playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Alita: Battle Angel “มังงะที่ผสมหลอมรวมกับฮอลลีวู๊ดได้อย่างหมดจด”

สรุป

แม้ว่าจะเป็นหนังจากการ์ตุนญี่ปุ่น แถมค่อนข้างเฉพาะกลุ่มด้วย (แนวไซเบอร์พังค์) แต่หนังก็ทำออกมาย่อยง่าย ดูได้ทุกเพศทุกวัย ดูเอามันส์ก็ตอบโจทย์ ดูความล้ำของโลกภาพยนต์ก็ใช่ บทแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ถ้าเป็นคอเกม คอการ์ตูน แนะนำว่าไม่ควรพลาด!

Overall
8.5/10
8.5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • CG ละเอียดทุกจุดเข้าขั้นเปอร์เฟ็กต์ โดยเฉพาะดวงตาโตๆ ของนางเอกนี่แหละ
  • หนังย่อยง่าย ดูได้สบายๆ ไม่ปวดหัว
  • มีการถ่ายด้วยกล้องไอแม็กซ์
  • โลกดิสโทเปียสุดสมจริง
  • ฉากแอ็กชั่นแปลกใหม่ มันส์มาก

Cons

  • เรื่องราวเชิงลึก การอธิบายเนื้อหาเบาบางกว่าฉบับการ์ตูน
  • ฉากดราม่าพาไปไม่ถึงจุดอินได้เต็มที่แบบในการ์ตูน
  • ดาราคนแสดงที่เป็นมนูษย์ไม่โดดเด่น บทไปอยู่ที่พวกไซบอร์กซะหมด
  • หนังจบค้างคา ไม่ถึงกับปาหมอน แต่ก็ห้วนไปหน่อย

รีวิว Alita: Battle Angel หรือชื่อไทย “อลิตา แบทเทิล แองเจิ้ล” นี่เป็นหนังที่สร้างมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นในวัยเด็ก ที่อายุเกือบ 30 ปีเข้าไปแล้ว (เวอร์ชั่นญี่ปุ่นชื่อ GUNMM อ่านว่า “กันมู”) แต่กลับไม่มีกลิ่นอายความเชยตกยุคเลยแม้แต่น้อย สำหรับคอการ์ตูนนี่เรียกว่า “ฝันที่เป็นจริง” ได้สักที หลังจากที่ฮอลลีวู๊ดจับมังงะไปทำทีไร หายนะ+เจ๊งแทบทุกเรื่อง!

โรเบิร์ต รอดริเกซ
(ซ้าย) โรเบิร์ต รอดริเกซ ผู้กำกับที่มาทำหน้าที่แทน เจมส์ คาเมรอน / (ขวา) นางเอกอลิตา เล่นโดย Rosa Salazar ที่ใช้การแสดงจริง ผ่านเทคนิคโมชั่นแคปเจอร์สวมทับอีกที

ก่อนเข้า รีวิว Alita: Battle Angel

สำหรับเด็กยุคใหม่ที่ติดการ์ตูนในโชเน็นจั๊มป์เป็นหลัก อาจจะไม่รู้ว่า เรื่องนี้ติดท็อปการ์ตูนไซไฟขึ้นหิ้งในระดับตำนาน ที่ฝรั่ง (สายมังงะ) ชื่นชอบมาก ซึ่ง “เจมส์ คาเมรอน” ผู้กำกับ 2 พันล้านจาก Avatar ก็หนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน คงเพราะแนวทางของเรื่องถูกตาต้องใจ เข้ากันได้กับแนว “ตัวเอกโชว์พลังหญิง” ที่เป็นลายเซ็นต์ของเขา จึงซื้อลิขสิทธิ์ไปนอนกอดนานเป็นสิบปี ก็ไม่ทำสักที… คนที่ตามข่าวก็นึกว่าอาจจะเน่าคามือป๋าเจมส์ซะแล้ว

แต่สุดท้าย Alita ก็ได้สร้างจนได้ แต่ไม่ใช่จากเจมส์ กลายเป็น “โรเบิร์ต รอดริเกซ” ผู้กำกับมือรองที่กำกับหนังแนวแอ็กชั่นเลือดสาด สไตล์เทาๆ แนวฟิล์มนัวแทน ซึ่งก็ยอมรับได้เพราะเจมส์เลือกเอง เนื่องจากรู้ตัวว่าไม่มีเวลาทำงานได้แน่ๆ (จากการติดงานสร้างภาคต่อ Avatar) และก็อัดข้อมูลที่ตัวเองสะสมไว้ ให้คนใหม่ทำตามทุก “กระเบียดมิลลิเมตร” (โรเบิร์ต รอดริเกซ เคยให้สัมภาษณ์ว่าในแต่ละฉาก เจมส์มีแฟ้มข้อมูลหนาปึ๊กให้อ่าน ซึ่งมีรายละเอียดแทบจะทุกเม็ดในฉากนั้น ที่เขาต้องรู้) แต่การเปลี่ยนมือก็คงต้องมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ยังไงนี่ก็เป็นผลงานของ “โรเบิร์ต รอดริเกซ” ไม่ใช่เจมส์ คาเมรอน อย่าเข้าใจผิดนะครับ!

