playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The Speed Cubers รูบิค เกมพลิกคน หนังสารคดีชั้นเยี่ยม ที่เปี่ยมล้นด้วยมิตรภาพ

The Speed Cuber

สรุป

สารคดีที่เยี่ยมทั้งเรื่องราวและการถ่ายทอดความรู้สึกมากมายหลายอย่างออกมาในเกมรูบิค ที่มีอะไรลึกซึ้งมากกว่าที่เห็นเป็นแค่ของเล่น แนะนำห้ามพลาด สั้นๆ 40 นาทีดูจบอาจจะมีปาดน้ำตาได้เลยครับ

Overall
9/10
9/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • มิตรภาพของทั้งคู่ที่เป็นอะไรมากกว่าคู่แข่งขัน
  •  เล่าเรื่องสนุก สั้นกระชับ สนุกเหมือนหนังมากกว่าสารคดีซะด้วยซ้ำ
  • เบื้องลึกพัฒนาการเด็กออทิสติกส์ที่มีรายละเอียดลึกซึ้ง
  • เรื่องราววงการแข่งรูบิคที่น่าทึ่ง

Cons

  • สั้นมาก อยากได้ยาวกว่านี้

The Speed Cubers รูบิค เกมพลิกคน หนังสารคดีสั้นความยาว 40 นาทีที่เจาะลึกถึงการแข่งขันรูบิคชิงแชมป์โลก ผ่าน 2 คู่แข่งระดับโลก ที่คนหนึ่งเป็นแชมป์โลก 2 สมัย กับหนุ่มออทิสติกส์ที่ก้าวขึ้นมาท้าชิงกับเขา จนเกิดเป็นมิตรภาพลึกซึ้งมากกว่าการเป็นคู่แข่งขันกัน

ตัวอย่าง The Speed Cubers รูบิค เกมพลิกคน

สารคดีชั้นเยี่ยมที่สั้นๆ แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สนุก ชวนลุ้น น่าทึ่งไปกับของเล่นชิ้นเล็กๆ ที่ใครก็คงเคยได้ทดลองเล่นจนปวดหัวตึ๊บๆ แต่ในสารคดีนี้จะเป็นอะไรที่สบายๆ กว่านั้นมาก ด้วยเรื่องราวของการแข่งขันชิงแชมป์โลกของทุกประเทศในโลกมาเจอกัน (คัดแชมป์มาจากแต่ละประเทศ) ซึ่งเรื่องราวจะโฟกัสที่คน 2 คน คนหนึ่งคือ Feliks Zemdegs หนุ่มออสเตรเลีย เจ้าของแชมป์โลก 2 สมัย และกำลังจะชิงแชมป์สมัยที่ 3 จากงานแข่งในปี 2019 ที่เกิดขึ้นในสารคดีนี้ อีกคนคือ Max Park หนุ่มอเมริกันวัย 19 ที่เป็นออทิสติกส์ และเป็นเจ้าของแชมป์รูบิค 5 ประเภท ยกเว้นประเภทเดียวที่ไม่ได้เป็นคือแบบ 3×3 มาตรฐานที่ Feliks Zemdegs ครองตำแหน่งนี้อยู่รวมถึงสถิติโลกด้วย

สารคดีเริ่มต้นด้วยการแนะนำจุดเริ่มต้นของความหลงไหลในรูบิคของทั้งคู่ตั้งแต่เด็ก ซึ่ง Feliks นั้นเรียกว่าเสพติด และฉายแววเก่งมาตั้งแต่แรก จนพ่อแม่แทบไม่อยากเชื่อว่าลูกตนเองกลายเป็นคนดังออกสื่อ Feliks มีอายุมากกว่า Max 5 ปี เขาจึงเป็นรุ่นพี่และแรงบันดาลใจให้ Max ตั้งแต่ตอนเด็ก ซึ่งพ่อแม่ของ Max เองกำลังปวดใจกับการที่ลูกชายถูกวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกส์ ซึ่งอาหารของเขาคือ โลกปิด ไม่ตอบสนองใคร พัฒนาการตามวัยช้า ตอนอายุ 19 ในสารคดีเขาเทียบเท่าเด็กอายุ 8-9 ขวบ แม้แต่หยิบจับของด้วยมือก็ไม่ได้ พ่อแม่จึงพยายามหาทางกระตุ้นให้ลูกใช้มือเพื่อเป็นพัฒนาการไปสู่อย่างอื่น ซึ่งก็มาลงเอยที่รูบิค โดยแม่เปิดยูทูบและสอนการเล่นกับหลักการให้ แต่กลายเป็นว่า Max กลับติดหนึบหลงไหลมากกว่าแค่ของเล่นเพื่อพัฒนาการมืออย่างที่แม่ตั้งใจ และนำไปสู่การได้รู้จักกับ Feliks ในฐานะไอดอลผ่านอินเตอร์เน็ต และกลายเป็นจุดเริ่มเข้าสู่การแข่งขันของ Max ที่มอง Feliks เป็นต้นแบบให้เขา และ Feliks เองก็กลายมาเป็นมากกว่าคู่แข่งขัน หรือรุ่นพี่ของ Max ด้วยความที่อวุโสกว่า และนิสัยดีมากมาย จึงทำให้เขาเหมือนเป็นคนสอนพัฒนาการทางอารมณ์ให้ Max ไปในตัว

