playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว High Score Girl SS 1-2 Netflix จดหมายรักจากยุค 90 ภาพจำลองเด็กเกมตู้ยุครุ่งเรือง

สรุป

อนิเมะแนวโรมานซ์ เลิฟคอมดี้ ที่ทำเพื่อเด็กเล่นเกมตู้จากยุค 90 ที่วันนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ การเดินเรื่องทำได้หวานซึ้ง เป็นแนว Nostalgia ของวงการเกมตู้และเกมไฟท์ติ้งในยุครุ่งเรือง เป็นอนิเมะระดับแนะนำใน Netflix

Overall
9/10
9/10
Sending
User Review
5 (4 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • เนื้อหายอดเยี่ยม เป็นงานที่สนุกเกินคาดมากๆ
  • บทรักสามเส้าที่โยงกับเกมตู้ ดันทำได้ดีและน่าลุ้น
  • มีการนำเกมเก่าๆ จากยุค 90 กลับมาให้คิดถึง และนำเสนอเกมเหล่านั้นได้ดีมากด้วย
  • หลายมุกทำมาแบบเข้าใจคนเล่นเกมในยุคนั้นจริงๆ
  • งานภาพ 3D ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆและสมูทมากในซีซันสอง

Cons

  • งานภาพอาจจะดูแข็งๆแปลกๆในช่วงแรก แต่จะสมูทและเนียนขึ้นเรื่อยๆ
  • ต้องยอมรับว่าหน้าหนังไม่ดึงดูด คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาดูมักไม่คาดหวังอะไร
  • เนื้อหาชวนขายฝันให้เด็กเกมตู้ไปหน่อย

รีวิว High Score Girl Season 1-2 Netflix เซียนสาวกำราบเกมรัก เด็กเกมตู้ จดหมายรักของเหล่าเด็กติดเกมจากยุค 90 ในแบบโรมานซ์ Nostalgia ในยุคที่ Street Fighter II กำลังฮิตทั่วโลก

High Score Girl เป็นหนึ่งในอนิเมะซีรีส์ชื่อดัง ซึ่งฉากหน้าเป็นเรื่องราวของเด็กเล่นเกมตู้ แต่ภายในมันคือเรื่องราวรักโรมานซ์ของหนุ่มสาวในยุคคะนึงหา

ซึ่งหากให้อธิบายสั้นๆ มันอาจจะเปรียบได้กับจดหมายรักจากเด็กยุค 90” คำนี้น่าจะเป็นหนึ่งในนิยามที่ดีที่สุดของเรื่องนี้

ทุกองค์ประกอบของอนิเมะซีรีส์เรื่องนี้ คือทุกอย่างที่เคยมีอยู่ในยุค 90 นี่จึงเป็นเรื่องที่ทำออกมาในแนว Nostalgia โหยหา และเชื่อว่าเรื่องราวบางอย่างในอนิเมะ ต้องมีส่วนคล้ายกับชีวิตของเด็กที่โตจากยุค 90 กันไม่มากก็น้อย โดยในเรื่องใช้วิธีการบอกเล่าผ่านเกมตู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สิงสถิตของเหล่าเด็กชายหลังเลิกเรียน

อีกทั้งในเรื่องยังมีความสมจริงในแง่ประวัติศาสตร์ จากการที่เกมตู้และเกมคอนโซลได้วิวัฒนาการก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งเราจะได้เห็นผ่านการนำเสนอในเรื่อง แล้วก็ชวนให้ร้องว้าวได้ไม่ยากครับ

ตัวอย่าง High Score Girl Season 1-2

**บทความมีสปอยล์เรื่องราวบางส่วน

High Score Girl เรื่องย่อ

เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อ ฮิกุจิ ฮารูโอะ (Higuchi Haruo) เด็กชั้นประถมปลายที่กำลังติดเกมที่คลั่งไคล้และชื่นชอบการเล่นเกม Arcade หรือที่เราเรียกกันว่าเกมตู้โดยเฉพาะเกมแนวไฟท์ติ้งเป็นอย่างมาก