รีวิว อลิตา แบทเทิล แองเจิ้ล
การได้มาของชุดเบอร์เซอร์เกอร์ที่ต่างไปจากมังงะ นางเอกไปพบเจอและนำกลับมาเอง : รีวิว Alita: Battle Angel

คนดูที่ติดตามหนังของเจมส์ คาเมรอน มาตลอด คงรู้สึกได้ว่า แม้ตัวหนังและภาพวิชวล CG ล้ำๆ ทุกอย่างจะใช่ เป็นแนวทางของเจมส์แน่นอน แต่หนังก็ยังไม่ละเมียดละไมลื่นไหลต่อซีนต่อเนื่องกันมากนัก หนังดูรวบรัดไปในบางจุด ดราม่ายังไม่อินกินใจได้เท่าที่เจมส์เคยทำมา (ผมเป็นคนที่อินกับบทดราม่าใน Avatar มาก) ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เพราะรอดริเกซกำกับไม่ดี แต่เป็นเพราะเรื่องราวในการ์ตูนละเอียดมากไป เจมส์เองก็วาง Alita ไว้ในจุดที่เป็นหนังที่ต้องทำภาคต่อแต่แรก (ก่อนดูคิดว่าอาจจะขมวดจบในภาคเดียวได้) ถึงวางเรื่องราวความลับไว้ให้ไปติดตามต่อ โดยการปรับแต่งเรื่องให้ต้นตอจุดกำเนิดที่มาของนางเอก ในเล่มท้ายๆ ของการ์ตูน มาอยู่ในช่วงแรก ทำให้เรื่องราวของ Alita แม้ลำดับเหตุการณ์จะไม่ได้เปลี่ยนไปมาก แต่แกนของเรื่องเปลี่ยนไปพอสมควร กลายเป็น “นางเอกเทพทรูตั้งแต่แรก” เอาแอ็กชั่นของเกม “มอเตอร์บอล” มาอัดลงไปโชว์เหนือให้คนดูเห็นว่านางเอกนี่ไร้เทียมทาน แบบไม่ต้องลุ้นกันเลย (ซึ่งจริงๆ มอเตอร์บอลจะอยู่ในพาร์ทต่อไปมากกว่า และนางเอกก็ยังไม่เทพขนาดในหนังตอนนี้)

ตัวอย่าง Alita Battle Angel อลิตา แบทเทิล แองเจิ้ล

ก่อนมารีวิวผมได้อ่านทบทวนเรื่องนี้ หลังจากไม่ได้ย้อนอ่านมานาน หลังดูหนังแล้วมาอ่าน รู้สึกเลยว่าหนังพยายามทำให้เรื่องราวในการ์ตูน ดูสมเหตุสมผลขึ้นมากในหลายจุด ไม่ใช่ว่าเพราะต้นเรื่องไม่ดี แต่ต้องเข้าใจว่าสมัยเกือบ 30 ปีก่อน โครงสร้างเรื่องไซไฟลึกล้ำแนวนี้ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้บางทีก็หลวมๆ ในรายละเอียดไป (อย่างที่เห็นชัดคือ เรื่องอิโดะที่เป็นหมอ+ฮันเตอร์ แต่รู้สึกจะบู๊เกินหมอมาก) แต่ที่เรื่องนี้ขึ้นหิ้งในใจของใครหลายคน ผมว่าน่าจะเป็นเพราะ การ์ตูนผสมผสานความลึกของดราม่า ลงในบทแอ็กชั่นไซไฟได้อย่างลงตัวมากๆ

หลายคนที่ดูมาแล้วคงรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับแอ็กชั่นที่ประเคนมาเยอะ แต่โดยเนื้อแท้ของมังงะเรื่องนี้ มีความเป็นดราม่าสูงมาก บทพูดคุยเยอะ เป็นการ์ตูนที่เดินเรื่องราวแบบ Coming of age (เน้นจุดเปลี่ยนหักเห ผ่านช่วงวัยการเติบโตของตัวละคร) ซึ่งปกติก็คือ เรื่องราวการเติบโตของมนุษย์  แต่ในเรื่องนี้นางเอกเป็นไซบอร์กแทบทั้งตัว (มีแค่หัวกับสมองที่เป็นคน) ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านของนางเอก จึงเป็นเรื่องของจิตใจในร่างไซบอร์กล้วนๆ

