playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว I’m Thinking of Ending Things จุดจบความสัมพันธ์ในโลกสีหม่น

รีวิว I'm Thinking of Ending Things จุดจบความสัมพันธ์ในโลกสีหม่น

สรุป

ผลงานกำกับล่าสุดของ ชาร์ลี คอฟแมน คนเขียนบทมากฝีมือที่ยังคงท้าทายคนดู จากเหตุการณ์ง่ายๆ เมื่อคู่รักที่เดินทางไปพบพ่อแม่ของฝ่ายชาย แต่ยิ่งเกิดเรื่องพิสดารขึ้นเรื่อยๆ

Overall
8.5/10
8.5/10
Sending
User Review
5 (3 votes)

Pros

  • งานที่ท้าทายคนดูผ่านกลวิธีที่ไม่ประนีประนอม
  • บทสนทนา การจัดองค์ประกอบภาพ และสร้างบรรยากาศอันแปลกประหลาดชวนตีความ
  • ประเด็นวัยชรา และความซับซ้อนทางใจที่มักไม่มีใครนำเสนอไปไกลระดับนี้

Cons

  • หนังนำเสนอผ่านบทสนทนายืดยาวที่คนไม่คุ้นชินต้องปล่อยผ่าน
  • ความท้าทายของมันไม่ได้เหมาะกับทุกคน
  • ตัวเอกที่เป็นปัญญาชนซึ่งดูเผินๆ ช่างไร้หัวใจ ยิ่งทำให้คนดูห่างเหิน

แม้ I’m Thinking of Ending Things  จะเป็นหนังที่ดัดแปลงจากนิยายสั่นประสาทเรื่องดัง และได้รับคำชมในปี 2016 ของ เอียน รี้ด (มีแปลในฉบับภาษาไทย ในชื่อว่า “อยากให้เธออยู่ดูตอนจบด้วยกัน” โดย สำนักพิมพ์น้ำพุ) แต่ก็ปฏิเสธไมได้ว่า ชื่อของผู้กำกับอย่างชาร์ลี คอฟแมน นั้นกลับกระตุ้นความสนใจกับคอหนังมากกว่า และเขาก็เปลี่ยนแปลงงานชิ้นนี้ให้กลายเป็นงานแบบของตนเองโดยสมบูรณ์

 I'm Thinking of Ending Things (2020) on IMDb

ตัวอย่างภาพยนตร์ I’m Thinking of Ending Things

หากจะกล่าวถึงคนเขียนบทชาวอเมริกันที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในปลายต้นทศวรรษที่ 2000s ชื่อของ ชาร์ลี คอฟแมน จะต้องถูกยกขึ้นมาเสมอ ด้วยผลงานที่เขาร่วมงานกับ สไปค์ จอนซ์ ผู้กำกับมิวสิควิดีโอชื่อดัง อย่าง Being John Malkovich(1999), Adaptaion(2002) และหนังที่เขาเขียนร่วมกับผู้กำกับ มิเชล กอนดรี้ กับ ปิแอร์ บิสมัทธ์ อย่าง Eternal Sunshine of the Spotless Mind(2004) ซึ่งทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์สาขาบทดั้งเดิมมาครอง รวมไปถึงผลงานที่เขาเป็นผู้กำกับและเขียนบทเองอย่าง Synecdoche, New York(2008) งานที่ทะเยอทะยานที่สุดของเขาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้จะไม่ได้ผลตอบรับด้านรายได้ แต่ก็กวาดคำชมอย่างมาก ติดสิบอันดับจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ และทำให้เขาได้รับรางวัลหนังยอดเยี่ยมจากหนังเรื่องแรก ของ Independent Spirit Award รางวัลของวงการหนังอิสระของอเมริกา โดยในปี 2012 นิตยสารภาพยนตร์ชื่อดังจากอังกฤษ Sight & Sound  ยังยกให้หนังเรื่องนี้ติดหนึ่งในสิบหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลอีกด้วย

