playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Money Heist: Korea เทียบความต่างจุดใหญ่ที่เปลี่ยนไปทั้งดีขึ้นและแย่ลง

Summary

สำหรับคนดูสเปนมาก่อนอย่างผู้เขียนถือว่าเกาหลีก็นำมาดัดแปลงได้ดี แม้ตัวรูปร่างหน้าตาคาแรกเตอร์ที่พยายามจะให้เหมือนต้นฉบับจะดูแล้วขัดๆ ก็จริง แต่ก็เข้าใจได้ (คงมีแต่คนชอบโตเกียวเกาหลีมากกว่า แต่ตัวละครอื่นส่วนใหญ่ไม่ดีเท่าต้นฉบับ) มีการเล่าเรื่องที่กระชับเร็วกว่า เปลี่ยนฉากสำคัญใหญ่ๆ บางฉาก แต่เสน่ห์หลายอย่างกับฉากสำคัญของต้นฉบับก็ยังทำได้ดีกว่า ซึ่งตรงนี้คงห้ามคนดูสเปนมาเปรียบเทียบไม่ได้เพราะนี่เป็นงานรีเมคที่ในภาพรวมไม่มีอะไรแตกต่างไปเลย แต่ก็เหมาะกับคนที่ไม่เคยดูต้นฉบับแล้วทดลองอยากดูเรื่องนี้บ้างเท่านั้นครับ (แต่ถ้าให้แนะนำก็ดูต้นฉบับไปเลยดีกว่าเพราะขึ้นหิ้งไปแล้ว และทำมาจบแล้วด้วย ส่วนของเกาหลีค้างไว้กลางเรื่องเป็นพาร์ทแรก) 

 

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • งานรีเมคสเปนแบบเหมือนโดยภาพรวมแทบไม่แตกต่าง
  • มีประเด็นเรื่องการรวมเกาหลีที่ใส่มาให้เป็นจุดสำคัญ (แต่ยังนำมาใช้แค่คร่าวๆ)
  • เปลี่ยนโตเกียวให้เป็นสาวสุขุมใจเย็นและมีอดีตที่ต่างออกไปหมด
  • เล่าเรื่องกระชับไวกว่าสเปน
  • มีพากย์ไทย

Cons

  • นักแสดงส่วนใหญ่พยายามเล่นให้เหมือน แต่ไม่มีเสน่ห์ไม่เท่าต้นฉบับ
  • ความสัมพันธ์ของศาสตราจารย์เปลี่ยนไปหมดจนถึงคาแรกเตอร์ลักษณะนิสัยจนดูไม่ดีเท่าต้นฉบับ
  • เบอร์ลินเปลี่ยนไปหมด ไม่ดีเท่าต้นฉบับ
  • ฉากแอ็กชั่นเพิ่มเข้ามา แต่จบแบบไม่สมเหตุผล
  • ฉาก SEX ใช้มุมกล้องบังไม่แรงเท่าต้นฉบับ
  • ขาดฉากเซ็กซี่ของโตเกียวแบบต้นฉบับ
  • ขาดเพลงประกอบปลุกการปล้นที่สำคัญกับเรื่อง

Money Heist: Korea – Joint Economic Area เป็นความพยายามขายซ้ำความสำเร็จของภาคสเปนโดยนำมารีเมคเป็นเวอร์ชั่นเกาหลี เหตุหลักๆ ก็เพราะในเกาหลีเองไม่ได้คิดดูเรื่องนี้ตามชาวโลกกัน + กับกระแสเกาหลีมาแรงตั้งแต่สควิดเกมทำสำเร็จ ทาง Netflix ก็คงอาศัยกระแสนี้สร้างซีรีส์ขึ้นหิ้งของตัวเองเพื่อรีรันในอีกรสชาติให้คนทั่วโลกได้ดูซ้ำอีกรอบ ซึ่งก็ได้ผล และเป็นที่มาของการถกเถียงว่าเวอร์ชั่นนี้ดีพอเทียบเท่าสเปนหรือไม่ ผู้เขียนเองก็เป็นแฟนเรื่องนี้ตั้งแต่ลง Netflix ครั้งแรกแล้วยังไม่ดัง (เรื่องนี้มาดังตอนหลังจบซีซั่น 2 ไปแล้วเกิดกระแสแนะนำต่อๆ กันให้ดูจนยอดเยอะ ทำให้เน็ตฟลิกซ์ไฟเขียวให้ทีมสร้างซีซั่น 3 ทีหลัง) รีวิวนี้จึงขอเปรียบเทียบกับต้นฉบับในจุดสำคัญๆ ที่เวอร์ชั่นเกาหลีทำให้แตกต่างออกไป