ฉากป้ายเลือดใน alita
Alita: Battle Angel (อลิตา แบทเทิล แองเจิ้ล)

หนังหยิบช่วงเวลาแรกเริ่มที่นางเอกยังใสซื่อ มีความรักครั้งแรกแบบใจแลกใจ ซึ่งก็เรียกว่าตรงตามการ์ตูนเกือบทั้งหมด รวมถึงตอนจบปิดเรื่องราวความรักครั้งนี้ที่สะเทือนใจด้วย (ใครที่ว่านางเอกว้อนท์ผู้ชายมากไป ลองย้อนไปอ่านนะครับ กัลลี่ในการ์ตูนเองเป็นคนสารภาพรัก รวมถึงจูบ Hugo ก่อน)

ฉาก alita จูบ Hugo
รีวิว Alita Battle Angel

แต่ด้วยความที่เวลาของหนังไม่พอนี่แหละ แล้วตัวบทถูกเปลี่ยนให้นางเอกมีเป้าหมายไปที่ “ซาเลมกับโนวา” แนวแอ็กชั่นมีเป้าหมายปราบลาสบอสตั้งแต่ตอนเริ่มแรก ซึ่งเป็นการปูตัวร้ายให้ชัดเจนตามสไตล์หนัง ที่ต้องย่อยง่ายไว้ก่อน (ในการ์ตูนโนวาดูคลุมเครือกว่านี้มาก) สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของการดัดแปลงบท หลังผมอ่านอีกรอบจากมุมมองที่โตกว่าตอนเด็ก ก็พบว่าถ้าเล่าตามการ์ตูนคนดูทั่วไปคงมีหลับกันเยอะ (แต่อ่านสนุก) เพราะบทมันค่อยเป็นค่อยไปมาก การทำให้ตัวร้ายมาไว เปิดเผยชัดขึ้นก็เป็นข้อดีกับคนดูทั่วไป แต่สำหรับแฟนการ์ตูนคงรู้สึกว่า มันมาบดบังในส่วนของ พาร์ทดราม่า ทำให้ “มันไม่อิ่ม” ยัง “ห่างชั้น” กับต้นฉบับที่ละเมียดละไมกินใจกว่า ซึ่งทุกตัวละครหลักที่เกี่ยวข้องกับนางเอก จะต้องมีบทดราม่าสะเทือนใจคู่กันเสมอ ในหนังตัดส่วนดราม่าของ Grewishka ที่เป็นไซบอร์กคู่ปรับในภาคนี้ออก ทำให้ดูเหมือนตัวร้ายโรคจิตปกติ ซึ่งก็คงเพราะถ้าต้องเล่าที่มาที่ไปของ Grewishka กับโลกใต้เมืองเศษเหล็กคงไม่มีเวลาพอ (หรือกลัวคนไม่อิน กับความรันทดของชีวิตอาชญากรตัวร้ายก็ไม่รู้ครับ) หรืออย่างแรงจูงใจของ Hugo ที่ปรารถนาจะขึ้นไปซาเลม ก็ดูไม่มีที่มาลึกซึ้งดีพอ (ในการ์ตูนมีเบื้องลึกเกี่ยวพันกับกฏของซาเลมที่ห้ามสร้างอากาศยานบินได้ รวมถึงทำให้เข้าใจการที่นางเอกช่วย Hugo หลบหนีอย่างลึกซึ้งขึ้นด้วย)

ฉากคลาสสิค Hugo ปีนซาเลม
“สำหรับฉัน มีเพียงเธอเท่านั้น” ฉากคลาสสิค Hugo ปีนซาเลม โดย Alita ตามมาห้าม แล้วสารภาพรักครั้งที่ 2 เพื่อดึง Hugo ให้เลิกสนใจซาเลม และกลับไปยังนครเศษเหล็ก สร้างชีวิตใหม่กับเธอ

