playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

ก็อตซิลล่าคืออะไรกันแน่ ทำความรู้จักจักรวาลราชันแห่งสัตว์ประหลาด

Contents ซ่อน

Godzilla: King of Monsters ก็อตซิลล่าคืออะไรกันแน่ ทำความรู้จักจักรวาลราชาแห่งสัตว์ประหลาด

ภาพของสัตว์ประหลาดสีดำรูปร่างคล้ายไดโนเสาร์ที่มีนามว่า ก็อตซิลล่า ติดตาผู้ชมมานานนับศัตวรรษ ตั้งแต่ครั้งแรกที่มันขึ้นจากทะเลมาเหยียบย่ำถล่มกรุงโตเกียวในหนังภาคแรกปี คศ. 1954 มาจนถึงปัจจุบัน

ก็อตซิลล่าคืออะไรกันแน่ แค่สัตว์ยักษ์ตัวโตที่เดินทำลายเมือง หรือไดโนเสาร์ที่เกิดจากการทดลอง คงเป็นคำถามของเหล่าบรรดาแฟนขาจรที่ไม่ได้ติดตามอสูรกายในตำนานตัวนี้อย่างใกล้ชิด

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ก็อตซิลล่านั้นมีต้นกำเนิดและสถานะที่แตกต่างกันในหนังแต่ละเรื่อง ตั้งแต่ไดโนเสาร์ที่กลายพันธุ์จากระเบิดนิวเคลียร์ รวมไปถึงสัตว์ประหลาดผู้พิทักษ์ที่ปกป้องสมดุลโลก ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้สร้างแต่โดยตั้งเดิมแล้วมันคือตัวแทนการทำลายล้างของระเบิดปรมาณู

ถ้าเล่าย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ต้นฉบับในปี คศ.1954 หนังเล่าเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดใต้ทะเลที่กลายพันธุ์จากระเบิดนิวเคลียร์ จนขึ้นมาอาละวาดทำลายญี่ปุ่นจนย่อยยับ เป็นมหันตภัยร้ายที่มนุษย์ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน

จุดเริ่มต้นของทั้งมวล

เรื่องราวของภาพยนตร์ก็อตซิลล่าเรื่องแรก เริ่มต้นขึ้นด้วยเรือประมงหลายลำของญี่ปุ่นถูกจมหายอย่างลึกลับ ทำให้รัฐบาลส่งนักวิทยาศาสตร์เข้าไปตรวจสอบบริเวณหมู่เกาะที่เกิดเหตุ จนพบว่าเป็นฝีมือของสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมาที่ชาวบ้านแถบหมู่เกาะขนาดนามว่า ก็อตซิลล่า ดั่งเทพที่เคยบูชาในสมัยก่อนของพวกเขา ก็อตซิลล่าได้บุกขึ้นฝั่งโตเกียวและอาละวาดทำลายอาคารบ้านเมืองเสียหายอย่างหนัก แม้แต่กองทัพทหารก็ไม่สามารถหยุดยั้งความดุร้ายของมันได้ จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์นามว่า ดร.เซริซาว่า ผู้ซึ่งคิดค้น ออกซิเจน เดสทรอยเยอร์ อาวุธลับทรงอานุภาพที่จะย่อยสลายทุกอย่างในบริเวณน่านน้ำ เซริซาว่าตัดสินใจนำเอาอาวุธนี้มาใช้เพื่อกำจัดก็อตซิลล่าและสละชีวิตของเขาเองไปพร้อมกับเจ้าอสูรร้าย เพื่อปกปิดสูตรลับของออกซิเจน เดสทรอยเยอร์ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนผิด หนังจบลงด้วยประโยคของ ดร. ยามาเนะ ตัวละครอีกคนในเรื่องที่กล่าวไว้ว่า “ถ้าหากยังมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์อยู่ ก็จะมีโอกาศที่จะเกิดก็อตซิลล่าตัวใหม่ขึ้นมาอีก” เป็นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ก่อนที่หนังจะจบลงพร้อมกับซากโครงกระดูกของก็อตซิลล่านอนอยู่ใต้มหาสมุทร

ก็อตซิลล่าจึงเป็นสัญญะตัวแทนของหายนะจากระเบิดนิวเคลียร์ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพของสัตว์ยักษ์คำรามสนั่นพร้อมเดินถล่มเมือง และแผดเผาทุกอย่างที่ขวางหน้าด้วยลำแสงนิวเคลียร์ จนบ้านเมืองราบเป็นหน้ากลอง แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงฮิโรชิม่าและนางาซากิ

ทุกอย่างที่สื่อถึงนัยยะข้อความทางนิวเคลียร์ ยังแสดงออกมาทางรูปกายหน้าตาของตัวก็อดซิลล่าเอง ด้วยผิวหนังที่ขรุขระ ถูกเผาไหม้เกรียม เสมือนเหล่าผู้คนจริงที่ตกเป็นเหยื่อให้กับรังสีปรมาณูในฮิโรชิม่าและนางาซากิ ลำแสงของก็อตซิลล่าที่พ่นออกมาจากปากก็อตซิลล่า ไม่ใช่แค่เพลวไฟร้อนเหมือนมังกรแต่เป็นลำแสงที่มีละอองนิวเคลียร์อานุภาพร้ายแรง มากไปกว่านั้นตัวของก็อตซิลล่าเองยังมีการปนเปื้อนของรังสีจากร่างกายของมัน ไม่ว่ามันจะเดินเหยียบไปที่ใดก็จะทิ้งร่องรอยปนเปื้อนของรังสีนิวเคลียร์อยู่เสมอ

ภาพยนตร์ได้ประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ภายในประเทศญี่ปุ่น ตัวหนังได้ออกจัดจำหน่ายฉายที่สหรัฐอเมริกาในชื่อ Godzilla : King of the Monsters (1954)

ก็อดซิลล่า จึงเป็นเหมือนสิ่งเตือนใจให้มนุษย์ระลึกถึงตราบาปในอดีต

โศกนาฎกรรมของระเบิดปรมาณูจากสงครามโลก

หลังจากความสำเร็จของก็อตซิลล่าปี 1954 ทางโตโฮสตูดิโอต้นสังกัดก็รีบเข็นหนังภาคต่อออกมา โดยที่ครั้งนี้ไม่ได้มีแค่ก็อตซิลล่าเพียงตัวเดียวแต่พ่วงด้วย แองกิรัส ตัวละครสัตว์ประหลาดใหม่ที่ปรากฎกายเป็นคู่ต่อสู้ตัวแรกของก็อตซิลล่า ในหนังชื่อ Godzilla raids again เนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักบินสองคนที่พบก็อตซิลล่าฟาดฟันกับแองกิรัสบนเกาะแห่งหนึ่ง ก่อนที่ทั้งสองตัวจะตกลงไปในทะเลและปรากฎตัวขึ้นฝั่งบนแผ่นดินใหญ่ที่ญี่ปุ่น การต่อสู้แสนดุเดือดของสองอสุรกายจึงเริ่มต้นขึ้น

หลังจากออกฉายปี 1955 ตัวหนังได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบเป็นส่วนมาก เพราะการเร่งผลิตให้ทันฉายเพียงแค่ 5 เดือนหลังจากภาคแรก ทำให้โตโฮลดต้นทุนทุกอย่างลง แถมชุดของสัตว์ประหลาดและเนื้อหาที่ไม่มีการสื่อข้อความที่ลึกซึ้งเทียบเท่ากับภาคแรก ทำให้ Godzilla raids again เป็นแค่หนังสัตว์ประหลาดเกรดบีทั่วๆ ไปที่มีแค่สัตว์ยักษ์สองตัวต่อสู้กัน

ก็อตซิลล่า

พัฒนาการรูปร่างและหน้าตา

ยุคสมัยของก็อตซิลล่า

  1. โชวะ ปี 50-70
  2. เฮเซย์ ปี 80-90
  3. มิลเลนเนี่ยม 1999-2004
  4. ยุคใหม่ 2014 – ปัจจุบัน

รูปร่างหน้าตาของก็อตซิลล่ายังมีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยในทุกๆ ภาค การปรับเปลี่ยนดีไซน์ของชุดยางก็อตซิลล่าที่นักแสดงสวมใส่ก็อาจจะเพราะความสะดวกสบายคล่องตัวมากขึ้นเช่น ก็อตซิลล่าในช่วงปลายยุค 70 จะผอมเพรียวและคล่องแคล่วว่องไว เหมาะกับการเล่นฉากแอ็คชั่นมากกว่าก็อตซิลล่าจากต้นฉบับช่วงยุค 50 ที่เดินช้าอืดอาด ซึ่งหลังจากที่โตโฮหยุดสร้างหนังก็อตซิลล่าในยุคโชวะ การเริ่มต้นจักรวาลใหม่ของยุคเฮเซย์ในปี 1984 ก็ทำให้ก็อตซิลล่ามีรูปร่างหน้าตาใหญ่โตบึกบึนอีกหน เป็นเหมือนดั่งสัตว์ประหลาดตัวเดิมที่ทำลายเมืองโตเกียวเมื่อปี 1954 ซึ่งหน้าตาของก็อตซิลล่าก็มีการปรับเปลี่ยนให้คล้ายกับไดโนเสาร์มากขึ้นเช่น ใบหน้าที่ยาวขึ้น และไม่ได้เดินตัวตรงแบบในยุคโชวะ ขนาดตัวที่เพิ่มไซส์ให้สูงขึ้นเนื่องจากตึกหรืออาคารของยุคที่มีขนาดสูงขึ้น ถ้ายังคงใช้ขนาด 50 เมตรแบบเดิมอยู่ ในหนังคงออกมาก็อตซิลล่าแคระแน่ๆ ทางทีมสร้างจึงอัพความสูงของก็อตซิลล่าเป็น 100 เมตร เหมือนกันกับยุคมิลเลนเนี่ยมในช่วงปี 1999-2004 ก็อตซิลล่าก็ยังคงยึดแบบของดีไซน์ที่มีเค้าโครงคล้ายกับไดโนเสาร์ มีการเดินหลังค่อยเล็กน้อยและครีบที่หลังเพิ่มขนาดใหญ่โตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ลดขนาดความสูงลงให้เหลือเท่ากับในยุคโชวะ

ส่วนของหนัง Shin-Godzilla ปี 2016 ตัวของเจ้าประหลาดเองก็ได้ถูกทำออกมาให้มีหน้าตาพิศดารที่สุดเท่าที่ก็อตซิลล่าเคยมีในซีรี่ส์ชุดนี้ ด้วยร่างกายที่เละเทะเหมือนผิวหนังของเหยื่อที่ถูกระเบิดปรมาณูแผดเผา ซี่ฟันที่เรียงไม่เป็นระเบียบสะเปะสะปะ ดวงตาที่ไร้ความรู้สึกกับแขนที่บิดเบี้ยวหงิกงอ เลือดสีแดงที่เดือดพล่านเห็นชัดทั่วร่างกายอยู่ตลอดเวลา ทำให้มันเป็นเหมือนระเบิดนิวเคลียร์เคลื่อนที่ยิ่งกว่าเดิม

ถ้านับรวมก็อตซิลล่าตัวล่าสุดของญี่ปุ่นจากอนิเมะไตรภาค Godzilla Earth มันจะมีขนาดที่ใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีมา (ถึงจะไม่ได้มีข้อมูลบอกอย่างในหนัง แต่ก็มีข้อมูลเบื้องหลังว่ามันมีต้นกำเนิดมาจากพืช)

แต่เมื่อเจ้าสัตว์ยักษ์ได้ย้ายมาอยู่กับทางฝั่งฮอลลีวูดในปี 2014 รูปร่างหน้าตาของก็อตซิลล่าก็ถูกปรับเปลี่ยนให้สมจริงมากยิ่งขึ้น เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่บนโลกใบนี้จริงๆ และเป็นการสร้างก็อตซิลล่าขึ้นมาใหม่ด้วยเทคนิค CGI ทั้งหมด ทางผู้กำกับแกเร็ธ เอ็ดเวิร์ดได้บอกเอาไว้ว่า มันเป็นการผสมผสานใบหน้าและลำคอของหมีกับนกอินทรีเพื่อคงความทรงพลังและความสง่างามเอาไว้ แถมช่องเหงือกแบบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ข้างลำคอ เพิ่มความสมเหตุสมผลที่ก็อตซิลล่าอยู่แต่ในทะเล แต่ในภาพยนตร์ Godzilla : King of the Monsters ที่จะเข้าฉายในปี 2019 นี้ ไมเคิล ดัคเฮอร์ตี้ ผู้กำกับซึ่งเป็นแฟนพันธ์ุแท้ของเจ้าอสูรนิวเคลียร์ได้ปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของมันเพิ่มเติมให้ดูคล้ายคลึงกับต้นฉบับมากยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มขนาดของครีบที่แผงหลังเพราะมันเป็นเสมือนมงกุฎของตัวก็อตซิลล่าเอง เป็นสิ่งที่ขาดหายไปไม่ได้ มีกรงเล็บเท้าซึ่งในภาคก่อนเป็นแค่เท้าที่หนาคล้ายเท้าช้าง และขนาดตัวที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าภาคก่อน

พลังความสามารถของก็อตซิลล่า

  • Atomic Breath ลำแสงอะตอมมิกคือความสามารถพิเศษซึ่งมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ลำแสงสีฟ้าที่ไม่ใช่แค่เปลวไฟ แต่เป็นละอองรังสีที่เจ้าสัตว์ร้ายแห่งท้องทะเลใช้พ่นใส่ต่อสู้กับศัตรูหรือทำลายบ้านเมืองทุกครั้ง
  • Nuclear Pulse การใช้แรงระเบิดออกจากตัวของก็อตซิลล่าเอง ใช้เฉพาะยามคับขันเช่นศัตรูสายระยะประชิดเข้ามาโอบรัดรอบลำตัวของก็อตซิลล่ากระเด็นออกไป ซึ่งความสามารถนี้มีเฉพาะในก็อตซิลล่าของยุคเฮเซย์
  • Spiral Heat Ray คล้ายกับลำแสงอะตอมมิคทั่วไป แต่ว่ารุนแรงและทรงพลังมากกว่า ไม่ได้มีสีฟ้าเหมือนการพ่นลำแสงปกติ แต่มีลักษณะเหมือนไฟร้อนสีส้มพวยพุ่งออกมาจากปากของก็อตซิลล่า เป็นเสมือนท่าไม้ตายประจำตัว ปรากฎให้เห็นในหนังยุคเฮเซย์และมิลเลนเนี่ยม
  • เซลล์ ออแกไนเซอร์ G-1 เซลล์กลายพันธุ์ที่ช่วยให้ผิวหนังและร่างกายของก็อตซิลล่าแข็งแรงทนทาน แถมยังสามารถฟื้นฟูบาดแผลได้ตลอดเวลา
  • การว่ายและดำน้ำใต้ทะเล ก็เป็นอีกหนึ่งความสามารถยิบย่อยที่ก็อตซิลล่าทุกตัวต้องมี เพราะทั้งครึ่งชีวิตของมันอาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรเป็นส่วนมาก และในภาพยนตร์ภาคใหม่ปี 2019 ก็จะพาให้เราไปเห็นเป็นครั้งแรกว่ารังที่อยู่อาศัยของก็อตซิลล่าเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยมีใครนำเสนอที่อยู่อาศัยใต้น้ำของก็อตซิลล่ามาก่อนเลย

จักรวาลสัตว์ประหลาดของ Toho 

ถึงแม้ในยุคนั้นทางสตูดิโอ Toho ไม่หมดความพยายามที่จะผลักดันสร้างเจ้าอสุรกายนิวเคลียร์ให้มีหนังของตัวเองเพิ่ม แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างหนัง Sci-fi สัตว์ประหลาดเรื่องอื่นออกมาด้วยมากมายนับไม่ถ้วน เช่น Rodan ในปี 1956 และ Mothra ในปี 1961 เป็นการขยายความหลากหลายของหนังสัตว์ประหลาดของตัวเองที่ไม่ได้มีแค่ก็อตซิลล่าเพียงแค่ตัวเดียว แต่ที่มีบทบาทเด่นในหลายภาคแถมเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆได้แก่ มอธร่า, โรแดน และคิง กิโดร่า

Rodan – นกยักษ์ทะลายโลก

โรแดน

เรื่องราวของเหมืองแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นเกิดเหตุคนงานในเหมืองถูกฆาตกรรมโดยไม่รู้สาเหตุจนต้องส่งคนลงไปสืบ ทว่าสิ่งที่ฆ่าคนงานในเหมืองไม่ใช่คนแต่เป็นแมลงยักษ์ยุคดึกดำบรรพ์ เมกานิวลอน ซึ่งคาดว่าการขุดเหมืองใต้ดินไปปลุกให้พวกมันตื่นขึ้น คามูระ ตัวเอกของเรื่องได้ลงไปใต้ดินเพื่อกำจัดแมลงยักษ์พร้อมกับคนอื่นๆ แต่เกิดเหตุถ้ำถล่มทำให้เขาต้องติดอยู่ภายในเหมืองลึก และค้นพบภายหลังว่า ลึกลงไปใต้ดินนั้นมีไข่ขนาดมหึมาอยู่ ไข่ใบนั้นฟักออกมาเป็นลูกนก โรแดน (หรือจะเรียก ราด้อน ตามชื่อของญี่ปุ่นก็แล้วแต่) ลูกนกโรแดนจิกกินแมลงเมกานิวลอนเป็นอาหาร แสดงถึงขนาดที่ใหญ่โตของมันเมื่อเทียบกับพวกแมลงยักษ์ที่เป็นภัยของมนุษย์ เจ้านกยักษ์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมโผบินออกไปหาอาหารภายนอกถ้ำ แค่การกระพือปีกของโรแดนก็สามารถสร้างลมพายุอย่างหนักให้กับเมืองที่มันบินผ่านไปมา เป็นสัตว์ประหลาดที่มีความสามารถเหมือนพายุไต้ฝุ่นที่มีชีวิต

เช่นเดียวกับสัตว์ประหลาดตัวอื่นๆ ของญี่ปุ่น โรแดน คือเป็นสัญลักษณ์การเปรียบเทียบเสมือนตัวแทนพลังแห่งธรรมชาติที่ประเทศประสบพบเจออยู่บ่อยครั้ง ในภายหลังโรแดนกลายมาเป็นตัวละครสัตว์ประหลาดที่มีความนิยมสูงพอๆกับก็อตซิลล่าและมอธร่า อีกทั้งยังได้ปรากฎตัวหลายครั้งในหนังของก็อตซิลล่าเรื่องต่อๆมา

Mothra – ผีเสื้อผู้พิทักษ์

มอธร่า

ไอเดียเกิดขึ้นมาจากแนวคิดของสตูดิโอโตโฮที่ว่า “ต้องการสร้างหนังสัตว์ประหลาดที่แตกต่างออกไปจากทุกเรื่องที่เคยมีมา” ทำให้เกิดหนังที่เกี่ยวกับสัตว์ประหลาดที่มีรูปร่างของหนอนยักษ์ก่อนที่จะเข้าสู่ระยะดักแด้ จนมาเป็นร่างผีเสื้อยักษ์โตเต็มวัย ทุกยุคของหนังที่ผ่านมา มอธร่า มีบทบาทเป็นผู้ปกป้องหรือผู้พิทักษ์มาตลอด ที่อยู่อาศัยของมันคือเกาะอินแฟนต์ที่ซึ่งมีชนเผ่าคอยเคารพนับถือมันเป็นดั่งเทพเจ้าผู้ปกปักษ์รักษา จนกระทั่งเหตุการณ์ในหนังมีกลุ่มมนุษย์มาค้นพบและสำรวจที่เกาะแห่งนี้ ต้วร้ายประจำเรื่องได้ลักพาตัวฝาแฝดภูติจิ๋วที่มีชื่อเรียก โชบิจิน ออกไปจากเกาะเพื่อนำไปแสดงโชว์ โชบิจินเปรียบเป็นดั่งตัวแทนสื่อกลางของมอธร่า ที่จะพูดอธิบายให้มนุษย์เข้าใจถึงการกระทำของมอธร่า และร้องเพลงเพื่อเรียกหามอธร่าเพื่อขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน ทั้งสองฝาแฝดร้องเพลงเรียกหามอธร่าจนกระทั่งหนอนตัวอ่อนปรากฎตัวที่ญี่ปุ่น คลานผ่านบ้านเมืองพังเสียหายอย่างไม่สนใจสิ่งรอบข้างเพื่อที่จะไปช่วยสองภูติแฝด ในขณะที่ตัวละครมนุษย์ฝ่ายดีก็เร่งรีบไปช่วยเหลือภูติจิ๋วทั้งสองที่ถูกลักพาตัว กองทัพทหารก็พยายามที่จะต้านหนอนยักษ์เอาไว้จากการทำลายบ้านเมือง จนในที่สุดหนอนยักษ์มอธร่าก็สร้างดักแด้ที่หอคอยโตเกียวทาวเวอร์ และสยายปีกเติบโตออกมาเป็นผีเสื้อร่างโตเต็มวัย