ซึ่งเกมที่เขาโปรดปรานที่สุดก็คือเกมสุดฮิตอย่าง Street Fighter II เกมไฟท์ติ้งของบริษัท Capcom ที่โด่งดังทั่วโลกในยุค 90 จนกลายเป็นต้นแบบของเกมไฟท์ติ้งทั้งหมดในปัจจุบัน ฮารูโอะใช้เวลาฝึกฝืนเกมนี้จนกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นระดับเซียน ที่มีตัวละครโปรดคือ กิลด์” Guile ซึ่งเขาสามารถใช้ตัวละครนี้ปราบผู้เล่นต่างๆที่เข้ามาท้าแข่งในร้านเกมได้ราบคาบ

แต่แล้ววันหนึ่ง ชีวิตของเขาก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล หลังจากได้บังเอิญมาประลองเกมกับ โอโนะ อากิระ (Ono Akira Ono) เด็กสาวผู้เงียบขรึม ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นของเขา เธอเป็นลูกคุณหนูจากครอบครัวที่มีฐานะสูงส่ง มีผลการเรียนดี และมีความสามารถรอบด้าน แต่เธอกลับมีงานอดิเรกลับๆที่ไม่มีใครรู้ นั่นคือการแอบหนีมาเล่นเกมตู้ Street Fighter II แถมเธอยังใช้ตัวละครแซนกีฟ” (Sangief) ซึ่งเป็นตัวละครที่ใช้ยากมาก แต่เธอกลับใช้ได้เชี่ยวชาญถึงขีดสุดในระดับที่ไม่มีใครต่อกรได้

ฮารูโอะ พ่ายแพ้ให้ อากิระ เขาจึงมองเธอเป็นคู่แข่ง แล้วหลังจากนั้นทั้งสองก็เริ่มใช้เวลาเล่นเกมตู้ด้วยกันอีกหลายครั้ง ความสัมพันธ์จากฐานะคู่แข่งกลับลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นความผูกพัน จนกระทั่งอากิระจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศก่อนจะขึ้นชั้นมัธยมต้น ทำให้ทั้งสองต้องแยกจากกันช่วงเวลาหนึ่ง

ฮารูโอะขึ้นชั้นมัธยมต้น แล้วก็ได้พบกับเด็กสาวอีกคนคือ ฮิดากะ โคฮารุ (Hidaga Hoharu) บ้านของฮิดากะเป็นร้านขายของ ที่มีเกมตู้ติดไว้หน้าร้าน ฮารูโอะจึงเริ่มมาใช้เวลาเล่นที่ร้านของเธอเธอ แล้วก็เริ่มทำให้ โคฮารุสนใจอีกฝ่ายมากขึ้น จนกระทั่งเธอได้เข้ามาสู่เส้นทางนักเล่นเกมที่เล่นเกมมากอย่างรวดเร็ว ซึ่งในเกม Street Fighter II เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ตัวละครโกคิ” (Goki)

แต่แล้วอากิระก็กลับมาญี่ปุ่น แล้วเมื่อโคฮารุพบว่า ฮารูโอะ มีใจให้กับอากิระ ความสัมพันธ์แบบรักสามเส้า ที่มีทั้งการแข่งขันเกมตู้และเกมรักเป็นเดิมพันจึงเริ่มต้นขึ้น

High Score Girl ตัวละคร

ฮิกุจิ ฮารูโอะ (Higuchi Haruo) เด็กชั้นหนุ่มผู้คลั่งไล้การเล่นเกมตู้ โดยเฉพาะแนวไฟท์ติ้ง สมัยประถมเขาใช้เวลาฝึกฝนเล่นเกมจนใช้ตัวละครกิลด์ได้เก่งกาจ แต่กลับพ่ายแพ้ให้ อากิระ ที่ใช้แซนกีฟแบบหมดรูป ตั้งแต่นั้นจึงหาทางฝึกฝนพัฒนาฝีมือและแข่งเกมกับอากิระแทบทุกครั้งที่ออกมาเจอกันในร้านเกมจนเกิดความสัมพันธ์ลึกซึ้ง

ก่อนที่อากิระจะจากไปต่างประเทศ ฮารูโอะได้มอบแหวนที่ได้จากการเล่นเกมให้กับอากิระ ซึ่งเธอเก็บเป็นสมบัติล้ำค่า กระทั่งทั้งสองได้กลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากขึ้นชั้นมัธยม