แต่ทั้งนี้ก็เรียกว่าหนังทำได้ดีมากแล้ว หนังเคารพในเส้นหลักของเรื่องราวตลอดเวลา เรียกว่าแทบจะไม่ได้รู้สึกว่าคนละเรื่อง คนละฉบับ แต่เป็นการยกฉบับการ์ตูนสู่ฉบับภาพยนตร์ โดยเคารพผู้สร้างได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งไม่เคยมีจากการ์ตูนฝั่งญี่ปุ่นมาก่อน เรื่องที่ผมพอนึกออกว่าดีมากเหมือนกันคือ Edge of Tomorrow แต่ก็ถูกปรับจากต้นฉบับ All You Need is Kill ไปเยอะเหมือนกัน หรือแม้แต่ก๊อดซิล่าก็ยังถูกปรับไปเยอะเช่นกัน ล่าสุดก็ Ghost in the shell ที่ขนาดได้ “สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน” มาเล่นเป็นตัวเอกก็ยังคว่ำไม่เป็นท่า เพราะบทมันเก่าเชยๆ ไป

โอเคเราเข้าใจว่า การปรับเปลี่ยนอาจจะจำเป็นเพื่อไม่ให้ตลก หรือให้ดูเป็นหนังคนจริงแสดงกับคนดูวงกว้าง แต่ส่วนใหญ่จะปรับแล้วออกมาล่มเละเทะ แฟนๆ ยี้ ต่างกับพวกการ์ตูนฝรั่งเองอย่าง DC กับ Marvel หรือจากค่ายอื่นที่ดูดีเหมือนกัน อย่าง Wanted กับ Kick-ass ที่มาจากการ์ตูนล้วนๆ เช่นกัน ซึ่งฝรั่งปรับของฝรั่งเองมักจะไม่มีปัญหาเลย มีแต่แค่ว่ากำกับไม่ดี หรือบอทอ่อนเลยเจ๊ง ดังนั้นเรื่องนี้คือ นิมิตรหมายแรกที่ดีของ 2 วงการ วันที่ มังงะผสมหลอมรวมกับฮอลลีวู๊ดได้อย่างหมดจด” ไร้ข้อครหาจากแฟนๆ ไม่ว่าทั้งจากญี่ปุ่นหรือจากคนดูทั่วโลก ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะถูกใจ หรือไม่แค่ไหน แต่ทุกคนก็คงยอมรับว่า คงไม่มีใครหยิบจับนำมาสร้างได้ดีขนาดนี้อีกแล้วครับ

alita manga
อลิตา แบทเทิล แองเจิ้ล

จากใจแฟนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ก็ต้องขอบคุณผู้สร้างทั้งสองคน เจมส์ คาเมรอน และโรเบิร์ต รอดริเกซ ที่ทำให้ฝันวัยเด็กเป็นจริง เชื่อว่าใครก็ตามที่เป็นแฟนเรื่องนี้ ต้องมีความจำภาพ กัลลี่ (ชื่อต้นฉบับของอลิตา), เมืองเศษเหล็ก, ซาเลม, มอเตอร์บอล, แพนเซอร์ คุนท์ พอมาได้เห็นในแบบหนังคนจริงแสดงที่ไม่มีผิดเพี้ยนไปเลย ประทับใจจริงๆ ครับ และก็หวังว่าหนังจะได้ไปต่อ ในพาร์ทของมอเตอร์บอล ไปจนถึงบท “ความลับของซาเลม” ซึ่งจะปิดตำนานไตรภาคนี้ได้อย่างสวยงาม (ภาค “ลาสออร์เดอร์” ที่มาทีหลัง ผมก็ชอบนะ แต่มันเหมือนอีกเรื่องนึงที่แตกต่างจากตอนแรกมาก ก็ยังติดตามต่อไป อาจจะตายก่อนคนเขียนจบแหงๆ ครับ)

สำหรับคอการ์ตูนญี่ปุ่นแนะนำว่าต้องดูครับ แม้จะไม่เคยอ่านต้นฉบับมา ก็ยังตื่นตาตื่นใจไปกับโลกของ Alita ได้ การได้เห็นนางเอกตาโตแบบตัวการ์ตูนจริงๆ ความละเมียดละไมในการถอดโลกของการ์ตูนมาขึ้นจอในแบบไร้ที่ติ คุ้มค่าแน่นอนครับ!


บทส่งท้ายของเรื่องนี้จากผู้เขียน ยูกิโตะ คิชิโระ

บทส่งท้ายจากผู้เขียน
*ที่จริงการ์ตูนเรื่องนี้เน้นที่ปรัชญาและจิตวิญญาณ การใช้ชีวิตในโลกที่วุ่นวายสับสนมากกว่าอื่นใด ซึ่งที่มาของพลังของนางเอกก็มาจากจิตเป็นหลักด้วย / Alita Battle Angel

ติดตามรีวิวหนัง เกม และอื่นๆ ได้ที่นี่

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!