 Money Heist: Korea - Joint Economic Area (2022) on IMDb

ตัวอย่าง Money Heist: Korea – Joint Economic Area

รีวิว Money Heist เกาหลี (มีสปอยล์สำคัญบางจุดของสเปน)

 

สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูก็อาจจะได้ยินมาว่าเรื่องนี้รีเมคแบบเดินเรื่องเหมือนเดิมถอดแบบต่อฉากต่อเหตุการณ์กันมาเลย ซึ่งก็จริง แต่ก็ไม่ใช่จะคงเดิมทั้งหมด เรื่องราวหลักนอกจากการเกริ่นนำเรื่องที่มาของโรงกษาปณ์ใหม่ของเกาหลีที่เกิดจากการรวมชาติแล้วกำลังพิมพ์เงินรุ่นใหม่ออกมา โดยตั้งอยู่เขตเศรษฐกิจพิเศษรอยต่อพรมแดนสองประเทศ ที่เหลือก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงหลายจุดที่ทำให้เรื่องนี้ดูใหม่แตกต่างไปจากต้นฉบับด้วยเช่นกัน

 

ความรักทำให้พัง

ประโยคหัวใจหลักของเรื่องนี้ไม่ได้ถูกเอ่ยออกมาจากโตเกียวที่ยังคงเป็นตัวละครที่ใช้เสียงพากย์บรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแบบต้นฉบับ ซึ่งถ้าคนดูจนจบจะรู้ว่า Money Heist จริงๆ แล้วเป็นหนังรักแอ็กชั่น เพราะเรื่องราวหลักๆ ในเรื่องมีแต่คู่รักหรือความรักในรูปแบบพี่น้อง พ่อลูก แม่ลูก รักข้างเดียว เรื่องนี้ถ้าตัดภาพการวางแผนกดดันออกไป ที่เหลือคือเรื่องราวความรักแทบทั้งนั้น เป็นซีรีส์ที่เดินเรื่องด้วยความรัก พังด้วยความรัก และจบลงด้วยความรัก ซึ่งคู่รักหลักของเรื่องเลยคือ ศาสตราจารย์กับราเกล ริโอกับโตเกียว เดนเวอร์กับสาวแบงค์ ที่กลายมาเป็นสต็อกโฮล์มในภายหลัง โดยมีความเปลี่ยนแปลงไปใน 2 คู่แรก ศาสตราจารย์กับราเกล ซึ่งในเวอร์ชั่นเกาหลีคือ ซอนอูจิน ยังเป็นตำรวจนักเจรจาเช่นเดิม แต่เธอกับศาสตราจารย์กลายมาเป็นคนรู้จักเกือบคบกันแต่แรกแล้ว โดยศาสตราจารย์กลายเป็นเจ้าของร้านกาแฟที่เป็นที่มีห้องคอนโทรลซ่อนอยู่ด้วยไม่เหมือนต้นฉบับที่เป็นที่ลับสำคัญที่ต้องสืบหาเป็นไคลแม็กซ์สุดท้ายของเรื่องในเวอร์ชั่นเดิม (ที่ราเกลไปบุกรังศาสตราจารย์กับโดนขู่เรื่องลูกจนต้องยอมเปิดเผยที่ตั้งรังลับ)  แล้วความสัมพันธ์นี้ก็เป็นการวางแผนไว้ก่อนของศาสตราจารย์เพื่อนำเธอมาใช้ประโยชน์แต่แรก ต่างกับของต้นฉบับที่ไม่ไ้ด้วางแผนหลอกคบ ซึ่งจุดนี้มันจะสำคัญในตอนที่เธอจะเปลี่ยนฝั่งในตอนท้าย คือเชื่อว่าเกาหลีสุดท้ายก็จะใช้บทว่าศาสตราจารย์เผลอหลงรักหลุดไปจากแผน แต่ที่ต่างคือศาสตราจารย์ของเดิมคือ ผู้ชายเนิร์ดๆ ในวัย 40 ที่ทั้งชีวิตไม่มีบัตรประชาชน ใช้ชีวิตในเงา หมกหมุ่นอยู่กับแผนการปล้นครั้งนี้มาตลอดชีวิต เพื่อสานต่ออุดมการณ์ของพ่อที่เป็นนักปล้นเช่นกัน (แต่ในเวอร์ชั่นเกาหลีเป็นอาจารย์มหาลัยสอนเศรษฐศาสตร์วิจัยเรื่องการรวมประเทศ จนถูกชวนไปทำเรื่องนี้จากนักการเมือง) เวอร์ชั่นของต้นฉบับคือศาสตราจารย์ไม่เคยมีแฟน มีคนรักมาก่อน อยู่ในสังคมปิดซ่อนตัวตน เป็นแผนการทำให้เขาไม่มีข้อมูลในระบบของทางรัฐ ทำให้เรื่องที่เขาบังเอิญมาหลงรักมันน่าเชื่อถือว่าจอมวางแผนที่ออกกฎนี้เองก็พลาดเองเพราะสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จัก เป็นคนฉลาดทุกอย่าง แต่อ่อนในเรื่องรัก และนำมันมาตั้งกฎห้ามคนอื่น ไม่ใช่แบบเกาหลีที่กลายเป็นหนุ่มอบอุ่นอ่อนโยนใส่ใจความรู้สึกแต่แรก มันไม่แปลกในเวอร์ชั่นเกาหลี แต่มันไม่เรียลอย่างที่เรื่องควรจะเป็น ดูเป็นพล็อตสูตรสำเร็จทื่อๆ ที่ชอบหยิบมาใช้กัน แต่สิ่งที่ดีคือตัวซอนอูจินในภาคนี้ยังเล่นได้ดีไม่ต่างจากมาตรฐานเดิมเท่าไหร่ แลัะมีอารมณ์อ่อนไหวกว่า โดยมีลูกสาวของเธอมาเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องเพิ่มด้วย ต่างจากของต้นฉบับที่แค่พูดถึงว่ากำลังฟ้องร้องกับสามีในการแย่งสิทธิ์อยู่เท่านั้น