สำหรับเรื่องราวใน Season2 ฮารูโอะรู้ตัวแล้วว่าเขารักอากิระ จึงต้องการสารภาพความรู้สึกที่มีให้กับเธอ แต่ก็ต้องการจะแข่งเกมเอาชนะเธอให้ได้สักครั้ง ทั้งสองจึงเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันที่โอซาก้าด้วยกัน

โอโนะ อากิระ (Ono Akira Ono) เด็กสาวจากครอบครัวที่มีชื่อเสียงและร่ำรวย เป็นคนเงียบขรึม ไม่ค่อยพูด สื่อสารกับคนอื่นไม่เก่งนัก (ทั้งเรื่องเธอจะไม่มีบทให้พูดออกมาเลย)

เธอเป็นเพื่อนร่วมชั้นของฮารูโอะ เนื่องจากทุกวันต้องอยู่กับการเรียนพิเศษและเคร่งครัดในการทำตัวเองให้สมบูรณ์พร้อมตามแบบของครอบครัว เธอจึงมีความเก็บกดและระเบิดออกมาด้วยงานอดิเรกลับๆนั่นคือการแอบหนีมาเล่นเกมตู้ Street Fighter II ในช่วงที่เกมออกมาใหม่ๆ อากิระเลือกใช้ตัวละครที่คนอื่นๆไม่ค่อยนิยมใช้ เพราะหน้าตาไม่ได้หล่อ รูปร่างสูงใหญ่ ท่าทางใช้ยาก เช่นแซนกีฟ” (Sangief) ซึ่งเธอได้นำพรสวรรค์ที่มีออกมาใช้เล่นตัวละครนี้จนเก่งชนิดที่ไม่มีใครสู้ได้ นอกจากนี้ยังเลือกใช้ตัวละครอย่าง แฮกการ์ ในเกม Final Fight แล้วเคลียร์เกมได้ด้วย

อากิระได้แข่งเกมกับฮารูโอะจนเกิดความผูกพันกัน เมื่อเธอต้องไปต่างประเทศแล้วกลับมาในสมัยมัธยม จึงได้กลับมาสานสัมพันธ์กับฮารูโอะโดยผ่านทางการเล่นเกมอีกครั้ง แต่ในคราวนี้เธอพบว่าตัวเองมีศัตรูหัวใจอย่าง โคฮารุ ปรากฏตัวออกมาด้วย

ฮิดากะ โคฮารุ (Hidaga Hoharu) เด็กสาวที่บ้านเป็นร้านขายของที่มีเกมตู้ติดไว้หน้าร้าน ซึ่งฮารูโอะได้เริ่มมาใช้เวลาเล่นเกมที่หน้าร้านของเธอ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจฮารูโอะ ตอนแรกเธอชอบมองฮารูโอะเล่นเกมจากด้านหลัง แต่หลังจากนั้นเธอก็เริ่มเข้าสู่เส้นทางนักเล่นเกมที่มีฝีมือฉกาจมาก ชนิดที่สามารถเล่นน็อคคู่แข่งจำนวนมากได้

โคฮารุ มาพบเอาภายหลังว่า ฮารูโอะมีความผูกพันกับอากิระ แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ พยายามหาทางสารภาพรักกับเขา และขอให้เขาคบกับเธอ โดยท้าพนันว่าถ้าเธอเล่นเกมแข่งชนะ เขาก็จะต้องมาคบกับเธอด้วย

High Score Girl รีวิว ภาพจำลองของวงการเกมตู้ยุค 90

เรื่องนี้เป็นอนิเมชั่นแนว Love Comedy Romance มีแบ็คกราวด์ของเรื่องอยู่ในญี่ปุ่นช่วงต้นและกลางยุค 90 ซึ่งเวลานั้นเป็นยุคสมัยที่เกมเซนเตอร์ เกม Arcade โดยเฉพาะเกมแนว ไฟท์ติ้ง กำลังโด่งดังและฮิตเล่นกันสุดขีด โดยเฉพาะเกม Street Fighter II ซึ่งเป็นเสมือนเกมภาคบังคับของคอเกมตู้ทุกคนที่มักจะต้องมีตัวละครประจำของตนเองกันทั้งนั้น

ซึ่งภาพรวมของเกมที่ออกมามีบทสำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่

