playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Cuties (Netflix) หนังเต้นวิพากษ์สังคมที่ไม่ได้มีแค่เรื่องอื้อฉาว

Cuties

สรุป

หนังเต้นอื้อฉาวที่ถูกโจมตีภาพการใช้เด็กยั่วยุทางเพศ แต่แท้จริงมันวิพากษ์สังคมยุคเก่า และสังคมยุคใหม่ ผ่านเรื่องราวของเด็กสาวเซเนกัลในปารีสได้อย่างทรงพลัง

Overall
7.5/10
7.5/10
Sending
User Review
4.5 (2 votes)

Pros

  • การนำเสนอวิพากษ์โลกยุคเก่า และโลกยุคใหม่ที่เด็กรุ่นนี้ต้องเผชิญได้อย่างถึงแก่น
  • การแสดงอันยอดเยี่ยมทรงพลังของนักแสดงเด็ก ฟาเธีย ยูซุฟ ที่ทำให้เราติดตามพฤติกรรมหมิ่นเหม่ของเธอได้จนจบ
  • หนังพาเราไปแตะประเด็นปัญหาเยาวชนที่ไม่มีคนกล้าแตะมากนัก

Cons

  • หนังมีฉากทางเพศที่แรงหลายฉากไม่เหมาะกับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ชมที่อาจเข้าใจว่านี่เป็นหนังเต็นเด็ก
  • หนังมีข้อวิพากษ์ทางศาสนา ไม่เหมาะกับคนดูที่เคร่งครัดและนับถือศาสนาอิสลาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง Cuties (ชื่อไทย คิวตี้ สาวน้อยนักเต้น) เริ่มให้ชมทาง Netflix ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2020 ทำให้เกิดกระแสยกเลิกการเป็นสมาชิกของสตรีมมิ่งรายนี้จากแฮชแทคทวิตเตอร์ #CancelNetflix เนื่องจากหนังเรื่องนี้ให้ภาพเด็กในเชิงยั่วยวนทางเพศ และพอถึงวันที่ 12 กันยายน YipitData บริษัทให้บริการสำรวจข้อมูลเผยว่ายอดผู้ยกเลิกการเป็นสมาชิกของ Netflix ก็สูงกว่าเดือนสิงหาคมเกือบ 8 เท่า ซึ่งนับว่าเป็นยอดที่สูงมากในรอบหลายปี และกระแสดังกล่าวก็ดูเหมือนจะยังไม่จบง่ายๆ

ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Cuties คิวตี้ สาวน้อยนักเต้น

แม้หากวิเคราะห์จริงๆ การยกเลิกเป็นสมาชิกดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับสตริมมิ่งยอดนิยมนี้มากนักเนื่องจากครึ่งปีแรก ด้วยการระบาดของเชื้อ Covid-19 โรงหนังถูกปิด ผู้คนทำงานอยู่บ้าน ทำให้ Netflix มีการสมาชิกใหม่มากเป็นประวัติการณ์

การต่อต้านหนังถึงขั้นทำแคมเปญลงชื่อให้ยกเลิกสมาชิกอย่างจริงจังผ่าน Change.org จนมีคนลงชื่อกว่า 25,000 คนในเวลาเพียงหนึ่งวัน และส่งจดหมายร้องเรียนถึงผู้ก่อตั้ง แฮชแทคก็ติดอันดับในหลายประเทศ ผู้กำกับถูกข่มขู่ โดยทางสตรีมมิ่งเองก็พลาดในการปรับหน้าหนังให้เป็นแนวหนังเต้นวัยรุ่น ทั้งที่ตัวละครหลักอายุเพียง 11 ปีเท่านั้น แต่ก็เลือกจะปกป้องตัวหนังในฐานะที่มันเป็นงานแนววิพากษ์สังคม ไม่ได้มีเจตนาใช้เด็กเป็นวัตถุทางเพศแต่อย่างใด ส่งผลให้หนังโดนถล่มกดคะแนนในเว็บฐานข้อมูลภาพยนตร์ยอดนิยมอย่าง IMDB.com เหลือเพียง 2.4 คะแนนเท่านั้น

รีวิว Cuties หนังเต้นวิพากษ์สังคมที่ไม่ได้มีแค่เรื่องอื้อฉาว Cuties หรือ Mignonnes เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ ไมมูนา ดูกูเร่ ผู้กำกับหญิงเชื้่อสายเซเนกัลฝรั่งเศส ที่ได้เข้าฉายในเทศกาลหนังซันแดนซ์ และสามารถชนะรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมในสายหนังโลก (World Cinema Dramatic ) มาครองได้ มันอ้างอิงมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้กำกับเอง และการสัมภาษณ์เด็กปัจจุบันนับร้อยคน

ยิ่งเด็กๆ ของเราเห็นผู้หญิงยั่วยวนทางเพศบนโซเชียลมีเดียเยอะขึ้น ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากตาม นั่นเป็นเหตุผลที่ชั้นทำหนังเรื่องนี้ แน่นอนว่ามันเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงมากดูกูเร่ กล่าว