โตเกียวเองก็มีปัญหาในเรื่องรักคนผิดมาแต่แรกจนกลายมาเป็นโจร และก็ยังคบริโอตั้งแต่ช่วงเก็บตัวในคลาสเรียนของศาสตราจารย์ แต่เวอร์ชั่นเกาหลีกลายเป็นริโอกำลังตามจีบโตเกียว ซึ่งเป็นสาวเกาหลีเหนือที่เป็นทหารมาก่อน ไม่น่าเคยมีแฟนเพราะในเรื่องไม่มีการกล่าวถึง ตัวริโอก็กลายเป็นหนุ่มดรอปเรียนแพทย์ บ้านรวย แต่มาเป็นแฮ็กเกอร์ ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งคู่พึ่งเริ่มมาเกิดในตอนปล้น ตรงนี้อาจจะดูไม่ขัดอะไร แต่มันก็ทำลายความเซ็กซี่กับปูมหลังของโตเกียวจนหมด แม้ว่าโตเกียวในเวอร์ชั่นนี้จะยังดูสวยในแบบเอเชียก็ตาม และก็กลายมาเป็นคนสุขุมรอบคอบ ไม่มุทะลุใจร้อนน่ารำคาญแบบสเปน หลายๆ คนอาจจะไม่ชอบ แต่บทของโตเกียวเองก็วางไว้ให้ตรงกับคาแรกเตอร์สาวใจแตกที่กลายมาเป็นโจรตามแบบเรื่องจริงของ คู่รักอาชญากร บอนนี่แอนด์ไคลด์ ที่โด่งดัง ใช้ความรักนำทำอะไรต่างๆ ไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล ทำให้เธอตัดสินใจรักริโอแม้จะเด็กกว่าถึง 12 ปีโดยไม่สนกฎของศาสตราจารย์ ในสเปนจึงมีฉาก SEX ของโตเกียวกับริโออยู่เป็นระยะๆ โตเกียวเองก็ลงทุนเล่นบทเปลือยในเรื่องนี้ด้วย ในเกาหลีเองถ้าเป็นซีรีส์ละครทีวีก็แทบไม่มีให้เห็นอะไรเลย แต่เรื่องนี้เน็ตฟลิกซ์ทำเองจึงมีฉาก SEX เพิ่มมาได้ แต่ก็ยังไม่มีเลยกับคู่นี้ มีแต่คู่ของเดนเวอร์กับสาวแบงค์เท่านั้น แต่ก็ยังใช้มุมกล้องช่วยไม่ให้เห็นอะไรอยู่ดี แสดงแค่ท่าทางประกอบ ซึ่งเข้าใจได้ว่าทางเอเชียเองนักแสดงไม่ได้กล้าลุงทุนเล่นอะไรแบบนี้เท่าฝรั่ง แต่นั่นก็ทำให้ความเซ็กซี่ของโตเกียวเวอร์ชั่นหายไปเกือบหมด แล้วก็ไม่ได้กลายเป็นคนเชื่อในความรักแบบหัวปักหัวปำจนทำให้พังแบบที่เธอเองก็รู้ แต่ก็ยังทำลงไป ซึ่งจุดนี้เป็นหัวใจหลักของเรื่องที่เน้นย้ำมาตลอด ของเกาหลีแม้จะมีตรงนี้แต่ก็กลายเป็นเบาๆ ไปในทันทีที่เลือกเปลี่ยนแปลงมันไป (คนดูเวอร์ชั่นเกาหลีเองจะไม่รู้สึกว่าสำคัญ แต่คนดูสเปนจะรู้ว่าสำคัญมาก)