  • Street Fighter II
  • Final Fight
  • RPG Maker
  • Samurai Showdown
  • Darkstalker
  • Tokimeki Memorial
  • Virtual Fighter

ซึ่งในแต่ละเกมก็จะมีบทบาทสำคัญออกมาในเรื่องตามแต่ละช่วง ของวิวัฒนาการและความนิยมจากในประวัติศาสตร์เกมจริงๆ เช่น Street Fighter ก็มีเวอร์ชั่น Turbo และ Alpha ที่โด่งดังออกมาด้วย นอกจากนี้ยังมีมุกแซวบางเกมเช่น Darkstalker ที่กดท่าติดยากสุดๆ หรือ Virtual Fighter ที่เกจพลังลดฮวบฮาบเร็วมากจากการโดนคอมโบโจมตี ทำให้เป็นเกมที่รู้ผลเร็วสุดๆ

อีกทั้งในเรื่องนี้ก็สร้างออกมาได้แบบเข้าใจคนเล่นเกมซึ่งสามตัวละครหลักในเรื่องต่างก็มีตัวละครประจำของตนในแต่ละเกมที่เล่น แต่ละคนก็มีรูปแบบการบังคับที่แตกต่างกันไป มีการผสมผสานท่าไม้ตาย การกดท่าคอมโบ ท่าต่อเนื่อง ไปจนถึงกดสูตรโกงบางอย่างที่หากเป็นคอเกมตู้ได้เห็นในเรื่องนี้แล้วจะต้องร้องว้าวแน่ๆ เพราะมุกหลายอย่างที่สื่อออกมาทางเกมนั้นเป็นเรื่องที่คนเล่นเกมทำกันจริงๆ

เรื่องนี้จึงเป็นอนิเมะแนวโรมานซ์รอมคอมที่สะท้อนภาพจำลองของวงการเกมจากยุค 90 ซึ่งไม่ใช่แค่ของญี่ปุ่นด้วยนะครับ แต่มันสะท้อนทั่วโลก และของไทยด้วย ซึ่งก็มีหลายมุกในเรื่องที่หากเป็นเด็กเล่นเกมตู้ โดยเฉพาะเกมแนวไฟติ้งจากยุคนั้น จะเก็ตเอามากๆ ว่ามันคืออะไร มาลองดูกันว่า มีอะไรบ้าง

