playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The Platform สยองขวัญกับโลกชนชั้นแนวดิ่ง

The Platform สยองขวัญกับโลกชนชั้นแนวดิ่ง

สรุป

หนังสยองขวัญจากสเปนที่เป็นเหมือนส่วนผสมประเด็นชนชั้นอย่าง Parasite และโลกแฟนตาซีแปลกๆ แบบเรื่อง Cube ที่ชวนขบคิดตาม

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • หนังสยองขวัญที่นำเสนอไอเดียโลกแฟนตาซีที่กำหนดชนชั้นในสังคม
  • ประเด็นความเหลื่อมล้ำในหนังถูกสะท้อนผ่านลัทธิบริโภคนิยมได้อย่างน่าสนใจ
  • การตีความใหม่เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมอมตะ

Cons

  • การนำเสนอด้วยภาพโหดเลือดสาด จึงไม่เหมาะกับคนขวัญอ่อน
  • ตัวละครที่ดูดำมืด สกปรก และไร้หัวจิตหัวใจ
  • หนังมีช่วงตอนท้ายที่เล่าอย่างรวบรัด และไม่สมจริงนัก

หากจะนิยามส่วนผสมของ The Platform หรือ El Hoyo หนังสยองขวัญจากสเปนก็คือ Parasite(2019) ภาคสยองขวัญ การสร้างโลกปริศนาแบบ Cube สยองขวัญปี ค..1997

ตัวอย่าง The Platform

หนังเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ แกลเดอร์ กัซเตลูเออรูเทีย ที่คร่ำหวอดในการทำหนังสั้นและโฆษณากว่า 15 ปี และงานชิ้นนี้ก็สร้างชื่อให้เขาเมื่อสามารถคว้ารางวัลมาได้จากหลายเทศกาล อาทิ รางวัลขวัญใจผู้ชมในสาย Midnight Madness จากเทศกาล Toronto International Film Festival ประเทศแคนาดา, ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาล Sitges – Catalonian International Film Festival ประเทศสเปน ก่อนจะถูกเนตฟลิกซ์ซื้อสิทธิ์ในการฉายสตรีมมิ่งทั่วโลก

โกเรง(อีวาน มาสซากูเอ้)  ตื่นขึ้นมาด้วยความสงสัยเมื่อนอนบนเตียง ในห้องๆ หนึ่งที่อีกฟากมีชายแก่คนหนึ่งชื่อว่า  ตรีมากาซี(โซเรี่ยน เอกูเลียร์)แม้เราจะทราบว่าเขาเต็มใจมาอยู่ที่นี่ สถานที่ซึ่งหากอยู่ครบตามกำหนดจะสามารถได้ใบประกาศหนึ่งใบ แต่เขาก็รู้จักรายละเอียดของสถานที่แห่งนี้มันน้อยเต็มทน

สิ่งที่เขาเห็นคือในห้องแคบๆ ในหอคอยระฟ้าแห่งหนึ่งที่เขียนหมายเลขชั้นบนกำแพง ไร้การตกแต่งใดๆ มีอ่างล้างหน้าหนึ่งตัว ไม่มีบันได มีช่องว่างตรงกลางอาคารที่เมื่อมองลงไปมีอีกหลายสิบชั้นราวกับไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อมีเสียงสัญญาณดังขึ้น จะมีแท่นขนาดพอดีกับช่องว่างนั้นมาพร้อมกับอาหารจัดวางเรียงเต็มแท่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสดังกล่าว อาหารถูกปรุงโดยพ่อครัวฝีมือดีที่อยู่ชั้น 0 หรือชั้นบนสุด เว้นแต่ว่ามันเป็นเศษอาหารเหลือจากอีกหลายชั้นก่อนหน้า ที่บางอย่างเหลือเพียงซากเศษของการกินอย่างมูมมาย เลอะเทอะเต็มแท่นเท่านั้น

เวลากินอาหารบนแท่นมีเพียง 2 นาที ห้ามมีการเก็บอาหารไว้กินสำรองในมื้อต่อไปมิฉะนั้นอุณหภูมิห้องจะร้อนหรือเย็นจัดขึ้นมาทันที

จากนั้นแท่นจะเลื่อนลงไปตามชั้นต่างๆ จนถึงด้านล่างสุด ยามกลางคืนท่ามกลางแสงสีแดง แท่นจะพุ่งขึ้นกลับสู่ชั้นบนด้วยความเร็วสูงเป็นชั้นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวี่วัน

แท้จริงที่นี่คือคุกจองจำนักโทษที่หากสามารถทนอยู่ได้จนครบตามกำหนดจะถูกปล่อยเป็นอิสระ ขณะที่ตัวโกเรงนั้นกลับต่างออกไป เขามาที่นี่ด้วยความต้องการใบประกาศที่หนังไม่ได้บอกให้ทราบว่าหากอยู่ครบกำหนดมันจะให้อะไรตอบแทนกับเขา ?