 

แบ็คกราวด์ของเบอร์ลิน

แน่นอนว่าเบอร์ลินไม่ใช่ตัวพระเอกของเรื่อง แต่ก็เป็นตัวละครที่ผู้ชมโหวตกันแล้วว่ารักมากที่สุดในซีรีส์เรื่องนี้ ด้วยการเปิดตัวเป็นตัวร้ายเลือดเย็นจอมบงการวางแผนในกลุ่มโจร แต่ปิดจบซีซั่นแรกด้วยการเป็นฮีโร่แบบพลิกเอาในตอนสุดท้ายเลยว่าจริงๆ เขาเป็นคนดีที่สุดของทีมเลยด้วยการสละตัวเองให้คนอื่นรอด ก่อนที่ซีซั่นต่อๆ มาต้องพยายามเอาเขากลับมาเล่าแฟลชแบ็คเรื่องราวต่างๆ จนถึงซีซั่น 5 ก็ยังจบไม่หมด มีต่อไปภาคแยกเบอร์ลินที่กำลังถ่ายทำอยู่อีก แล้วตัวละครนี้ก็เป็นไบเซ็กชวล ซึ่งทำให้เรื่องมีความซับซ้อนในเรื่องความรักของเบอร์ลินกับตัวละครอื่นๆ ที่จะตามมาในซีซั่นหลังๆ ตัวแสดงเองก็มีเสน่ห์ในแบบเจ้าชู้กรุ้มกริ่มทางสายตาท่าทางตลอดเวลา แล้วก็เป็นพี่ชายร่วมสายเลือดของศาสตราจารย์ด้วย

 