  • ล้อเลียนเสียงร้องท่าไม้ตายในเกมสตรีท ที่คนเล่นส่วนใหญ่ฟังไม่ค่อยชัด คนญี่ปุ่นเองก็เป็น (คนไทยเองก็จะฟังสำเนียงร้อง ฮาโดเคน = อาบู๊เคน โชริวเคน = โฮริวเคน ท่าเตะพายุหมุน = สเป็ตเจ็ต)
  • การกดท่าคอมโบ กระโดดเตะเข้าไป เตะต่ำ แล้วทุ่ม หรือใช้ท่าจับทุ่มทันที
  • เลือกใช้ ริว หรือ เคน ใช้วิธีกดท่ายิงพลังฮาโดเคะเพื่อสกัดอีกฝ่าย แล้วรอจังหวะถ้าอีกฝ่ายกระโดดหลบก็เคาน์เตอร์สวนด้วยโชริวเคน ท่าโจมตีด้านบน
  • การเล่นเกมสตรีทในแบบ “เน้นตั้งรับ ตีหัวเข้าบ้าน” Turtlering คือถ้าอีกฝ่ายไม่ยิงพลังออกมาก็ไม่โดดเข้าไป แล้วพอเข้าไปแล้วก็ใช้ท่าคอมโบสวนกลับ หรือเล่นท่าทุ่มใส่ ซึ่งวิธีเล่นรูปแบบนี้จะเป็นหนึ่งในสูตรที่ค่อนข้างน่ารำคาญ แต่ได้ผลดีในการใช้งานจริง เป็นการแข่งความอดทนกับฝ่ายตรงข้ามด้วย 
  • ท่าหากินง่ายๆ ของ Guile เช่น เตะสกัดต่ำ แล้วตอดไปเรื่อยๆ ซึ่งฮารูโอะงัดออกมาใช้ตอนที่จนตรอกแล้ว
  • การใช้ตัวละครแซนกีฟที่บังคับยาก เชื่องช้าช้า ตัวใหญ่ก็เลยเป็นเป้าใหญ่ แต่ถ้าสามารถเข้าวงในจับทุ่มหรือใช้ไม้ตายได้แค่ 2-3 ครั้งก็คือจบเกมเลย ทำให้แซนกีฟเป็นตัวละครที่ไม่เหมาะกับมือใหม่ แต่เหมาะสำหรับมือระดับเซียน แต่ในตอนแรกที่เกมเพิ่งออกมา คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้วิธีใช้งาน แถมท่าไม้ตายกดยากมากด้วย ภายหลังถ้าใครใช้แซนกีฟเก่งๆ จะถือว่าเป็นคนเล่นระดับโกงเลยก็ว่าได้
  • การใช้ท่ากระโดดยิงพลังของโกคิ ซึ่งถ้าใครใช้ติดกันรัวๆได้จะถือว่าโคตรโกงมากในการเล่นสายตั้งรับ แบบที่โคฮารุใช้ในเรื่อง เพราะเป็นการถ่วงเวลาจนหมด
  • เทคนิคการใช้แซนกีฟระดับสูง ที่ไม่ต้องกระโดดเตะเข้าไปก็สามารถคลุกวงในเพื่อจับสกรูไดรเวอร์ได้ โดยใช้ท่าหมนตัวเข้าไปเพื่อเลี่ยงท่ายิงพลังใส่ของตัวอื่นๆ
  • ในเรื่องยังมีการล้อเลียน ท่าโจมตีที่ แม่ของฮารูโอะ และมาโกโตะ พี่สาวของอากิระ เข้ามาต่อยแท็กทีมรัวๆใส่ฮารูโอะตอนที่พูดจาขัดใจเรื่องของอากิระ ก็เป็นท่าที่ล้อเลียนมาจากท่าแท็กทีมต่อยอัดเข้ามุมใน Final Fight ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าไฟท์บังคับสำหรับคนที่เล่นเกมนี้แบบแท็กทีมช่วยกันด้วย

  • การกดสูตรตรงฉากเลือกตัวละครเพื่อเรียก โกคิ ขึ้นมาเล่นในเกมสตรีท ที่แม้แต่จะเป็นเซียนขนาดไหน บางครั้งก็กดไม่ติดเหมือนกัน แล้วก็เลยทำให้ได้ตัวที่ไม่ต้องการแทน อย่างในเรื่องมีซีนที่ โคฮารุ ซึ่งถนัดใช้โกคิในเกมยังกดสูตรไม่ติด แล้วพออากิระจะกดบ้างก็ดันพลาดเหมือนกัน
  • มุกล้อเลียนเรื่องชื่อของ Soul Edge ที่โคฮารุพูดว่า โซลเอจจิ ซึ่งคำว่า เอจจิ หมายถึงลามก
  • ในเรื่อง บางคนอาจจะมีข้อสังเกตว่า ทำไมคอเกมอย่างฮารูโอะไม่มีเครื่องเกมบอย ไม่มีเครื่องซุปเปอร์ฟามิคอม และไม่มีเครื่อง Ps1 แต่เขากลับมีเครื่อง Turbo Express และ เซก้าแซทเทิร์น ซึ่งมีตอนหนึ่งจะเห็นว่าฮารูโอะตื่นเต้นมากตอนที่โคฮารุเอาเครื่อง Ps1 มาให้ยืมแล้วลองเล่น Tekken ภาคแรก สำหรับสาเหตุก็มีการแย้มไว้ในเรื่องเล็กน้อยเหมือนกัน เนื่องจากฮารูโอะเป็นนักเล่นเกมตู้สายที่เล่นเพื่อไปแข่งขันกับคนอื่นเป็นหลัก อีกทั้งเขาชื่นชอบภาพในเกมตู้ที่คุณภาพของเกมอาเขตจะมีสูงกว่าระดับของเครื่องซุปเปอร์ ในขณะที่เครื่องแซทเทิร์นก็เป็นเครื่องคอนโซลของ Sega ที่ออกมารองรับเหล่านักเล่นเกมไฟท์ติ้ง ซึ่งคุณภาพด้านงานภาพเหนือกว่าเครื่องซุปเปอร์ฟามิคอมด้วย

