playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Icarus สารคดีโด๊ปยากระฉ่อนโลก

Icarus

สรุป

Icarus หนังสารคดีรางวัลออสการ์จาก Netflix กับการพาไปรู้จักการโด๊ปยา เรื่องอื้อฉาวในวงการกีฬาของรัสเซียที่ไปไกลกว่าที่แม้แต่ตัวผู้สร้างจะคาดคิด

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
5 (1 vote)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • หนังสารคดีที่เจาะเรื่องการโด๊ปยาในวงการกีฬา ซึ่งไปไกลกว่าที่ใครคาดคิด
  • ความพลิกผันเหมือนหนังคนละม้วน ทำให้เป็นสารคดีที่ครึ่งหลังสนุกตื่นเต้นราวกับหนังระทึกขวัญ
  • ไม่ใช่แค่สัมภาษณ์ แต่ตัวเรื่องใช้เทคนิคที่ทำให้เราเห็นภาพกระบวนการอันอื้อฉาวนี้ได้ชัดขึ้นมาก

Cons

  • เริ่มต้นหนังค่อนข้างจับความสนใจผู้ชมได้ค่อนข้างช้า
  • เทคนิคการเอาตัวคนทำสารคดีเป็นผู้เล่าในเรื่องอื้อฉาวของประเทศที่เป็นขั้วตรงข้ามเป็นเทคนิคที่ทำให้เกิดอคติได้ง่าย

ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ สาขารางวัลที่อาจไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่ก็นับว่าขาดไม่ได้คือรางวัลหนังสารคดี บนเวทีแห่งนี้หนังสารคดีหลายเรื่องสร้างชื่อจากการได้เข้าชิง และได้รับรางวัลจนเป็นที่รู้จัก สร้างความสนใจให้คนที่เห็นเป็นยาขมได้เป็นอย่างดี เพราะแม้จะขึ้นชื่อว่าหนังรางวัล แต่ออสการ์ก็มักเลือกงานที่เข้าถึงคนดูวงกว้างได้ง่าย

 Icarus (2017) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่างสารคดีเรื่อง Icarus

Icarus เป็นหนังสารคดีของ ไบรอัน โฟเกลที่สร้างชื่อในเทศกาลหนังซันแดนซ์ด้วยการคว้ารางวัลพิเศษจากคณะกรรมการได้ในปี 2017 และรางวัลขวัญใจผู้ชมจาก Sundance Film Festival London ในปีเดียวกัน มันสร้างความฮือฮาเพราะตอนที่อยู่ในรายชื่อหนังเข้าประกวด ทางเทศกาลก็ถูกแฮ็คข้อมูล และคาดเดากันว่าสาเหตุน่าจะมาจากหนังเรื่องนี้ที่มีเนื้อหาซึ่งเจ้าหน้าที่รัสเซียไม่ต้องการให้เผยแพร่สู่สาธารณชน

และนั่นทำให้ Netflix บริการสตรีมมิ่งชื่อดังซื้อสิทธิ์ในการเผยแพร่ทั่วโลก โดยหลังจากนั้นในการประกาศผลรางวัลออสการ์ ปี ค..2018 หนังก็สามารถคว้ารางวัลหนังสารคดียอดเยี่ยมได้เป็นครั้งแรก เอาชนะตัวเต็งอย่าง Faces Places หนังสารคดีของผู้กำกับหญิงระดับตำนานของฝรั่งเศสอย่าง อาณเญส วาร์ดา (ซึ่งในขณะอายุ 88 ปี และกำกับสารคดีเรื่องนี้ร่วมกับช่างภาพแนวสตรีท JR) ไปได้ (โดยนอกจากคว้าออสการ์ หนังยังได้เข้าชิงสาขาหนังสารคดียอดเยี่ยมจากหลายสถาบัน อาทBAFTA และ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งอเมริกา(DGA)

ชื่อหนังมาจากตัวละครในเทพนิยายกรีก อิคารัส บุตรชายของเดลาลัส ซึ่งทั้งคู่ถูกจองจำในหอคอย วันหนึ่งพวกเขาสามารถนำปีกนกมาสร้างใหม่ด้วยขี้ผึ้งจนสามารถบินได้ และตัวเขาได้บินสูงจนเกือบถึงดวงอาทิตย์ ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ท้าทายเทพเจ้า เทพอพอลโลจึงลงโทษด้วยการแผดความร้อนจนปีกละลาย และตกลงมาตายในที่สุด และเป็นการเปรียบเปรยในเชิงเสียดสีต่อทั้งวงการกีฬาของรัสเซีย นักกีฬาที่ใช้สารกระตุ้น และกริกอรี่ โรดเชนคอฟ ตัวเอกที่สารคดีติดตามในเรื่องอีกด้วยที่ต้องการจะเพิ่มสมรรถภาพให้เกินขีดจำกัดทางร่างกายของมนุษย์ ราวกับอิคารัส มนุษย์ธรรมดาที่ทะเยอทะยาน และหวังจะบินไปยังดวงอาทิตย์