มอธร่ากลายเป็นตัวละครที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมและแฟนทั่วโลกเทียบเท่ากับก็อตซิลล่า มันกลายเป็นตัวละครสัตว์ประหลาดสุดคลาสสิคที่ได้ออกมาโผล่มีบทบาทในหนังของก็อตซิลล่าอีกหลายเรื่อง หลังจากการพบเจอกันครั้งแรกในหนังครอสโอเวอร์จักรวาลภายในค่ายเรื่องแรกของสตูดิโอ โตโฮ

King Ghidorah – มังกรทองสามหัว

กิโดร่า ก็อตซิลล่า มอธร่า โรแดน

คิง กิโดร่า เป็นสัตว์ประหลาดที่ปรากฎตัวหลายครั้งในหนังของก็อตซิลล่าและมีจุดกำเนิดที่แตกต่างกันในแต่ละเวอร์ชั่น โดยในเวอร์ชั่นต้นฉบับของปี1964 คิง กิโดร่าเป็นสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวที่เคยทำลายอารยธรรมของมนุษย์ต่างดาวมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะเดินทางมาทำลายดาวโลกเป็นเป้าหมายต่อไป เมื่อกิโดร่าเยือนถึงดาวโลกมันได้แสดงพลังสยายปีกที่ใหญ่โต สร้างลมพายุทำลายอาคารบ้านเรือนเสียหาย และหนักไปกว่านั้นมันยังปล่อยลำแสงสายฟ้าชื่อ Gravity Beam ซึ่งสามารถยิงได้ออกจากทั้งสามหัว

ในยุคเฮเซย์ปี1991 หนังเรื่อง Godzilla vs. King Ghidorah ต้นกำเนิดของกิโดร่ามาจาก โดแรท สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทั้งสามตัวจากโลกอนาคต ถูกย้อนเวลานำไปปล่อยสถานที่ในอดีตซึ่งก็อตซิลล่าซอรัสจะต้องถูกระเบิดจนกลายพันธุ์เป็นก็อตซิลล่า ซึ่งเหล่าโดแรทได้ถูกระเบิดปรมาณูกลายพันธุ์เป็น คิง กิโดร่า มังกรทองสามหัวแทน

คิง กิโดร่ายังเคยได้รับบทบาทเป็นสัตว์ประหลาดเทพผู้พิทักษ์ในหนัง Godzilla,Mothra and King Ghidorah : Giant Monsters All out Attacks ในปี 2001 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กิโดร่าได้มีบทของฝั่งตัวดี เป็นเทพมังกรพันปีที่ร่วมผนึกพลังกับมอธร่าและบาราก้อน เพื่อต่อกรกับปีศาจร้าย ก็อตซิลล่า ซึ่งฟื้นขึ้นในรูปแบบที่โหดเหี้ยมอำมหิตกว่าเดิม

ก็อตซิลล่า มอธร่า

การ Crossover ครั้งแรก

Mothra vs. Godzilla (1964)

มอธร่าได้พบประจันหน้ากันกับก็อตซิลล่าครั้งแรกในหนังเรื่อง Mothra vs. Godzilla ของปี 1964 ซึ่งภายในหนังมอธร่ามีบทบาทเป็นตัวแทนของความดี และก็อตซิลล่าเป็นตัวแทนของปีศาจร้าย แต่ประเด็นหลักของหนังคือความโลภที่น่ากลัวของมนุษย์ ที่ต้องการพยายามจะครอบครองไข่ของมอธร่าเอาไว้เพื่อแสวงผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองโดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาในภายหลัง

หนังเริ่มขึ้นด้วยพายุขนาดใหญ่ที่ซัดพาไข่ใบมโหฬารมาที่ชายหาดของญี่ปุ่น ชาวบ้านเข้ามุงดูด้วยความตื่นตะลึง ในขณะนั้นเองก็มีนายทุนเข้ามาประกาศว่าจะซื้อไข่ใบนี้เป็นของเขา และรีบเร่งสร้างโดมมาครอบไข่ยักษ์เอาไว้เพื่อจัดแสดงเป็นสวนสนุก มนุษย์ถูกเตือนด้วยสองนางฟ้าภูติแฝดว่ามันคือไข่ของมอธร่า ได้โปรดอย่ายุ่งกับมันและมอบคืนให้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเหล่านายทุนตั้งใจจะยึดไข่ยักษ์เป็นของตนเองต่อไป ในระหว่างนั้นเองก็อตซิลล่าปรากฎตัวขึ้นและเข้าทำลายเมืองรอบข้างเสียหาย แต่เมื่อมันเข้าถึงโดมที่มีไข่ยักษ์อยู่ แม่มอธร่าในร่างผีเสื้อก็ปรากฎตัวเข้ามาต่อสู้ปกป้องไข่ของมันอย่างสุดกำลัง

ตัวหนังประสบความสำเร็จในด้านรายได้และคำวิจารณ์ มันได้เป็นหนึ่งในหนังก็อตซิลล่าที่แฟนๆยกย่องว่าดีที่สุดในยุคโชวะ

King Kong vs. Godzilla (1962)

ความนิยมของตัวละครคิงคองมีมาอย่างยาวนานทั่วโลก ยิ่งในประเทศญี่ปุ่นแล้วเจ้าวานรยักษ์ตัวนี้ก็โด่งดังสุดๆในสมัยนั้นก่อให้เกิดแรงบันดาลใจสำคัญให้โทโมยูกิ ทานากะ โปรดิวเซอร์จากโตโฮสร้างหนังก็อตซิลล่าขึ้นมา ในหนังเรื่องที่3ของชุดก็อตซิลล่าโตโฮก็ติดต่อเจรจาจากทางค่ายฝั่งอเมริกาเจ้าของลิขสิทธิ์คิงคองเพื่อให้หนังยักษ์ชนยักษ์เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง และยังเป็นหนังก็อตซิลล่าเรื่องแรกที่เพิ่มอารมณ์ขัน รวมถึงมีมู้ดและโทนที่ไม่หนักกับคนดูจนเกินไป มากไปกว่านั้นมันยังเป็นหนังแอ็คชั่นสัตว์ประหลาดต่อสู้ที่สนุกสนาน และเซ็ตแนวทางของหนังก็อตซิลล่าในยุคหลังๆ

หนังประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ทางรายได้ มันกลายเป็นหนังที่ทำเงินยอดขายตั๋วได้สูงที่สุดของก็อตซิลล่าในยุคนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความชื่นชอบตัวละครนี้จากญี่ปุ่น

ก็อตซิลล่า คิงคอง

พลิกบทบาทดีไปร้าย – ร้ายไปดี

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นในอดีต ก็อตซิลล่าเริ่มต้นด้วยบทบาทของการเป็นเทพแห่งการทำลายล้างมาก่อน แต่มันได้ถูกปรับเปลี่ยนบทเป็นฮีโร่เมื่อถึงในหนังเรื่องที่ 5 นั่นก็คือ Ghidorah,the three headed monster ปี1964 หนังที่รวบรวมสัตว์ประหลาดดาวเด่นเอาไว้เป็นครั้งแรกถึงสามตัว ได้แก่ ก็อตซิลล่า, มอธร่า และโรแดน พร้อมกับการเปิดตัวครั้งแรกของ คิง กิโดร่า ศัตรูคู่ปรับตลอดกาลของก็อตซิลล่า ซึ่งในหนังมอธร่าได้เกลี้ยกล่อมให้ก็อตซิลล่าและโรแดนผนึกกำลังกันเพื่อต่อสู้กับคิง กิโดร่าผู้มาทำลายดาวโลก ทั้งสามสัตว์ประหลาดรวมพลังกันต่อสู้จนสามารถขับไล่อสูรร้ายสามหัวจนล่าถอยหนีไป

หลังจากนั้น ในหนังภาคต่ออย่าง Invasion of Astro-Monster ก็อตซิลล่าก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นฮีโร่ผู้พิทักษ์โลกโดยสมบูรณ์มาเรื่อยๆตลอดจนจบยุคโชวะ ซึ่งถ้ามองในแง่มุมของการตลาดอาจเพราะว่าโตโฮตั้งใจเจาะกลุ่มผู้ชมวัยเด็กให้มากขึ้น เหตุเพราะในยุคนั้นสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างโทรทัศน์เข้ามาแย่งพื้นที่ ทำให้คนดูส่วนมากไปดูทีวีกันแทนที่จะเข้าไปดูหนังในโรง ในบางภาคก็อตซิลล่าถึงกับเป็นฮีโร่ในขวัญใจของเด็กน้อย ถึงกับมีฉากที่เด็กๆตะโกนร้องเรียกก็อตซิลล่าให้มาช่วยชีวิตไม่ต่างจากซูเปอร์ฮีโร่ แต่มันกลับทำให้จิตวิญญาณของนัยยะแห่งนิวเคลียร์จางหายไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นแค่หนังแนวมวยปล้ำสัตว์ประหลาดฟาดฟันกันอย่างเมามัน

ความผูกพันระหว่างก็อตซิลล่าและคนญี่ปุ่น

ด้วยความยาวภาพยนตร์ก็อตซิลล่าที่เข้าฉายในประเทศญี่ปุ่นนานถึง 65 ปี คุณปู่สัตว์ประหลาดตัวนี้ก็คงมีความผูกพันธ์ที่ลึกซึ้งกับคนดูชาวญี่ปุ่นแต่ละเจนเนอเรชั่นไม่น้อยเลย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วชาวอาทิตย์อุทัยแต่ละจะมองก็อตซิลล่าเป็นบทบาทนักทำลายล้าง แต่ก็มีมุมที่เป็นฮีโร่ผู้ปกป้องโลกบ้างในบางครั้งคราว ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของก็อตซิลล่าไม่ได้ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดตัวอื่นเพื่อปกป้องมนุษย์เฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด คนญี่ปุ่นก็รักและให้การสนับสนุนตัวละครนี้เป็นอย่างมาก ถึงกับแต่งตั้งให้เป็นพลเมืองประเทศ และมีการโปรโมทการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดที่ก็อตซิลล่าเคยไปทำลายของหนังแต่ละภาค เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้แก่แฟนหนังไปตามรอยกันเลยทีเดียว ชาวญี่ปุ่นยังหยิบโอกาสความโด่งดังของตัวละครนี้มาทำเป็นสินค้าหลากหลายมากมาย เป็นการเพิ่มรายได้มาพัฒนาประเทศ เช่น ฟิกเกอร์โมเดล  เสื้อผ้า หนังสือ พวงกุญแจของที่ระลึก และที่แน่นอนคือการผลิต ภาพยนตร์ก็อตซิลล่า เพื่อผลประโยชน์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ล่าสุดก็อตซิลล่ายังได้ถูกแต่งตั้งเป็นตัวแทนมาสคอตของกีฬายูโด งานโอลิมปิกปี 2020 อีกด้วย

โอลิมปิกปี 2020ส่วนในเรื่องข้อความและสัญญะทางนิวเคลียร์ก็ถูกเปลี่ยนใหม่เป็นในด้านของภัยธรรมชาติแทน เพราะยุคหลังสงครามโลกก็ผ่านมานานหลายสิบปี ไม่อาจสะกิดต่อมความหวาดกลัวระเบิดนิวเคลียร์ให้แก่คนรุ่นใหม่อีกแล้ว สัตว์ประหลาดต่างๆมากมายรวมไปถึงก็อตซิลล่า จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเปรียบเทียบเสมือนตัวแทนพลังแห่งธรรมชาติ ประเทศญี่ปุ่นใช้สัตว์ประหลาดมากมายเป็นตัวแทนของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว,พายุไต้ฝุ่นหรือคลื่นสึนามิ ที่ทำลายก่อความเสียหายให้แก่ประเทศ จนเกิดภาพบ้านเมืองที่ถูกทำลายเละเทะไม่ต่างจากฝีมือสัตว์ประหลาดยักษ์เหยียบย่ำ

กลุ่มแฟนคลับฝั่งตะวันตก

กลุ่มแฟนผู้คลั่งใคล้ก็อตซิลล่าจากฝรั่งนั้นมีอยู่มากมาย (เผลอๆเยอะกว่าในญี่ปุ่นรวมกัน) ยิ่งถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกาจะสามารถแทนเป็นกลุ่มฐานแฟนคลับของก็อตซิล่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ไม่ผิด ตั้งแต่การหนังของก็อตซิลล่าปลายยุคโชวะ เข้าฉายในแผ่นดินอเมริกาไปจนถึงยุคเฮเซย์ ก่อให้เกิดฐานแฟนชาวอเมริกันอย่างล้นหลาม แฟนๆชาวสหรัฐที่ติดตามและคลั่งใคล้ก็อตซิลล่าเพราะเติบโตมากับการดูก็อตซิลล่ายุคเก่ามีอยู่จำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่เหนียวแน่นของกลุ่มแฟนจากประเทศนี้คือมีการจัดงาน G-Fest ปีละครั้งซึ่งคล้ายกับเป็นงาน comic con ที่มีธีมงานเกี่ยวกับหนังสัตว์ประหลาดจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น ก็อตซิลล่า, กาเมร่า, อุลตร้าแมน แฟนหนังก็จะได้เข้ามาร่วมงานที่มีการเปิดเวทีสนทนากับผู้มีอิทธิพลของหนังเช่น ผู้กำกับหรือนักแสดงจากหนังก็อตซิลล่าบินตรงจากญี่ปุ่น การประกวดแต่งชุดคอสเพล และการขายสินค้าโมเดลนำเข้าจากญี่ปุ่นที่หาไม่ได้ทั่วไปในอเมริกา เป็นงานที่จัดขึ้นโดยแฟนก็อตซิลล่าเพื่อแฟนก็อตซิลล่าโดยแท้จริง

ก็อตซิลล่า อเมริกา

กลุ่มแฟนก็อตซิลล่าในแดนไทย

godzilla-projectความจริงถ้านับย้อนไปเมื่อก่อนหนังของก็อตซิลล่าเข้าฉายในประเทศไทยมาตั้งแต่ยุค 50 แล้ว (นับเป็นยุคโชวะของญี่ปุ่น) แต่ภาพยนตร์ก็อตซิลล่าแต่ละเรื่องในอดีตจะเข้าฉายในไทยช้ากว่าประเทศญี่ปุ่น1ปีเสมอ ฐานแฟนคลับของก็อตซิลล่าในเมืองไทยก็ก่อกำเนิดขึ้นแบบให้เห็นชัดเจนในช่วงปี 2014 ที่หนังเวอร์ชั่นใหม่ของฮอลลีวูดเข้าฉาย สื่อโซเชียลเป็นตัวกลางทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มาพบเจอกันบนโลกออนไลน์ ทุกคนล้วนมีสิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ มีความทรงจำอันสนุกสนานที่ได้ดูหนังก็อตซิลล่าในวัยเด็กเช่นเดียวกัน กลุ่มแฟนคลับก็อตซิลล่ามีการนัดเจอพบปะกันบ้างในบางวาระ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีกลุ่มชุมชนที่ใหญ่โตเท่ากับต่างประเทศแต่ก็เป็นครอบครัวอบอุ่นที่รวบรวมคนที่คลั่งใคล้ในสิ่งเดียวกัน พูดคุยเรื่องก็อตซิลล่าที่ตัวเองชอบได้อย่างไม่เขินอาย

กลุ่มนี้ตั้งอยู่บน Facebook มีชื่อว่า Godzilla Project

ก็อตซิลล่า

MonsterVerse จักรวาลอสุรกายของฮอลลีวูด

ภาพยนตร์ก็อตซิลล่าปี 2014 เป็นการปลุกชีพราชันแห่งสัตว์ประหลาดอีกครั้ง โดยสตูดิโอจากอเมริกัน Legendary Pictures หลังจากที่ค่ายต้นสังกัดจากญี่ปุ่นให้มันหลับพักพ่อนไปนานถึง 10 ปีเต็ม ฮอลลีวูดได้กลับมาสร้างภาพยนตร์ก็อตซิลล่าอีกครั้งในแบบที่จริงจัง และพยายามคงความดั้งเดิมแบบก็อตซิลล่าของญี่ปุ่นเอาไว้ให้ชัดเจนที่สุด

โดยก็อตซิลล่าในหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีต้นกำเนิดแบบเดียวกับเวอร์ชั่นต้นฉบับของญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจากไดโนเสาร์กลายพันธุ์เพราะระเบิดปรมาณู แต่ครั้งนี้มันเป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้มานานก่อนจะกำเนิดยุคของไดโนเสาร์เสียอีก ซึ่งมันหลับจำศีลอยู่ได้โดยการดูดกลืนรังสีจากใต้โลกเป็นอาหาร ความหมายของก็อตซิลล่าในหนังเรื่องนี้จึงอาจเปรียบถึง ตัวแทนของโลกหรือตัวแทนธรรมชาติที่อยู่อาศัยมานานก่อนกาล มันเป็นดั่งพลังแห่งธรรมชาติเปรียบเสมือนสึนามิหรือพายุเฮอริเคน ที่มนุษย์ไม่อาจต่อสู้หรือหยุดยั้งมันได้อย่างที่ ตัวละคร ดร.เซริซาว่า พูดประโยคเด็ดประจำหนังเอาไว้ว่า “ความหยิ่งยโสของมนุษย์คิดว่าตัวเองสามารถควบคุมธรรมชาติได้, ปล่อยให้พวกมันสู้กัน” มนุษย์ตัวเล็กจ้อยทำได้แค่เพียงแค่ยืนดูพวกมันต่อสู้กันอยู่ไกลๆ

ผู้กำกับแกเร็ธ เอ็ดเวิร์ดยังเลือกให้ฉากเปิดตัวครั้งแรกของก็อตซิลล่า ในหนังของเขาเป็นคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซัดถล่มเข้าเมือง ก่อนที่ราชันแห่งสัตว์ประหลาดจะผงาดเดินขึ้นมาบนชายหาด หรือแม้แต่ฉากที่ MUTO สิ่งมีชีวิตปรสิตโบราณที่กินรังสีเป็นอาหาร ได้เอาระเบิดนิวเคลียร์  อาวุธที่สุดทรงพลังของมนุษย์มาเคี้ยวกลืน เหมือนกับว่ามันไม่มีผลร้ายอะไรนอกจากแค่อาหารกินเล่นของมัน

นอกจาก Godzilla (2014) จะเป็นการรีบู้ตเรื่องราวในจักรวาลใหม่ของตัวเองแล้ว ยังมีตัวละครสัตว์ประหลาดอื่นๆอีกมากมายที่เข้ามาแจมในภาพยนตร์ภาคต่อ ซึ่งช่วยเสริมการขยายจักรวาล MonsterVerse ไปในตัว เช่นเดียวกับที่ตัวละคร ดร.ฮิวสตัน บรูคส์ ได้กล่าวเอาไว้ในฉากท้ายเครดิตของหนัง Kong : Skull Island ภาพยนตร์ลำดับที่ 2 ของจักรวาล MonsterVerse

โลกใบนี้ไม่เคยเป็นของเรา แต่เป็นโลกของพวกมัน

ดร.ฮิวส์ตัน บรูคส์

พร้อมกับฉายบันทึกของผนังถ้ำโบราณ ที่ปรากฎภาพของก็อตซิลล่าและไททันทั้งสามได้แก่ ผีเสื้อยักษ์ มอธร่า, นกยักษ์ โรแดน และมังกรสามหัว กิโดร่า เหล่าอสุรกายยักษ์ผู้เคยครอบครองโลกใบนี้มาก่อนมนุษยชาติเมื่อหลายล้านปีก่อน และศึกระหว่างก็อตซิลล่ากับกิโดร่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตกาลอิงจากภาพบนฝาผนัง

