playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

ดาบพิฆาตอสูร Kimetsu no Yaiba ปราณ (Breath) รวมทุกรูปแบบ มีอะไรบ้าง

Kimetsu no Yaiba ปราณ Breath ในเรื่อง ดาบพิฆาตอสูร การใช้ปราณคือหนึ่งในวิชาประจำตัวของเหล่านักล่าอสูร ที่ช่วยเพิ่มพลังในการต่อสู้ให้สามารถสังหารเหล่าอสูรที่มีพลังมากกว่ามนุษย์ได้ ซึ่งปราณทั้งหมดล้วนแตกยอดมาจากปราณตะวัน

มาลองดูว่า มีปราณอะไรในเรื่องบ้างครับ

Kimetsu no Yaiba ปราณ คืออะไร

ปราณ (Breath) เป็นเคล็ดวิชาสำคัญในเรื่องราวนี้ เพราะเป็นไพ่ตายสำคัญที่ทำให้เหล่านักล่าอสูรซึ่งยิ่งฝึกก็ยิ่งมีอานุภาพในการสังหารอสูรได้มากขึ้น

อันที่จริงแล้วเดิมทีตัวละครทุกคนในเรื่องนี้ก็เป็นแค่มนุษย์ธรรมดา แม้จะมีบางคนสามารถจัดการอสูรได้ด้วยวิธีการต่างๆ แต่การใช้ปราณเป็นเคล็ลับที่ทำให้จัดการอสูรได้สะดวกขึ้น ซึ่งตามที่เล่าไว้ในเรื่องก็พบว่ามีคนที่สามารถใช้ปราณได้น้อยมากๆ สำหรับคนที่ทำได้ในระดับเชี่ยวชาญ ก็มีคุณสมบัติที่จะได้รับตำแหน่ง “เสาหลัก” ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งนักล่าอสูรระดับสูงสุดในองค์กรที่มีอายุมาเกือบพันปีนี้

แล้วเรื่องปราณคืออะไร มีการแบ่งสายเป็นยังไงบ้าง ???

 

kimetsu no yaiba ปราณ วารี ทันจิโร่
การใช้ปราณวารี ของ ทันจิโร่

Kimetsu no Yaiba ปราณ (Breath) เป็นสิ่งที่ถูกอธิบายว่า เป็นเคล็ดวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคการใช้ลมหายใจระดับสูง ซึ่งหากแต่ละคนได้ผ่านฝึกฝนอย่างหนัก (ระดับฝึกนรก) และฝึกอย่างถูกต้อง การหายใจที่ว่านี้ก็จะช่วยสมองหลั่งสารบางอย่างที่จะส่งผลต่อการกระตุ้นเซลล์และการทำงานของร่างกายให้มี พละกำลัง พลังกาย ความเร็ว ประสาทสัมผัส และความสามารถต่าง ๆ ของนักล่าอสูรให้เหนือมนุษย์ทั่วไปในชั่วระยะเวลาหนึ่ง

หากสามารถใช้ปราณได้อย่างเชี่ยวชาญ ก็จะทำให้มนุษย์ธรรมดาสามารถจัดการอสูรที่มีพลังแข็งแกร่งกว่าได้ ปราณ จึงกลายเป็นไพ่ตายสำคัญที่นักดาบในองค์กรนักล่าอสูรฝึกฝนแล้วพัฒนากันแตกสายประเภทของปราณตามแต่ความเชี่ยวชาญ สรีระ และ ลักษณะนิสัยของแต่ละคน

ทันจิโร่ กับระบำฮิโนะคามิคางุระเข้ามาเสริมปราณวารี
Kimetsu no Yaiba ปราณ
อากาสึมะ เซ็นนิตสึ ปราณอัศนี (สายฟ้า)
ปราณสัตว์ป่า วิชาเฉพาะตัวของอิโนะสึเกะ 

 

