playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิวหนังญี่ปุ่น 37 Seconds – สาวพิการผู้เปี่ยมฝัน

37 Seconds

สรุป

หนังญี่ปุ่นที่ฉายทาง Netflix ถ่ายทอดชีวิตของสาวพิการผู้มีความฝันอยากเป็นนักวาดมังงะ แสดงโดยผู้พิการจริงๆ และทำออกมาได้อย่างสนใจ

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
4.5 (2 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • หนังชีวิตคนพิการที่แสดงโดยคนพิการจริงๆ ซึ่งถ่ายทอดได้น่าสนใจ
  • การแสดงของสองนักแสดงหลักเป็นธรรมชาติ และสื่ออารมณ์ได้อย่างดี
  • สะท้อนให้เห็นปัญหาของผู้พิการในสังคม

Cons

  • มีฉากหมิ่นเหม่ศีลธรรมจากเรื่องเพศสัมพันธ์ และเซ็กส์กับผู้พิการ ที่อาจทำให้หลายคนไม่ถูกรสนิยม
  • บทสรุปที่สวยงามไป
  • การถ่ายภาพเมืองไทยจนดูรื่นรมย์เกินจริง

“จากอวกาศ ชีวิตมนุษย์เป็นเหมือนแค่ชั่วพริบตา บางครั้งฉันก็คิดว่า…ฉันเป็นแค่หนึ่งในการทดลองของพวกเขา เหมือนกับโครงงานวิทยาศาสตร์”

นับเป็นหนึ่งในบทพูดจากฉากที่ดีที่สุดของ 37 วินาที (37 Seconds) หนังญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดชีวิต และปัญหาของคนพิการในสังคมญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่ยูมะตัวเอกผู้เป็นพิการกำลังมองตึกยามค่ำคืนในมหานครโตเกียวที่เต็มไปด้วยแสงไฟน้อยใหญ่ และเธอจินตนาการมันกลายเป็นเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวที่เปรียบเปรยกับตนเอง

 37 Seconds (2019) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง 37 Seconds

หนังเป็นงานกำกับเรื่องแรกของผู้กำกับที่ใช้ชื่สั้นๆ ว่า ฮิคาริ ความน่าสนใจคือการใช้นักแสดงหน้าใหม่อายุ 23 ปีที่ร่างกายพิการเพราะโรคสมองพิการจริงๆ อย่าง เมอิ คายามะ มารับบท ยูมะ ทาคาดะ และงานชิ้นนี้ได้รับเลือกให้เข้าฉายในสายพาโนรามา เทศกาลหนังนานาชาติเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในปี ค.ศ.2019 และสามารถคว้ามาได้ถึง 2 รางวัลคือ รางวัลขวัญใจผู้ชมประเภทหนังที่สร้างจากเรื่องแต่ง และรางวัล C.I.C.A.E. หรือรางวัลจากสหพันธ์โรงหนังอาร์ตเฮาส์นานาชาติ และได้รับเชิญให้เข้าฉายในอีกหลายเทศกาล

ผู้กำกับ ฮิคาริ มีชื่อจริงว่า มิตสุโยะ มิยาซากิ สร้างชื่อจากการทำหนังสั้นเรื่อง Tsuyako (2011) ที่คว้ารางวัลมามากมายจากหลายเทศกาล รวมถึงเป็นโปรดิวเซอร์หนัง 37 Seconds นับเป็นผลงานขนาดยาวเรื่องแรกของเธอที่ได้เข้าฉายในสาย Panorama เทศกาลหนังนานาชาติเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันในปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา และสามารถชนะถึงสองรางวัล คือรางวัลขวัญใจผู้ชมจากสายดังกล่าวประเภทหนังเรื่องแต่ง และชนะรางวัลจากสมาพันธ์โรงหนังอาร์ตเฮาส์นานาชาติ หรือ C.I.C.A.E. Award  โดยเป็นการพัฒนาจากบทในเวิร์คช็อปจากสถาบันซันแดนซ์ และสถานีโทรทัศน์ NHK ซึ่งทำการสัมภาษณ์ความเห็นของผู้พิการในญี่ปุ่น รวมไปถึง เมอิ เด็กสาวที่มาแสดงในหนังเรื่องนี้ มุมมองของเธอได้ถูกนำไปใช้และปรับเปลี่ยนจากบทดั้งเดิมอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้หนังถ่ายทอดปัญหาของคนพิการในประเทศได้มากที่สุด

ในที่นี้คือตัวเอกที่ป่วยเป็นโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นกับทารก สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อ การทรงตัว และการเคลื่อนไหวร่างกายไปตลอดชีวิต คล้ายคลึงกับความพิการของตัวเอกจากหนังรักเล็กๆ ที่หลายคนประทับใจอย่าง Josee, The Tiger, and The Fish(2003) แต่ผู้แสดงเป็นคนพิการจริงๆ

หนังเปิดเรื่องมาด้วยชีวิตประจำวันของยูมะ โดย เคียวโกะ(มิซูสุ คันนะ) ผู้เป็นแม่จะเข็นรถมาส่งเธอที่รถเมล์ไปทำงาน และรับกลับ ทำความสะอาด พากินข้าว และพักผ่อน