ก็อตซิลล่า โรแดน มอธร่า กิโดร่า

เหล่ามนุษย์ในดงสัตว์ประหลาด

ถ้าให้กล่าวถึงตัวละครมนุษย์ในหนังของก็อตซิลล่าแล้ว ผู้อ่านจะนึกถึงอาชีพอะไรกันเป็นอย่างแรก? ส่วนมากแล้วตัวละครในหนังก็อตซิลล่าวนเวียนอยู่กับเซ็ตตัวละครที่มีอาชีพรูปแบบเดิมตั้งแต่อดีต ไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ในรอบ 65 ปี โดยส่วนมากเหล่าตัวเอกของหนังสัตว์ประหลาดมักจะมี ทหาร,นักวิทยาศาสตร์, นักข่าว และนักการเมือง สายอาชีพเหล่านี้มีบทบาทที่ต้องตามติดข้อมูลเกี่ยวกับตัวสัตว์ประหลาดที่ออกมาอาละวาดเหยียบย่ำบ้านเมืองอยู่เสมอ หนังของก็อตซิลล่าจึงมีการรวบรวมทีมเพื่อระดมสมองหยุดยั้งความเสียหายที่ก็อตซิลล่าสร้างขึ้น

รวมทีมเพื่อศึกษาและกำจัด

ทีม G-Force

ในเมื่อก็อตซิลล่าเดินขึ้นจากทะเลมาทำลายอาละวาดเมืองหลวงอยู่บ่อยๆ ครั้ง เหล่ามนุษย์ก็ต้องมีการจัดตั้งทีมพิเศษเพื่อโต้ตอบหรือหยุดยั้งเจ้าสัตว์ร้ายนี้บ้าง หนังของก็อตซิลล่าในอดีตมีการฟอร์มทีมที่ชื่อ G-Force ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อศึกษาเจ้าสัตว์ยักษ์และฆ่าก็อตซิลล่าลง แผนการมีมากมายไม่ว่าจะเป็นการสร้างยานรบหรือหุ่นยนตร์มาต่อกรกับพลังเจ้าอสูรนิวเคลียร์ หรือแม้แต่คิดอาวุธชีวภาพและใช้พลังจิตในการโค่นล้มก็อตซิลล่าลง

องค์กรโมนาร์ค (Monarch)

ในภาพยนตร์จักรวาลอสุรกายของฮอลลีวูด ก็อตซิลล่าเป็นเพียงแค่ความลับที่ปกปิดไว้ขององค์กรลับจากรัฐบาลอเมริกาที่มีชื่อเรียกว่า โมนาร์ค ซึ่งมีอยู่เพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตโบราณที่เหล่านี้และปกปิดมันไว้เป็นความลับไม่ให้ชาวโลกรับรู้ ป้องกันความตื่นตระหนกของประชาชนว่าโลกใบนี้มีสัตว์ยักษ์เหล่านี้อาศัยอยู่ จนกระทั่งเหตุการณ์ในหนังปี 2014 รัฐบาลก็ไม่อาจปกปิดเรื่องสัตว์ประหลาดเป็นความลับแก่สายตาได้อีกต่อไป


สปอยล์เนื้อเรื่องก็อตซิลล่า 2 

Dr. Emma Russell รับบทโดย Vera Farmiga เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างเครื่องมือชนิดใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นและเรียกว่า Orca โดยเครื่องมือชนิดนี้จะทำให้เราสามารถสื่อสาร และอาจควบคุม เหล่าไททั่นอสูรกายยักษ์ในหนัง King of the Monsters ได้. เป็นที่แน่นอนเมื่อมีเครื่องมือชิ้นนี้เกิดขึ้น เหล่าผู้มีความโลภจึงต้องการ Orca ไว้ครอบครองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ผู้นำวายร้ายผู้นี้คือตัวละครปริศนาที่รับบทโดย Charles Dance เขาได้ลักพาตัว Dr.Russell และลูกสาวของเธอ Midison ไป (รับบทโดย Millie Bobby Brown จากซีรี่ย์ Stranger Things) จากศูนย์วิจัยของ Monarch ในประเทศจีนที่ซึ่งกักเก็บตัวอ่อนของ Mothra ไว้ศึกษา. และในจุดนี้เองที่ทำให้ Mothra หลบหนีออกจากศูนย์วิจัยไป และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดใน Godzilla 2

หลังจากนั้นเพื่อที่จะตามหา Emma และ Madison ที่ถูกทหารรับจ้างลักพาตัวไป ทาง Monarch จึงติดต่อ Mark Russell รับบทโดย Kyle Chandler สามีเก่า Emma พ่อของ Madison (ที่แยกทางกันหลังจากมีความคิดไม่ลงรอยกัน เพราะ Mark ต้องการจะเห็นเหล่าไททั่นถูกทำลาย แต่ Emma ต้องการที่จะปกป้องพวกมัน) ให้มาแกะรอยตามเครื่อง Orca. โดยการที่ Mark ยอมตกลงช่วยเหลือ เพราะเขาต้องการที่จะหาตัวลูกสาวของเขาให้พบเท่านั้น และสถานที่ต่อไปที่พวกเขาจะไปคือศูนย์วิจัยที่กักเก็บ Rodan นั่นเอง

เครดิตจากเว็บเมเจอร์

เทรลเลอร์ก็อดซิลล่า Godzilla 2 King of the Monster

เว็บไซต์หลัก http://www.godzilla-movie.net/ 

https://www.monarchsciences.com/

https://www.tohokingdom.com/

(ข้อมูลหลักอ้างอิงจากหนังสือ Godzilla : The Legend of King)

 

เปิดกรุเรียงไทม์ไลน์หนังก็อตซิลล่าทั้งหมดตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน

Godzilla (1954)

Godzilla-19541. Godzilla (1954) [ゴジラ]

 

– จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์สัตว์ประหลาดที่กลายมาเป็นตำนานของประเทศญี่ปุ่น
– ก็อตซิลล่าปี 1954 เป็นหนังที่มีคำวิจารณ์ด้านบวกสูงอย่างล้นหลาม ต่างจากสมัยที่หนังเข้าฉายใหม่ๆซึ่งไม่ได้รับคำชมมากนัก
– หนังได้รับคำชมในด้านการใส่สัญญะและตัวแทนเกี่ยวกับความโหดร้ายต่อสงครามและระเบิดนิวเคลียร์ ด้วยภาพของก็อตซิลล่าเหยียบย่ำเมืองโตเกียว ราวกับว่ามีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ และผิวหนังของก็อตซิลล่าที่หยาบด้านราวกับผิวของเหยื่อที่ถูกรังสีนิวเคลียร์เผาไหม้
– แรกเริ่มเดิมทีแล้ว ซึบุราย่าออกแบบก็อตซิลล่าให้เป็นสัตว์ประหลาดที่มีรูปร่างเหมือนปลาหมึกยักษ์ แต่ก็เปลี่ยนใหม่โดยอิงจากไดโนเสาร์และมังกรไฟ
– โตโฮเคยปกปิดความลับว่าก็อตซิลล่าเป็นคนใส่ชุด โดยไม่ใส่ชื่อของฮารุโอะ นากาจิม่าอยู่ในเครดิต เพื่อให้ผู้ชมเพิ่มความรู้สึกสมจริงของการดูหนัง

Godzilla raids again (1955)

2. Godzilla raids again (1955) [ゴジラの逆襲]

2. Godzilla raids again (1955)

[ゴジラの逆襲]

– หลังจากที่ตัวหนังก็อตซิลล่าปี 1954 ประสบความสำเร็จ โตโฮก็รีบเข็นทำหนังภาคต่อออกมาอย่างเร่งรีบ ภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้น ทำให้เอฟเฟคเทคนิคพิเศษไม่ได้มีรายละเอียดที่ดีและใส่ใจเท่ากับภาคก่อนหน้า
– เป็นหนังก็อตซิลล่าเรื่องแรกที่มีการต่อสู้ระหว่าง ก็อดซิลล่าและสัตว์ประหลาดตัวอื่น ซึ่งนั่นก็คือแองกิรัส
– หนังได้รับกระแสวิจารณ์ในด้านลบเสียส่วนมาก เพราะเมื่อเทียบกับภาคก่อนหน้า ข้อความหรือสัญญะสุดล้ำลึก ที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ได้หายไปราวกับไม่เคยเอ่ยถึง มันจึงกลายเป็นแค่หนังสัตว์ประหลาดธรรมดาเรื่องนึง
– หนังถูกตั้งใจให้ถ่ายทำฉากต่อสู้ของสัตว์ประหลาดในแบบslow motionเพื่อเพิ่มน้ำหนักและความสมจริง แต่เกิดความผิดพลาดของช่างกล้อง ทำให้ฉากต่อสู้กลายเป็นแบบเร่งสปีดเพิ่มความเร็ว ผลคือสึบุราย่ากลับชอบใจซะงั้น เพราะมันเหมือนกับสัตว์ที่ฟัดกันจริงๆ

King Kong vs. Godzilla (1962)

3. King Kong vs. Godzilla (1962) [キングコング対ゴジラ]3. King Kong vs. Godzilla (1962)

[キングコング対ゴジラ]

– หลังจากที่หนังคิงคองปี 1933 เคยเป็นแรงบันดาลใจให้ โทโมยูกิ ทานากะ สร้างหนังก็อตซิลล่าในปี 1954 ในที่สุดตัวละครสัตว์ประหลาดที่โด่งดังที่สุดจากสองฟากโลกก็มาพบกันในหนังเรื่องที่ 3 ของซีรี่ส์ก็อตซิลล่า
– เป็นหนังก็อดซิลล่าเรื่องแรกที่เพิ่มอารมณ์ขันเข้ามา เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ชมวัยเด็ก กลายเป็นหนังมวยปล้ำสัตว์ประหลาดไปโดยสมบูรณ์
– คิงคองในเรื่องนี้ถูกออกแบบมาให้ดูหน้าตาตลก และไม่มีความหน้ากลัวเท่ากับเวอร์ชั่นต้นฉบับ เพราะซึบุรายะตั้งใจไม่ให้เด็กเล็กๆหวาดกลัว
– มันกลายเป็นหนังก็อตซิลล่าที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในญี่ปุ่น ภาพของสองสัตว์ประหลาดต่อสู้กันกลายเป็นภาพจำของศึกแห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์
– ก็อตซิลล่าในเรื่องถูกปรับเปลี่ยนหน้าตา ให้ดูมีความเป็นสัตว์เลื้อยคลานมากขึ้น และให้ตัวคิงคองใช้เทคนิคใส่ชุดสูทยางเหมือนกับก็อดซิลล่า เพื่อประหยัดงบ (คองเวอร์ชั่นปี 1933 ใช้เทคนิค stop-motion)
– ตอนจบของหนังเป็นที่ถกเถียงกันมากมายว่า สรุปแล้วใครเป็นฝ่ายชนะกันแน่ เพราะหลังจากการต่อสู้กันและพลัดตกลงไปใต้น้ำ มีเพียงคองที่ขึ้นมาจากผิวน้ำและมุ่งหน้าว่ายกลับสู่เกาะ (มีข้อมูลบางแหล่งข่าวสารอธิบายว่า โตโฮยืนยันว่า คิงคองเป็นฝ่ายชนะในศึกครั้งนี้)

Mothra vs. Godzilla (1964)

Mothra vs. Godzilla (1964)

4. Mothra vs. Godzilla (1964)

[モスラ対ゴジラ]

-หนังเรื่องแรกของโตโฮ ที่นำเอาสัตว์ประหลาดค่ายตัวเองข้ามจักรวาลมาพบกัน นั่นก็คือผีเสื้อยักษ์ มอธร่า ซึ่งเคยมีหนังเดี่ยวของตัวเองแล้วในปี 1961
– ก็อดซิลล่าในหนังได้มีการปรับเปลี่ยนหน้าตาให้ดูดุร้ายมากยิ่งขึ้น มีดวงตาที่คล้ายกับปีศาจร้าย
– หลังจากที่หนังลืมประเด็นเกี่ยวกับสงครามไปในหนัง 2 เรื่องก่อนหน้า หนังเรื่องนี้ก็กลับมาพูดเรื่องประเด็นนี้กันอีกครั้ง โดยมีก็อดซิลล่าเป็นตัวแทนของบาดแผลสงคราม
– นอกจากนี้หนังยังเล่นประเด็นเกี่ยวกับ ความโลภเห็นแก่ตัวของมนุษย์และความน่ากลัวของระบบทุนนิยม โดยมีตัวละครนายทุนหน้าเงินที่จะซื้อไข่ของมอธร่าเก็บไว้ในสวนสนุกของตนเอง
– หนังได้รับคำชมที่ดีจากนักวิจารณ์ และปัจจุบันยังถูกแฟนๆหนังก็อตซิลล่ายกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดในยุคโชวะ
– ภาพของก็อดซิลล่าที่ต่อสู้กับผีเสื้อยักษ์ ยังกลายเป็นภาพจำในทุกยุคทุกสมัยถ้าหากมีคนนึกถึงซีรี่ส์ก็อดซิลล่า 

Ghidorah, the Three-Headed Monster (1964)

Ghidorah, the Three-Headed Monster (1964)

5. Ghidorah, the Three-Headed Monster (1964)
[三大怪獣 地球最大の決戦]

– เป็นหนังก็อตซิลล่าที่เข้าฉายเรื่องที่สองภายในปีเดียวกัน หลังจาก Mothra vs. Godzilla
– เป็นหนังก็อตซิลล่าเรื่องแรกที่มีการครอสโอเวอร์ครั้งใหญ่ นั่นคือมีตัวละครสัตว์ประหลาดของโตโฮถึงสองตัวนั่นก็ได้แก่ ม็อธร่าจากหนังปี 1961 และ ราด้อนจากหนังปี 1956 พร้อมกันกับสัตว์ประหลาดตัวใหม่อย่าง คิง กิโดร่า มังกรทองสามหัว
-เป็นหนังก็อตซิลล่ามีเนื้อหาที่ไปไกลขึ้นและขยายจักรวาลในแบบที่ว่า มีมนุษย์ต่างดาว (ในร่างของมนุษย์) และภัยคุกคามเป็นสัตว์ร้ายจากอวกาศ
-เหล่าตัวละครสัตว์ประหลาดในหนังเรื่องนี้ เริ่มที่จะมีบุคลิกคล้ายกับมนุษย์มากขึ้น แถมยังมีฉากที่พวกมันสื่อสารด้วยภาษาของตัวเองกันอีกด้วย
-คิง กิโดร่ากลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของก็อตซิลล่า และปรากฏตัวอีกหลายครั้งในหนังยุคหลัง มันถูกแฟนๆ หนังก็อตซิลล่ายกย่องให้เป็นคู่ปรับอันดับ 1 ตลอดกาลของก็อตซิลล่า
-แต่เดิมแล้วปีกของคิง กิโดร่าถูกออกแบบให้มีสีรุ้ง ลำตัวสีเขียวและสามารถพ่นไฟได้ แต่ปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีสีทองอร่ามทั้งตัว และพ่นลำแสงภาวะแรงโน้มถ่วง (มีชื่อเรียกว่า กราวิตี้บีม)

Invasion of Astro-Monster (1965)

Invasion of Astro-Monster (1965)6. Invasion of Astro-Monster (1965)

[怪獣大戦争]

– หลังจากหนังเรื่องก่อนหน้า โตโฮเห็นว่าคิง กิโดร่ากลายเป็นตัวละครสัตว์ประหลาดที่คนนิยม มันจึงได้กลับมาอีกครั้งในหนังภาคต่อ
– หนังขยายเรื่องราวไปไกลถึงนอกโลก พบดาวอีกดวงที่มีมนุษย์ต่างดาวอาศัยอยู่ และสเปเชี่ยลเอฟเฟ็กต์ UFO ที่น่าตื่นตาในยุคสมัยนั้น
– หนังเรื่องนื้กลายเป็นรากฐานที่ให้ก็อดซิลล่ามีความเป็นฮีโร่อย่างชัดเจน หลังจากที่ในหนัง Ghidorah, the Three Headed monster เริ่มต้นจากการที่ก็อดซิลล่าเป็นตัวร้ายและเปลี่ยนเป็นฮีโร่ในท้ายเรื่อง
– เป็นหนังภาคที่มีความนิยมมากมาย และเป็นหนึ่งในเรื่องที่แฟนก็อตซิลล่าชอบมากที่สุด เวอร์ชั่นที่นำมาฉายที่อเมริกายังมีชื่อ Godzilla vs. Monster Zero
– หนังได้นิค อดัมส์ นักแสดงชาวอเมริกันมาร่วมแสดงเป็นตัวละครเอกของหนังด้วย ส่วนขณะถ่ายทำให้นิค อดัมส์พูดเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนนักแสดงคนอื่นพูดภาษาญี่ปุ่นของตัวเอง ก่อนจะใช้พากย์เสียงญี่ปุ่นทับอีกที

Ebirah, Horror of the Deep (1966)

Ebirah, Horror of the Deep (1966)

7. Ebirah, Horror of the Deep (1966)

[ゴジラ・エビラ・モスラ 南海の大決闘]

– ความจริงแล้วหนังเรื่องนี้จะต้องเป็นหนังของคิงคอง แต่เพราะปัญหาการเจรจาทางธุรกิจกับบริษัทเจ้าของคิงคอง จึงทำให้ผลลัพย์ต้องออกมาคือก็อตซิลล่า แทนที่จะเป็น คิงคองปะทะกุ้งยักษ์
– แต่ในภายหลังโตโฮก็ได้สร้างหนังคิงคองของตัวเองนั่นคือเรื่อง King Kong Escapes โดยตกลงกับอีกบริษัทหนัง ที่มีถือสิทธิ์ของคิงคองเช่นเดียวกัน
– แต่บทดั้งเดิมของหนังก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เหมือนเพียงแค่เอาก็อตซิลล่ามายัดสลับแทนบทของคิงคองเท่านั้น เป็นเหตุผลที่เราเห็นก็อตซิลล่ามีพฤติกรรมแปลกต่างๆ เช่น หลับในถ้ำและถูกปลุกด้วยสายฟ้า จับตัวละครผู้หญิงไปนั่งมอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือตัวละครคิงคองทั้งนั้น
– ในช่วงยุคนี้หนังชุดก็อตซิลล่าเริ่มมีการปรับเปลี่ยน ให้มีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ชมวัยเด็กมากขึ้น ลดทอนความเคร่งเครียดลง และมีมุขตลกมากขึ้น
– ตัวหนังได้รับคำวิจารณ์ทั้งในด้านดีและแย่ แต่มันคือจุดเริ่มต้นในช่วงขาลงของชุดหนังก็อตซิลล่าเสียแล้ว
– หนังเข้าฉายในอเมริกาชื่อ Godzilla vs. the Sea Monster แต่กลับไม่ได้ฉายในโรงหนังแต่เป็นบนทีวีแทน

Son of Godzilla (1967)

8. Son of Godzilla (1967)
[怪獣島の決戦 ゴジラの息子]

– หนังก็อตซิลล่าที่เข้าหาผู้ชมวัยเด็กอย่างเต็มตัว ด้วยเนื้อหาที่ไม่เคร่งเครียดและเบาลง โดยเพิ่มตัวละคร มินิล่า เข้ามาเป็นตัวหลักของเรื่อง ซึ่งมินิล่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความคล้ายกันกับก็อตซิลล่า และถูกก็อตซิลล่ารับเลี้ยงเป็นดั่งลูกชายตัวเอง
– แนวของหนังได้เปลี่ยนไปจากเรื่องแรกๆที่เป็นไซ-ไฟเต็มตัว มาเป็นแนวผจญภัยบนเกาะเขตร้อน
– ก็อตซิลล่าถูกปรับเปลี่ยนหน้าตาให้ดูมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพื่อให้ดูมีความเป็นพ่อ แต่ถูกคนบ่นมากที่สุดว่าเป็นก็อตซิลล่าที่หน้าตาอุบาทว์ที่สุด เพราะมันดูเหมือนคนมากเกินไป
– ทีมงานเดินทางไปถ่ายบนเกาะกวม ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการถ่ายเป็นฉากของเกาะร้างได้อย่างสบาย และช่วยประหยัดงบจากฉากที่ต้องสร้างขึ้นมาในสตูดิโอ
– ตัวหนังได้รับคำวิจารณ์หลากหลาย แต่ที่คนบ่นส่วนใหญ่คือมันดูเป็นหนังสำหรับเด็กเล็กมากเกินไป แต่ก็เป็นหนังที่ดูสนุก