แน่นอนด้วยเรื่องราวการประกวดเต้นของ อามี่(ฟาเธีย ยูซุฟ) ตัวเอกของเรื่องที่เป็นเด็กหญิงเชื้อสายเซเนกัล ในครอบครัวมุสลิมที่เคร่งศาสนา ที่เธอเบื่อหน่ายกับโลกดังกล่าวก่อนจะตัดสินใจประกวดเต้นกับทีมคิวตี้ แก็งค์เด็กแก่นเซี้ยวในชั้นเดียวกัน งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยืมพล็อตหนังแนว “สู้เพื่อฝัน” และฉากประกวดเต้นจากหนังประเภท Step Up ที่กลายเป็นแฟรนไชส์ยอดนิยม รวมไปถึงในเน็ตฟลิกซ์เองที่มีงานประเภทนี้ฉายในปีเดียวกันอย่าง Work It หรือ Feel The Beat

แต่หากหนังสูตรดังกล่าวถูกนำเสนอประเด็นสังคมอย่างจริงจัง นี่ก็เป็นเหมือนบทพิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องราวที่เหมือนไม่มีอะไรใหม่ ในพื้นที่หนึ่งของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ และเด็กรุ่นเจน Z หนังเต้นก็สามารถเป็นบทบันทึกที่ควรกล่าวถึงให้จดจำ

อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยวัยของตัวเอกในเรื่อง หนังก็มีความอื้อฉาวในภาพที่นำเสนอความสนใจทางเพศอย่างผิดๆ ของพวกเธออย่างยิ่ง ซึ่งชวนให้นึกถึงเรื่อง Thirteen (2003) ของ แคทเธอรีน ฮาร์ดวิค ที่เป็นหนังแจ้งเกิดของ อีวาน ราเชล วู้ด ในภาพลักษณ์เด็กใจแตกสนใจเรื่องเพศ แต่หนังฝรั่งเศสเรื่องนี้ไปไกลกว่าจากตัวเอกที่อายุน้อยกว่า และว่าด้วยการปะทะระหว่างสองโลก โลกยุคเก่า และโลกยุคใหม่ของเธอ (ที่หากจะถูกโจมตีจากประเด็นเรื่องศาสนา หนังก็มีสิทธิโดนอีกเช่นกัน)

เพียงฉากเปิดเรื่องที่เป็นเสียงบทสวดคลอกับภาพตัวเอกบนเวทีประกวดเต้นที่น้ำตานองหน้าก็น่าจะบอกได้ชัดแล้วว่านี่ไม่ใช่หนังที่ขายภาพเด็กใจแตกแต่งตัวยั่วคนดู

อามี่ เป็นเด็กชาวเซเนกัลวัยเพียง 11 ขวบที่ย้ายมาอาศัยในอพาร์ทเมนต์ที่ปารีส เธอเป็นลูกคนโตที่ต้องช่วยแม่เลี้ยงดูน้องสองคน ครอบครัวเธอเป็นมุสลิมที่เคร่งครัด เราจะเห็นว่าช่วงแรกเธอดูแลน้องกระทั่งการกินขนมที่ต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย ถึงขั้นนับชิ้นให้กิน

วันหนึ่งเธอก็พบกับแองเจลิก้า(เมดิน่า เอล ไอดี้อาซูนี) เด็กสาววัยเดียวกันที่แต่งตัวรัดรูป โชว์เนื้อหนัง กำลังเต้นโยกย้ายส่ายสะโพกในห้องซักรีด มันกลายเป็นภาพที่เธอสนใจใคร่รู้ ก่อนจะพบเธออีกครั้งที่โรงเรียนในกลุ่มแก็งค์คิวตี้ ที่ประกอบด้วย แองเจลิก้า, คุมบ้า, เจส, และ ยาสมิน ที่มาเย้ยหยันการแต่งตัวเชยๆ ของเธอ

และมาในช่วงที่ชีวิตตึงเครียดอย่างไม่คาดฝัน พ่อของเธอกำลังจะแต่งงานใหม่กับภรรยาอีกคน เป็นความทุกข์ที่รับต่อมาจากแม่อีกทอดหนึ่ง โลกของพิธีกรรม และโลกของผู้ใหญ่เป็นโลกที่เธอไม่อาจเข้าใจได้

ดังเช่นที่วันหนึ่งแองเจลิก้าก็ขอความเชื่อเหลือจากเธอ จากแก็งค์คิวตี้ที่กลั่นแกล้งเธอในโรงเรียน พัฒนากลายเป็นความสนิทสนม ให้เธอมาเล่นในห้องพักได้ เมื่อแองเจลิก้าถามถึงห้องๆ หนึ่งที่แม่ห้ามให้เข้าไป โดยที่เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าห้องนั้นคือห้องอะไร ?

