playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Looop Lapeta งานดัดแปลง Run Lola Run มาเป็นสไตล์อินเดียที่ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่

สรุป

งานดัดแปลงมาจากต้นฉบับ Run Lola Run ซึ่งถ้าใครเคยดูมาก่อนก็ข้ามผ่านไปได้เลย เพราะเวอร์ชั่นนี้ก็ไม่ได้ทำดีกว่าสักจุด แต่ถ้าใครไม่เคยดูมาก่อนก็ทดลองดูได้อาจจะเพลินๆ อยู่กับแนววนลูปเวลาที่มาในแบบสไตล์หนังตลกอินเดีย พอขำๆ ได้ แต่ถ้าจะหาจุดแปลกใหม่จากแนววนลูปเวลาในปัจจุบันนี่ไม่มีเลย (เพราะต้นฉบับก็เก่าแล้ว แถมยังยกโครงเรื่องมาทั้งดุ้น)

Overall
6/10
6/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • ดัดแปลงจาก Run Lola Run
  • แนววนลูปเวลา
  • เน้นตลกมากกว่าดราม่า

 

Cons

  • ยืดเรื่องราวจากต้นฉบับมากไป
  • วนลูปน้อยจนดูไม่เหมือนหนังแนวนี้มาก
  • นางเอกไม่ได้ผมแดงแบบต้นฉบับเลยไม่มีจุดเด่นอะไรให้เห็นเลย
  • ขาดความสดใหม่จากแนววนลูปเวลา

 

 

 

Looop Lapeta วันวุ่นเวียนวน ภาพยนตร์ Netflix อินเดีย ที่ดัดแปลงเรื่องราวมาจาก  Run Lola Run หนังเยอรมันชื่อดังในปี 1998 เป็นเรื่องราวแนววนลูปเวลาของหญิงสาวที่ต้องหาเงินมาช่วยคนรักให้ทันเวลา หลังเขาทำเงินของเจ้านายมาเฟียหายไป 5 ล้าน

ตัวอย่าง Looop Lapeta วันวุ่นเวียนวน

สำหรับใครที่เคยดู Run Lola Run มาก่อนแล้วก็ข้ามเรื่องนี้ไปได้เลย เพราะถึงบอกว่าเป็นงานดัดแปลงมาจากเรื่องนี้ก็จริง แต่ก็เป็นแค่การดัดแปลงบริบทเรื่องราวให้เป็นอินเดียเท่านั้น ตัวโครงเรื่องทุกอย่างยังคือ Run Lola Run เหมือนเดิม แล้วก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่หรือดีเท่าผลงานคลาสสิคต้นฉบับอีกด้วย แต่สำหรับคนที่ไม่เคยดูต้นฉบับมาก่อนก็ทดลองรับชมดูได้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร

Run Lola Run
Run Lola Run ต้นฉบับของเรื่องนี้

เรื่องย่อ

เนื้อเรื่องเริ่มต้นจากสาวีได้รับโทรศัพท์จากแฟนหนุ่มว่ากำลังเดือดร้อนเพราะทำเงิน 5 ล้านของเจ้านายมาเฟียที่ฝากเขาไว้หาย และต้องหากลับไปคืนให้ได้ภายในเวลาไก่อบตัวนึงสุก (80 นาที) ทำให้ทั้งคู่ต้องสาละวนหาทางนำเงินจากที่ไหนก็ได้มาคืนเจ้านายให้ได้ แต่สาวีกลับพึ่งรู้ว่าตัวเองติดอยู่ในลูปเวลานี้ไม่จบสิ้น

รีวิว วันวุ่นเวียนวน

ด้วยความที่เรื่องแค่ดัดแปลงเอาบริบทจากเยอรมันมาเป็นอินเดีย แถมต้นฉบับเรื่องนี้ยังเป็นหนังที่เก่ามาก พล็อตแนววนลูปเวลาในปัจจุบันมีหนังทำมาเยอะมากจนเหมือนเป็นหนังสูตรสำเร็จแบบนึงไปแล้ว อยู่ที่ว่าใครจะคิดทางฉีกแนวจากเดิมๆ ออกไปได้ ซึ่งการที่เรื่องนี้ยกเอาต้นฉบับมาทั้งดุ้น ทำให้โครงเรื่องวนลูปเวลาไม่ได้มีการพัฒนาอะไรแปลกใหม่ขึ้นเลย ตัวหนังยังแบ่งเป็น 3 ช่วงแบบเดิม เป็นการวนลูปเวลาแบบยาวนานกว่าต้นฉบับที่ลูปละ 20 นาที มี 3 ลูปจบแค่ชั่วโมงเดียวไม่รวมเครดิต แต่ของอินเดียปาไปเกือบชั่วโมงจากความยาวหนัง 2 ชั่วโมง 11 นาที ซึ่งถ้าใครเคยดูแนวนี้บ่อยๆ จะเห็นว่าหัวใจสำคัญคือการวนลูปถี่ๆ ซ้ำๆ ให้เห็นเส้นทางหลายแบบ พอหนังใช้การวนลูปที่ยืดยาวมาก โดยยาวกว่าต้นฉบับ 2 เท่า ก็เลยทำให้เรื่องราวแนววนลูปนี้ดูไม่เข้าพวกเท่าไหร่ เหมือนเป็นหนังที่แบ่งซอยออกเป็น 3 ตอนย่อยมากกว่าจะเป็นแนววนลูปซ้ำๆ แบบปกติ แต่ถ้าใครไม่ติดใจตรงนี้ก็ไม่มีปัญหา เพราะตัวหนังก็ยังใช้แนวการลองผิดถูกเพื่อหาทางออกแบบเดียวกับหนังวนลูปอยู่เช่นกัน แต่ถ้าจะถามหาที่มาที่ไปของการวนลูปในเรื่องนี้ก็คงต้องข้ามไป เพราะตัวเรื่องแทบจะไม่มีอธิบายอะไรเลย นอกจากแค่บทสนทนาระหว่างนางเอกกับแฟนหนุ่มถึงตำนานโบราณเรื่องนึงที่อาจจะโยงมาได้ว่าเป็นจุดกำเนิดการวนลูปได้เท่านั้น