ในเกาหลีเปลี่ยนให้เขาเป็นนักโทษในคุกเกาหลีเหนือตั้งแต่เด็กจนโต ก่อนที่จะก่อจราจลในคุกจนออกมาได้ ตัวเรื่องพยายามให้เขากลายมาเป็นหัวโจกของคุก มีประสบการณ์ในการควบคุมคน เล่นกับจิตใจคน ซึ่งก็โอเคในแง่นี้ แต่ถ้าเทียบกันแล้วเสน่ห์ของเบอร์ลินในเวอร์ชั่นนี้ลดน้อยลงไปเยอะ จากที่แบ็คกราวด์ก็ต่างกันมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องพี่น้องกับศาสตราจารย์ที่แม้เวอร์ชั่นนี้จะยังไม่จบทำมาแค่ครึ่งเรื่อง แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาเฉลยว่าเด็กที่ติดคุกเกาหลีเหนือจะกลายมาเป็นพี่น้องกับศาาสตราจารย์ได้ แถมยังเป็นไบเซ็กชวลที่มีคนรัก มีลูกมีเมียแล้วแบบต้นฉบับอีก ซึ่งเกาหลีเองก็ไม่ค่อยจะมีบทไบเซ็กชวลอยู่แล้วด้วย ดังนั้นปูมหลังอะไรแบบนี้จึงไม่น่ามีแทรกเข้ามาได้อีกแล้ว การเปลี่ยนครั้งนี้จึงทำให้ภาคต่อหลังจากนี้ของเกาหลีน่าจะต้องหาทิศทางใหม่กันเลยถ้าจะทำต่อไปเรื่อยๆ ตามต้นฉบับให้ครบ เพราะแค่ในซีซั่น 3 ตัวละครที่มานำทีมก็เป็นชายคู่รักของเบอร์ลินนั่นเอง แล้วเบอร์ลินเองก็เป็นนักปล้นจอมวางแผนมาตลอดถึงทำภาคแยกได้ แล้วก็เป็นการปล้นเพื่อสนองอุดมการณ์กับอารมณ์มากกว่าเงินด้วย ซึ่งก็เหมือนศาสตราจารย์ แต่ของเกาหลีจะไม่มีอะไรตรงนี้เลย แม้จะปูมาเหมือนกันว่าป่วยใกล้ตาย แต่การที่จะดัดแปลงให้นักโทษในเวอร์เกาหลีกลายเป็นจอมวางแผนปล้นแบบต้นฉบับก็คงเป็นไปไม่ได้เลยเช่นกัน

 

การเล่าเรื่องกับฉากสำคัญที่เปลี่ยนไป

 

ในเวอร์ชั่นเกาหลีด้วยความที่มี 6 ตอน แม้ตอนนึงจะยาวชั่วโมงเศษๆ แต่ก็ยังไม่ยาวเท่าต้นฉบับที่มีจำนวนตอนมากกว่า 2 เท่า ต้นฉบับซีซั่นแรกมี 13 ตอน และเล่าไปไกลยาวกว่าของเกาหลีมากด้วย นั่นจึงทำให้เกาหลีต้องพยายามตัดยุบหั่นหลายช่วงให้กระชับใน 6 ตอน ซึ่งเป็นการเล่าแบบเร็วๆ จากที่ของสเปนใช้เวลาปูเรื่องต่างๆ ค่อนข้างนอก และมีฉากที่ยืดเยื้อมาก ซึ่งการที่เกาหลีปรับให้กระชับเล่าไวๆ ก็เป็นทั้งข้อดีกับข้อเสียของเรื่องนี้เช่นกัน 

 

ฉากหลักๆ ที่เปลี่ยนไปคือ ฉากการเข้าไปนับตัวประกันของราเกล (ซอนอูจิน) จากการเข้าไปเพราะการวางแผนของศาสตราจารย์เพื่อซื้อเวลา และทางตำรวจเองก็ส่งราเกลเข้ามาเพื่อส่งข้อความถึงริโอเรื่องแม่กับบอกความลับเรื่องโรคของเบอร์ลินให้คนในทีมรู้เพื่อสร้างความแตกแยกภายใน แต่เกาหลีเปลี่ยนเป็นแผนของฝ่ายตำรวจที่ซอนอูจินคิดขึ้นเพื่อปั่นหัวโจรโดยการ Live สด เอามหาชนมากดดันเรื่องความตายของตำรวจที่บุกเข้าไป ซึ่งเป็นความแตกต่างที่โอเค เนื้อหาเปลี่ยนไปมาก แต่รวบยอดทำให้เรื่องเข้าสู่จุดที่ว่าทำไมต้องห้ามไม่ให้มีใครตายตามที่ศาสตราจารย์กำชับไว้

 