จุดเด่นในงานบทหนังของคอฟแมนที่มีเสมอมาคือการตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนของเราเอง ด้วยไอเดียแหวกแนวที่คนๆ หนึ่งสามารถเข้าไปควบคุมร่างและจิตใจของดารามีชื่ออย่าง จอห์น มัลโควิช ได้ หรือสะท้อนภาวะตีบตันของคนเขียนบทในวงการฮอลลีวู้ด ผ่านการแสดงแบบคู่แฝดของ นิโคลัส เคจ ผ่านบทสนทนาแบบตลกร้ายที่สะท้อนให้เห็นว่าตัวตนของมนุษย์เรานั้นสูญหาย และเลื่อนไหลง่ายดายแค่ไหน ซึ่งสร้างชื่อให้เขาในฐานะคนที่เขียนบทหนังแนวเหนือจริง(Surrealism) ให้กลายเป็นหนังทำเงิน และได้รับคำชมวงกว้างได้ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาจนสิ่งที่เล่าถูกนำเสนออย่างลุ่มลึก ซับซ้อนขึ้น และยังเน้นประเด็นความเสื่อมถอย ชราภาพในชีวิตมากขึ้น ในงานที่เขากำกับเอง ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไมได้ว่ามาจากอายุของคอฟแมนนั่นเองที่ปัจจุบัน 61 ปีแล้ว และผ่านความผิดหวังในชีวิตมาไม่น้อยในฐานะคนเขียนบทโทรทัศน์ที่ถูกปฏิเสธผลงาน และมีงานที่ไม่เป็นที่รู้จักเกือบสิบปี กว่าจะมีชื่อก็ตอนเขาอายุขึ้นเลขสี่แล้ว

ในการเขียนบทดัดแปลงครั้งแรกอย่าง I’m Thinking of Ending Things  ลายเซ็นดังกล่าวของเขาก็ยังอยู่ครบ และอาจจะเรียกว่าเขาหนักมือชนิดไม่ประนีประนอมใดๆ กลายเป็นงานที่ท้าทายคนดูที่สุดเรื่องหนึ่งของปี

หากจะให้เล่าเรื่องย่อของหนังนั้นดูเผินๆ ก็เป็นเรื่องพื้นๆ นักศึกษาสาวด้านควอนตัมฟิสิกส์คนหนึ่ง (เจสซี่ บัคลี่ย์) ตัดสินใจนั่งรถเดินทางกับเจค (เจสซี่ พลีมอนส์) แฟนหนุ่มที่เพิ่งหากันได้เพียงเจ็ดสัปดาห์ เพื่อไปหาพ่อแม่ของเขาในชนบทอันห่างไกล แม้ว่าเธอตั้งใจไว้แล้วว่าจะจบความสัมพันธ์กับเขา ด้วยความรู้สึกว่าเรื่องราวระหว่างเธอกับเขาไม่มีความคืบหน้า เต็มไปด้วยความรู้สึกน่าเบื่อหน่าย

…แต่เพียงผ่านช่วงแรกหนังก็เผยให้เห็นแล้วว่านี่ไม่ใช่หนังตื่นเต้นเขย่าขวัญทั่วไป, ไม่ใช่หนังโรแมนติค หรือหนังชีวิตใดๆ เพราะตลอดยี่สิบนาทีแรก หนังก็พาเราไปพบกับบทสนทนายืดยาวระหว่างชายหญิงที่บนรถยนต์ท่ามกลางพายุหิมะที่ตกโปรยปราย สลับกับความคิดในใจที่ไม่กล้าพูดของเธอ ตั้งแต่บทกวีของ วิลเลียม เวิร์ดเวิร์ธ การพูดงานเขียนที่แสนเศร้ารำพึงถึงการกลับบ้านที่ไม่ได้มีความสวยงามของหญิงสาว ละครเวทีในอดีตที่ชายหนุ่มเคยดูสมัยก่อน หรือเหตุการณ์ประหลาดชั่ววูบหนึ่งที่หญิงสาวเห็นชิงช้ากลางไร่รกร้างว่างเปล่า ที่หากปรากฏในหนังเรื่องอื่น ก็อาจเป็นได้ทั้งเรื่องที่ไม่มีความสลักสำคัญ หรือถูกเน้นย้ำให้ชัดขึ้นในเวลาต่อมา หากในหนังเรื่องนี้กลับถูกเล่าขึ้นมาเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่จะมาประกอบร่างรวมกันในท้ายที่สุดเมื่อหนังจบ

ความท้าทายคนดูยังรวมถึงการใส่กิจวัตรของตัวละครภารโรงประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งแทรกเข้ามาตั้งแต่ต้นเรื่อง บางครั้งก็สอดรับกับเรื่องเล่าในวัยเด็กของเจคไม่น้อย รวมไปถึงหนังที่เขาดูซึ่งมีเรื่องราวสอดคล้องกับความรักของหญิงสาวกับเจค เขาเกี่ยวพันอะไรด้วยกันแน่ ?