Destroy all Monsters (1968)

Destroy all Monsters (1968

9. Destroy all Monsters (1968)

[怪獣総進撃]

– กระแสของหนังไซ-ไฟอยู่ในช่วงขาลง พร้อมกับหนัง Son of Godzilla ที่ทำรายได้ไม่ค่อยสวย โตโฮจึงใช้ทุนสูงกว่าหนังเรื่องก่อนๆ ในการเตรียมปิดภาคสุดท้ายของหนังก็อตซิลล่าลงอย่างยิ่งใหญ่ โดยการนำเอาไคจูที่โด่งดังในสังกัดมารวบรวมไว้ในหนังเรื่องเดียวให้มากที่สุดในเวลานั้น (ซึ่งแน่นอนว่าที่ดังสุดในตอนนั้นคือ ก็อตซิลล่า)
– ไอเดียหนังมาจากความต้องการของ อิชิโระ ฮอนดะที่จะรวมโชว์ภาพของสัตว์ประหลาดทั้งหมดมารวมกัน ผลสุดท้ายเลยได้มาเป็นเกาะสัตว์ประหลาดกลางทะเล ซึ่งมีฐานวิจัยที่เลี้ยงพวกมันไว้เพื่อศึกษา
– นอกจากนี้หนังยังมีการต่อยอดเรื่องราวใน Invasion of Astro Monster ที่มีมนุษย์ต่างดาวต้องการยึดครองโลก โดยมีแผนการควบคุมกองทัพไคจูให้บุกทำลายเมืองสำคัญของโลก
– ทีมสร้างต้องคิดหนักกันว่าจะเลือกสัตว์ประหลาดตัวไหนมาเป็นตัวหลักในหนังบ้าง ผลสรุปคือมี ก็อตซิลล่า / มอธร่า (ใช้แค่ร่างหนอนเพื่อประยัดงบ) / มินิล่า จากหนังภาคก่อน / ราด้อน / แองกิรัส / บาราก้อน / โกโรซอรัส / วาราน / มันด้า / คุมองก้า และ คิง กิโดร่า ซึ่งสัตว์ประหลาดเหล่านี้ไม่ได้มีออกมาเห็นเท่าเทียมกันทั้งหมด บางตัวเพียงแค่แจมเป็น cameo เล็กน้อย
– แต่ทว่าชุดของบาราก้อนนั้นมีปัญหา ต้องรับการซ่อมแซมความเสียหายจากการนำไปใช้แต่งเป็นไคจูตัวอื่นของซีรี่ส์ อุลตร้าแมน (1966) ในช่วงนั้นอยู่บ่อยครั้งจนไม่สามารถใช้งานได้ทันเวลา เราจึงไม่ได้เห็นบาราก้อนในศึกท้ายเรื่อง และทำให้ได้ดูโกโรซอรัสโผล่ออกมาจากใต้ดินบุกฝรั่งเศสแทน ถึงแม้ในหนังจะยังพากย์ว่ามันเป็นบาราก้อนอยู่ก็ตาม
– ชุดของวารานก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ทำให้ได้เห็นไคจูทั้งสองโผล่มาแจมแค่สั้นๆบางฉากเท่านั้น
– ตัวหนังได้เสียงวิจารณ์ตอบรับในด้านบวก ในแง่หนังก็อตซิลล่าที่สนุกและดีของยุคโชวะ
– แม้จะวางไว้เป็นหนังก็อดซิลล่าเรื่องสุดท้าย แต่สุดท้ายโตโฮก็ยังพยายามต่อลมหายใจ ด้วยหนังก็อดซิลล่าแบบทุนต่ำ ใช้ฟุตเทจเก่า บวกกับเนื้อหาที่เอาใจเด็กๆ ทำให้ราชันยังได้เดินผงาดบนจอหนังต่อไป

All Monsters Attack (1969)

All Monsters Attack (1969)

10. All Monsters Attack (1969)
[ゴジラ・ミニラ・ガバラ オール怪獣大進撃]

– ในช่วงปลายยุค 60 นี้ อุตสาหกรรมหนังเข้าช่วงซบเซา เพราะความนิยมของทีวีกำลังเป็นที่นิยมมากกว่า บรรดาค่ายหนังจึงต้องใช้วิธีนำเอาฉากสเปเชี่ยลเอฟเฟ็กต์จากหนังเรื่องเก่าๆ มารีไซเคิลใหม่เพื่อประหยัดงบ และตอบสนองความต้องการของผู้ชมวัยเด็กอย่างเต็มที่
– ผลที่ออกมาคือ All Monsters Attack กลายเป็นหนังก็อตซิลลล่าที่มีความเป็นหนังเด็กสูงที่สุดในซีรี่ส์ และมีการใช้ฉากจากหนังเรื่องเก่ามาตัดต่อใช้ซ้ำเกือบครึ่งเรื่อง
– หนังใช้ภาพฟุตเทจจากเรื่อง Ebirah, Horror of the Deep / Son of Godzilla / Destroy all Monsters / King Kong Escapes มายำรวมกันทำให้ดูเหมือนมีสัตว์ประหลาดหน้าเดิมอยู่มากมาย พร้อมด้วยตัวละครไคจูใหม่อย่าง กาบาร่า
– หนังยังคงเนื้อหาของแนวผจญภัย แต่ก็เปลี่ยนใหม่ไปดูชีวิตของชนชั้นกลางธรรมดาแทนแนวตัวละครจากหนังเรื่องเก่าๆ อย่าง นักวิทยาศาสตร์ นักข่าว นักการเมือง ทหาร
– หนังดำเนินเรื่องได้แปลกและไม่เหมือนหนังก็อตซิลล่าเรื่องไหนๆ มาก่อน เพราะหนังเล่าเรื่องผ่านเด็กชายคนหนึ่งที่มีความคลั่งไคล้และชอบสัตว์ประหลาดมาก จนนึกฝันไปในจินตาการของตนเองว่าได้ไปเที่ยวผจญภัยบนเกาะสัตว์ประหลาด โดยมีเจ้ามินิล่าเป็นเพื่อนรักบนเกาะ
– หนังถูกวิจารณ์ด่าว่าเป็นหนังก็อตซิลล่าที่คุณภาพย่ำแย่ที่สุดในซีรี่ส์ แถมความน่าหงุดหงิดที่สุดคือการยัดฉากจากหนังเรื่องเก่ามาตัดใส่แทนแทบจะทั้งเรื่อง

Godzilla vs. Hedorah (1971)

11. Godzilla vs. Hedorah (1971) [ゴジラ対ヘドラ]

11. Godzilla vs. Hedorah (1971)

[ゴジラ対ヘドラ]

– หลังจากที่ เอจิ ซึบุราย่า เสียชีวิตและ อิชิโระ ฮอนดะ ไม่ได้กลับมาทำในหน้าที่เดิม หนังก็อตซิลล่าจึงจำเป็นต้องหาทีมงานชุดใหม่ โดยรอบนี้หนังได้ โยชิมิตสึ บันโนะ มากำกับ
– บันโนะปิ๊งไอเดียมาจากการที่เขาพบเห็นชายหาดที่ปนเปื้อนสารพิษ จึงได้ เฮโดร่า ศัตรูสัตว์ประหลาดตัวใหม่ของก็อตซิลล่าที่มีหน้าตาเหมือนสารพิษและของเสียที่ล่องลอยอยู่ในทะเล
– ตัวหนังเป็นเหมือนการสั่งสอนผู้ชมแบบตรงๆ โดยให้เห็นถึงปัญหาด้านมลพิษ และอยากให้ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
– ที่พูดถึงไม่ได้เลยคือความแปลกของงานภาพ การแทรกด้วยภาพแอนิเมชั่น รายการข่าว การแบ่งหลายจอเป็นช่องเล็กๆบางฉาก และการตัดต่อแสงสีวูบวาบ แถมบางช่วงยังใส่เพลงมาจนเกือบจะเป็น Music Videoย่อมๆ ทำให้โทนในหนังภาคนี้มีความแตกต่างจากหนังก็อตซิลล่าเรื่องก่อนๆแบบสุดโต่ง
– เหตุผลที่หนังใส่ฉากก็อตซิลล่าบินเพราะ บันโนะต้องการให้ผู้ชมผ่อนคลายระหว่างตัวหนัง ที่มีโทนซีเรียสมาตลอดเรื่อง
– หนังได้รับคำวิจารณ์ทั้งคำชมและด่า หนึ่งในคนที่เกลียดหนังเรื่องนี้มากคือโปรดิวเซอร์ โทโมยูกิ ทานากะ ซึ่งในช่วงที่ถ่ายทำ ทานากะ ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะอาการป่วย ภายหลังจึงมาเห็นหนังตอนถ่ายทำเสร็จแล้วจึงไม่พอใจอย่างมาก และมีคำสั่งห้ามไม่ให้ บันโนะ กำกับหนังก็อตซิลล่าอีก
– แต่อย่างไรก็ตาม หนังถูกแต่งตั้งให้กลายเป็นหนังก็อตซิลล่าที่มีความคัลท์มากที่สุด เพราะเด่นในด้านความแปลกพิสดารของมัน
– เมื่อ บันโนะ ถูกแบนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับก็อตซิลล่า โปรเจ็คต์หนังภาคต่อ Godzilla vs. Hedorah 2 ที่เตรียมไว้จึงหายไป แต่หลังจากนั้นในช่วงปี 2007-2009 บันโนะก็ยังพยายามที่จะสร้างหนังเรื่องนี้แต่สุดท้ายโปรเจ็คต์ก็ล่มไป และถูกแทนที่ด้วยก็อตซิลล่าปี 2014 ที่สร้างโดยฮอลลีวู้ด
– หนังจัดจำหน่ายในอเมริกาในชื่อ Godzilla vs. the Smog Monster

Godzilla vs. Gigan (1972)

Godzilla vs. Gigan (1972)12. Godzilla vs. Gigan (1972) 
[地球攻撃命令:ゴジラ対ガイガン]

– หลังจากเสียงตอบรับที่ย่ำแย่ของ All Monsters Attack และความไม่พอใจจาก Godzilla vs. Hedorah โทโมยูกิ ทานากะจึงพยายามนำหนังก็อตซิลล่ากลับเข้าสู่ทางดั้งเดิมที่คนดูคุ้นเคย นั่นก็คือหนังไซไฟที่มีเนื้อหามนุษย์ต่างดาว
– แรกเริ่มแล้วหนังมีชื่อโปรเจ็คต์ว่า The Return of King Ghidorah โดยเตรียมใช้สัตว์ประหลาดหลายตัวด้วยกัน แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้ลดจำนวนสัตว์ประหลาดลงทำให้เหลือไคจูแค่สามตัวเก่าอย่าง ก็อตซิลล่า / แองกิรัส / คิง กิโดร่า และสัตว์ประหลาดหุ่นไซบอร์กตัวใหม่อย่าง ไกกั้น
– ด้วยการที่ต้องประหยัดงบทำให้หนังต้องใช้ฉากฟุตเทจจากเรื่องเก่าๆ (อีกแล้ว) มาตัดใส่รวมในหนังโดยใช้เรื่อง Ghidorah, the Three Headed Monster / Destroy all Monsters / Invasion of Astro Monster
– ตัวกลุ่มของมนุษย์ต่างดาวไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบเดิมๆ แต่แปลกใหม่กว่า โดยมาในรูปลักษณ์ที่แฝงในร่างของมนุษย์ ซึ่งมีร่างจริงคือแมลงสาบ เช่นเดียวกับกลุ่มมนุษย์ต่างดาวที่เป็นหญิงล้วนใน Destroy All Monsters แต่มีร่างที่แท้จริงคือหนอนอวกาศ
– โทนของหนังยังแอบไปทางหนังสำหรับผู้ชมวัยเด็ก โดยมีฉากหลังเป็นตึกสวนสนุก ก็อตซิลล่าทาวเวอร์ ที่มีเป้าหมายให้เด็กๆมาสนุกกับสัตว์ประหลาดในภาพจำของซูเปอร์ฮีโร่แบบชัดเจนอีกครั้ง
– ตัวหนังถูกตำหนิในเรื่องการนำเอาฉากจากหนังเรื่องเก่าๆมาใช่ซ้ำ แต่ตัวหนังก็พอดูได้อย่างเพลิดเพลินกับเพลงประกอบของอะกิระ อิฟุกุเบะและฉากต่อสู้ของเหล่าสัตว์ประหลาด
– หนังยังนำเสนอความแปลกใหม่เพิ่มคือ ก็อตซิลล่าสามารถพูดคุยกับแองกิรัสเป็นภาษาสัตว์ประหลาดได้ โดยในหนังจะขึ้นซับเป็นกล่องความคิดแบบในการ์ตูน ซึ่งมันก็สามารถมองให้ตลกๆได้ถ้าเป็นหนังสำหรับเด็ก แต่มันกลับยิ่งเพิ่มความเป็นคน แถมลดความเป็นสัตว์ประหลาดของก็อตซิลล่าลงไปทุกที
– นอกจากนั้นแล้ว หนังเรื่องนี้ยังเป็นหนังก็อตซิลล่าเรื่องแรกที่ทำฉากสัตว์ประหลาดเลือดออกแบบชัดๆจำนวนมาก เรียกได้ว่าเลือดท่วมจอเลยทีเดียว

Godzilla vs. Megalon (1973)

Godzilla vs. Megalon (1973)

13. Godzilla vs. Megalon (1973)

[ゴジラ対メガロ]

– ในช่วงยุคซึ่งทีวีซีรี่ส์แนวยอดมนุษย์และหุ่นยนต์กำลังฮิตอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น แม้กระทั่งในหนังก็อตซิลล่าเอง จึงเกิดไอเดียแรกเริ่มคือการสร้างหนัง Jet Jaguar vs. Megalon โดยเอาหุ่นยนต์ที่มีการดัดแปลงมาจากอุลตร้าแมนและหุ่นยนต์มาซินก้า Z ซึ่งกำลังดังอย่างมากในช่วงเวลานั้น ออกมาเป็นหุ่นเจ็ต จากั้วร์ เพื่อต่อสู้กับไคจูด้วงยักษ์จากโลกใต้ดิน ชื่อ เมกาล่อน
– แต่โปรเจคก็ถูกระงับ ก่อนถูกนำไปสร้างเป็น Godzilla vs. Gigan เสียก่อน และภายหลังได้นำมาพัฒนาโดยใส่ก็อตซิลล่าเข้ามาในเรื่องจนเป็น Godzilla vs. Megalon ในที่สุด
– ตัวหนังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น แต่ทว่ากลับดังเปรี้ยงปร้างเมื่อถูกนำไปฉายในอเมริกาในปี 1976 ซึ่งหนังฮิตไปทั่วประเทศจนเกิดกระแสก็อตซิลล่าฟีเวอร์ในยุคนั้น เรียกได้ว่าเป็นหนังเรื่องที่เปิดตัวให้เกิดแฟนคลับก็อตซิลล่าจากอเมริกากันอย่างมากเลยทีเดียว
– ภาพจำของหนังที่คนดูจำได้อย่างชัดเจนคือ ก็อตซิลล่าร่วมมือต่อสู้กับหุ่นเหล็กยักษ์ และฉากก็อตซิลล่ากระโดดถีบขาคู่พร้อมหางไถพื้น… พูดได้ว่าเป็นฉากที่เรียกเสียงฮาให้ผู้ชมได้มากที่สุดของทั้งซีรี่ส์

Godzilla vs. Mechagodzilla (1974)

Godzilla vs. Mechagodzilla (1974)14. Godzilla vs. Mechagodzilla (1974) 
[ゴジラ対メカゴジラ]

– โปรดิวเซอร์ โทโมยูกิ ทานากะ ทุ่มงบเยอะกว่าเดิมเนื่องในการฉลองหนังก็อตซิลล่าครบรอบ 20 ปี ด้วยแนวคิดสร้างตัวละครให้ใหญ่กว่าเดิม และเพราะที่ผ่านมาเป็นหนังทุ่นต่ำมาหลายภาคจนต้องใช้ฟุตเทจภาพเก่าๆ มาซ้ำพอแล้ว
– ไอเดียของหนังถูกเซ็ตด้วยเหตุการณ์การต่อสู้ของเหล่าไคจูในเมืองโอกินาว่า และมีมนุษย์ต่างดาวที่วางแผนอยากจะครองโลก จึงได้หนังที่เป็นก็อตซิลล่าปะทะเมกะก็อตซิลล่า หุ่นยนต์ยักษ์ที่มีลักษณะคล้ายกับก็อตซิลล่า พร้อมด้วยแองกิรัส ไคจูขาประจำคู่หูของก็อตซิลล่า พร้อมสัตว์ประหลาดตัวใหม่อย่างคิง ซีซ่าร์ สัตว์ประหลาดที่มีรูปร่างคล้ายกับเทพเจ้าสิงโต ตามตำนานพื้นเมืองของโอกินาว่า
– ถึงแม้ว่าเนื้อเรื่องจะไม่มีความแปลกใหม่เลยสำหรับซีรี่ส์หนังก็อตซิลล่า ยังคงวนเดิมในเรื่องมนุษย์ต่างดาวที่พยายามบุกยึดครองโลก / ก็อตซิลล่าเข้าต่อสู้เพื่อปกป้องมนุษย์ / ก็อตซิลล่าและไคจูผองเพื่อนรสมพลังต่อสู้กับฝั่งวายร้าย และอีกมากมาย
– แต่ต้องยอมรับว่าเป็นหนังก็อตซิลล่าที่บันเทิง และไม่ได้สนุกแบบนี้มานานนับตั้งแต่ Destroy all Monsters จบลง ด้วยสเปเชี่ยลเอฟเฟ็กต์แบบจัดเต็มในช่วงท้าย ซึ่งมีเยอะยิ่งกว่าหนังภาคก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด แถมด้วยดนตรีประกอบแสนปลุกเร้าความมันส์โดย มาซารุ ซาโต้
– ความสนุกสนานของมันทำให้กลายเป็นหนังก็อตซิลล่าที่มีแฟนๆชอบกันอย่างล้นหลาม จนได้นำไปฉายที่อเมริกาในชื่อ Godzilla vs. Cosmic Monster
– หนึ่งในแรงบันดาลใจก็อตซิลล่าเหล็กคือ Mechani-Kong หรือหุ่นยนต์คิงคองยักษ์จากหนัง King Kong Escapes ของค่ายโตโฮเช่นเดียวกัน
– แต่เดิม บาราก้อน ต้องเป็นไคจูที่ได้โผล่ในหนังเรื่องนี้ แต่ด้วยปัญหาของชุดที่ใช้ซ่อมแซมจากการถ่ายทำซีรี่ส์ อุลตร้าแมน (1966) ทำให้ชุดไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน (อีกแล้ว) แองกิรัสจึงได้บทไคจูที่มุดดินโผล่มาในช่วงที่สู้กับเมกะก็อตซิลล่าแทน
– ฉากที่ต้องปลุกคิง ซีซาร์โดยการร้องเพลงชวนให้นึกถึงการที่ภูติแฝดโชบิจินต้องต้องเพลงกล่อม มอธร่าอยู่เสมอซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหนังสัตว์ประหลาดจากโตโฮไปแล้ว

Terror of Mechagodzilla (1975)