ในเรื่องนี้ยังมีการนำเสนอภาพลักษณ์ของเด็กเกมตู้ ที่ค่อนข้างจะออกมาในเชิงบวก คือถึงแม้ว่าพวกเด็กติดเกมตู้เหล่านี้จะมีลักษณะของการไปมั่วสุมอยู่ในร้านเกมเซนเตอร์ แต่เอาเข้าจริงแล้วเกมเมอร์เหล่านี้ไม่ใช่คนน่ากลัวหรือเป็นนักเลงอะไรเลย คอเกมตู้ส่วนใหญ่ก็แค่พยายามที่จะเล่นเกมแล้วชนะให้ได้มากที่สุด ได้แข่งกับคนอื่นๆ อาจจะมีรวมกลุ่มกันบ้างเพื่อให้ดูมีพลัง ซึ่งในเรื่องจะมีตอนที่เกมเมอร์จากเมืองสองฝั่งยกพวกมาลุยกันแล้วตัดสินกันด้วยการแข่งเกม ซึ่งผลก็จบลงไปแบบมึนๆ เมื่อโคฮารุเอาชนะอีกทีมไป 10 ตารวด หรือจะบอกว่า เกมเมอร์ที่รวมกลุ่มเหล่านี้ก็เป็นอีกรูปแบบของเด็กเนิร์ดที่ไม่ได้น่ากลัวอะไร แค่อาจจะแต่งตัวเพื่อให้มีรูปลักษณ์น่าเกรงขามข่มขู่อีกฝั่งเท่านั้น

แต่ในเรื่องก็เหมือนกันที่มีการนำเสนอคนเล่นเกมตู้ประเภทนักเลง หาเรื่อง ซึ่งจะเห็นว่ามีในซีซันแรก ที่ฮารูโอะชนะอีกฝ่ายมากไปหน่อยจนเกิดเรื่องขึ้น

ซึ่งนอกเหนือจากเกม Street Fighter II ยังมีเกมอื่นๆที่นำเสนอในเรื่อง เช่น Final Fight ซึ่งเป็นเกมแนว แอ็คชั่น ตะลุยด่านยุคแรกๆของค่าย Capcom ที่ทั้งสองพระนาง มีความผูกพันกันจากเกมนี้ เพราะเป็นเกมแรกที่ช่วยกันเล่นจนจบได้ ซึ่งยุคนั้นเราก็จะมีเกมแนวนี้ให้เห็นกันเยอะ คือต้องใช้สองคนช่วยกันตะลุยด่านเอา แต่ก็จะมีมุกประเภทที่ แย่งกันเก็บของเพิ่มพลังบ้าง อัดกันเองบ้าง แย่งตัวละครที่เลือกใช้กันบ้าง เป็นต้น

สำหรับบางเกม เช่น Tokimeki Memorial เกมจีบสาวระดับตำนาน ที่แม้ว่าจะดังในเมืองไทยเหมือนกัน แต่ในแง่ความอินกับเกมแล้ว เกมเมอร์ไทยคงจะไม่เท่ากับฝั่งญี่ปุ่น (แน่นอน เพราะคนญี่ปุ่นอ่านออก) ซึ่งก็เชื่อได้ว่าคงมีวัยรุ่นผู้ชายในสมัยนั้นที่ซื้อเกมนี้ไปเล่นเพื่อหัดจีบสาวในชีวิตจริงๆเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างทำให้ผู้เขียนขำไม่น้อย คือฉากที่ Haruo ต้องมานั่งเล่นเกม Tokimeki Memorial โดยมีแม่ พี่สาวของอากิระ และเพื่อนๆ มานั่งดู แถมยังมีสองสาวเจ้าที่ชอบเจ้าตัวมานั่งดูอยู่ด้วย

High Score Girl เนื้อเรื่องในฝันของเด็กติดเกม

อันที่จริงแล้ว ในชีวิตจริงของเด็กติดเกมตู้ยุคนั้นส่วนมากคงไม่ได้สวยงามเหมือนกับชีวิตรักของตัวเอกในเรื่องเท่าไหร่นัก เหมือนอย่างที่บรรดาตัวละครเกมเมอร์ในเรื่องส่วนใหญ่ต่างก็ไม่พอใจฮารูโอะหลังจากที่รู้ว่าเขามีสาวมาหลงชื่นชอบถึงสองคน แถมเป็นสาวสวยทั้งคู่ด้วย