ครึ่งเรื่องหลังหนังยังคงตอกย้ำว่านี่คืองานที่เดินเรื่องด้วยบทสนทนาเต็มที่ชนิดไม่ประนีประนอมคนดูระหว่างคู่รักปัญญาชน หญิงสาวกับเจคเดินทางกลับเข้าเมือง พร้อมการพูดคุยสารพัดเช่นเดิมตั้งแต่ ภาพยนตร์อิสระเรื่องดัง A Woman Under the Influence ของ จอห์น คาสซาเวเทส ในปี 1974 ที่ถูกเธอวิพากษ์ในมุมมองใหม่ว่ามันถูกยกย่องด้วยเรื่องเดิมๆ หรือบทเพลงดังในอดีตอย่าง Baby, It’s Cold Outside ที่ถูกโจมตีว่าเป็นเพลงมีนัยยะหวังจะข่มขืนหญิงสาว ฯลฯ ที่กินเวลาบนรถยาวนานเป็นสิบนาที ก่อนจะจบด้วยการหักมุมที่ไร้คำอธิบายที่แน่ชัด

ช่วงท้ายหลังจากเจคทนการมีไอศกรีมที่ยังเต็มถ้วยซึ่งอาจจะละลายและเลอะในรถไม่ได้ เขาขับรถไปยังโรงเรียนในวัยเด็กของตนเพื่อหาที่ทิ้ง ขณะที่กำลังพลอดรักกับหญิงสาว เขาก็เกิดความรู้สึกว่ามีคนแอบมอง และหายเข้าไปในอาคารเรียนอยู่นาน เธอทนไม่ไหวต้องเดินไปตาม ก่อนที่จะพบภารโรงที่ปรากฏอยู่ระหว่างเรื่องมาตลอด ก่อนจะเจอกับเจค แล้วทั้งคู่ก็ถูกแทนด้วยชายหญิงคู่หนึ่งที่เสมือนเป็นตัวแทนมาเต้นบัลเล่ต์ถ่ายทอดเรื่องความรักแสนเศร้าในวัยเรียน ที่ชายหนุ่มถูกภารโรงฆ่าตายในโรงยิม

…หรือแท้ที่จริงพวกเขานั้นเป็นเพียงความคิดในใจของภารโรงคนหนึ่ง เขาอาจเคยเป็นคนแบบเจค หรือเจคและหญิงสาวอาจเป็นเพียงจินตนาการหนึ่งของเขาที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต ขณะอยู่ในช่วงที่ทุกข์ทรมานกับอาการป่วยทางใจ

หนังเล่นกับกลวิธีนี้เหมือนที่ตัวละครสองคนพูดว่าบ่อยครั้งความนึกคิดในใจคนก็ออกมาเป็นรูปธรรมมากยิ่งกว่าความจริงในชีวิตเสียอีก เช่นเดียวกับความจริงในชีวิตของภารโรงชราที่มีกิจวัตรแสนน่าเบื่อหน่าย

บนรถยนต์ยามกลางคืนนั้นเขาเกิดอาการปวดร้าวอย่างยิ่ง หน้ากระจกเขาก็กลายเป็นเพลงประกอบโฆษณาร้านไอศกรีม มีตัวการ์ตูนหมูที่อยู่ในสภาพท้องถูกหนอนชอนไช(ซึ่งเป็นหมูที่เจคเคยเล่าให้ฟังว่าเป็นเรื่องน่ากลัวในฟาร์มของเขาตอนยังเด็ก) มาชวนเขาเดินไปด้วยกันในอาคารเรียนในสภาพเปลือยกาย ราวกับให้ยอมรับการจากโลกนี้ไปอย่างมีความหวังด้วยการให้ไปใส่เสื้อผ้า

ภาพตัดมาอีกครั้ง เจคในวัยชราขึ้นรับรางวัลโนเบล กล่าวชื่นชมชีวิตคู่ ก่อนจะมีแขกในงานปรบมือให้อย่างกึกก้อง ก่อนจะซ้อนภาพให้เห็นว่ารถยนต์ของภารโรงวัยชราถูกทับด้วยหิมะจนเสียชีวิต เขาได้ฆ่าตัวตายในสภาพนั้นไปแล้ว

 

เหล่านี้ล้วนทำให้องค์ประกอบงานสร้างอันหวือหวาที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นพายุหิมะโปรยปรายในคืนหม่น, การจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตรทั้งภายในบ้าน และโรงเรียน, บรรยากาศลึกลับและดูราวกับไม่มีกาลเวลาที่แน่ชัดในบ้านของเจค, ร้านไอศกรีมทัลซี่ ทาวน์บรรยากาศหลอน, ฉากบัลเล่ต์ในท้ายเรื่อง, การใส่อนิเมชั่นเข้ามา หรือแม้แต่ตัวอักษรเครดิตที่จงใจให้ตัวเล็กจ้อย ช่วยขับเน้นสภาวะจิตใต้สำนึกของตัวละครและชวนให้ผู้ชมขบคิดตาม มากกว่าใส่เข้ามาเพื่อสร้างความหวือหวา หรือเร้าอารมณ์ตื่นเต้นแบบหนังแฟนตาซีทั่วไป

อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามาอย่างแปลกต่างและแสดงให้เห็นความซับซ้อนทางใจของมนุษย์ เจตนาของหนังเรื่องนี้คือเสียดสีและวิพากษ์การยึดติดลัทธิโรแมนติคเพื่อคนหนุ่มสาวของผู้สร้างหนังฮอลลีวู้ด ดังที่ตัวละครทั้งสองคนพูดในรถว่าในหลายเรื่องล้วนเต็มไปด้วยความไม่สมจริง รวมถึงตอนจบที่ให้ตัวละครมีทางออก หรือมองโลกอย่างมีความหวัง ดังที่ตัวละครยกคำกล่าวอ้างหนึ่งมาพูดถึงมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจ

“ช่างน่าเศร้าที่คนเพียงน้อยนิดได้เป็นเจ้าของจิตวิญญาณของตัวเองก่อนตาย ไม่มีอะไรที่หาได้ยากในมนุษย์” อีเมอร์สันกล่าวไว้

“มากไปกว่าสิ่งที่เขาทำด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องจริง คนส่วนใหญ่คือคนอื่น ความนึกคิดของพวกเขา เป็นความคิดเห็นของคนอื่น ชีวิตคือการลอกเลียนแบบ ความลุ่มหลงเป็นเพียงคำแอบอ้าง” นั่นเป็นคำพูดของออสการ์ ไวลด์

ภาพหนึ่งที่ปรากฏในช็อตแรกๆ ของหนังเรื่องนี้เองท่ามกลางเสียงพร่ำบ่นถึงความสิ้นหวัง คือภาพวาด Wanderer above the Sea of Fog (ชายพเนจรเหนือทะเลหมอก) ของ แคสเปอร์ เดวิด ฟรีดริช ในปี ค.ศ.1818 ภาพที่ได้รับการยกย่องเป็นมาสเตอร์พีซของจิตรกรรมยุคโรแมนติค ซึ่งสะท้อนความทระนงของมนุษย์ขณะชื่นชมธรรมชาติ ก็น่าจะมาด้วยเจตนานี้เช่นกัน

ในขณะที่บทสนทนาบนรถ และโลกทุกวันนี้ล้วนตีความมุมมองอันแสนโรแมนติคกันใหม่แล้ว แต่สื่อต่างๆ ที่กลายเป็นเหมือนกระจกที่เป็นตัวตนหนึ่งของมนุษย์กลับมองแต่มุมเดิมซ้ำๆ

คอฟแมนโยงสิ่งดังกล่าวจากประเด็นหนึ่งที่เขาให้ตัวละครยกขึ้นมาในบทสนทนา นั่นคือความชราภาพที่หญิงสาวกำลังศึกษาซึ่งเธอบอกว่าสังคมเรามองข้ามประเด็นความเสื่อมถอย และประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งยิ่งละเลยมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์อย่างที่ควรจะเป็นน้อยลงเรื่อยๆ ชื่อของหนังจึงไม่ใช่เพียง “ฉันกำลังคิดถึงเรื่องที่จะเลิก” แต่ยังเป็น “ฉันกำลังคิดถึงสิ่งที่กำลังจะจบ”

มันอาจไม่ใช่งานที่ถ่ายทอดได้ทั้งรันทดและงดงามอย่าง Synecdoche, New York แต่ก็ยังถือว่าคอฟแมนไม่ได้ทิ้งลายเซ็นของเขามาตลอดยี่สิบปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการได้ชมการต่อบทสนทนาอันยืดยาว และบ่อยครั้งแทบจะเป็นการพูดคนเดียวหลายนาที ผ่านการแสดงของ เจสซี่ บัคลี่ย์ และ เจสซี่ พลีมอน ทำให้เราสัมผัสถึงตัวตนที่ยากจะเข้าถึงของพวกเขาได้อย่างน่าทึ่ง

แน่นอนว่าสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อด้วยกลวิธีที่ไม่ประนีประนอมเช่นนี้คงไม่มีทางเปลี่ยนแปลงวงการบันเทิงอะไรได้ เพียงแต่ตอกย้ำให้เห็นสิ่งที่เรื่องที่มักถูกมองข้าม และละเลยที่จะเล่าทั้งที่มันมีความสำคัญ และชวนไขปริศนาไม่น้อยไปกว่าเรื่องในขนบที่นิยมเล่ากันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!