ซึ่งเท่าที่ในเรื่องมีการเปิดเผยออกมาในฉบับมังงะ พบว่า ปราณทุกสายในเรื่องนั้นได้พัฒนาแตกแขนงออกมาจากปราณต้นกำเนิด ซึ่งก็คือ ปราณตะวัน (Breath of Sun) ซึ่งเป็นเคล็ดการใช้ปราณที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย สึกิคุนิ โยริอิจิ นักดาบอัจฉริยะที่มีชีวิตอยู่ในยุคเซ็นโกคุ เขายังเป็นนักดาบคนเดียวที่ไล่ต้อนมุซันจนเกือบจะสังหารทิ้งได้ ตามประวัติศาสตร์ขององค์กรนักล่าอสูร มุซันจึงทั้งยำเกรงและแค้นนักดาบที่ใช้ปราณตะวันมาก ซึ่งทันจิโร่ ตัวเอกของเรื่องก็รับสืบทอดเอาต่างหูที่เป็นรูปดวงตะวันมาด้วย ยิ่งทำให้มุซันแค้นและอยากจะฆ่าให้ได้

โยริอิจิ ยังมีพี่ชายฝาแฝดที่เป็นนักล่าอสูรเหมือนกัน คือ สึกิคุนิ มิจิคัตสึ แต่ก็มีความสามารถด้อยกว่าน้องชายตนเอง

สึกิคุนิ โยริอิจิ ผู้ใช้ปราณตะวัน คนแรก

จากตรงนี้จะเป็น Spoil เรื่องการปราณด้วย แต่ไม่เสียอรรถรสในเรื่องแน่นอนครับ

ด้วยความที่ มิจิคัตสึ อิจฉาน้องชายฝาแฝดที่เป็นอัจฉริยะมากกว่า และด้วยความกลัวของเขาเองว่าวิชาดาบที่พวกตนคิดค้นขึ้นมาจะสาบสูญไป จึงยอมกลายเป็นอสูร ใช้ชื่อว่า โคคุชิโบ แล้วก็กลายเป็นอสูรจันทร์ข้างขึ้นอันดับ 1 ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้โยริอิจิเสียใจและผิดหวังอย่างแรง

ตามข้อมูลที่เปิดเผยในเรื่อง โยริอิจิ มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ คามาโดะ สุมิโยชิ บรรพบุรุษของทันจิโร่ เขามักมาดื่มชา ใช้เวลาอยู่ในบ้านและดูแลลูกของสุมิโยชิ เนื่องจากตัวโยริอิจิไม่มีผู้สืบทอดวิชา ต่างหูตะวันจึงมาตกอยู่ในตระกูลคามาโดะแทน

 แล้วหลังจากปราณตะวันถูกคิดค้นขึ้นมา วิชาปราณมันได้แตกแขนงออกไปเป็นปราณอะไรบ้าง แล้วนักล่าอสูร เสาหลัก แต่ละคนใช้ปราณ อะไรกันบ้าง มาลองดูกันครับ

kimetsu no yaiba ปราณ
Kimetsu no Yaiba ปราณ ที่แตกสายออกมา

จากตาราง จะเห็นว่า ถ้าไม่นับระบำ ฮิโนคามิ คางุระ จะมีปราณ 5 สายที่แตกออกมาจากปราณตะวัน ซึ่งกลุ่มนี้คือปราณธาตุ จากนั้นจึงค่อยแตกออกมาเป็นปราณเฉพาะตัวต่าง ๆ มากขึ้น ตามแต่ผู้ฝึกฝน

สำหรับนักล่าอสูรในเรื่อง และตัวละครที่สามารถใช้ปราณแต่ละสายได้ ก็ตามตารางนี้เลยครับ

 

Kimetsu no Yaiba ปราณ แต่ละสาย

ปราณแต่ละสาย ผู้ใช้
ปราณตะวัน

ปราณต้นกำเนิดของทุกสาย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ใช้ในระดับสูงสุดประดุจเทพเจ้า กระบวนท่าโจมตีมีทั้งหมด 12 กระบวนท่า และมีท่าที่ 13 เป็นกระบวนท่าพิเศษ ที่รวมเอาแก่นของทุกท่าเข้าด้วยกัน ซึ่งกระบวนท่านี้เกือบสังหารมุซันลงได้แล้ว

สึกิคุนิ โยริอิจิ
ฮิโนคามิคางุระ (ระบำเทพอัคคี)

เป็นเคล็ดวิชาการควบคุมลมหายใจที่สืบทอดในตระกูลคามาโดะ แท้จริงแล้วเป็นรูปแบบการหายใจของปราณตะวัน ซึ่งประโยชน์ที่ถูกส่งต่อกันมาในตระกูลคามาโดะที่เป็นตระกูลนักเผาถ่านที่ต้องทำงานกับไฟอยู่ตลอดก็คือช่วยทำให้พวกเขาสามารถใช้ร่ายรำได้ตลอดทั้งวันแม้ว่าร่างกายจะมีปัญหาสุขภาพก็ตาม ซึ่งในปัจจุบัน ทันจิโร่ได้นำมาประยุกต์ใช้งานกับวิชาปราณวารีด้วย