ดังนั้นถ้าจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นการขายฝันให้เด็กเนิร์ดติดเกมในยุคนั้นและเป็นผู้ใหญ่ในยุคนี้ ก็ได้อยู่เหมือนกัน

โปสเตอร์ซีซัน 2 ที่ล้อเลียนจากโปสเตอร์เกม KOF97

ตัวเรื่องยังมีเอกลักษณ์เฉพาะที่พิเศษมากอย่างหนึ่ง นั่นคือ นางเอกอย่างอากิระ ไม่มีบทพูดเลยทั้งเรื่อง การสื่อสารในเรื่องจะแสดงผ่านทางสีหน้า ท่าทาง การกระทำ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วในช่วงแรกก็ไม่ได้แสดงสีหน้าอย่างอื่นมากนัก ทำให้คนดูอาจจะรู้สึกหนักใจเหมือนกับเราเป็นฮารูโอะที่ตอนแรกๆอ่านไม่ออกว่าอากิระคิดอะไรอยู่

ดังนั้นรูปแบบการสื่อสารผ่านตัวละครอากิระ จึงมีการใช้ตัวละครอื่นรายรอบเป็นคนพูดออกมาแทน ไม่ว่าจะเป็น จิยะ คนขับรถส่วนตัวผู้ซื่อสัตย์ และ พี่สาวของอากิระคือ มาโกโตะ แต่ก็น่าแปลกที่คนดูสามารถชินไปกับสไตล์ของเรื่องที่นางเอกไม่ได้พูดเลยทั้งเรื่องได้ไม่ยาก

ด้านการเดินเรื่องยังมีจุดที่ทำได้ตลกและมีสีสัน คือจะมีตัว กิลด์ จากเกม Street Fighter II ออกมาเป็นตัวแทนจิตใต้สำนึกของฮารูโอะ ในเวลาที่เขาลำบากใจหรือไม่รู้ว่าควรจะตัดสินใจยังไง ซึ่งก็ทำได้ฮามากๆในหลายฉาก วิธีนี้ยังใช้กับตัวอากิระที่จะมีตัวละครในเกมบางตัวออกมาพูดแทนด้วย

ด้าน Easter egg ต่างๆในเรื่องที่คอเกมคนไทยอาจจะไม่คุ้นก็มีเหมือนกัน หนึ่งในอันที่ฮาที่สุดคือ MV ของ Jeffrey Macwild จากเกม Virtual Fighter ที่ฉากนี้ดูเหมือนจะทำให้หลายคนไปค้นหาใน Google กันแล้ว จนเกิดเป็นยอดวิวนับแสนวิวบนยูทูปด้วย ถ้าใครอยากรู้ว่าเป็นยังไงลองกดดูที่ลิ้งก์นี้ครับ

สำหรับเนื้อหาภาพรวม การเดินเรื่องในซีซันแรก จะแบ่งเป็นสามพาร์ทหลัก

1.วัยประถม เน้นไปที่การทำความรู้จักจนกลายเป็นความผูกพันระหว่างฮารูโอะและอากิระตั้งแต่สมัยประถม

2.มัธยมต้น ฮารูโอะพบกับโคฮารุ เริ่มกลายเป็นรักข้างเดียวของโคฮารุ และความพยายามของฮารูโอะในการสอบเข้ามัธยมปลาย

3.มัธยมปลาย ศึกรักสามเส้าที่เริ่มต้นระหว่าง อากิระที่กลับมา กับโคฮารุ ที่เริ่มจะรุกแล้ว ในขณะที่ฮารูโอะก็เริ่มรู้สึกตัวถึงความรู้สึกที่มีให้อากิระ ซึ่งในสามตอนพิเศษช่วงท้ายของซีซันแรก เป็นตอนของการแข่งขันระหว่างฮารูโอะและโคฮารุ

ส่วนในซีซันสอง เนื้อหาโฟกัสที่รักสามเส้าเต็มรูปแบบ ไปจนถึงการย้อนความหลังผ่านเกมต่างๆของฮารูโอะกับอากิระ ด้านโคฮารุก็รุกสุดๆ และช่วงท้ายจะเป็นการแข่งขันเกมที่โอซาก้า