ดูเผินๆ ชีวิตของยูมะมีความสุข อย่างน้อยก็ดีกว่าผู้พิการอนาถาอีกหลายคน แต่ความจริงเธอมีความฝันอยากเป็นนักวาดมังงะ นานวันเข้าเธอก็พบว่าตนขาดพร่องสิ่งที่มาเติมเต็มชีวิต เธอชอบในงานการ์ตูน ต่างจากโลกของแม่เธอที่ชอบอ่านวรรณคดีเก่าๆ อย่างบทละครเช็คสเปียร์ มีอาชีพขายตุ๊กตาญี่ปุ่นที่เหมือนกับภาพเปรียบการดูแลเธอ

แต่เธอกลับไม่มีโอกาสในสังคมแม้จะมีฝีมือวาดภาพยอดเยี่ยม แต่งานเป็นผู้ช่วยนักวาดการ์ตูนที่เริ่มมีชื่อเสียงอย่าง ซายากะ ซึ่งเป็นยูทูบเบอร์มีชื่อ แท้จริงไอเดีย และบุคลิกตัวการ์ตูนต่างๆ ล้วนมาจากตัวเธอ เมื่อจะแอบเอางานไปเสนอก็พบว่ามันซ้ำรอยกับงานของซายากะ ยูมะจึงเลือกวาดการ์ตูนเฮนไต การ์ตูนที่ขายเรื่องเซ็กส์ และภาพวาบหวามแทนที่ หากบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ก็บอกว่ามันยังขาดความสมจริงในฉากดังกล่าว และแนะนำให้เธอลองออกไปหาประสบการณ์ดู

ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เธอได้ผ่านเรื่องราวอันเจ็บปวด มิตรภาพ ความขัดแย้งกับแม่ และการเดินทางที่คาดไม่ถึงสำหรับสาวพิการคนหนึ่ง

ผู้กำกับฮิคาริสื่อให้เราเห็นว่าคนพิการเองนั้นก็มีความต้องการไม่ต่างจากเรา ไม่ใช่แค่เพียงกินอิ่มนอนหลับ มีคนดูแล แต่สิทธิต่างๆ ในอาชีพ ทางเลือกในชีวิต หรือการมีเพศสัมพันธ์ก็ถูกจำกัดกรอบโดยสถานภาพของตนเองอยู่แล้ว ยังต้องถูกตัดสินจากคนดูแล และคนในสังคมเสียส่วนใหญ่อีกด้วย

มุมมองดังกล่าวยังถูกถ่ายทอดในเฮนไตเรื่องหนึ่งของยูมะที่ส่งให้กองบรรณาธิการพิจารณา ว่าด้วยมนุษย์ต่างดาวสาวสวยที่เข้ามาเสาะหามนุษย์เพศชายที่มี DNA สมบูรณ์แบบเพื่อมาสร้างเผ่าพันธุ์

หนังยังสะท้อนว่าในสังคมสมัยใหม่เองคนปกติก็ใช่่ว่าจะดูปกติ ในการลองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ยูมะได้พบกับโอตาคุที่เก็บตัวในห้องไม่ค่อยออกไปไหนมาไหน, คอสเพลย์เยอร์ที่แต่งหน้าแต่งตัวให้คนถ่ายรูป, พนักงานบาร์โฮสต์ชายที่ติดตามป้ายโฆษณาล้วนย้อมสี แต่งหน้า ทำผมราวกับไม่ใช่คนญี่ปุ่น, คนโกหกหลอกลวง หรือยูทูบเบอร์สาวที่แต่งตัวราวกับหลุดมาจากโลกแฟนตาซีตลอดเวลา

ถึงจะจบด้วยการประเด็นที่เรามักได้ยินบ่อยๆ แล้วอย่างคนจะพิการขึ้นอยู่ที่ใจว่าคิดว่าตนเองพิการหรือไม่ ? หากในผลงานเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าการจะเติบโตและเข้าใจได้เช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสักนิด

น่าเสียดายในช่วงท้ายที่ตัวเอกเดินทางมายังประเทศไทย หนังให้ภาพรื่นรมย์จากทิวทัศน์ชนบทตามเส้นทางรางรถไฟ ของกินสตรีทฟู้ดที่ผู้คนยิ้มแย้ม ส่งผลให้ตัวเอกของเรื่องเติบโตขึ้น แต่ยังไม่น่าเชื่อถือนัก (ตัวละครหนึ่งพูดว่าที่นี่ร่มรื่น เป็นป่าเกือบครึ่งหนึ่ง) รวมไปถึงบทสรุปที่สวยงามเกินไปสักนิด

อย่างไรก็ตามด้วยการแสดงที่เป็นธรรมชาติ ไม่ฟูมฟายบีบคั้นบ่อยครั้ง ถ่ายทอดความสัมพันธ์ และความขัดแย้งระหว่างแม่ลูก โดย เมอิ คายามะ และ มิซูสุ คันโนะ ตัวหนังนับเป็นงานที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคนพิการได้อย่างน่าสนใจ แม้ไม่ใช่ผู้พิการ แต่ความสัมพันธ์แม่ลูกในเรื่องก็สื่อให้กับผู้ชมทั่วไปได้ไม่ยากเลย

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!