หนังยังใช้การสิ่งของนางเอกเป็นตัวหลักในการเดินทางไปทำอะไรต่างๆ นาๆ เพื่อหาเงินมาช่วยแฟนหนุ่ม ซึ่งระหว่างทางก็ต้องเจอตำรวจตามไล่จับ เจอแท็กซี่ที่ไม่ยอมวิ่ง เจอเจ้าสาวที่ลังเลกับงานแต่งงาน เจอร้านเพชรที่กำลังถูกปล้น ทะเลาะกับพ่อเจ้าของค่ายมวยที่มีความลับว่าตัวเองเป็นเกย์ รวมถึงหาทางให้แฟนของเธอรอดชีวิตจากการติดลูปวนเวียนนี้จากความตายในตอนท้ายทุกลูป ซึ่งเรื่องราวพวกนี้จะต่างจากต้นฉบับ แต่รวมๆ ก็ยังเหมือนกันตรงทุกคนที่นางเอกผ่านไปเจอคือมีปัญหา แล้วนางเอกไม่หยุดแก้ปัญหา แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่ม จนเธอเริ่มคิดได้ในตอนหลังถึงย้อนกลับมาเคลียร์ปมปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมด เป็นเรื่องราวดราม่าซึ้งๆ ในแต่ละเคสหรือแนวตลกปัญญาอ่อนไปเลย ซึ่งการวิ่งของเธอก็เปรียบเหมือนการวิ่งหนีปัญหานั่นเอง

ตัวหนังยังคงเป็นแนวตลกร้ายแบบเดิม แต่เพิ่มมากกว่าเวอร์ชั่นเยอรมัน เพราะตัวหนังอินเดียมักใส่มุกตลกเว่อร์ๆ กว่า จนบางทีก็ดูเป็นแนวตลกปัญญาอ่อนไปเลย อย่างที่คนไทยแม้ไม่เคยดูหนังอินเดียก็คงเคยเห็นกันมาบ้าง แต่กับมุกพวกนี้คนไทยดูอาจจะไม่ขำอะไรมาก แต่ก็ไม่ถึงกับฝืดหรือแป๊ก เรียกว่าพอดูขำๆ ได้โอเคอยู่

นางเอกตัวหลักแสดงโดย Taapsee Pannu ซึ่งมีชื่อเสียงพอสมควร แต่การที่บทของเธอดัดแปลงมาแบบแค่ให้เป็นนักวิ่งเหมือนกัน โดยขาดผมแดงอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญไป ทำให้คาแรกเตอร์ของเธอดูจืดๆ ไม่ค่อยรู้สึกมีอะไรมากเมื่อเทียบกับต้นฉบับที่มีความละเอียดกว่ามาก (ต้นฉบับนางเอกที่ย้อมผมแดงถูกสั่งห้ามสระผมตลอด 7 สัปดาห์ที่ถ่ายทำเพื่อไม่ให้ทรงผมเปลี่ยนเพราะต้องถ่ายซ้ำวนลูปหลายครั้ง)

นอกจากการเอาต้นฉบับมาดัดแปลงแล้ว ตัวเรื่องตอนท้ายยังสอดแทรกใส่สาวผมแดงนางเอกจากต้นฉบับมาไว้นิดนึง ถือเป็นการเคารพต้นฉบับไปในตัว แต่หนังจบลงตรงว่าสามารถทำต่อได้ แต่ก็ไม่น่าจะทำต่ออะไรเป็นการจบแบบปลายเปิดไว้เล่นๆ เท่านั้นครับ

 

สรุป Looop Lapeta สนุกและดีไหม

ดูเอาเพลินๆ พอได้ ดีในระดับพื้นๆ ของแนววนลูป แต่ถ้าจะมองหาความสดใหม่ไม่มีเลย

อ่านรีวิวหนัง Netflix ในเว็บไซต์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!