คามาโดะ ทันจูโร่

คามาโดะ ทันจิโร่

ปราณวารี

ปราณที่ปรากฏว่ามีผู้ใช้ได้มากที่สุดเท่าที่ออกมาในเรื่อง เทคนิคส่วนใหญ่เน้นที่การโจมตีด้วยความเร็ว หมดจด เคลื่อนไหวได้เสมือนกับคลื่นน้ำ ปัจจุบันมีกระบวนท่าที่ 11 ซึ่งกิยูพัฒนาขึ้นใหม่เองตามลักษณะนิสัยของเจ้าตัว

ที่จริงแล้วภายหลังทันจิโร่พบว่าตนเองไม่ได้เหมาะสมกับลักษณะการหายใจของปราณวารี เขาเหมาะกับฮิโนคามิคางุระและปราณตะวันมากกว่า แต่เทคนิคการหายใจของปราณวารีก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่เขานำมาใช้แล้วทันจิโร่ก็สามารถผนวกรวมการใช้ทั้งปราณวารีและฮิโนคามิคางุระสลับไปมาได้ในภายหลัง

อุโรโกะดากิ ซาคอนจิ

โทมิโอกะ กิยู

คามาโดะ ทันจิโร่

ซาบิโตะ

มาโคโมะ

ปราณเพลิง

ปราณของตระกูลเร็นโกคุ ช่วยเพิ่มพลังกายและเน้นที่การโจมตีด้วยความร้อนแรง และรวดเร็ว เป็นหลัก

เร็นโกคุ เคียวจูโร่

เร็นโกคุ ชินจูโร่

ปราณอัศนี (สายฟ้า)

ปราณที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องการก้าวย่างด้วยความเร็วสูงสุดในชั่วพริบตา มีหกกระบวนท่า แต่ผู้สืบทอดคนปัจจุบันคือเซ็นนิตสึใช้ได้เพียงท่าแรกเท่านั้น จึงฝึกฝนจนใช้ท่าแรกให้ได้ถึงขีดสุด แล้วเพิ่มความต่อเนื่องในการโจมตีแทน ในศึกสุดท้ายเขาจึงได้บัญญัติกระบวนท่าที่เจ็ดขึ้นมาสำเร็จ

คุวาจิมะ จิโกโร่

อากาสึมะ เซ็นนิตสึ

ไคกาคุ

ปราณบุปผา

ในเรื่องไม่ได้มีการเปิดเผยมากนัก แต่เท่าที่คานาโอะใช้งานออกมาในเรื่อง จะเน้นที่การประยุกต์ปราณกับการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยการใช้สมาธิและการมองเห็นในระดับสูงสุด ข้อเสียของปราณนี้คือจะส่งผลเสียต่อดวงตาได้ หากฝืนใช้งานเกินไป

โคโช คานาเอะ

สึยูริ คานาโอะ

ปราณแมลง

ปราณสายพิษ เป็นวิชาเฉพาะตัวของชิโนบุคนเดียวเท่านั้น เธอต้องพัฒนาขึ้นมาแก้จุดอ่อนเรื่องสรีระของเธอที่ไม่สามารถตัดศีรษะอสูรได้ โดยการให้พิษซึมเข้าอยู่ในกระแสเลือดของตนเอง ทั้งหมดเพื่อเป็นไพ่ตายสำหรับการจัดการกับศัตรูที่ฆ่าพี่สาวของเธอ

โคโช ชิโนบุ
ปราณสัตว์ป่า

ปราณเฉพาะตัวของอิโนะสึเกะคนเดียว เน้นเพิ่มประสาทสัมผัสการรับรู้ทางร่างกายถึงขีดสุด และเจ้าตัวยังประยุกต์กับการยืดหยุ่นของกระดูกและกล้ามเนื้อแบบผิดธรรมชาติ ทำให้รูปแบบโจมตีคาดเดาทิศทางได้ยาก ในขณะที่บางกระบวนท่าก็ด้นสดเอาเอง มีประโยชน์มากในการต่อสู้ ทั้งการโจมตีแนวหน้า สนับสนุน หรือแม้แต่ค้นหาศัตรู