15. Terror of Mechagodzilla (1975) [メカゴジラの逆襲]

15. Terror of Mechagodzilla (1975)
[メカゴジラの逆襲]

– เพราะความฮอตฮิตอย่างมากของหนัง Godzilla vs. Mechagodzilla ทำให้โตโฮตัดสินใจทำหนังภาคต่อโดยนำตัวละคร Mechagodzilla กลับมาอาละวาดบนจออีกครั้ง
– บทหนังได้พัฒนามาจาก ยูกิโกะ ทาคายาม่า นักเขียนที่ชนะการประกวดตามหาเรื่องราวเพื่อนำมาต่อยอดสร้างเป็นหนังก็อตซิลล่า
– ซึ่งภาคสุดท้ายนี้เนื้อหาก็ยังคงคล้ายกับภาคก่อน ที่มีกลุ่มมนุษย์ต่างดาวที่ไม่ยอมล้มเลิกความพยายามที่จะครองโลก โดยใช้หุ่นก็อตซิล่าเหล็กเช่นเคย แต่คราวนี้มีมนุษย์นักวิทยาศาสตร์คอยช่วยเหลือ แถมพ่วงด้วยตัวละครสัตว์ประหลาดหน้าใหม่อย่าง ไททันโนซอรัส ไดโนเสาร์ทะเลที่รับคลื่นสัญญานคำสั่ง จากเสาอากาศบนหัว
– ตัวหนังไม่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น เนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนังกลับถูกยกย่องโดยเหล่าแฟนๆว่าเป็นหนังก็อตซิลล่าที่ดีเรื่องนึง และยังเป็นการทำหนังเรื่องสุดท้ายของ อิชิโระ ฮอนดะ
– ถ้ามองว่ามันเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของยุคสมัยโชวะ มันก็บอกเล่าผู้ชมให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ซีรี่ส์นี้เดินมาจนถึงทางตันแล้วจริงๆ เพราะหลังจากจบเรื่องนี้โตโฮก็ไม่ได้หยิบก็อตซิลล่ามาทำหนังอีกเลย ปล่อยให้ราชันหลับใหลอยู่ใต้ทะเลนานนับ 10 ปี

The Return of Godzilla (1984)

The Return of Godzilla (1984)

16. The Return of Godzilla (1984)

[ゴジラ]

– หลังจากที่ก็อตซิลล่าเดินหายลงทะเลไปนานเกือบ 10 ปีเพราะหนัง Terror of Mechagodzilla ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่โตโฮหวังไว้ โปรดิวเซอร์ โทโมยูกิ ทานากะ ก็ยังมีแผนพยายามจะนำเอาก็อตซิลล่ากลับมาตลอด โดยรอบนี้คือการกลับไปสู่รากเหง้าเดิมอีกครั้ง
– รากเหง้าเดิมที่ว่านั้นหมายถึง โทนหนังที่ซีเรียส นัยยะที่สะท้อนถึงนิวเคลียร์ ภาพของก็อตซิลล่าที่เป็นสัตว์ประหลาดร้าย ศัตรูสุดโหดของมนุษย์
– โปรเจ็คต์ถูกสร้างขึ้นมาเป็นหนังชื่อ Gojira แบบภาคแรกสุดหรือชื่อสากลคือ The Return of Godzilla ซึ่งเป็นหนังกึ่งภาคต่อกึ่งรีบู้ท ยกเครื่องรีบู้ทไทม์ไลน์ใหม่หมด โดยที่จะมีเนื้อหาต่อจากหนังก็อตซิลล่าในปี 1954 และลบภาคต่อยุคโชวะทั้งหมดตั้งแต่ Godzilla raids again ไปจนถึง Terror of Mechagodzilla
– ตัวหนังมีอารมณ์ยกเครื่องใหม่ ทำให้ก็อตซิลล่ากลับไปเป็นสัตว์ร้ายโหดเหี้ยมอีกครั้งแบบในปี 1954 มีการเล่าเรื่องที่ต่างจากหนังก็อตซิลล่ายุคโชวะยุค 60-70 แทบจะสิ้นเชิง หนังมีลักษณะการเล่าเรื่องในแบบหนังระทึกชวัญ อีกทั้งยังเป็นการปรากฎตัวของก็อตซิลล่าในช่วงยุคสงครามเย็น สถานการณ์นี้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีสภาพเหมือนช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอีกครั้ง ที่ต้องเสี่ยงภัยจากระเบิดนิวเคลียร์
– การที่หนังมีฉากญี่ปุ่นปฎิเสธที่จะใช้นิวเคลียร์กำจัดก็อตซิลล่าจากอเมริกาและรัสเซีย จึงเป็นฉากสำคัญที่สื่อนัยยะความหมายสำคัญ
– ในยุค 80 ญี่ปุ่นนั้นกำลังพุ่งทะยานไปในด้านต่างๆ มากมาย จนชาวญี่ปุ่นหลายคนหลงลืมประวัติศาสตร์ของตนเอง การได้ดูหนังก็อตซิลล่าจึงเหมือนเป็นเครื่องเตือนใจอีกครั้งถึงบาดแผลสงคราม ที่เต็มไปด้วยความขมขื่นและเจ็บปวด
– ในยุคที่ตึกรามบ้านช่องใหญ่โตขึ้นมากกว่าในอดีต ทำให้ต้องเพิ่มขนาดตัวของก็อตซิลล่าจาก 50เมตรไปเป็น 80 เมตร เพื่อให้คนดูรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของจอมราชันย์ที่เดินเหยียบย่ำบนกรุงโตเกียว
– หน้าตาของก็อตซิลล่าถูกปรับแต่งดีไซน์ใหม่ ให้กลับไปดูมีความน่ากลัวแบบต้นฉบับ และทิ้งความเป็นไคจูฮีโร่จากยุคโชวะไปให้หมด นอกจากนั้นทีมเทคนิคยังสร้างหุ่นกลก็อตซิลล่าขนาดใหญ่ เพื่อใช้ถ่ายทำส่วนโคลสอัพใบหน้าอีกด้วย
– ถึงแม้หนังจะทำรายได้ไม่ดีอย่างที่หวังไว้ แต่หนังก็ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีมากมาย แถมยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเหล่าคนรุ่นใหม่ปี 80-90 ที่เกิดไม่ทันในยุครุ่งเรืองของหนังชุดก็อตซิลล่าในช่วง 60-70
– แม้ว่าหนังจะถูกสร้างในช่วงปลายยุคโชวะ แต่มันก็ถูกนับให้เป็นหนังเรื่องแรกของยุค เฮเซย์ ซีรี่ส์
– หนังชนะรางวัล Japan Academy Award Prize ปี 1986 สองสาขาคือ สาขานักแสดงหน้าใหม่แห่งปี ยาสุโกะ ซาวากุจิ และสาขาพิเศษสำหรับ เทรุโยชิ นากาโนะ และทีมงานในสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์

Godzilla vs. Biollante (1989)

Godzilla vs. Biollante (1989)17. Godzilla vs. Biollante (1989)

[ゴジラvsビオランテ]

– โปรดิวเซอร์ โทโมยูกิ ทานากะ ต้องการสัตว์ประหลาดยักษ์ตัวใหม่มาประชันหน้ากับก็อตซิลล่า ทางโตโฮเลยประกาศเปิดโอกาสให้คนทั่วไปส่งไอเดียโครงเรื่องหนังก็อตซิลล่าภาคใหม่มาประกวดกัน ซึ่งผู้ชนะก็คือ ชินอิชิโร โคบายาชิ ทันตแพทย์ผู้มีงานเสริมเป็นนักเขียน
– จากโครงเรื่องของโคบายาชิที่ชนะการประกวด ก็ได้รับช่วงต่อไปพัฒนาเป็นบทหนังจนกลายเป็น Godzilla vs. Biollante เล่าเรื่องราวต่อเนื่องโดยตรงจาก The Return of Godzilla
– ก็อตซิลล่า ได้กลับมาอีกครั้งพร้อมการปรากฎตัวของไคจูตัวใหม่ ที่มีต้นกำเนิดมาจากดอกกุหลาบ /เซลล์ของก็อตซิลล่า และดีเอ็นเอมนุษย์ จนกลายเป็นสัตว์ประหลาดดอกไม้ขนาดมหึมา บิโอลันเต้
– หน้าตาของก็อตซิลล่าถูกปรับดีไซน์ใหม่ให้ดูมีความดุร้ายมากยิ่งขึ้นทั้งส่วนหัว,ใบหน้า,ลำตัว และครีบหลัง รูปลักษณ์ใหม่นี้เองที่ทำให้เป็นภาพจำก็อตซิลล่าของยุค เฮเซย์ ซีรี่ส์
– หลังจากที่ก็อตซิลล่าเคยมีสถานะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ปกป้องญี่ปุ่นในยุค 60-70 เมื่อเข้าสู่ยุค 90 สถานะของราชันแห่งสัตว์ประหลาดก็เปลี่ยนไปเป็นนัยยะทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ทั้งประเด็นในเรื่องการตัดต่อพันธุกรรม การกลายพันธุ์ วิทยาการหุ่นยนตร์ แม้แต่ปประเด็นการดูแลรักสิ่งแวดล้อม (Godzilla vs. Mothra)
– แต่กลับกลายเป็นว่า รายได้ของหนังล้มเหลวบนตารางทำเงิน ถึงแม้หนังจะได้รับคำวิจารณ์ที่ดีก็ตาม อาจเป็นเพราะผู้ชมไม่คุ้นเคยกับสัตว์ประหลาดตัวใหม่อย่าง บิโอลันเต้ หนังจึงไม่สามารถเรียกแขกได้มากพอ
– เป็นหนังก็อตซิลล่าเรื่องแรกที่ถ่ายทำในยุค เฮเซย์ แต่แฟนๆก็ยกให้ The Return of Godzilla เป็นเรื่องแรกของซีรี่ส์นี้
– หุ่นร่างสุดท้ายของบิโอลันเต้ ต้องใช้ทีมงานถึง20คนในการสร้างและคอยดูแลมัน
– มีการถ่ายทำฉากต่อสู้ของบิโอลันเต้ร่างกุหลาบ กับก็อตซิลล่าด้วยเทคนิค Stop-motion แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ เพราะเอฟเฟกต์ดูไม่เข้ากันกับส่วนอื่นของหนัง
– หนังชนะรางวัลเวที Japan Academy Prize ในปี 1991 สาขานักแสดงหน้าใหม่แห่งปี มาซาโนบุ ทาคาชิม่า
– ในปี 2014 Godzilla vs. Biollante ได้รับเลือกโหวตให้เป็นอันดับ 1 หนังก็อตซิลล่าที่ดีที่สุด จากแฟนชาวญี่ปุ่นทางช่องโทรทัศน์ Nihon Eiga Senmon ตามด้วย Godzilla (1954) เป็นอันดับที่สองซึ่งน่าจะเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อินกับหนังขาวดำแล้ว ถึงแม้ว่าหนังต้นฉบับปี 1954 จะได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลามก็ตาม

Godzilla vs. King Ghidorah (1991)

18. Godzilla vs. King Ghidorah (1991)
[ゴジラvsキングギドラ]

– หลังจากที่สัตว์ประหลาดตัวใหม่อย่าง บิโอลันเต้ ไม่สามารถอาละวาดบนBox Officeได้มากพอ ทำให้โทโมยูกิ ทานากะ และ โชโงะ โทมิยาม่า ตัดสินใจหยิบเอาตัวละครสัตว์ประหลาดตัวเก่าที่คนดูคุ้นเคยจากยุคโชวะ มาปัดฝุ่นนำเสนอในรูปแบบใหม่
– แรกเริ่มโตโฮอยากจะนำ King Kong vs. Godzilla มาสร้างใหม่อีกครั้งแต่ทว่า ติดปัญหาลิขสิทธิ์ของ คิงคอง ที่เจรจาไม่ลงตัว ทำให้ทานากะจึงเอาตัวละครยอดฮิตในอดีตอย่าง คิง กิโดร่ามาแทนจนกลายเป็นหนัง Godzilla vs. King Ghidorah ซึ่งมีเรื่องราวต่อเนื่องจาก Godzilla vs. Biollante พร้อมด้วยทฤษฎีใหม่ว่า ก็อตซิลล่า ถือกำเนิดมาจากไดโนเสาร์พันธ์ ก็อตซิลล่าซอรัส ที่กลายพันธุ์เพราะระเบิดนิวเคลียร์
– หนังเล่าเรื่องด้วยการปรากฎตัวของกลุ่มคนที่กล่าวว่ามาจากโลกอนาคต ด้วยไทม์แมชชีนที่รูปร่างคล้ายยานยูเอฟโอ โดยอ้างว่าประเทศญี่ปุ่นจะถึงกาลอวสานอย่างสมบูรณ์ด้วยก็อตซิลล่า พวกเขาจึงเสนอให้ความช่วยเหลือในการเดินทางข้ามเวลาไปอดีต เพื่อเคลื่อนย้ายก็อตซิลล่าซอรัสออกไปจากบริเวณเกาะ ก่อนที่มันจะถูกระเบิดนิวเคลียร์กลายพันธุ์ให้กลายเป็นก็อตซิลล่ามาทำลายญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน
– อากิระ อิฟุกุเบะกลับมาทำหน้าที่สร้างดนตรีประกอบในหนังอีกครั้งหลังจากห่างหายจากหนังก็อตซิลล่ามานาน
– เนื้อหาของหนังมีอารมณ์คล้ายกับเอาพล็อตจากหนังภาคเก่า ที่มีมนุษย์ต่างดาวมาโจมตีโลกมาดัดแปลงใหม่ และถึงแม้บางอย่างของหนังจะมีความรู้สึกเหมือน Terminator 2 ไปบ้าง เช่น ตัวละครหุ่นแอนดรอยด์ M-11
– แต่ก็เป็นหนังก็อตซิลล่าที่มีเรื่องราวที่สนุก น่าติดตาม ทั้งเรื่องราวของต้นกำเนิดของก็อตซิลล่า, พล็อตย้อนเวลา, คิง กิโดร่าที่นำเสนอในโฉมใหม่ของสัตว์ประหลาดไซบอร์ก เมกกะ-คิง กิโดร่า แถมหนังยังมีส่วนของปมเรื่องที่บอกว่าในโลกอนาคต ญี่ปุ่นจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจเหนือกว่า จีน รัสเซีย หรือแม้กระทั่ง อเมริกา
– หนังได้รางวัลในด้านสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์สำหรับโคอิจิ คาวากิตะ และลูกทีมจากเวที Japan Award Prize ปี 1992

Godzilla vs. Mothra (1992)

Godzilla vs. Mothra (1992)

19. Godzilla vs. Mothra (1992)

[ゴジラvsモスラ ]

– แผนการนำไคจูที่คนดูคุ้นเคยกลับมาใช้ในมุมมองใหม่อีกครั้งประสบความสำเร็จในหนังภาคที่แล้ว ดังนั้นโตโฮเลยลองใช้สูตรเดิมอีกครั้ง โดยรอบนี้นำเอาสัตว์ประหลาดผีเสื้อยักษ์ มอธร่า กลับมาพร้อมด้วยตัวละครไคจูใหม่อย่าง แบททร่า สัตว์ประหลาดที่เป็นเหมือนกับด้านมืดของมอธร่า
– ตัวหนังมีหลายองค์ประกอบคล้ายกับหนัง Mothra vs. Godzilla โชวะในปี 1964 ทั้งการค้นพบไช่ใบโตของมอธร่า ภาพความมีออร่าของผีเสื้อผู้พิทักษ์ หรือ นางฟ้าภูติจิ๋วร้องเพลงเรียกหามอธร่า รวมไปถึงมนุษย์หน้าเงินที่พยายามหาผลประโยชน์จากไข่ของผีเสื้อยักษ์
– แต่สิ่งที่โดดเด่นกว่าอย่างแน่นอนคือสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ที่มีความสวยงามและสมบูรณ์กว่าฉบับเก่า แต่ตัวหนังเองก็เหมือนวนกลับมามีสถานะ”หนังเด็ก”อีกครั้ง ด้วยองค์ประกอบที่ดูเฮฮาของการผจญภัยบนเกาะ และการสอดแทรกนัยยะของการสอนให้มนุษย์รักโลกแบบเห็นได้อย่างชัดเจน
– ตัวหนังประสบความสำเร็จทางรายได้อย่างมากในญี่ปุ่น พร้อมกับเสียงวิจารณ์คำชมในเชิงบวกเสียส่วนมาก โดยเฉพาะงานสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ โดยเฉพาะดนตรีประกอบของอะกิระ อิฟุกุเบะ
– เพราะความฮิตของหนังทำให้โตโฮตัดสินใจ ทำหนังแยกของมอธร่าเป็นไตรภาคคือ Rebirth of Mothra ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับหนังชุดของก็อตซิลล่า หรือเรียกได้ว่าแยกย่อยเป็นอีกจักรวาลไปเลย
– หนังเข้าจัดจำหน่ายในอเมริกาโดยใช้ชื่อว่า Godzilla vs. Mothra: The Battle for Earth เพื่อป้องกันความสับสนของชื่อ Godzilla vs. Mothra ที่นำมาฉายที่อเมริกาในยุคโชวะปี 1964
– สองภูติแฝดในหนังเรื่องนี้ถูกเรียกว่า คอสโม ต่างจากในยุคโชวะที่เรียกว่า โชบิจิน
– หนังได้เข้าชิงรางวัล จากเวที Awards of the Japanese Academy ปี 1993 สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมและนักแสดงชายสมทบยอดเยี่ยม ทาเกฮิโร่ มูราตะ และชนะหนึ่งรางวัลคือ สาขานักแสดงหน้าใหม่แห่งปี ได้แก่สองสาวคอสโม เคโกะ อิมะมุระ และ ซายากะ โอซาว่า

Godzilla vs. Mechagodzilla (1993)

Godzilla vs. Mechagodzilla20. Godzilla vs. Mechagodzilla (1993) 
[ゴジラvsメカゴジラ]

– หลังจากที่ Godzilla vs. Mothra ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม โตโฮก็ได้เดินหน้าหนังภาคต่อไปโดยใช้สูตรตัวละครเก่ามานำเสนอในรูปแบบใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้ก็คือศัตรูสุดโด่งดังในอดีต หุ่นก็อตซิลล่าเหล็กยักษ์ เมกกะก็อตซิลล่า พ่วงด้วยไคจูสุดคลาสสิกอย่าง ราด้อน พร้อมตัวละครใหม่อย่าง เบบี้ก็อตซิลล่า หรือก็คือลูกก็อตซิลล่าในรูปแบบใหม่
– หนังเปิดเรื่องมาภายหลังศึกของก็อตศิลล่า ปะทะ เมกกะ-คิงกิโดร่า ผ่านไปไม่กี่เดือน รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งหน่วยงานองกรณ์ที่มีไว้เพื่อจัดการกับก็อตซิลล่าโดยเฉพาะ โดยรวบรวมวัตถุดิบและต้นแบบหลักของอาวุธชิดใหม่จากซากของ เมกกะ-คิงกิโดร่า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากอนาคตจนในที่สุดก็ได้ เมกกะ-ก็อตซิลล่า หุ่นยนตร์ติดอาวุธหนักรูปร่างคล้ายก็อตซิลล่า
– การนำเสนอกลุ่ม G-Force และการวางแผนเพื่อรับมือกับก็อตซิลล่าทำให้เห็นว่า มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับก็อตซิลล่ามากขึ้นกว่าสมัยก่อน แถมยังเฟ้นหาวิธีการหรือกลยุทธใหม่ๆมากำจัดก็อตซิลล่าอยู่เสมอ
– ด้วยการนำเสนอเบบี้ก็อตซิลล่า ซึ่งมีความเหมือนเอาองค์ประกอบบางส่วนจาก Son of Godzilla มานำเสนอใหม่ เช่นภาพสุดน่ารักของลูกก็อตซิลล่า และความอ่อนโยนของตัวละครผู้หญิงและเหล่าเด็กๆ มีส่วนให้หนังก็อตซิลล่ายุคเฮเซย์มีความเป็นหนังที่เข้าถึงเด็กชัดเจนมากยิ่งขึ้น
– แต่เดิมโตโฮตั้งใจจะให้หนังเรื่องนี้เป็นภาคจบของยุคเฮเซย์ ด้วยการคิดฉากจบให้เมกกะก็อตซิลล่า สามารถสังหารก็อตซิลล่าได้สำเร็จ ก่อนราชันแห่งสัตว์ประหลาดจะมอบพลังงานให้แก่เบบี้จนกลายเป็นร่างเติบโตเต็มวัย และเจ้าตัวนี้คือสิ่งที่โตโฮเตรียมไว้ให้หนังก็อตซิลล่าเวอร์ชั่นอเมริกันที่สร้างโดย Sony และ TriStar Pictures แต่ทว่าผู้สร้างอเมริกันอยากได้หนังแยกเดี่ยวของพวกเข้ามากกว่า ไอเดียนี้จึงถูกยกข้ามมาใช้ใน Godzilla vs. Destroyah แทน ส่วนโปรเจ็คต์ของอเมริกันก็ถูกพัฒนาจนกลายเป็นก็อตซิลล่า (1998)
– ฉากจบอีกแบบคือก็อตซิลล่าถูกฆ่าโดยเมกกะก็อตซิลล่า แต่การระเบิดของยานการูด้าซึ่งมีเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ภายใน กลายเป็นพลังงานให้แก่ก็อตซิลล่าจนฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
– เป็นหนังของยุคเฮเซย์อีกเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่นองค์ประกอบที่ดีงามของดนตรีประกอบ และงานสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์
– หนังเข้าชิงรางวัลด้านเสียงยอดเยี่ยมจากเวที Japan Academy Prize ในปี 1994