ในช่วงท้าย ก็มีการใส่ดราม่าให้ได้ลุ้นเข้ามา เนื่องจากเรื่องราวทางบ้านของอากิระ ซึ่งก็ทำได้ดี

ที่จริงแล้ว ในด้านความรักของตัวละคร อาจจะมาแนว ดอกฟ้ากับหมาวัดมากไปนิด แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องสนุกที่ดูแล้วคนดูจะชอบได้ไม่ยากครับ อีกทั้งการวางตัวของฮารูโอะในด้านความรักก็ถือว่าทำได้ดี เท่าที่คาแรคเตอร์ของตัวละครจะพัฒนาขึ้นมา จุดที่น่าชื่นชมคือ บทของฮารูโอะเป็นตัวละครที่เกือบจะซื่อบื้อเรื่องความรัก แต่ก็ไม่ได้โง่ไปหมด พอเขารู้ตัวแล้วก็เดินหน้าเลย อีกทั้งยังมีความสุภาพบุรุษที่จะไม่แตะต้องผู้หญิง หรือฉวยโอกาสด้วย ซึ่งในอนิเมะนำเสนอเป็นแบบอย่างได้ดีครับ

ด้านงานภาพ CG กราฟฟิก ขอชื่นชมอย่างมาก ในซีซันแรก งานภาพอาจจะยังดูแข็งๆ แต่มันก็ดันเข้ากับบรรยากาศในเรื่องอย่างแปลกประหลาด ในขณะที่งานภาพของซีซันสอง เราจะเริ่มพบว่างานกึ่ง 3D ในเรื่องทำได้เนียนและสมูทเอามากๆ (เช่น ฉากโคฮารุที่นั่งคุยกับฮารูโอะในร้านกาแฟตอนกลางคืน ทำได้สมูทมากๆจนน่าตกใจ)

ด้านเพลงประกอบ มักใส่มาถูกจังหวะ โดยเฉพาะเพลงจบ เพราะเรื่องนี้ชอบใช้เทคนิคการเดินเรื่องแบบปิดท้ายแต่ละตอนด้วยไคลแมกซ์ที่ทำให้เราอยากดูตอนถัดไปทันที ซึ่งเพลงประกอบทำได้ดีมากๆทั้งสองซีซัน ซึ่งตรงนี้ต้องชมมากๆเลย เพราะการใส่เพลงประกอบมักมาในจังหวะประเภทเซอร์ไพรส์ กับในฉากโรมานซ์ที่เรื่องนี้ทำได้ “หวานซึ้งเอามากๆ” ชนิดที่อนิเมะโรมานซ์หลายเรื่องอาจจะสู้ไม่ได้ด้วยซ้ำ

ด้านข้อด้อย ถ้าจะให้มีจริงๆคือ งาน 3D กราฟิกในช่วงซีซันแรกที่ยังดูแข็งๆไปบ้าง รวมถึงงานเคลื่อนไหว อีกทั้งต้องยอมรับว่าหน้าหนังมันไม่ค่อยดึงดูดให้อยากดูเท่าไหร่ คือคนที่ดูเรื่องนี้มักเข้ามาดูแบบไม่ได้คาดหวังอะไรแต่กลับได้ความสนุกเพลิดเพลินชนิดเกินคาดออกไปนั่นเอง

สรุปภาพรวมแล้ว นี่เป็นสุดยอดอนิเมะซีรีส์ที่แนะนำว่าต้องดูใน Netflix เลยครับ ซึ่งจากเนื้อหานั้น ก็ดัดแปลงมาจากมังงะชื่อเดียวกัน จบเรื่องราวตามมังงะ แต่ก็มีการประกาศว่าจะมีมังงะแบบ Spin-Off เนื้อเรื่องของ ฮิดากะ โคฮารุ ที่โตมาเป็นครู แยกออกมา ก็ต้องลุ้นว่าจะได้มีการนำมาทำเป็นอนิเมะในอนาคตหรือไม่ครับ

ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่

Reference Website

https://hiscoregirl.fandom.com/wiki/Category:Characters

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!