โดยที่โกเรงเพิ่งตระหนักได้ว่าหลังจากเวลาผ่านไปราว 3 เดือน จะมีเงื่อนไขในการสลับเปลี่ยนคนทั้งสองไปอยู่ชั้นอื่นที่อาจอยู่สูงกว่า หรือต่ำกว่านี้ก็ได้เช่นกัน และเมื่อถึงตอนนั้นเองความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในห้องก็จะเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

The Platform เป็นหนังที่มีบรรยากาศแบบโลกดิสโทเปียในนิยายไซไฟ จากบทของ เดวิด เดโซลา และ เปโดร ริเวโร่ แต่ขณะเดียวกันก็ชวนให้นึกถึงบทละครแนวแอบเสิร์ดเรื่องสำคัญอย่าง คอยโกโดต์ หรือ Waiting for Godot(1953) ผลงานของ ซามูเอล บัคเก็ตต์ นักเขียนชาวไอร์แลนด์ ที่ว่าด้วยตัวละครสองคนที่เฝ้าคอยบางสิ่งบางอย่างอยู่วันแล้ววันเล่า โดยที่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าการรอคอยดังกล่าวจะได้ผลลัพธ์ดังที่วาดหวังไว้หรือไม่ สะท้อนสภาพอันเล็กจ้อยของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี และมีนัยยะทางศาสนาอยู่ในเรื่อง

เช่นเดียวกับกับหนังเรื่องนี้ที่ขยายเรื่องราวจากเนื้อหานั้นออกไป การตั้งชื่อตัวละครแบบคนโบราณ มีการโต้เถียงกันเรื่องความเชื่อในพระเจ้า  เทคโนโลยีประหลาดของตัวหอคอยที่ไร้การอธิบาย ก็ชวนให้เรานึกว่ามันเป็นเรื่องที่พ้นไปจากเทคโนโลยีล้ำสมัยได้เช่นกัน พร้อมๆ กับการที่มีหญิงสาววิกลจริตคนหนึ่งออกตามหาเด็กที่อ้างว่าเป็นลูกของตน ก็ยิ่งชวนคิดถึงการตามหาผู้เปลี่ยนแปลง หรือผู้รับสารจากพระเจ้าได้เช่นกัน

นักโทษหรือผู้เลือกมาอยู่ที่นี่จะได้เงื่อนไขให้นำของติดตัวมาได้หนึ่งอย่าง โกเรงเลือกหนังสือนิยาย Man of La Mancha (ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน) วรรณกรรมอมตะของสเปนโดย มิเกล เด เซร์บันเตส ซาอาเบดรา ในปี ค..1605 ซึ่งว่าด้วยการทำตามความฝันแม้จะเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้แต่ยิ่งนานวันเข้า เขาก็พบว่าตนเองค่อยๆ ลืมเลือนความฝัน ความหิวทำให้ตนแทบไม่ได้สนใจหนังสือ กินอาหารที่ได้รับมาโดยไม่สนใจใครผิดจากช่วงแรกๆ และละทิ้งความเป็นมนุษย์เข้าไปทุกที

โกเรงยังพบว่าถึงจะอยู่ชั้นสูงกว่าก็ใช่จะสบาย ความว่างและอิ่มท้องทำให้คิดฟุ้งซ่าน หลายคนอาจเลือกจบชีวิตเช่นเดียวกับอีกหลายคนที่เมื่อทราบว่าตนอยู่ชั้นที่ไร้ทางรอดก็เลือกจะจบชีวิตตนเองได้เช่นกัน รวมถึงพบกับผู้คนที่มีมุมมองต่อสถานที่แห่งนี้ต่างกันออกไป บางคนเชื่อว่ามันคือแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาให้เราต้องแบ่งอาหารเท่าๆ กันทุกชั้น แต่คนที่เข้ามากลับไม่มีทำตามเงื่อนไขดังกล่าวสักคน หรือคนที่เชื่อว่าหากขึ้นไปบนชั้นสูงสุดได้จะพบกับสัจธรรมบางอย่างจากพระผู้เป็นเจ้า

การกระทำที่โหดเหี้ยมต่อกันของผู้คนในเรื่อง ทำใหัมันเป็นหนังที่มีฉากนองเลือดมากมาย โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ ภาพศพคนตายอย่างสยอดสยองมีมากขึ้นเรื่อยๆ  หากการดำเนินเรื่องที่มีสถานการณ์ใหม่ๆ เข้ามาของ  กัซเตลูเออรูเทีย ก็สร้างความสนใจใคร่รู้ให้เราต่อเนื่องไปจนจบ

มันอาจเป็นงานวิพากษ์สถานการณ์ของโลกทุนนิยมในปัจจุบัน ที่ทำให้สถานะทางสังคมลดหลั่นกันเป็นลำดับชั้นดังเรื่อง (ดังที่มีคนกล่าวในเรื่องว่าคนชั้นตรงกลางสบายที่สุด ซึ่งก็อาจเปรียบสภาพของชนชั้นกลางในสังคม) หรือวิพากษ์ศาสนาในโลกที่ขาดแคลนอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ บีบให้ผู้คนมีโอกาสในการได้รับอาหารไม่เท่ากันหันเข้าหาศาสนามากยิ่งขึ้นด้วยสภาพที่ไร้ซึ่งทางออกแก่ชีวิตไม่ต่างจากผู้คนยุคโบราณ

ขณะเดียวกันความหมายดังชื่อเรื่องอย่างต้นแบบ หรือแพลตฟอร์ม ก็ทำให้ตัวละครในเรื่องสามารถขบคิดตีความหอคอยแห่งนี้เช่นกันว่ามันสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ? ซึ่งก็ดูเหมือนแต่ละตัวละครก็สามารถตีความ และเลือกมองมันต่างกันได้ต่างนานา

แน่นอนว่าบทสรุปของหนังที่แทบไม่มีการอธิบาย หรือคำตอบที่ชัดเจนน่าจะสร้างความหงุดหงิดให้คนที่ต้องการความกระจ่างเป็นแน่ แต่ก็นับเป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ปล่อยให้คนดูตีความขบคิดกันเองต่อไป

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!