The Speed Cubers

ตัวเรื่องราวเต็มไปด้วยความรู้สึกเปี่ยมล้นด้วยความฝัน มิตรภาพ อยู่ตลอดเวลา ถ้าดูจากโครงเรื่องอาจจะคิดว่าเป็นการเอาคนเป็นออทิสติกส์มาขาย แต่ตัวเรื่องจริงๆ คือทั้งคู่มอบความรู้สึกดีๆ ให้กัน คนหนึ่งเป็นแชมป์ที่พยายามทำฝัน 3 สมัยให้สำเร็จ ในขณะที่อายุเริ่มเข้าวัยทำงาน เป็นช่วงขาลงของนักแข่งรูบิคที่ต้องแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นมากกว่าตอนเด็ก ทำให้ตัว Feliks เองมีเรื่องราวที่เหมือนจะน่าเห็นใจกว่า Max ที่ยังคงเป็นเด็กในร่างหนุ่มวัย 19 และพ่อแม่ก็ยังสนับสนุนให้เล่นรูบิคไปได้เรื่อยๆ เพราะการที่คนเป็นออทิสติกส์ได้มาเรียนรู้การเข้าสังคม การแข่งขัน การพบเจอเพื่อนใหม่ๆ การแข่งขันที่แม้ตัวเขาเองจะเก่งมาก แต่ก็ไม่ได้เก่งที่สุด อย่าง Feliks ก็ยังเก่งกว่าในแบบ 3×3 ที่คนนิยมมากที่สุด ทำให้ Max เองได้มีโอกาสเรียนรู้ความรู้สึกพ่ายแพ้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่กังวลว่าลูกจะรับความเจ็บปวดได้ไหม เมื่อเขาตั้งใจทำอะไรมากขนาดนี้แต่กลับไม่สำเร็จ จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจุดดีของเรื่องนี้คือการที่ Feliks เป็นทั้งแรงบันดาลใจ คู่แข่ง คนสอนอะไรหลายอย่างให้กับ Max โดยที่เขาเองก็คงไม่รู้ตัว แม้แต่การพ่ายแพ้ที่ Feliks ก็มีแพ้มาก่อน และคนที่ชนะเขาในสถิติโลกก็คือ Max ที่ผลัดกันทำเวลาเร็วขึ้นเรื่อยๆ มานับ 10 ปี มีแค่ 2 คนนี้ที่ล้มกันเองตลอด ตัวเรื่องจึงมีแต่ความรู้สึกดีๆ จากมิตรภาพทั้งในและนอกการแข่งขัน รวมถึงครอบครัวของ Max ก็นับถือ Feliks มากที่สอนอะไรให้กับ Max ได้มากกว่าพวกเขาซะอีก

นอกจากเรื่องมิตรภาพของทั้งคู่แล้ว ตัวเรื่องยังทำให้ผู้ชมได้ลุ้นไปกับการแข่งขันความเร็วในการหมุนแก้ปัญหารูบิคแต่ละประเภท ซึ่งมีกระทั่งการแข่งหมุนมือเดียว สารคดีจะบอกวิธีการเล่นรูบิคแบบโปรให้คร่าวๆ ว่าเป็นการจดจำรูปแบบ 300 กว่าแบบ แล้วหมุนตามรูปแบบที่จดจำให้ถูกถึงจะทำเวลาได้เร็วจริงๆ (คือมองให้ออกแต่แรกแล้วหมุนตามสูตรที่มี 300 กว่าแบบ) ซึ่งเรียกว่าน่าทึ่งมากๆ ขนาดที่รู้สึกว่าทำเป็นหนังจริงๆ ยังได้เลย เพราะตัวเรื่องช่วงท้ายเป็นการแข่งขันที่ลุ้นมากๆ ว่าใครจะเป็นแชมป์ แม้เราจะรู้ว่าสองคนนี้เป็นตัวเต็งมาตลอด แต่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งตัวเรื่องจริงจบได้ประทับใจมาก และยังคงมีอะไรลึกๆ ให้เราได้รู้สึกว่า รูบิค ไม่ใช่แค่ของเล่น แต่เป็นเกมพลิกชีวิตคนได้จริงๆ ครับ

ถ้าดูจบแล้วอยากดูต่อ ติดตามดูการเล่นของ Feliks ผ่านช่องยูทูบได้ที่นี่  ส่วน Max Park ดูผ่านยูทูบคลิกที่นี่ครับ

ติดตามรีวิวหนัง Netflix เรื่องอื่นคลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!