ฮาชิบิระ อิโนะสึเกะ
ปราณวายุ

เน้นที่การโจมตีแบบต่อเนื่องจากมุมต่างๆ โดยเฉพาะการโจมตีจากบนอากาศและในมุมที่คาดไม่ถึง

ชินัตสึกาวะ ซาเนมิ
ปราณหมอก

ปราณที่ประยุกต์การโจมตีด้วยความเร็วสูงได้หลายครั้งต่อเนื่อง

โทคิโตะ มุอิจิโร่
ปราณเสียง

ปราณเฉพาะตัวของเท็นเก็นคนเดียว เนื่องจากเจ้าตัวเป็นนินจาเก่า จึงมีประสาทการฟังดีเลิศอยู่แล้ว เน้นใช้การฟังเสียงเพื่อจับการเคลื่อนไหวของศัตรูโดยใช้จังหวะของดนตรีเป็นแกนหลัก

อุซุย เท็นเก็น
ปราณความรัก

ปราณเฉพาะตัวของมิตสึริ จะมุ่งเน้นเรื่องการเพิ่มความเร็ว ความยืดหยุ่น พละกำลังในชั่วพริบตา

คันโรจิ มิตสึริ
ปราณอสรพิษ

ปราณเฉพาะตัวของโอบาไน ประยุกต์กับการใช้ดาบให้โจมตีได้หลายลื่นไหลเสมือนการเคลื่อนไหวของงู

อิกุโระ โอบาไน
ปราณหินผา

เพิ่มพลังโจมตีที่รุนแรง พื้นฐานแล้วมาจากความสงบและแข็งแกร่งเสมือนกับหินผา แต่เกียวเมนำมาใช้กับอาวุธอย่างขวนและลูกตุ้มโซ่เหล็กที่โจมตีได้รวดเร็ว จัดว่าเป็นปราณที่มีพลังโจมตีสูงสุดในเสาหลักรุ่นปัจจุบัน

ฮิเมจิมะ เกียวเม
ปราณจันทรา

ปราณพิเศษเฉพาะของมิจิคัตสึ เจ้าตัวใช้เวลายาวนานนับหลายร้อยปีพัฒนาเพื่อจะก้าวข้ามปราณอื่นๆโดยเฉพาะปราณตะวัน มีจำนวนกระบวนท่ามากที่สุด

สึกิคุนิ มิจิคัตสึ

 

Kimetsu no Yaiba ปราณ สายไหนแข็งแกร่งที่สุด

ถ้าถามว่า ปราณสายไหนแข็งแกร่งที่สุด คำตอบโดยผิวเผินคือ ปราณตะวัน ที่เป็นปราณต้นกำเนิด แต่ที่จริงแล้ว ไม่มีปราณไหนที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างแท้จริงครับ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าจะสามารถฝึกฝน พัฒนา หรือประยุกต์ให้เข้ากับตนเองได้มากแค่ไหน

ดังนั้นสาระสำคัญอย่างหนึ่งที่ในเรื่องพยายามบอกกับเราก็คือ “ไม่มีปราณสายไหนดีที่สุด” เพราะแม้ว่าปราณตะวันจะได้ชื่อว่าเป็นปราณต้นกำเนิดของทุกสาย แต่ปราณสายต่างๆที่ได้แตกแขนงออกมาก็ใช่ว่าจะอ่อนด้อยกว่า ถ้าหากผู้ใช้สามารถพัฒนาและฝึกฝนอย่างหนักจนถึงขั้นบรรลุ ปราณสายอื่นๆ ก็สามารถขึ้นมาเทียบเคียงกับปราณตะวันได้เช่นกัน แล้วนี่ยังเป็นความมุ่งหวังของโยริอิจิ ผู้คิดค้นปราณตะวันที่ต้องการให้ปราณสายอื่นๆมีการพัฒนาต่อยอดแล้วบรรลุสู่จุดหมายเดียวกันด้วย