ฉากศาสตราจารย์ตามไปทำลายรถที่มีรอยนิ้วมือ แล้วราเกลตามมาติดๆ จนเขาต้องปลอมตัวเป็นคนบ้าเพื่อรอดจากสายตาตำรวจ และก็จบแค่นี้ แต่ของเกาหลีจะเป็นฉากขับรถไล่ล่า ที่ซอนอูจินเป็นคนนำ มีรถตำรวจตามมาเพียบ ซึ่งก็ดูเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งใจให้เป็นฉากแอ็กชั่นอลังขึ้นจากของต้นฉบับ ซึ่งมักน็อาจจะได้ผลในแง่นั้น แต่ในความตื่นเต้นลุ้นว่าจะรอดไม่รอดของต้นฉบับจะลุ้นหวาดเสียวกว่า แล้วของเกาหลีมีปัญหาคือตอนจบเอาตัวรอดไม่ค่อยเมคเซนส์ ตั้งแต่ตำรวจรุมรถแล้วไม่ยิง ปล่อยให้ขับหนีได้อีก แล้วยังขับรถพุ่งตกน้ำแต่จุดไฟไว้ แล้วศาสตราจารย์ดำน้ำหนีในคลองข้างถนน ที่ตำรวจตามมาติดๆ กลับหาไม่เจอ ซึ่งไม่สมเหตุผลมากในฉากนี้

 

ตัวละครอื่นๆ ที่มีทั้งคงเดิมกับเปลี่ยนไป

ตรงนี้ไม่แปลกเพราะหลายอย่างของฝรั่งไม่สามารถเอามาใช้ในเกาหลีได้ อย่างการโตเกียวเปลี่ยนไปเป็นอดีตทหารเกาหลีเหนือ เพราะการจะให้เป็นคู่รักอาชญากรรมปล้นธนาคารติดต่อกันจนโดนหลายจับในเรื่องดูไม่ใช่บริบทหรือจุดที่ทำให้เกาหลีรับตัวละครที่ก่ออาชญากรรมแบบนี้มาตลอดได้ และเกาหลีก็ไม่ใช่สังคมที่พกหรือหาซื้อปืนกันได้อิสระแบบฝรั่งด้วย ซึ่งการเปลี่ยนครั้งนี้รวมไปถึงบุคลิกที่เธอกลายเป็นคนใจเย็น รอบคอบ เป็นลักษณะผู้นำ ที่คนดูคงชอบแบบนี้มากกว่า แต่ก็ต้องบอกว่าของสเปนผู้เขียนบทตั้งใจให้เป็นตัวก่อเรื่องอยู่แล้วด้วยครับ เป็นตัวละครทั้งรักทั้งเกลียดในตัวเดียวกัน จนเด่นที่สุดในเรื่องนี้ รวมถึงความเซ็กซี่กับหุ่นที่กินขาดเกาหลีด้วย (เกาหลีได้แค่สวยเฉี่ยว)

 

ริโอกลายมาเป็นนักเรียนแพทย์ที่มีปัญหากับทางบ้านไม่อยากเรียนต่อ ตัวละครนี้เหมือนเปลี่ยนมาเพื่อให้ในทีมมีคนที่ลงมือผ่าตัดได้ดีกว่าของต้นฉบับที่ศาสตราจารย์ฝึกทุกคนให้ผ่าตัดได้ ซึ่งอาจจะดูเว่อร์ๆ ไปหน่อย

 

ไนโรบี ยังเป็นนักต้มตุ๋นเหมือนเดิม นกัแสดงพยายามเล่นในคาแรกเตอร์เดิม แต่รูปร่างหน้าตาต่างกันมากถ้าดูสเปนมา 

 

เดนเวอร์กับพ่อ (มอสโคว) ยังคล้ายแบบเดิมไม่ต่างไปทั้งคาแรกเตอร์กับที่มาเป็นคนงานเหมืองที่มีลูกเป็นนักเลง 

 

เฮลเซงกิกับออสโลเปลี่ยนจากทหารอาชีพมาเป็นคนในแก๊งจีน ไม่ค่อยมีบทบาทอะไรในเวอร์ชั่นนี้ 

 

ผอ.โรงกษาปณ์ (อาตูโร) ยังคงเป็นตัวละครที่คงเอกลักษณ์ความกวนส้นบาทาน่าหงุดหงิดให้กับผู้ชมได้เหมือนเดิมเป๊ะๆ ทั้งรูปร่างหน้าตา การแสดง อันนี้ต้องชมจริงๆ ว่าเหมือนต้นฉบับที่สุดแล้วในเรื่องนี้