ความน่าสนใจของสารคดีชิ้นนี้คือความคล้ายคลึงกับคนทำหนังสารคดีอย่าง มอร์แกน สเปอร์ล็อค เรื่อง Super Size Me (2004) ซึ่งเอาตัวเองไปมีส่วนร่วมทดลองกับประเด็นในหนังด้วย และนับเป็นเสน่ห์ของหนังสารคดีที่มักมีอะไรไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ และเรื่องดังกล่าวอาจกลายเป็นวัตถุดิบที่ไปไกลกว่าที่คนทำคาดคิด

เพราะเดิม ไบรอัน โฟเกล นั้นโด่งดังในฐานะคนเขียนบทละครตลกมีชื่ออย่าง Jewtopia และนำไปดัดแปลงโดยมีส่วนทั้งร่วมเขียนบทและกำกับเป็นภาพยนตร์ในปี ค..2013 แต่ในสารคดีเรื่องนี้เขากลับพลิกตัวเองมาเป็นนักปั่นจักรยานที่ทดลองสารกระตุ้น

จุดเริ่มต้นเกิดจากความสงสัยว่าทำไม แลนซ์ อาร์มสตรอง นักปั่นจักรยานชื่อดังชาวอเมริกัน และสร้างแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมาก หลังจากรักษาตัวจากโรคมะเร็ง และกลับมาคว้าแชมป์รายการสำคัญมากมาย จึงเพิ่งตรวจพบสารต้องห้าม หรือยาโด๊ป ในปี ค..2012 จากคณะกรรมการต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของสหรัฐอเมริกา (US Anti-Doping Agency) ก่อนที่เขาจะยอมรับสารภาพผ่านสื่อว่าที่ผ่านมาตนเองใช้สารเหล่านี้มาโดยตลอด จนสั่นสะเทือนต่อวงการกีฬา และคนที่เคยชื่นชมเขา

โฟเกลเป็นนักกีฬาปั่นจักรยานแบบมือสมัครเล่นอยู่ก่อนแล้ว เขาเคยแข่งในทัวร์นาเมนต์ที่ทรหดที่สุดรายการหนึ่งของมือสมัครเล่น และได้อันดับในเกณฑ์ดี ในขณะเริ่มสัมภาษณ์บุคคลในวงการกีฬาต่างๆ และอยากจะลองพิสูจน์ว่ามันสามารถทำให้ตรวจไม่พบได้จริงหรือไม่ ? จึงได้รับการแนะนำจากหนึ่งในคณะกรรมการต่อต้านการใช้สารกระตุ้นฯ ให้ติดต่อไปพบกับ กริกอรี่ โรดเชนคอฟ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาชาวรัสเซีย และในขณะนั้นเป็นหัวหน้าห้องแล็บสถาบันต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของรัสเซีย

เริ่มต้นเขาคุยและปรึกษาโรดเชนคอฟผ่านพูดคุยทางออนไลน์ สารคดีเผยให้เห็นว่าแรกเริ่มโฟเกลมีความระแวดระวังอยู่บ้าง แต่เหมือนเพราะความถูกชะตา และสนทนากันถูกคอกับชายวัยกลางคนผู้ช่างพูด และปล่อยมุขตลกแม้แต่กับเรื่องจริงจัง

หนึ่งในกรรมการต่อการใช้สารกระตุ้นของทางอเมริกาซึ่งให้สัมภาษณ์กับโฟเกลว่าแทบไม่มีนักกีฬาคนไหนเลยที่ไม่เคยโด๊ป ทุกคนต่างเคยลองใช้ทั้งสิ้น และด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ของสถาบันเองก็ไม่สามารถตามทันได้ เขาให้คำตอบต่อการแนะนำโรดเชนคอฟได้น่าสนใจและชวนสงสัยไปพร้อมๆ กันว่า “เพราะสงสาร” ความที่เจ้าตัวแนะนำวิธีการโด๊ปดังกล่าวราวกับไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด และด้วยความที่เขามีบุคลิกบางอย่างที่จริงใจ ทำให้โฟเกลเลือกจะคบหากับโรดเชนคอฟเป็นเพื่อนต่อไป

กระบวนการทดลองใช้สารโด๊ปอย่างไรไม่ให้มีความผิดโดนโทษแบน แม้จะต้องมีการตรวจปัสสาวะจึงเริ่มต้น ซึ่งระหว่างฟิตซ้อมเพื่อลงแข่ง และฉีดสารต้องห้ามตามปริมาณ และตารางที่กำหนดให้ โฟเกลเองก็พบว่ามีหลายอย่างที่ค่อนข้างพิกล และได้รับคำเตือนจากคนรอบข้าง เนื่องจากโรดเชนคอฟนั้นเคยเป็นหนึ่งในผู้ที่มีประวัติเมื่อในอดีตที่สื่อเยอรมันแห่งหนึ่งโจมตีรัสเซียว่าให้สารกระตุ้นกับนักกีฬาอย่างเป็นระบบและเป็นขบวนการ