กิยู ปราณวารี ท่าที่ 11

ตัวอย่างในกรณีของ กิยู ที่เจ้าตัวสามารถพัฒนากระบวนท่าที่ 11 ของปราณวารีขึ้นใหม่ จากของเดิมที่มีอยู่ 10 กระบวนท่า ซึ่งท่าสุดท้ายนี้ก็นับว่าเป็นท่าเฉพาะของกิยูที่มีความเข้ากันกับบุคลิกของเจ้าตัวที่เป็นคนพูดน้อยและมีความตายด้านอยู่ข้างในลึกๆเช่นกัน

ชิโนบุ ปราณแมลง

กรณีของ ชิโนบุ ที่พัฒนา ปราณแมลง ขึ้นมาใช้งานเองสำหรับเธอเองเป็นการเฉพาะตัว เนื่องจากเธอเป็นนักล่าอสูรระดับเสาหลักเพียงคนเดียวที่มีจุดอ่อนด้านสรีระที่มีรูปร่างเล็ก ถึแม้จะฝึกหนักขนาดไหน แต่ข้อจำกัดด้านร่างกายและกล้ามเนื้อ ทำให้เธอไม่มีพละกำลังมากเพียงพอที่จะตัดศีรษะอสูรได้ เธอจึงต้องพัฒนาปราณรูปแบบพิเศษของตนเองขึ้นมาเพื่อกลบจุดอ่อนแล้วมุ่งหาจุดแข็งใหม่ นั่นคือการใช้พิษเข้าเล่นงานร่างกายของอสูรโดยตรง ซึ่งก็มีความร้ายกาจมากพอจะสังหารอสูรที่เก่งกว่าในระดับต้นๆได้ด้วย แม้แต่อสูรจันทร์ข้างขึ้นก็ไม่สามารถรับมืพิษของเธอได้

เร็นโกคุ เคียวจูโร่ กับปราณอัคคี

นอกจากเรื่องปราณแต่ละสาย ยังมีกรณีพิเศษในส่วนของ ระบำ ฮิโนะคามิคางุระ เป็นเคล็ดของการควบคุมและใช้ลมหายใจ ซึ่งบรรพบุรุษของทันจิโร่ คือ คามาโดะ สุมิโยชิ ได้รับสืบทอดมาจาก โยริอิจิ อีกทีหนึ่ง โดยตามที่ปรากฏในท้องเรื่องก็คือ เคล็ดการหายใจของวิชานี้ถูกสืบทอดมาในตระกูล สืบทอดต่อมากันตามเจตนารมณ์ของสุมิโยชิที่ต้องการรักษาเคล็ดลับที่โยริอิจินำมาถ่ายทอดนี้ไว้ จนกระทั่งถึงยุคของ ทันจูโร่ ซึ่งเป็นพ่อของ ทันจิโร่นั่นเอง

ในภายหลังเมื่อทันจิโร่ ได้รับการฝึกฝนวิชาดาบและเทคนิคการใช้ปราณอย่างจริงจัง ก็สามารถผนวกวิชานี้เข้ากับปราณวารี แล้วพัฒนาวิชาปราณของตนขึ้นมาเป็นรูปแบบใหม่ได้สำเร็จ

สปอย ปราณตะวัน

สำหรับในส่วนการใช้ปราณตะวัน จากเนื้อเรื่องในมังงะช่วงท้าย ได้มีการเปิดเผยถึงความลับของปราณตะวันทั้ง 12 กระบวนท่า ที่กระบวนท่าทั้งหมดคือการผสมผสานที่นำไปสู่กระบวนท่าที่ 13 ที่แก่นแท้ของท่าคือการโจมตีที่ผนวกรวมทุกอย่างไว้ให้ประสานกัน แล้วยังมีอานุภาพรุนแรงจนสามารถสังหารมุซันได้ จัดว่าเป็นวิชาไม้ตายของโยริอิจิ ที่ในท้ายเรื่อง ทันจิโร่ ก็สามารถใช้ได้สำเร็จ

Kimetsu no Yaiba ปราณ วารี (Breath of Water) +

ฮิโนะคามิคางุระ

Kimetsu no Yaiba ep 19 ฉากจากใน อนิเมะ ตอนที่ 19

ทันจิโร่ประยุกต์เอาเทคนิคการหายใจของระบำ ฮิโนคามิคางุระ มาผนวกเข้ากับ ปราณวารี

ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่

เว็บไซต์อ้างอิง Breathing kimetsu no yaiba ดาบพิฆาตอสูร รวมรูปแบบปราณ

Kimetsu no Yaiba Demon รวมรูปแบบปราณ

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!