Godzilla vs. Spacegodzilla (1994)

Godzilla vs. Spacegodzilla (1994)

21. Godzilla vs. Spacegodzilla (1994) 
[ゴジラvsスペースゴジラ ]

– หลังจากที่หนังประสบความสำเร็จมาหลายเรื่อง โดยการนำเอาไคจูตัวเก่าที่คนดูคุ้นเคยมานำเสนอในรูปแบบใหม่ ซึ่งเพลย์เซฟมาตลอด โตโฮก็ขอลองสร้างหนังก็อตซิลล่าที่แหวกแนวบ้าง
– โดยครั้งนี้นำเสนอไคจูตัวใหม่ สเปซก็อตซิลล่า อสูรร้ายซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากเซลล์ของก็อตซิลล่า ผสมกับรังสีคอสมิกการระเบิดของดวงดาว พร้อมกับเอา โมเกร่า หุ่นยนตร์รุ่นใหม่ที่สร้างโดยฝีมือมนุษย์มา จากหนังเก่าของค่ายตัวเอง The Mysterians ปี 1957
– ตัวหนังเหมือนเช่นเดียวกันกับภาคก่อนๆ คือยังมีเนื้อหาที่วนเวียนเกี่ยวกับการที่มนุษย์พยายามจะสังหารก็อตซิลล่า ทั้งการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า รวมไปถึงการใช้พลังจิต และผลกระทบที่เกิดจากเซลล์ของก็อตซิลล่า
– สิ่งที่เห็นได้ชัดคือหนังก็อตซิลล่าเฮเซย์ ซีรี่ส์เริ่มมีทิศทางที่เอนเอียงไปทางในยุคโชวะ ซีรี่ส์ นั่นก็คือการที่มนุษย์เริ่มมีความผูกพันกับก็อตซิลล่า ผ่านตัวละคร มิกิ ผู้มีพลังจิตและตัวละคร ลิตเติ้ล ลูกก็อตซิลล่าแสนน่ารักที่โตขึ้นจากภาคที่แล้ว ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ดูเบาเหมาะกับผู้ชมวัยเด็ก
– แรกเริ่มหนังมีไอเดียให้ก็อตซิลล่าแท็กทีมกับเมกกะก็อตซิลล่า เพื่อร่วมต่อสู้ เสปซก็อตซิลล่า แต่เมกกะก็อตซิลล่ามีพลังที่มากเกิน จึงปรับเปลี่ยนเป็นหุ่น โมเกร่า แทนแบบในหนัง
– แต่หนังได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบอย่างมากในช่วงที่ออกฉาย หลายคนถึงกับบอกว่ามันเป็นหนังก็อตซิลล่าที่ห่วยที่สุดเลยทีเดียว แต่บางคนก็มองว่าหนังถูกประเมินไว้ต่ำเกินความเป็นจริง บางฉากก็ทำออกมาไม่ได้ย่ำแย่มากเกินไป
– ด้วยตาราที่เร่งรีบทำให้หนังจำเป็นต้องฉากฟุตเทจจากภาคเก่า เช่น Godzilla vs. Biollante และ Godzilla vs. Mothra มาตัดต่อผสมกับที่ถ่ายทำใหม่ ซึ่งย้อนรอยเหมือนกับหนังยุคมืดของก็อตซิลลาในช่วงขาลงของโชวะ ซีรี่ส์

Godzilla vs. Destoroyah (1995)

22. Godzilla vs. Destoroyah (1995) 
[ゴジラvsデストロイア]

– โตโฮตัดสินใจที่จะปิดตำนานราชันแห่งสัตว์ประหลาดลง หลังจากที่อสูรนิวเคลียร์ตัวนี้เดินบนจอภาพยนตร์มานานกว่า 40 ปี สตูดิโอประกาศที่จะหยุดสร้างหนังก็อตซิลล่า และเผยอย่างชัดเจนว่ามันจะสิ้นชีพในหนังชื่อ Godzilla vs. Destoroyah ทั้งหมดนี้เพื่อจะปูทางให้ TriStar Pictures นำไปสร้างใหม่เป็นเวอร์ชั่นของอเมริกัน
– แม้จะมีการประกาศชัดเจนก่อนฉายว่า “ก็อตซิลล่าจะตายในหนังเรื่องนี้” แต่รายละเอียดอื่นๆของหนัง ถูกเก็บเงียบเอาไว้อย่างดีจนกระทั่งหนังเข้าฉาย
– หนังใช้องค์ประกอบจากหนังภาคแรกสุดปี 1954 ทั้งตัวละครสัตว์ประหลาดใหม่อย่าง เดสโทโรยาร์ ที่เป็นผลพวงมาจากเครื่องมือ ออกซิเจน เดสทรอยเยอร์ของ ดร.เซริซาว่าที่เคยใช้สังหารก็อตซิลล่าในหนังภาคแรก รวมถึง โมโมโกะ โคชิ นักแสดงคนเดิมจากหนังต้นฉบับกลับมารับบท เอมิโกะ ยามาเนะ บวกกับฟุตเทจดั้งเดิมบางส่วน จนทำให้หนังมีกลิ่นอายหลายอย่างจากหนังปี 1954 อยู่เยอะพอสมควร
– ดีไซน์ใหม่ของก็อตซิลล่าที่ร่างกายสีส้มแดง ราวกับมีลาวาไหลเวียนอยู่ในตัว พร้อมกับควันที่ลอยคลุ้งออกมาตลอดเวลา กลายเป็นภาพจำที่โดดเด่นที่สุดของหนัง และกลายเป็นดีไซน์ของก็อตซิลล่าที่มีคนชื่นชอบมากที่สุด
– ในฉากสำคัญของเรื่อง “จุดจบของก็อตซิลล่า” ถ้านับจากภาคแรกสุดหนังก็อตซิลล่าเคยมีฉากทำนองนี้มาแล้ว ทว่าคราวนี้กลับทำออกมาให้ดูยิ่งใหญ่ และสะเทือนอารมณ์กว่าเดิม ในแง่ของการที่เป็นหนังภาคสุดท้าย และการแสดงความอาลัยของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์ร้ายนิวเคลียร์ ที่ถึงแม้จะเคยไล่ฆ่ากันมานานแค่ไหนก็ยังมีอารมณ์โศกเศร้าให้กับมัน
– หนังได้รับเสียงวิจารณ์ในเชิงบวก หลายคนยกย่องให้เป็นการปิดตำนานหนังก็อตซิลล่าได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะดนตรีประกอบของอากิระ อิฟุกุเบะ ที่ทำท่วงทำนองอำลาแก่ก็อตซิลล่าได้อย่างซาบซึ้ง
– แรกเริ่มเดิมทีผู้สร้างเคยมีไอเดียหนังภาคนี้คือ Godzilla vs. Ghost Godzilla โดยให้ก็อตซิลล่าได้ต่อสู้กับผีก็อตซิลล่าต้นฉบับจากปี 1954 แต่ไอเดียนี้ก็ถูกทิ้งไปเมื่อผู้สร้างพิจารณาว่า พวกเขาเคยสร้างหนังที่ให้ก็อตซิลล่าต่อสู้กับไคจูที่คล้ายและเป็นร่างโคลนของตัวเองมาก่อนแล้วตั้งหลายรอบ (Biollante / Mechagodzilla / Spacegodzilla)
– หลังจากที่หนังฉายได้ปีกว่าๆ โปรดิวเซอร์ โทโมยูกิ ทานากะ ที่อยู่คู่กับหนังก็อตซิลล่ามาหลายสิบปีก็เสียชีวิตลง ขณะที่อากิระ อิฟุกุเบะ ก็เกษียณตัวเอง หยุดผลงานดนตรีไว้ที่เรื่องนี้เป็นหนังเรื่องสุดท้าย
– มันจึงไม่ใช้แค่หนังเรื่องสุดท้ายของก็อตซิลล่า แต่ยังเป็นการอำลาของเหล่าบิดาแห่งก็อตซิลล่าอีกด้วย
– หนังเข้าชิงรางวัล Japan Academy Prize ปี 1996 สองสาขาคือ ตัดต่อยอดเยี่ยม และด้านเสียงยอดเยี่ยม
– แต่ก็อย่างที่ทุกคนเห็นกัน สุดท้ายโตโฮก็ไม่ยอมหยุดสร้างหนังก็อตซิลล่า เหมือนกับว่ามันไม่มีวันตายเช่นภาพสุดท้ายของฉากจบในหนัง…

Godzilla (1998)

Godzilla (1998)

23. Godzilla (1998) [ゴジラ]

– ผู้สร้างทางฝั่งอเมริการับช่วงต่อ หลังจากทางต้นสังกัดโตโฮปิดตำนานอสูรนิวเคลียร์ลงใน Godzilla vs. Destoroyah โดยเนื้อหาจะแยกเป็นของตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกับจักรวาลก็อตซิลล่าของโตโฮ
– แรกเริ่มหนังก็อตซิลล่าของอเมริกาเคยเกือบจะได้สร้างมาก่อนแล้วในปี 1983 โดยสตีฟ ไมเนอร์ ผู้กำกับหนังสยองขวัญ Friday the 13th Part 2 แต่เหล่านายทุนในฮอลลีวูดต่างปฎิเสธไม่พร้อมลงทุนเงิน 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯให้หนังที่พวกเขาคิดว่าเป็นหนังสำหรับเด็ก จนกระทั่งในปี 1992 ค่าย TriStar Pictures ก็เข้ามาขอซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้าง แถมยังวางแผนเป็นหนังไตรภาค
– หนังได้ผู้กำกับโรแลนด์ เอ็มเมอริช ที่มีผลงานสุดฮิตในยุคนั้น อย่างหนังเอเลี่ยนถล่มโลกใน Independence Day โดยตัดสินใจไม่ใช้บทของหนังเวอร์ชั่นเดิม และรื้อเปลี่ยนใหม่หมด แถมลดต้นทุนเป็นแบบของตัวเอง
– โรแลนด์ เอ็มเมอริชตั้งเป้าหนังก็อตซิลล่าของเขาว่า จะเป็นการหยิบองค์ประกอบบางส่วนของเดิมมาใช้ พร้อมกับการคิดใหม่ ทำใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะแง่มุมของก็อตซิลล่า ซึ่งตีความเป็นสัตว์ที่สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้คนในเมือง แต่อีกมุมนึงมันก็เป็นสัตว์ที่มีความหวาดกลัวแล้วหาทางเอาชีวิตรอด
– ก็อตซิลล่าได้ถูกออกแบบใหม่โดย แพทริค ทาโทปูลอส นักออกแบบที่เคยร่วมงานกับเอ็มเมอริชใน Independence Day โดยทาโทปูลอสได้นำต้นแบบจากสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ มาผสมกัน และเปลี่ยนใหม่ให้มันยืนลำตัวขนานไปกับพื้น ต่างจากก็อตซิลล่าแบบดั้งเดิมที่ยืนตัวตั้งตรง และยังทำให้มันปราดเปรียว ดูเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม
– ก็อตซิลล่าตัวใหม่นี้จะถูกสร้างด้วยเทคนิค CGI เป็นหลัก พร้อมด้วยเทคนิคหุ่นยนตร์กลไกในการถ่ายฉากโคลสอัพ
– เหตุผลหนึ่งที่ทางโตโฮอนุมัติให้ดีไซน์ใหม่ผ่าน เพราะความโด่งดังของ ID4 ในญี่ปุ่น ถึงแม้จะยอมรับว่ามันดูแตกต่างจากก็อตซิลล่าแบบเดิมไปมากจริงๆ
– ในช่วงที่หนังโปรโมท หนังใช้วิธีเผยหน้าตาของเจ้าก็อตซิลล่าตัวใหม่ให้น้อยที่สุด เช่นขา หรือ ดวงตา บนโปสเตอร์ แม้แต่ทีเซอร์ที่ทำแยกขึ้น ไม่ได้ใช้ในหนัง ซึ่งมีการโผล่ออกมาแค่ขาของก็อตซิลล่าเหยียบโครงกระดูกทีเร็กซ์เท่านั้น เพื่อเป็นการนำเสนอว่าก็อตซิลล่าตัวใหม่ของอเมริกามีขนาดใหญ่จริงๆ พร้อมกับคำโปรยบนโปสเตอร์ว่า “Size does Matter”
– หนังทำรายได้ทั้งหมดติดอันดับ9 ของตารางหนังทำเงินสูงสุดในอเมริกาปี 1998 และติดอันดับ 3 หนังทำเงินสูงสุดของโลกในปีเดียวกัน
– แต่ทว่าหนังได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเรื่องความไม่สมเหตุสมผล และบทที่อ่อนแอ และหนังถูกด่าว่าโดยแฟนก็อตซิลล่าว่าสัตว์ประหลาดในหนัง ไม่มีความเป็นราชันสมศักดิ์ศรีเอาเสียเลย เป็นแค่อีกัวน่ายักษ์ที่มาอยู่ในหนังชื่อก็อตซิลล่าแค่นั้น
– อย่างไรก็ตามคนดูบางกลุ่มก็ให้ความเห็นว่ามันยังเป็นหนังสัตว์ประหลาดที่สนุกสนาน เพลิดเพลิน แถมช่วงที่ออกฉายก็ทำให้ได้แฟนหน้าใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกด้วย
– ถ้าลองตัดทัศนคติแง่ลบออกไป ก็พบว่าหนังมีส่วนที่น่าสนใจอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างให้ก็อตซิลล่ามีความสมจริงมากยิ่งขึ้น ด้วยการใส่ทฤษฎีกิ้งก่ากลายพันธุ์ จากการทดลองนิวเคลียร์จึงดูมีความเป็นสัตว์ มากกว่าก็อตซิลล่าเวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่แอบมีอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นมนุษย์ของตัวเอง แถมหนังยังมีองค์ประกอบจากหนังชุดเก่า ทั้งตัวละคร นักข่าว นักวิทาศาสตร์ นักการเมือง กองทัพทหารมารวมตัวกันเพื่อแก้ไขวิกฤติด้วยกัน
– ปัญหาหลักๆของหนังคือแฟนๆที่รู้จักก็อตซิลล่าฉบับดั้งเดิมของญี่ปุ่นมาก่อน ก็มีความรู้สึกไม่อยากจะนับญาติกับสิ่งมีชีวิตในหนังเรื่องนี้ว่าเป็นตระกูลก็อตซิลล่าซักเท่าไหร่ เพราะมันไม่มีความรู้สึกยิ่งใหญ่ได้สุดเท่าเทียมฝั่งญี่ปุ่นเลย
– เคนปาชิโร ซัตสึเมะ นักแสดงผู้สมชุดก็อตซิลล่าในเฮเซย์ ซีรี่ส์ ถึงกับเดินออกระหว่างหนังฉายรอบปฐมทัศน์ในญี่ปุ่น พร้อมกับให้สัมภาษณ์ว่า “มันไม่ใช่ก็อตซิลล่า มันไม่มีจิตวิญญาณแบบดั้งเดิมเลย”
– หลังจากนั้นโตโฮก็เอาก็อตซิลล่าอเมริกันตัวนี้ไปปรากฏกายใน Godzilla : Final Wars โดยเขียนประวัติของมันในบุ๊คเลทโปรแกรมหนังว่า มันเป็นสัตว์ลึกลับที่อาจเป็นตัวเดียวกับตัวที่เคยถล่มนิวยอร์คปี 1998 และตั้งชื่อให้มันว่า “ซิลล่า”

Godzilla 2000 : Millennium (1999)

24. Godzilla 2000 : Millennium (1999)
[ゴジラ2000 : ミレニアム]

– หลังจากที่ก็อตซิลล่าของอเมริกาไม่สามารถปลุกชีพราชันสัตว์ประหลาดได้อย่างสมศักดิ์ศรีเพียงพอ โตโฮจึงตัดสินใจกลับมาสร้างหนังก็อตซิลล่าแบบดั้งเดิมของตัวเองอีกครั้ง โดยจะอยู่ภายใต้การควบคุมการสร้างโดย โชโงะ โทมิยาม่า ซึ่งเป็นคนคุมทิศทางของหนังชุดนี้แทน โทโมยูกิ ทานากะ ที่เสียชีวิตไป
– โดยหนังชุดใหม่จะไม่มีความเชื่อมโยงกับหนังเรื่องก่อนๆ ลืมซีรี่ส์ก่อนหน้าทั้งหมด และถูกแยกเป็นคนละจักรวาลกัน
– เป็นหนังก็อตซิลล่าที่เปิดซีรี่ส์ยุคใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า มิลเลนเนี่ยม ซีรี่ส์
– ในช่วงยุคของวิกฤติความหวาดกลัวของการเปลี่ยนสหัสวรรษ ในช่วงสมัยนั้นจากปี 1999 เป็น 2000 ผู้คนต่างแตกตื่นกลัวการทำนายที่โลกจะแตก พร้อมกับปัญหาด้านคอมพิวเตอร์ Y2K โดยเชื่อกันว่ามันอาจทำให้ระบบต่างๆของโลก พังทลายลงภายในพริบตา
– ผู้สร้างหนังจึงหยิบยกเอาไอเดียที่น่ากลัวนี้มาสร้างเป็นองค์ประกอบของหนังก็อตซิลล่าภาคใหม่ โดยเป็นการมาเยือนของสิ่งมีชีวิตต่างดาว โดยพวกมันไม่มีร่างกายเป็นของตนเองจึงต้องใช้เซล์ชนิดพิเศษของก็อตซิลล่า ออแกไนเซอร์ G-1 มาทำให้มันมีรูปร่างเป็นของตัวเอง จนได้เป็นสัตว์ประหลาดร่างโคลนของก็อตซิลล่าอย่าง โอรุกะ (หรือชื่ออังกฤษเรียกว่า ออก้า)
– เรื่องของยูเอฟโอและมนุษย์ต่างดาวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในหนังก็อตซิลล่า เพราะมันถูกหยิบยกมาใช้ซ้ำแล้วหลายครั้งในซีรี่ส์ชุดนี้ และสถานะยังไม่เปลี่ยนแปลงไป คือเป็นศัตรูของทั้งมนุษย์และก็อตซิลล่า
– ก็อตซิลล่าในภาคนี้ถูกเปลี่ยนดีไซน์หน้าตาใหม่ทั้งหมด มีหน้าตาที่คล้ายสัตว์เลื้อยคลานมากขึ้น ครีบที่หลังแหลมคม และงอกยาวมากกว่าเดิม เป็นสีม่วง เดินหลังค่อม ต่างจากยุคเก่าที่เดินหลังตรง แถมเป็นครั้งแรกที่ชุดมีสีโทนเขียว หลังจากที่มีสีดำถ่านมาตลอด เรียกได้ว่าหน้าตาของก็อตซิลล่าแห่งการเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่
– ไคจูอย่าง แองกิรัสและคิงซีซาร์ เคยถูกพิจารณาให้มาอยู่ในหนังเรื่องนี้
– ตัวหนังทำเงินได้ค่อนข้างดีในประเทศญี่ปุ่น แต่คำวิจารณ์ก็มีทั้งชมและด่าปะปนกันไป แต่ส่วนใหญ่จะสร้างความประทับใจกับความรู้สึกหวนคืนจอ ของจอมสัตว์ประหลาดของแท้ออกมาได้ดี หลังจากที่เวอร์ชั่นอเมริกันทำหลายคนหงุดหงิดค่อนข้างเยอะ

Godzilla vs. Megaguirus (2000)

Godzilla vs. Megaguirus (2000)