ยิ่งคบกับแก็งค์คิวตี้มากขึ้น อามี่ก็พฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางลบ ทั้งต่อต้าน และสนใจในวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่ปารีส เธอแอบขโมยโทรศัพท์มือถือได้ในวันหนึ่ง เริ่มไม่พอใจเสื้อผ้าแบบแอฟริกันที่พ่อซื้อมาให้เพื่อใช้ในงานแต่งงาน จากเพียงแค่เป็นคนถ่ายวิดีโอการเต้นเพื่อใช้ในการประกวดให้กับคิวตี้ ก็กลายเป็นคนที่มาร่วมเต้น ออกแบบท่วงท่าที่เธอดูจากโทรศัพท์มือถือ แต่งตัวเปิดเผยเนื้อหนัง เต้นท่าที่ยั่วยุ ภูมิใจกับยอดไลค์ทางออนไลน์ เลยเถิดไปจนถึงขั้นขโมยเงินแม่มาซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ให้ตนและเพื่อนใส่ กว่าจะตระหนักได้ อามี่ก็ทำตัวหนักข้อยิ่งกว่าพวกคิวตี้ แก็งค์เด็กแก่นเซี้ยวที่เข้ามาข่มเธอตอนแรกด้วยซ้ำ

ครึ่งหลังของเรื่องมันได้ข้ามพ้นการเป็นหนังเต้น กลายเป็นงานวิพากษ์ยุคสมัยปัจจุบัน ทั้งการใช้สื่อโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้เท่าทัน สื่อออนไลน์ที่มีแต่เรื่องเซ็กส์ การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่ค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมเด็กจากคนเรียบร้อยกลายเป็นเด็กก้าวร้าวราวกับคนละคน ในขณะเดียวกันประเด็นที่หนังถูกโจมตี หากได้ชมก็จะพบว่าหนังจงใจเลือกเด็กที่มาแสดงตรงข้ามกับขนบของดาราเด็กที่รูปร่างหน้าตาดี อามี่ และแก็งค์คิวตี้ เป็นเด็กหญิงหน้าตาธรรมดา ไม่ได้มีรูปร่างยั่วยวนแต่อย่างใด

แต่ในอีกด้านหนังเองก็ตั้งคำถามกับโลกยุคเก่าที่ตรงข้ามกับโลกในโรงเรียนอย่างสิ้นเชิง โลกที่เคร่งครัดทางพิธีกรรมโบราณของชนพื้นเมือง และพิธีกรรมทางศาสนาโดยไม่ได้ทำให้เด็กๆ เข้าถึงได้ วันที่อามี่มีเลือดประจำเดือนเลอะกางเกง แม่หมอคนหนึ่งได้แต่หัวเราะและบอกว่าเธอกลายเป็นสาวเต็มตัวแล้ว ก่อนจะเล่ายืดยาวถึงชีวิตที่จะเริ่มหาคู่ครอง ทั้งที่เธออายุแค่ 11 ปีเท่านั้น และอยากมีชีวิตมากกว่าการเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก เมื่อเธอประพฤตินอกลู่นอกรอยก็ถูกมองว่าผีเข้าสิง

ความสวย” ที่เป็นชื่อของแก็งค์คิวตี้ และชื่อหนัง ถูกสะท้อนให้เห็นผ่านสองโลกว่านิยามต่างกันลิบลับ

ยิ่งโลกของผู้ใหญ่แตกต่างมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งไม่รู้เท่าทันโลกยุคปัจจุบันมากเท่านั้นว่าภายนอกมีสิ่งยั่วยุ และอันตรายกับเด็กมากแค่ไหน ? และเราจะรับมือและอยู่กับมันอย่างไรมากกว่าแค่ปิดกั้นมันจากเด็กถ่ายเดียว ?

ท้ายที่สุดแม้หนังจะมีบทสรุปที่หาทางออกให้กับอามี่ แต่หนังเองก็ให้ภาพการกระโดดเชือกกับเพื่อนหน้าอพาร์ตเมนต์ของเธอดูอุดมคติจนเสียดเย้ยเกินจริง โดยไม่ได้ให้ข้อสรุปใดๆ กับชีวิตของเธอ มันอาจเป็นแค่เสี้ยวชีวิตหนึ่งที่สร้างแผล และความทุกข์ให้กับเด็กสาว ซึ่งอาจผ่านเข้ามาและจบไป หรืออาจเกิดเรื่องเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิต เช่นเดียวกับอาจเกิดกับชีวิตของเด็กสาวคนอื่นๆ อีกมากมาย…

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหัวใจหลักหนังเรื่องนี้คือการแสดงของ ฟาเธีย ยูซุฟ ผู้รับบทอามี่ แม้จะเป็นการแสดงเรื่องแรก แต่ฉากที่เธอน้ำตารื้นเมื่อแอบเห็นแม่ร้องไห้คนเดียว และความรู้สึกเคว้งคว้างขณะประกวดเต้นบทเวที ถ่ายทอดให้เราเห็นหัวใจของเธอ ที่ไม่ใช่แค่เด็กใจแตกดังภาพภายนอก หากเป็นเพียงเด็กสาวคนหนึ่ง

เด็กสาวที่แค่อยากมีคนให้ความรัก และเข้าใจเธออย่างจริงจังเท่านั้น

ข้อมูลจาก : Variety.com

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!