น่าเสียดายที่การแข่งในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายโรดเชนคอฟก็เดินทางมาพบด้วยเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจถึงปัสสาวะที่จะนำไปส่งตรวจนั้น โฟเกลกลับมีปัญหากับจักรยานและทำให้ผลการแข่งแย่กว่าครั้งก่อนเสียอีก

และขณะที่สารคดีดำเนินเรื่องไปได้เพียงครึ่งเดียว เหตุการณ์ก็พลิกผันเมื่อสื่อต่างประเทศทางยุโรปเริ่มโจมตีรัสเซียถึงโครงการลับในการใช้สารกระตุ้น ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องออกมาแก้ข่าว จากการสนทนากับโรดเชนคอฟช่วงเวลานั้น โฟเกลสัมผัสได้ว่าตอนนี้เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และมีโอกาสเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะถูกสั่งเก็บ จึงชวนเขามาพักยังอเมริกาเพื่อความปลอดภัย

ไม่นานโรดเชนคอฟก็กลายเป็นเป้าโจมตีจากทางการรัสเซียในฐานะคนทรยศ คนทำผิดที่ส่งเสริมนักกีฬาให้โด๊ปยาเอง แต่กลับใส่ร้ายประเทศชาติ เขาถูกบีบจนตัดสินใจนำเรื่องราวที่รับรู้มาทั้งหมดไปแฉต่อหนังสือพิมพ์ New York Times จากเรื่องราวที่เน้นไปยังการทดลองใช้สารโด๊ปของโฟเกล ก็กลายเป็นสารคดีแฉโครงการลับอันน่าตกใจของรัสเซียแทน

และสิ่งที่โรดเชนคอฟเผยนั้นก็ไม่ได้เป็นใส่ร้ายลอยๆ มันถูกเล่าอย่างเป็นขั้นเป็นตอนให้เห็นกระบวนการต่างๆ โดยละเอียด และส่งผลให้องค์การต่อต้านการโด๊ปยาโลก (World Anti-Doping Agency) ตัดสินใจแบนรัสเซียจากมหกรรมกีฬาต่างๆ ได้ในที่สุดนับตั้งแต่ปี ค..2019 รวมเป็นเวลาสี่ปี แม้ทางรัฐบาลรัสเซียจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และแม้ว่าจะมีความพยายามแบนรัสเซียตั้งแต่ในโอลิมปิคฤดูหนาว ค..2014 และไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

สิ่งที่โดดเด่นนอกเหนือจากเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด คือความพยายามของโฟเกลที่จะทำให้สารคดีเรื่องนี้น่าติดตามตลอดเวลา ซึ่งนั่นมาพร้อมทุนในการติดตามเรื่องซึ่งใช้เวลายาวนาน การใช้ดนตรีประกอบสร้างความตื่นเต้น ภาพอนิเมชั่น ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิคมาอธิบายขั้นตอนการโด๊ปยาในรัสเซีย รวมไปถึงการนำภาพข่าวที่เห็นต่างจากในรัสเซียมาลงให้เห็นอีกมุมของเรื่องอื้อฉาวนี้

น่าเสียดายที่ความพยายามใช้เทคนิคดังกล่าวของ Icarus ทำให้มันเป็นสารคดีที่ไม่ค่อยมีเอกภาพในบรรยากาศโดยรวมนัก เห็นได้ชัดว่าช่วงเริ่มต้นค่อนข้างกระท่อนกระแท่น ผู้สร้างยังไม่พาคนดูให้รู้สึกสนใจประเด็นเรื่องการโด๊ปยาได้มากนักก่อนจะพบกับ ดร.กริกอรี่ โรดเชนคอฟ และด้วยจุดเริ่มต้นของการเอาตัวเองเป็นตัวดำเนินเรื่องในหนังสารคดีสไตล์แฉเรื่องฉาวนั้น ทำให้ถึงช่วงท้ายจะมีความพยายามนำเสนอข้อมูลอีกด้าน แต่ก็นับเป็นเทคนิคที่กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันถูกเลือกข้างมาเรียบร้อยแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน

แต่แน่นอนว่านี่คือสารคดีที่ทำให้เรื่องการโด๊ปยาที่มองเผินๆ จากสายตาคนนอกไม่ใช่เรื่องใหญ่โต กลับกลายเป็นสารคดีวิพากษ์การเมืองของรัสเซียที่ยังคงมีเรื่องลึกลับ เงื่อนงำ ซ่อนไว้อีกมากเช่นเดียวกับยุคสงครามเย็น

และวงการกีฬาคือมรดกที่ยังคงตกทอดมานั่นเอง

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!