25. Godzilla vs. Megaguirus (2000) 
[ゴジラ × メガギラス G消滅作戦 ]

– เมื่อหนัง Godzilla 2000 : Millennium เป็นการกลับมาของก็อตซิลล่าฉบับญี่ปุ่นซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี โปรดิวเซอร์ โชโงะ โทมิยาม่า ก็เปิดไฟเขียวสั่งลุยสร้างหนังก็อตซิลล่าเรื่องต่อไป
– ถึงหนังจะใช้ชุดของก็อตซิลล่าที่มีหน้าตาเหมือนกับเรื่องที่แล้ว แต่หนังไม่มีความเกี่ยวข้องกับ Godzilla 2000 : Millennium และถูกแยกเป็นคนละจักรวาลกับหนังก็อตซิลล่าเรื่องอื่นๆ
– เช่นเดียวกับภาคที่แล้ว หนังเหมือนเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ก็อตซิลล่าในไทม์ไลน์นี้ โดยที่จุดเริ่มต้นของการปรากฎตัวยังเป็นปี 1954 ตามเคย แต่เพียงสมมุติว่าถ้าหากมันไม่ได้ถูกสังหารด้วยเครื่องมือ ออกซิเจน เดสทรอยเยอร์ กันละ? ก็อตซิลล่าแค่เดินกลับลงทะเลไป หลังจากการถล่มกรุงโตเกียว
– หนังยังมาพร้อมสุดยอดไอเดียแปลกใหม่ มนุษย์พยายามจะกำจัดก็อตซิลล่าด้วยวิธีการสร้างหลุมดำ เพื่อดูดเจ้าอสูรนิวเคลียร์ไปยังมิติอื่น แต่ก็เกิดความผิดพลาดระหว่างการทดลองหลุมดำที่มนุษย์สร้าง แมลงปอดึกดำบรรพ์ เมกานิวลอน ได้แอบบินออกมาจากช่องว่างมิติ ออกมาก่อความวุ่นวาย พวกมันแพร่พันธุ์ไปไกลจนมีร่างราชินี เมก้ากีรัส
– แมลงเมกานิวลอน เป็นสัตว์ประหลาดที่เคยปรากฏตัวมาก่อนแล้วในยุคโชวะ ในหนังเดี่ยวของนกยักษ์ ราด้อน ปี 1956
– หนังประสบความล้มเหลวบนตารางหนังทำเงินในประเทศญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน ตัวหนังก็ได้รับเสียงวิจารณ์ทั้งดีและแย่คละเคล้ากันไป บ้างก็บอกว่าเป็นหนังก็อตซิลล่าที่สนุกเพลิดเพลินได้ดี
– แต่ที่ถูกด่าอย่างเห็นได้ชัดคือเรื่องของเทคนิคพิเศษ การใช้CGIมากขึ้นในหนังของทั้ง ฉากบรรดาฝูงแมลงปอยักษ์ และฉากก็อตซิลล่าใต้น้ำซึ่งดูย่ำแย่ ไม่กลมกลืนกับชุดยางเอาเสียเลย แฟนบางคนยกให้มันเป็นหนังที่ห่วยที่สุดในมิลเลนเนี่ยม ซีรี่ส์
– Godzilla vs. Megaguirus เป็นหนังก็อตซิลล่าเรื่องแรกที่มีฉากหลังเครดิต

Godzilla, Mothra and King Ghidorah: Giant Monsters All-out Attack (2001)

Godzilla, Mothra and King Ghidorah : Giant Monsters All-out Attack (2001)

26. Godzilla, Mothra and King Ghidorah: Giant Monsters All-out Attack (2001) 
[ゴジラ・モスラ・キングギドラ 大怪獣総攻撃 ]

– ถึงแม้ว่า Godzilla vs. Megaguirus จะล้มเหลวทั้งทางรายได้และคำวิจารณ์ แต่โปรดิวเซอร์โชโงะ โทมิยาม่ายังไม่ถอดใจกับความพยายามดันหนังก็อตซิลล่าให้ออกมาถูกใจคนรุ่นใหม่
– ชูสึเกะ คาเนโกะ ได้รับหน้าที่ผู้กำกับ เขาเป็นชายผู้ชื่นชอบก็อตซิลล่ามาตั้งแต่เด็ก และก่อนหน้านี้เขาเคยทำหนังกาเมร่า ไตรภาค ยุคเฮเซย์ จนฮิตระเบิดมาแล้ว (Gamera : Guardian of the Universe / Gamera 2 : Attack of Legion / Gamera 3 : Revenge of Iris)
– เช่นเดียวกับหนังยุคมิลเลนเนี่ยม ซีรี่ส์สองเรื่องก่อนหน้า หนังก็อตซิลล่าเรื่องนี้ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับหนังภาคเก่าทั้งหมด และเหมือนอย่างเคย ที่เซ็ตติ้งจุดเริ่มต้นคือที่ภาคแรกปี 1954
– ด้วยชื่อของหนังที่ยาวเหยียด ทำให้แฟนๆเรียกชื่อย่อจำง่ายๆว่า GMK
– GMK วางพล็อตเรื่องราวเกือบ 50 ปีหลังจากก็อตซิลล่าบุกครั้งแรกสุดในปี 1954 คาเนโกะต้องการให้ก็อตซิลล่าของเขาดูทรงพลัง แข็งแกร่ง และโหดเหี้ยม เขาจึงเลือกไคจูคู่ปรับที่มีพละกำลังน้อยกว่า ได้แก่ แองกิรัส, วาราน และบาราก้อน แต่ทางโตโฮเห็นว่าแองกิรัส และวารานไม่ใช่ตัวทำเงินที่ดีบนตลาด Box Office สตูดิโอเลยต้องใช้สูตรเดิมจากยุคเฮเซย์ ซีรี่ส์ คือการเอาไคจูที่โด่งดัง และคนดูคุ้นเคยมาแทน นั่นก็คือ มอธร่า และคิง กิโดร่า ส่วนบาราก้อนก็ตัดสินใจเก็บเอาไว้ในหนังเพราะชื่อเสียงอันโด่งดังของมันในญี่ปุ่น
– เพื่อแสดงถึงภาพของปีศาจอย่างชัดเจน ก็อตซิลล่าในภาคนี้ถูกวางบทให้เป็นตัวร้าย ในขณะที่มอธร่าและบาราก้อนเป็นสัตว์ประหลาดผู้พิทักษ์ แม้แต่ตัวละครที่มีภาพจำเป็นวายร้ายตลอดกาลอย่าง คิง กิโดร่า ก็ถูกปรับบทให้เป็นตัวดี เทพผู้ปกป้องญี่ปุ่นเหมือนอีกสองตัว
– เพื่อแสดงภาพให้ก็อตซิลล่าดูแข็งแกร่งมากขึ้นก็คือ การเลือกศัตรูให้พลังอ่อนด้อยกว่า และปรับให้มีขนาดตัวเล็กลงทั้ง มอธร่า คิง กิโดร่า และบาราก้อน
– ก็อตซิลล่าในหนังถูกปรับดีไซน์ใหม่ ให้มีหน้าตาที่ดุดัน ดวงตาสีขาวขุ่น ปราศจากการแสดงอารมณ์ใดๆนอกจากความเกรี้ยวกราด ซึ่งต้นกำเนิดของก็อตซิลล่าในเรื่องนี้ยังแปลกกว่าที่เคยมีมาก่อน ถึงขั้นเหนือธรรมชาตินั่นคือ ก็อตซิลล่าฟื้นคืนชีพมาด้วยเหล่าวิญญาณของทหารที่ตายในช่วงสงครามโลก เข้าสิงโครงกระดูกของมันจนมีเลือดเนื้อ และออกเดินเหยียบย่ำแผ่นดินอาทิตย์อุทัยอีกครั้ง เพื่อเตือนใจไม่ให้ลูกหลายคนรุ่นหลังลืมเลือนอดีต ความอัปยศของคนญี่ปุ่นในสงคราม ซึ่งมีสาระเกี่ยวกับนัยยะต่อต้านสงครามที่ผู้กำกับใส่ลงไป เพื่อเชื่อมโยงกับภาคต้นฉบับ
– GMK ประสบความสำเร็จในแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ มันกลายเป็นหนังที่ทำเงินสูงที่สุดในยุคมิลเลนเนี่ยม ซีรี่ส์ และหลายๆคนก็ยกย่องให้ดีที่สุดในซีรี่ส์นี้ เพราะหนังอัพเกรดความสนุกสนานเร้าใจตามยุคสมัยใหม่ และยังสามารถผสานความเป็นหนังก็อตซิลล่าแบบดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างลงตัว
– ด้วยความชื่นชอบสัตว์ประหลาด วาราน มาก แต่สุดท้ายก็ต้องตัดมันออกจากบท ฟุยุกิ ชินาเดะ นักออกแบบชุดสัตว์ประหลาดเลยนำลักษณะใบหน้าของวารานมาใส่บนหัวของคิง กิโดร่าซะเลย
– ถึงหนังจะมีมอธร่า แต่ผู้สร้างก็ตัดสินใจไม่ใส่นางฟ้าฝาแฝดลงไป แต่หนังก็มีการคารวะสองตัวละครเล็กๆ ด้วยการใส่ตัวละครฝาแฝดแต่งตัวเหมือนกัน อยู่ในฉากที่มอธร่าบินผ่านเมือง
– หนึ่งในฉากของหนัง มีการพูดถึงสัตว์ประหลาดบุกนิวยอร์คที่อเมริกาอ้างเป็นก็อตซิลล่า นี่คือการอ้างอิงและล้อเลียนหนัง Godzilla (1998) ซึ่งผู้ชมในญี่ปุ่นและบรรดาแฟนๆก็อตซิลล่า ก็ส่งเสียงฮากับฉากนี้กันมาก

Godzilla against Mechagodzilla (2002)

Godzilla against Mechagodzilla (2002) [ゴジラ×メカゴジラ]

27. Godzilla against Mechagodzilla (2002) 
[ゴジラ×メカゴジラ]

– เมกะก็อตซิลล่า เป็นตัวละครยอดฮิตที่ถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้งพอๆกับ มอธร่าและคิง กิโดร่า และในหนังยุคมิลเลนเนี่ยม ซีรี่ส์ ก็อตซิลล่าหุ่นเหล็กก็ถูกนำมาตีความในรูปแบบใหม่อีกครั้งโดยโปรดิวเซอร์ โชโงะ โทมิยาม่า และได้ มาซาอากิ เท็ตสึกะ ผู้กำกับคนเดียวกับ Godzilla vs. Megaguirus ที่มาขอแก้มือใหม่หลังจากที่หนังก็อตซิลล่าเรื่องก่อนของเขาเองถูกวิจารณ์อย่างเสียหาย
– เมกะก็อตซิลล่าตัวนี้ถูกกำหนดให้เป็นหุ่นไซบอร์ก พัฒนาสร้างจากซากโครงกระดูกของก็อตซิลล่า ที่เคยถล่มโตเกียวในปี 1954 และมีชื่อเล่นว่า คิริว เพื่อป้องกันความสับสนจากก็อตซิลล่าเหล็กเวอร์ชั่นหนังเรื่องก่อนๆ
– ตัวหนังเซ็ตติ้งเรื่องราวหลังจากหนังต้นฉบับภาคแรกสุดปี 1954 แบบเดียวกับหนังมิลเลนเนี่ยม ซีรี่ส์เรื่องก่อนๆ โดยมีก็อตซิลล่าตัวที่ 2 ปรากฏตัวขึ้นมาเหยียบแผ่นดินญี่ปุ่นอีกครั้งในรอบ 45 ปี แต่ในหนังมีการเล่าเหตุการณ์ไคจูยักษ์ตัวอื่นๆที่โจมตีญี่ปุ่นมาก่อนในอดีต ด้วยภาพฟุตเทจจากเรื่อง Mothra (1961) และ The War of the Gargantuas (1966) ให้เห็นว่าสองเรื่องนี้อยู่ในจักรวาลเดียวกับตัวหนัง
– หน้าตาของก็อตซิลล่าในภาคนี้ดูผิวเผิน อาจจะเหมือนก็อตซิลล่า 2000 แต่มีความแตกต่างกันหลายจุด อย่างผิวที่กลับมาเป็นโทนดำถ่านเหมือนเดิม และมีครีบหลังเป็นสีเทา
– ฉากย้อนหลังที่ก็อตซิลล่ากำลังถูกทำลายโดยเครื่อง ออกซิเจน เดสทรอยเยอร์ ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคCGIทั้งหมด
– หนังมีประเด็นที่น่าสนใจในการนำเอาเมกกะก็อตซิลล่ามาเสนอในมุมมองใหม่ พร้อมผสมกับก็อตซิลล่า 1954 จนกลายเป็นคิริวด้วยการที่มันมีความคิดเป็นของตัวเอง และประเด็นที่ว่า มนุษย์สมควรจะสร้างคิริวขึ้นมาแล้วจริงหรือ? จากฉากที่เกิดความผิดพลาด มนุษย์ไม่สามารถควบคุมหุ่นก็อตซิลล่าได้ จนมันเกิดอาการบ้าคลั่งทำลายล้างทุกอย่างเผลอๆหนักกว่าก็อตซิลล่าตัวจริงเสียอีก
– นอกจากนี้หนังยังมีพล็อตย่อย ที่ตัวละครมีความหลังฝังใจกับก็อตซิลล่า และต้องการแก้แค้นมันให้ได้เพื่อเคลียร์ปมปัญหาในจิตใจ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาพจำของหนังยุคมิลเลนเนี่ยม ซีรี่ส์ไปแล้ว
– หนังได้รับคำวิจารณ์ชมเชยในแง่บวก เป็นการแก้มือได้สำเร็จของเท็ตสึกะ แถมหนังยังทำเงินสูงเป็นอันดับที่สองของมิลเลนเนี่ยม ซีรี่ส์
– แต่ถ้าเทียบกับต้นทุนและความสำเร็จของ GMK ที่ทิ้งห่างกว่า ก็ทำให้โตโฮยิ้มไม่ค่อยออกเท่าไหร่ แต่สตูดิโอก็ยังอยากจะเข็นภาคต่อออกมา
– เป็นหนังเรื่องที่ 2 ของก็อตซิลล่าที่มีฉากท้ายเครดิต

Godzilla: Tokyo S.O.S. (2003)

Godzilla - Tokyo S.O.S. (2003

28. Godzilla : Tokyo S.O.S. (2003)
[ゴジラ×モスラ×メカゴジラ 東京SOS]

– หลังจากที่ GMK และ Godzilla against Mechagodzilla ทำรายได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในญี่ปุ่น โตโฮก็อนุมัติเดินหน้าสร้างภาคต่อไปทันที โดยหยิบยกเรื่องราวจาก Godzilla against Mechagodzilla มาเล่าแบบต่อเนื่อง พร้อมด้วยการนำสูตรตัวละครยอดฮิต มอธร่าและฝาแฝดภูติจิ๋ว กลับมาอีกครั้งเพื่อเสริมเรื่องราว
– Tokyo S.O.S. เล่าเรื่องราวหลังจากศึกระหว่างก็อตซิลล่าและคิริวจบลง และระหว่างการซ่อมแซมหุ่นเหล็กยักษ์นั้น ก็มีแฝดสาวโชบิจินมาวิงวอนขอให้มนุษย์นำเอากระดูกก็อตซิลล่า 1954 ไปคืนทะเลดังเดิม และบอกว่าคิริวเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ ถึงแม้จะไม่มีหุ่นเหล็กคอยปกป้องอสูรร้ายนิวเคลียร์ มอธร่าก็จะอยู่คุ้มครองดูแลมนุษย์เอง แต่ถ้ากระดูกก็อตซิลล่าไม่ได้อยู่ในที่ที่สมควรอยู่ ผีเสื้อยักษ์ มอธร่าจะประกาศสงครามกับมนุษย์
– หนังสานต่อเรื่องราวจากภาคที่แล้วให้เสร็จสมบูรณ์ มีประเด็นเดิมในเรื่องความถูกต้องในการสร้างหุ่นเมกกะก็อตซิลล่า ในขณะที่การปรากฏตัวของฝาแฝดจิ๋ว โชบิจิน ก็เป็นการให้แฟนๆรำลึกถึงความรู้สึกดั้งเดิมของหนังก็อตซิลล่า ราวกับเอาใจแฟนรุ่นเก่า
– เดิมทีผู้กำกับ มาซาอากิ เท็ตสึกะ เลือกไคจูที่ต้องมาเกยตื้นตายบนชายหาดเป็น แองกิรัส แต่โปรดิวเซอร์ โชโงะ โทมิยาม่า เปลี่ยนให้เป็น คาเมบะ แทน เนื่องจากแองกิรัสมีชื่อเสียงดังเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้แฟนของตัวละครนี้อาจเกิดความไม่พอใจ สัตว์ประหลาดเต่ายักษ์ คาเมบะ เคยปรากฏตัวในหนัง Space Amoeba (1970) ของโตโฮมาก่อน
– ฮิโรชิ โคอิซูมิ กลับมารับบทเป็นดร.ชินอิชิ ชูโจ ซึ่งเป็นบทเดิมที่เขาเคยเล่นในหนังเดี่ยว Mothra (1961) แสดงให้เห็นว่ามันอยู่ในจักรวาลร่วมกันกับหนังเรื่องนี้
– ด้วยเนื้อหาที่ว่าผีเสื้อมอธร่าเสียชีวิต ก่อนจะมีตัวหนอนของมอธร่าอีกสองตัวฟักออกมาจากไข่ ก็คล้ายคลึงกับใน Mothra vs. Godzilla (1964)
-เป็นหนังอีกเรื่องของก็อตซิลล่าที่มีฉากท้ายเครดิต
– ถึงแม้หนังจะได้รับเสียงวิจารณ์ที่โอเค แต่มันกลับทำรายได้ไม่ดีอย่างที่สตูดิโอคาดหวังเอาไว้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้ชมเริ่มเบื่อหน่ายกับหนังชุดนี้แล้ว และมันก็เริ่มเดินทางมาใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้วก็เป็นได้

Godzilla: Final Wars (2004)

29.Godzilla : Final Wars (2004)

[ゴジラ ファイナルウォーズ]

