคนก็เลยร่วมใจกันไปถ่ายเอกสารบนอาคารและเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านแผ่นกระดาษเหล่านี้ และจบเรื่องไป

คือ เราสามารถเข้าใจถึงสิ่งที่หนังพยายามจะสื่อสารออกมาได้ แต่วิธีการเล่าและนำเสนอ พังพินาศแบบสุดๆ พยายามยัดเหตุผลข้างๆ คูๆ เข้ามาตลอด เพื่อทำให้มัน “มีอะไร” ทั้งๆ ที่มันไม่จำเป็น สุดท้ายมันก็คือหนังกลวงๆ ที่เหมือนจะหยิบยกปัญหาต่างๆ สังคมวัยรุ่น นั่นนู่นนี่ ของอินโดนีเซีย มานำเสนอ แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรอยู่ดี แค่พล็อตเรื่องหลักก็ไม่สามารถทำให้คนดูอินและคล้อยตามได้แล้ว เวลาสองชั่วโมงของคุณมีค่า อย่ามาเสียเวลากับเรื่องนี้ดีกว่า

และไอ้เหตุผลที่ยัดใส่เข้ามานั้น หลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นเหตุผลกลวงๆ ที่ไม่มีเหตุผลอื่นรองรับอีกที อย่างเช่น

ลุงขับแท็กซี่ที่ร่วมมือกับคนร้าย ที่จะพานักศึกษาที่ถูกมอมยาขึ้นรถเพื่อให้ไอ้คนร้าย จับถ่ายรูปได้ แต่ว่าไอ้ลุงคนนี้ ก็ดันแอบถ่ายวีดีโอคนร้ายเอาไว้อีกทีหนึ่ง ทำให้มันกลายเป็นหลักฐานให้กับพวกนางเอก ตามสืบตัวจนเจอกับคนร้ายได้ คำถามก็คือ ไอ้ลุงคนขับแท็กซี่นี่ถ่ายคลิปไว้เพื่ออะไร ถ้าคิดตามหลักเหตุผลง่ายๆ คือถ่ายไว้แบล็กเมล์ไอ้คนร้ายอีกทีหนึ่ง แต่ในเรื่องมันก็ปูมาแล้วว่าตัวคนร้ายมันรวย มีอิทธิพลเยอะมาก ลุงเป็นแค่คนขับแท็กซี่จนๆ คนหนึ่งที่โดนใช้เงินจ้างมา ยิ่งลุงถ่ายคลิปแบบนี้ไว้ ก็จะยิ่งเป็นหลักฐานมัดตัวลุงว่าสมรู้ร่วมคิด มีแต่เสียกับเสีย คือมันดูจงใจวางตรงนี้มาให้พวกนางเอกเจอชัดๆ เลย

องค์ประกอบหลายๆ ในเรื่องที่ผมบอกไป ถ้ามองในอีกแง่คือเขาพยายามใส่มา ถ้าหยิบยกในส่วนๆ นั้นแยกมาดู เช่นการวางปม ไอ้เครื่องพ่นยากันยุงเนี่ย ทำให้ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่มาสำคัญตอนท้ายแบบไม่น่าเชื่อ ถ้าหยิบเอาแค่บางส่วน มันคือองค์ประกอบที่ดี ในหนังดีๆ เรื่องอื่น แต่หนังเรื่องนี้ พยายามใส่องค์ประกอบพวกนี้มาเยอะเกินไป เหมือนภาพตัดปะ ตรงนี้ดี ก็เอามาใส่ ตรงนู้นน่าจะเวิร์ค ก็เอามาใส่ สุดท้ายพอนำมารวมกัน มันคือต้มจับฉ่ายที่รสชาติไม่ชวนรับประทานชามหนึ่ง หนังเรื่องนี้ได้รางวัลหลายสาขาในงานภาพยนต์ของอินโดนีเซียด้วย คาดว่าน่าจะได้เพราะองค์ประกอบยิบย่อยพวกนี้

อีกอย่างที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือการวางปม ที่วางไว้ทำไม ถ้าจะไม่เฉลย เช่นต้นเรื่องพ่อนางเอกบอกว่ามีผู้ชายหิ้วมาส่งที่บ้าน แต่ต้องไล่เคาะประตูทุกๆ บ้าน เพื่อหาว่าบ้านนางอยู่ไหน เลยทำให้ชาวบ้านนินทาครอบครัวตัวเองว่าลูกสาวไม่รักดี เมามาย มีผู้ชายมาส่ง แต่ตรงนี้เรื่องก็จะไปบอกทีหลังว่านางเอก กลับมากับเน็ตคาร์ (อารมณ์ Grab บ้านเรา) คนขับก็เป็นคนแก่ ขับมาส่งถึงบ้าน อ้าว แล้วที่ว่านางเอกมีผู้ชายหิ้วมาส่งนี่คืออิหยังวะ? แล้วก็ทิ้งประเด็นตรงนี้ให้คนดูลืมๆ มันไปเองซะงั้น มันมีความขัดแย้ง และชวนขัดใจแบบนี้แทบทั้งเรื่อง

สรุป Photocopier สนุกและดีไหม?

นี่คือหนังที่กล้าพูดได้เลยว่า อะไรก็ไม่รู้จริงๆ ทั้งพล็อตเรื่อง ประเด็นที่จะนำเสนอ การเล่าเรื่อง  กางวางปม ทุกอย่างพังหมด ดีเพียงแค่นักแสดงนำที่เป็นนางเอกเบอร์ต้นๆ ของอินโดนีเซีย น่ารักแบบบ้านๆ จริง และงานภาพที่ทำออกมาได้สวย ถ้าหากว่าทำความเข้าใจกับบริบทของอินโดนีเซียมากกว่านี้ อาจจะอินก็ได้ แต่ในฐานะผู้ชมหนังทั่วไป บอกเลยว่าไม่ผ่านอย่างแรง ทั้งในด้านหนังดราม่า หนังอาชญากรรม สืบสวน ปริศนา ไม่สามารถทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้โดดเด่นในด้านใดได้จริงๆ

รับชม Photocopier เงื่อนงำหลังเครื่องถ่ายเอกสาร ได้ทาง Netflix แล้ววันนี้

อ่านรีวิวหนัง/ซีรีส์เรื่องอื่น ได้ที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!