 

ยังมีรายละเอียดย่อยๆ ที่ต่างออกไปอีกอย่างของสเปนคู่หูราเกลจะหลงรัก แล้วแอบหึงศาสตราจารย์พร้อมทั้งมีเซนส์ว่าหมอนี่น่าสงสัยจนตามไปเจอถึงรัง แต่ในเกาหลีจะตัดจุดนี้ออกไปเลยไม่มีบทของตัวละคร แต่ก็เปลี่ยนไปให้หัวหน้าทีมเกาหลีเหนือเป็นคนสงสัยในตัวศาสตราจารย์แทน หรือตัวสามีของราเกลต้นฉบับเป็นนิติเวชพิสูจน์หลักฐานในทีมนี้ แต่เกาหลีเป็นนักการเมืองที่กำลังจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลังรวมประเทศที่ดูใหญ่โตกว่ามาก (น่าจะเกี่ยวกับที่มาการปล้นของศาสตราจารย์ในภายหลังด้วย)

 

ขาดเพลงประกอบปลุกใจการปล้นแบบสเปน

อันนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ ของคนไม่เคยดูสเปน แต่จริงๆ มันสำคัญกับเนื้อเรื่องและแรงบันดาลใจในการปล้นของศาสตราจารย์ในต้นฉบับเลย เพลง Bella Ciao เป็นเพลงของกองกำลังปฏิวัติต่อต้านฟาสซิสม์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเนื้อเพลงที่มีความหมายตรงกับเรื่อง “ฉันคือกองกำลังต่อต้าน และถ้าฉันตาย โปรดนำฉันไปฝังที่ยอดภูเขาภายใต้ร่มเงาของดอกไม้อันสดสวยงาม และนี่คือดอกไม้ของเหล่าผู้ต่อสู้เพื่ออิสระภาพของพวกเขา” จึงถูกนำมาใช้ในฉากสำคัญหลายครั้งทั้งปลุกใจ สดุดี ตัวละครฮัมเพลง รวมถึงกลายเป็นเพลงติดหูของซีรีส์เรื่องนี้ไป ซึ่งของเกาหลีไม่นำเพลงไหนมาทดแทนเลย ตรงนี้เข้าใจว่ามันอาจจะยากเพราะประเด็นเรื่องการรวมประเทศก็ทำให้เกาหลีมีบริบทพื้นเพต่างออกไปจากเพลงนี้ แล้วคงหาเพลงแทนไม่ได้จนต้องตัดทิ้งไปเลยดีกว่าดัดแปลงให้มีปัญหา

 


ในภาพรวมสำหรับคนดูสเปนมาก่อนอย่างผู้เขียนถือว่าเกาหลีก็นำมาดัดแปลงได้ดี แม้ตัวรูปร่างหน้าตาคาแรกเตอร์ที่พยายามจะให้เหมือนต้นฉบับจะดูแล้วขัดๆ ก็จริง แต่ก็เข้าใจได้ (คงมีแต่คนชอบโตเกียวเกาหลีมากกว่า แต่ตัวละครอื่นไม่ดีเท่าต้นฉบับ) มีการเล่าเรื่องที่กระชับเร็วกว่า เปลี่ยนฉากสำคัญใหญ่ๆ บางฉาก แต่เสน่ห์หลายอย่างกับฉากสำคัญของต้นฉบับก็ยังทำได้ดีกว่า ซึ่งตรงนี้คงห้ามคนดูสเปนมาเปรียบเทียบไม่ได้เพราะนี่เป็นงานรีเมคที่ในภาพรวมไม่มีอะไรแตกต่างไปเลย แต่ก็เหมาะกับคนที่ไม่เคยดูต้นฉบับแล้วทดลองอยากดูเรื่องนี้บ้างเท่านั้นครับ (แต่ถ้าให้แนะนำก็ดูต้นฉบับไปเลยดีกว่าเพราะขึ้นหิ้งไปแล้ว)

อ่านรีวิวหนัง Netflix ในเว็บไซต์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!