– ในที่สุดโปรดิวเซอร์ โชโงะ โทมิยาม่า ก็ตัดสินใจให้สมรภูมิของราชันสัตว์ประหลาดมาถึงจุดจบ และให้ Godzilla: Final Wars เป็นทั้งหนังฉลองครบรอบ 50 ปี และหนังเรื่องสุดท้ายของก็อตซิลล่า หลังจากล้มเหลวในการนำตัวละครตั้งแต่ยุค 50 ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมยุค 2000 คนรุ่นใหม่ก็ไม่ตื่นเต้นกับภาพของสัตว์ประหลาดในชุดยางอีกต่อไปแล้ว
– โตโฮจ้าง ริวเฮย์ คิตามูระ ผู้กำกับหนังคัลท์แอ็คชั่นจาก Versus และ Azumi มาควบคุมการสร้างภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายนี้ ซึ่งคิตามูระก็ตั้งวิสัยทัศน์ไว้ว่าหนังก็อตซิลล่าของเขาคือ จะรวบรวมสิ่งที่เขารักจากหนังชุดนี้ ได้แก่องค์ประกอบจากยุคโชวะ ซีรี่ส์ ที่มีภาพของเหล่าไคจูฟาดฟัน ต่อสู้กันอย่างดุเดือด โดยผู้กำกับมองว่าสิ่งเหล่านี้ขาดหายไปจากหนังก็อตซิลล่าในยุคหลังจากนั้น เขาจึงกำหนดให้ก็อตซิลล่าของเขามีความแข็งแกร่ง และรวดเร็ว
– ก็อตซิลล่าตัวใหม่นี้ถูกปรับดีไซน์ ให้มีรูปร่างผอมเพรียวมากกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อให้นักแสดงที่สวมชุด สามารถขยับเขยื้อน ได้อย่างลื่นไหลในฉากแอ็คชั่นได้ถนัดกว่าเดิม
– คิตามูระ พยายามอัพเดตหนังก็อตซิลล่าให้ดูทันสมัยขึ้น ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับองค์กรที่รวบรวมมนุษย์กลายพันธุ์มาเป็นกองกำลังปกป้องโลกจากภัยของไคจู มีโทนของหนังที่กระฉับกระเฉง ฉากแอ็คชั่นตัดต่อฉับไว มุมกล้องที่หมุนเหวี่ยงอย่างบ้าคลั่ง และดนตรีประกอบแนวอิเล็คทรอนิกและร็อค สร้างอารมณ์ใหม่ที่แตกต่างแก่ซีรี่ส์ก่อนๆของก็อตซิลล่า
– แรกเริ่มหนังเคยถูกพิจารณาให้ใช้เทคนิค CGI แต่ผู้กำกับมองว่าก็อตซิลล่าเป็นก็อตซิลล่าได้ เพราะมีคนใส่ชุดอยู่ข้างใน จึงนำเสนอให้ใช้เทคนิคแบบชุดยาง
– เพื่อเป็นการปิดท้ายหนังก็อตซิลล่าให้พิเศษกว่าภาคอื่นๆ ทีมสร้างจึงนำกองทัพไคจูที่เด่นๆเกือบทั้งหมดในอดีตมาเบียดเสียดอยู่ในหนังมากถึง 13 ตัว (ไม่นับรวมก็อตซิลล่า) ได้แก่ ราด้อน, มอธร่า, แองกิรัส, คิง ซีซ่าร์, มินิล่า, ไกกั้น, เอบิร่า, เฮโดร่า, คามาคิรัส, คูมองก้า, ซิลล่า, แมนด้า และสัตว์ประหลาดใหม่ มอนส์เตอร์ เอ็กซ์ หรือ ไคเซอร์ กิโดร่า
– นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ Destroy all Monsters ที่มีการรวบรวมสัตว์ประหลาดไว้มากมายเต็มจอภาพยนตร์
– หนังยังหยิบปมเรื่องสุดคลาสสิกที่ใช้ในหนังก็อตซิลล่ามาแล้วหลายครั้งนั้นคือภัยคุกคามจากมนุษย์ต่างดาว โดยครั้งนี้มีการอ้างอิงถึงภาค Invasion of Astro-Monsters ด้วยตัวละครเอเลี่ยนจาก Planet X
– ยานรบ Gotengo เคยปรากฏมาแล้วในหนังของโตโฮ Atragon ปี 1963 เช่นเดียวกับดาวยักษ์ โกราธ ก็มาจากหนังเรื่อง Gorath ปี 1962 ของโตโฮเช่นเดียวกัน
– แต่เดิมบทหนังถูกวางให้เป็นหนังของก็อตซิลล่า จูเนียร์ที่เติบโตเป็นร่างผู้ใหญ่แล้ว ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนบทใหม่ อย่างที่เราเห็นในหนัง แต่จากเครดิตเปิดเรื่องมีการตัดรวบรวมฟุตเทจจากภาคเก่าๆ และมีภาพของจูเนียร์โตเต็มวัยจาก Godzilla vs. Destoroyah ซ้อนกับภาพของก็อตซิลล่าที่ถูกแช่แข็งในภาคนี้ แถมไทม์ไลน์ของหนังก็ไม่ได้มีระบุรายละเอียดชัดเจน สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า ก็อตซิลล่าในหนังเป็นตัวเดียวกับจูเนียร์หรือไม่
– ก็อตซิลล่าได้ร่วมประทับชื่อบน Hollywood Walk of Frame ที่อเมริกา เพื่อฉลองครบรอบอายุ 50 ปี
– หนังได้รับเสียงวิจารณ์แบบผสมปนกันไปทั้งด้านบวกและลบ หลายคนชื่นชมว่าคิตามูระทำหนังออกมาได้สนุก ยิ่งถ้าเป็นแฟนหนังชุดนี้อยู่แล้ว จะยิ่งสนุกกับมันมากขึ้น และดนตรีประกอบอันคึกคักก็ช่วยสร้างความสดใหม่ของหนังได้ แต่ในขณะที่หลายคนก็คิดว่าหนังเต็มไปด้วยช่วงน่าเบื่อ อืดอาดและไม่จำเป็น แถมยังขาดความเม้คเซ้นส์มากมาย จนกลายเป็นหนังแอ็คชั่นที่ต้องถอดสมองในการนั่งดู
– หนังทำรายได้น่าผิดหวังในประเทศญี่ปุ่น ยิ่งมันเป็นหนังที่ลงทุนสูงที่สุดในบรรดาหนังก็อตซิลล่าทั้งหมด ก็กลายเป็นเรื่องเศร้ามากกว่าเดิม เพราะมันคงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกชัดเจนแล้วว่า มันหมดยุคของราชันแห่งสัตว์ประหลาดไปเสียแล้ว
– แม้ว่าก็อตซิลล่าและผองเพื่อนสัตว์ประหลาดจะเดินกลับลงทะเลเพื่อพักผ่อนหลับใหล แต่โตโฮก็ยังมีความหวังว่าซักวันเจ้าอสูรนิวเคลียร์จะได้กลับมาโลดแล่น แสดงพลังบนแผ่นฟิล์มแก่สายตาชาวโลกอีกครั้ง…

Godzilla (2014)

Godzilla (2014)30.Godzilla (2014) [ゴジラ]

– หลังจากศึก Final War จบลง ก็อตซิลล่าก็หลับพักใต้ทะเลยาวนานถึง 10 ปี และในระหว่างนั้นผู้สร้างก็พยายามที่จะปลุกเจ้าอสูรนิวเคลียร์ให้ตื่นขึ้นมาโดยตลอด
– เมื่อทาง TriStar Pictures / Sony ตัดสินใจไม่สร้างภาคต่อของก็อตซิลล่า ปี 1998 จนกระทั่งสิทธิ์หมดอายุลงในปี 2003 ผู้ที่พยายามจะคีนชีพหนังก็อตซิลล่าขึ้นมาใหม่คือ โยชิมิสึ บันโนะ ผู้ที่เคยพยายามปั้นหนัง Godzilla vs. Hedorah 2 9yh’แต่ภาคแรกเสร็จ แต่โปรเจคก็ต้องล่มไป เพราะในยุคนั้นโปรดิวเซอร์โทโมยูกิ ทานากะ เกลียดหนังเรื่องนี้มาก ข้ามมาช่วงปี2007-2009 บันโนะก็ยังคิดสร้างหนังก็อตซิลล่า 3D บนจอ IMAX จนกระทั่งโปรเจคนี้ก็ได้พัฒนาร่วมกันกับบริษัทของอเมริกา Legendary Pictures แต่โปรเจคหนังของบันโนะก็ถูกยกเลิกเอาทีหลัง โตโฮได้เจรจาข้อตกลงกับ Legendary Pictures ในโครงการสร้างหนังอเมริกันเรื่องใหม่แทน
– หนังได้ผู้กำกับ แกเร็ธ เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้เคยมีผลงานเป็นหนังอินดี้ทุนต่ำอย่าง Monsters (2010) หนังลงทุนแค่ 8 แสนเหรียญ US รวมกับค่าสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ ที่แกเร็ธทำขึ้นในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของเขาเอง ทำให้ทีมสร้างของ Legendary เห็นแววในความสามารถของผู้กำกับหนุ่ม ชาวอังกฤษคนนี้
– เมื่อคนยุคใหม่ไม่หวาดกลัวประเด็นนิวเคลียร์เท่ากับสมัยก่อนแล้ว หนังจึงเลือกใช้ก็อตซิลล่าเป็นตัวแทนความน่ากลัวของพลังธรรมชาติ เนื่องปัจจุบันจากปัจจุบันเต็มไปด้วยวิกฤตภัยทางธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สึนามิ พายุไต้ฝุ่น หรือแม้แต่แผ่นดินไหว
– ก็อตซิลล่าในเรื่องสร้างขึ้นมาแบบเปิดจักรวาลใหม่ของตัวเอง เช่นเดียวกับบรรดาหนังในยุคมิลเลนเนี่ยม ซีรี่ส์ ที่ลืมหนังเรื่องก่อนหน้าให้หมด แต่หนังเรื่องนี้มีความพิเศษ เพราะมันคือจุดเริ่มต้นสู่จักรวาลภาพยนตร์ MonsterVerse
– ก็อตซิลล่าถูกปรับต้นกำเนิดใหม่ มันไม่ใช่สัตว์ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของระเบิดนิวเคลียร์แบบในภาคเก่าๆ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่มานานหลายล้านปีแล้ว และยังมีหน้าที่เป็นผู้ทำหน้าที่ปรับสมดุลแก่ธรรมชาติ
– ดีไซน์ของก็อตซิลล่าถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิคCGIทั้งหมด และออกแบบทำมาให้สมจริงมากที่สุด โจทย์ที่ว่าถ้าหากมีก็อตซิลล่าจริงๆจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่มันยังคงลักษณะรูปร่างของต้นฉบับดั้งเดิมเอาไว้ด้วย อิงจากแกเร็ธ ใบหน้าของก็อตซิลล่ามีส่วนผสมของหมีและนกอินทรีเพื่อทำให้มันดูยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยความสง่างาม
– นอกเหนือจากก็อตซิลล่าแล้ว หนังยังเพิ่มตัวละครสัตว์ประหลาดหน้าใหม่ มูโตะ สิ่งมีชีวิตปรสิตที่ตื่นขึ้นมาเพื่อกินรังสีนิวเคลียร์ และสืบพันธุ์ เป็นศัตรูตัวกาจของก็อตซิลล่าในเรื่องนี้
– ช่วงก่อนหนังเข้าฉาย แกเร็ธถูกถามถึงหนังภาคต่อ แต่เขาก็ปฎิเสธและบอกว่าอยากให้มันเป็นหนังเดี่ยวที่มีรากฐานแข็งแรง ถ้าหนังมันดีจริงๆถึงจะมีคนสามารถสานงานได้ต่อ เขาขอให้ทุกคนสนใจมาที่เรื่องนี้ก่อน
– หนังออกฉายทั่วโลกทำรายได้อย่างยิ่งใหญ่ สมกับการหวนคืนจอภาพยนตร์ของราชันสัตว์ประหลาด แถมหนังยังปลุกกระแสก็อตซิลล่าฟีเวอร์กลับมาอีกครั้ง บวกกับได้เพิ่มแฟนๆหน้าใหม่ทั่วโลก
– มันได้รับคำวิจารณ์ทั้งดีและบวกปะปนกัน ด้านที่ดีบอกว่ามันเป็นหนังก็อตซิลล่าที่มีจิตวิญญาณของเก่าอยู่เต็มเปี่ยม และถ่ายทอดความเป็นหนังก็อตซิลล่าจากซีรี่ส์ชุดเก่า ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้านที่ติเตือนก็บ่นว่าหนังเดินเรื่องอืดอาดไปจนน่าเบื่อ แถมก็อตซิลล่ายังปรากฎตัวออกมาน้อยกว่าสองสัตว์ประหลาดมูโตะเสียอีก
– แกเร็ธตัดสินใจให้ฉากแรกที่ก็อตซิลล่าปรากฎตัวครั้งแรกพร้อมที่จะซัดกับมูโตะ ตัดฉับไปเป็นสถานที่อื่น เพราะเขาต้องการให้ฉากต่อสู้ตอนท้ายเรื่อง ออกมารู้สึกยิ่งใหญ่และเต็มอิ่ม ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก ใช้กับหนัง Jaws ที่ให้ฉลามโผล่ออกมาน้อยๆ และจัดเต็มแบบเห็นชัดๆในตอนท้าย แต่กลับกลายเป็นว่ามันคือสิ่งที่ผู้ชมบ่นกันมากที่สุดในหนังก็อตซิลล่าภาคนี้ (ฮา)

Godzilla (2014)

Shin-Godzilla (2016)31.Shin-Godzilla (2016)

[シン – ゴジラ]

– หลังจากความสำเร็จทางรายได้ของก็อตซิลล่าสัญชาติอเมริกันในปี 2014 โตโฮก็เดินหมากสร้างหนังก็อตซิลล่าสัญชาติญี่ปุ่นของตัวเอง กลับมาผงาดบนจอภาพยนตร์อีกครั้ง
– หนังได้ ฮิเดกิ อันโนะ ผู้กำกับผลงานสุดโด่งดังเรื่อง Neon Genesis Evangelion มากำกับร่วมกันพร้อม ชินจิ ฮิงูจิ ผู้กำกับสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ผู้มีผลงานดีจาก Gamera เฮเซย์ไตรภาค
– แรงบันดาลใจของหนังมาจากอุบัติเหตุ โรงงานนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิม่าถูกถล่มจากคลื่นสึนามิ ในปี 2011 จนเป็นโศกนาฏกรรม
– ตัวภาพยนตร์เป็นการรีบู้ทโดยไม่สนใจหนังเรื่องก่อนหน้าทั้งหมด แม้แต่จุดเริ่มต้นของปี 1954 แต่จะคงกลิ่นอายของหนังก็อตซิลล่าต้นฉบับ และองค์ประกอบเก่าๆเอาไว้คงเดิม เช่น ก็อตซิลล่าเป็นสัตว์ร้ายที่เป็นมหันตภัยร้าย และการรวมตัวละครที่ทำงานภาครัฐกับเหล่าทหารเพื่อหาวิธีกำจัดก็อตซิลล่า รวมไปถึงสัญญะที่เลวร้ายเกี่ยวกับนิวเคลียร์ ซึ่งไม่เคยขาดหายไปจากหนังชุดนี้
– หน้าตาและรูปลักษณ์ภายนอกของก็อตซิล่าในภาคนี้ถูกปรับเปลี่ยนใหม่อย่างมาก แต่มันยังคงความเป็นก็อตซิลล่าอยู่อย่างชัดเจน ผิวหนังของมันทำเหมือนกับแผลของเหยื่อที่ถูกระเบิดนิวเคลียร์แผดเผาจนเละเทะ มือที่หงิกงอ และลำตัวมีสีแดง เสมือนเลือดร้อนที่ไหลพล่านอยู่ทั่วร่างกาย
– หนังมีการถ่ายทำที่มีความแปลกเป็นตัวของตัวเองสูง ทั้งการใช้ภาพมุมกว้าง ตัดต่อผสานกับมุมโคลสอัพใบหน้าของแต่ละตัวละคร หรือการที่บทหนังไม่มีการใส่มิติของตัวละครมนุษย์ลงไปเลย อาจจะเป็นการนำเสนอว่าเหล่าคนผู้ทำงานหนักเพื่อประเทศ คงไม่ต่างอะไรนอกจากฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยหมุนเพื่อหล่อเลี้ยงให้ประเทศ ยังสามารถเดินหน้าอยู่รอดต่อภัยพิบัติไปได้
– Shin-Godzilla หนังก็อตซิลล่าเรื่องแรกของโตโฮ ที่ตัดสินใจใช้เทคนิคCGIกับตัวก็อตซิลล่าทั้งเรื่อง โดยมีการวิธี Motion Capture ควบคุมการเคลื่อนไหวของก็อตซิลล่า อาจจะมองได้ว่าเป็นการสวมชุดยางของก็อตซิลล่าในยุคสมัยใหม่ นอกจากนี้หนังยังใช้เทคนิคโทคุซัสสึกับพวกฉากตึกรามบ้านช่อง
– ชินก็อตซิลล่าคือตัวก็อตซิลล่าแรก ที่มีสีของลำแสงเป็นสีม่วง และสามารถยิงแสงออกจาก ทางครีบหลังและปลายหางได้
– มันคือก็อตซิลล่าแตกต่างจากตัวอื่นๆในซีรี่ส์อย่างสิ้นเชิง ในด้านที่มันมีการวิวัฒนาการไต่เต้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่สัตว์ปริศนาในทะเลที่กลายพันธุ์โดยของเสียจากนิวเคลียร์ มาจนถึงสิ่งมีชีวิตสูงสุดแห่งวิวัฒนาการแบบที่เห็นในหนัง
– เป็นหนังก็อตซิลล่าที่รวบรวมนักแสดงหลักและนักแสดงรับเชิญเอาไว้มากที่สุด
– รอบเปิดตัวพรีเมียร์ของหนังที่ประเทศญี่ปุ่น ใช้พรมแดงที่มีความยาวเท่ากับความสูงจริงของชินก็อตซิลล่า ที่หน้าโรงแรม Gracery Shinjuku
– มันได้รับคำวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลาม ทั้งจากนักวิจารณ์และคนดูในญี่ปุ่น จนเกิดกลายเป็นกระแสสุดฮิตที่แดนอาทิตย์อุทัย แต่กลับได้คำวิจารณ์ที่ผสมปนเปกันจากทางฝั่งอเมริกา
– หนังทำเงินสูงมากด้วยรายได้ 8.25 พันล้านเยน มียอดคนดู 5.6 ล้านคน ติดอันดับสองของปี เป็นรองจากเรื่อง Your Name แต่ถ้านับเฉพาะประเภทหนังคนแสดง มันคือที่อันดับหนึ่ง
– หนังได้เข้าชิง 11 รางวัล Japan Academy Prize และชนะถึง 7 ได้แก่รางวัล ภาพยนตร์แห่งปี, นักแสดงแห่งปี, ผู้กำกับดีเยี่ยม, ตัดต่อดีเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ฯลฯ
– โตโฮประกาศจะไม่สร้างภาคต่อ แต่จะไปสร้างจักรวาลสัตว์ประหลาดแยกของตัวเอง แบบเดียวกับที่ทาง Legendary Pictures กำลังสร้างจักรวาล MonsterVerse

Godzilla: Planet of Monsters

Godzilla : Planet of Monsters / City on the Edge of Battle / The Planet Eater (2017-2018)32. Godzilla: Planet of Monsters / City on the Edge of Battle / The Planet Eater (2017-2018)

[ 怪獣惑星 / 決戦機動増殖都市 / 星を喰う者]

– ภาพยนตร์ก็อตซิลล่าชุดแรกที่สร้างเป็นไตรภาค แถมยังเป็นในรูปแบบของ3Dอนิเมชั่นโดย Polygon Picture
– แรกเริ่มโปรเจคนี้มีแผนจะสร้างเป็น อนิเมะซีรี่ส์ แต่ถูกเปลี่ยนใหม่ให้เป็นภาพยนตร์สามภาคจบแทน
– ทางโตโฮปล่อยให้ทีมแอนิเมชั่น สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับตัวหนังได้อย่างเสรี หนังได้ผู้กำกับสองคนได้แก่ โคบุน ชิสุโนะ และฮิโรยูกิ เซชิตะ โดยทั้งสองบอกไว้ว่าพยายามจะดึงจิตวิญญาณของราชันแห่งอสุรกายออกมาอย่างเต็มที่
– ตัวหนังมีความแปลกใหม่ของซีรี่ส์ชุดนี้ โดยที่เสริมองค์ประกอบของความเป็นหนังปรัชญาล้ำลึกเข้ามาในเนื้อเรื่อง แต่ก็ยังคงมีองค์ประกอบเก่าดั้งเดิมอยู่ เช่นการรวมทีมเพื่อปราบก็อตซิลล่า และพล็อตเสริมเกี่ยวกับตัวละครที่มีความแค้นฝังใจกับเจ้าอสูรนิวเคลียร์ มีความต้องการจะกำจัดมันให้จงได้ รวมไปถึงการตีความก็อตซิลล่า เป็นดั่งตัวแทนพลังของธรรมชาติ ที่มนุษย์ไม่สามารถเทียบเคียงหรือปราบมันได้เลย
– หนังเข้าฉายแค่โรงภาพยนตร์ในประเทศญี่ปุ่น แต่ทั่วโลกปล่อยฉายให้ชมทาง Netflix
– หนังได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีและลบปะปนกันไป บ้างก็ว่าหนังสามารถทำก็อตซิลล่าออกมาได้น่าสะพรึงกลัว และแข็งแกร่งราวกับเทพ การนำเสนอที่แปลกใหม่และแนวคิดที่ล้ำลึก
– คำติเตียนส่วนมากกล่าวว่าหนังหมดความน่าสนใจไปกับการเสนอความยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่ได้เสนออะไรมากมายเลย โดยรวมทั้งไตรภาค บทของตัวละครมนุษย์จะเป็นส่วนที่ถูกคนบ่นถึงมากที่สุด
– เป็นหนังก็อตซิลล่าเรื่องล่าสุดจากญี่ปุ่น ที่มีกระแสเงียบมากที่สุด เมื่อเทียบกับเรื่องล่าสุดอย่างชินก็อตซิลล่า

 

อ่านบทความพิเศษอื่นๆ ได้ที่นี่

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!